หลวงพ่อพุธ ฐานิโย --------------------------------------- สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวกำลังคลอนแคลน เพราะชาวพุทธปันใจให้กับภูตผีปีศาจ และผู้วิเศษอื่นๆ ทำให้จิตใจของชาวพุทธไม่มั่นคงต่อพระพุทธองค์ ซึ่งเคยเป็นที่พึ่งมาก่อน
ดังนั้นชาวพุทธควรจะได้กลับใจมายึดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มั่นคงตามเดิมเสียก่อนที่ทุกอย่าจะสายเกินไป .....พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย).....
" ท่านพ่อลีมีศักดิ์เป็นปู่ " ท่านเป็นพี่น้องทางฝ่ายพ่อ ท่านมีชาติกำเนิดที่อุบลฯเหมือนกัน ท่านใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า "ปู่" ถ้าพบหลวงพ่อทีไรท่านจะไม่พูดพร่ำทำเพลงกับหลวงพ่อ พอเจอหน้ากันปั๊บสั่งแล้ว "นั่งสมาธิ" ท่านจะคุยอยู่กับใครก็ตาม ท่านจะชี้หน้าหลวงพ่อ "อ้าวนั่งสมาธิ" พอนั่งไปสักพักหนึ่งท่านก็บอกว่า "เป็นไงนั่งสมาธิ " ..... "ก็นั่งสมาธิ ก็ได้สมาธิ" ท่านไม่เคยอธิบายอะไรกว้างขวางพิสดาร แต่ท่านจะว่าให้ปฏิบัติธรรมให้ต่อเนื่อง อย่าไปทำๆ หยุดๆ แต่ละครั้งที่เรานั่งสมาธิ จิตจะสงบหรือไม่สงบอย่าไปท้อถอย ถ้าเวลาจะสงบมันจะสงบเอง ความสงบมันเป็นผลงานเราแต่งเอาเองไม่ได้.............
จากหนังสือ " ฐานิยตฺเถรวตฺถุ หน้า๒๕๓ "
ประโยชน์อะไรด้วยเล่า.?.กับสมัยที่ไม่รู้จักจบสิ้น การศึกษาวิชาในเรื่องชีวิตของตนเองเป็นการศึกษาที่ประเสริฐสุด เมื่อศึกษาแล้วท่านจะรู้จักสมัยที่จบสิ้นด้วยตนเอง...
สามเณรสีลาภิรโต (ประมัย กาฬเนตร) ป.
จากหนังสือ "ธัมมานุวัตต์" ตอน มรรค ๘ (พิมพ์คัดลอกจากหนังสือ "สีลาภิรตานุสรณ์" )
(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ---------------------------------------- ปุจฉา : กราบเรียนถามเกี่ยวกับเรื่องเจโตวิมุตติกับปัญญาวิมุตติ ท่านสอนให้เจริญควบคู่กันไป
บางทีปัญญาวิมุตติไม่จำเป็นต้องเจริญกรรมฐานมาก ขอให้อธิบายสองกลุ่มนี้ การใช้ควบคู่กันไป และการใช้แต่ละอย่าง และความแตกต่างเกี่ยวกับ เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ตลอดจนความหมายด้วยขอรับ
วิสัชนา
ผู้หลุดพ้นด้วย เจโตวิมุตติ หมายถึง ผู้บำเพ็ญสมาธิ ทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างละเอียด แล้วสามารถตัดกระแสแห่งกิเลสให้ขาดสิ้นจากขันธสันดานได้ โดยไม่ต้องพิจารณาหาเหตุผลใดใดทั้งสิ้น
คือ หมายความว่า บำเพ็ญภาวนาสมาธิให้ชำนิชำนาญ จนทำจิตให้ละเอียดยิ่งๆขึ้นไป แล้วกระแสของจิตจะตัดห่วงแห่งอาสวกิเลสไปจากจิตได้โดยง่าย อันนี้เป็นตามอปุนิสัยของบางท่านเท่านั้น
ส่วน ปัญญาวิมุตติ นั้น ต้องอาศัยสติปัญญา พิจารณาเหตุผลให้รู้แจ้งเห็นจริงในพระไตรลักษณ์ หรือพิจารณาเริ่มต้นมาตั้งแต่อารมณ์ขั้นสมถกรรมฐาน
คือ พิจารณาอาการ ๓ ให้เห็นเป็นของปฏิกูล น่าเกลียดโสโครก แล้วก็นำมาพิจารณาร่างกายให้เห็นธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แล้วก็มาพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวง ให้เห็นในแง่พระไตรลักษณ์
คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็น ความทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
จนกระทั่งจิตยอมรับสภาพความเป็นจริง แล้วก็ปล่อยวางตัวกระแสแห่งกิเลสให้ขาดไปเอง
|