พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พุธ 05 ส.ค. 2015 5:50 am
ฟังธรรม ฟังใจ
ท่านพักบ้านนามนพอควรแล้วก็มาพักและจำพรรษาที่บ้านโคก ซึ่งห่างจากบ้านนามนราว ๒ กิโลเมตร ที่บ้านนี้มีความสงัดพอสมควร แต่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ถึงกิโลเมตร เพราะหาทำเลยากบ้าง ทั้งสองแห่งนี้มีพระเณรอยู่กับท่านไม่มากนักราว ๑๑–๑๒ องค์เท่านั้น พอดีกับเสนาสนะ ตอนที่ท่านมาพักบ้านโคกผู้เขียนก็ไปถึงท่านพอดี ท่านได้เมตตารับไว้แบบขอนซุงทั้งท่อน ไม่เป็นท่าเป็นทางอะไรเลย อยู่กับท่านแบบทัพพีอยู่กับแกงเราดี ๆ นี่เอง คิดแล้วน่าอับอายขายหน้าที่พระซุงทั้งท่อนไปอยู่กับท่านผู้ฉลาดปราดเปรื่องเลื่องลือระบือทั่วทั้งจักรวาล เบื้องบน เบื้องล่าง
แต่พอเบาใจหน่อยในการเขียนประวัติท่าน ไม่ตีบตันอั้นตู้นักเหมือนที่แล้ว ๆ มา ซึ่งไปเที่ยวจดและอัดเทปเอาจากพระอาจารย์ทั้งหลายในที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่เคยอยู่กับท่านมาในยุคนั้น ๆ นับแต่เที่ยวจดบันทึกอยู่กว่าจะได้มาลงเป็นอักษรให้ท่านได้อ่าน ก็เสียเวลาไปเป็นปี ๆ แม้เช่นนั้นยังต้องมาเรียงตามลำดับกาลสถานที่เท่าที่จดจำได้ กว่าจะเข้ารูปรอยพออ่านได้ความก็แย่ไปเหมือนกัน ที่จะเขียนต่อไปนี้ แม้เรื่องราวของท่านจะไม่ประทับใจท่านผู้อ่านเท่าที่ควร แต่ก็ยังเบาใจสำหรับผู้เรียบเรียงอยู่บ้าง เพราะได้รู้เห็นท่านด้วยตาตนเองตลอดมาจนวาระสุดท้าย
ท่านพาหมู่คณะจำพรรษาที่สำนักป่าบ้านโคกด้วยความผาสุกทั้งทางกายและจิตใจ ไม่มีการเจ็บไข้ได้ทุกข์ตลอดพรรษา ขณะที่พักอยู่ทั้งในและนอกพรรษา มีการประชุมธรรมเป็นประจำ ๖-๗ คืนต่อครั้ง การแสดงธรรมแต่ละครั้ง นับแต่ ๒ ชั่วโมงขึ้นไปถึง ๓-๔ ชั่วโมง ผู้ฟังนั่งทำจิตตภาวนาไปพร้อมอย่างเพลิดเพลินลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในขณะฟังธรรมท่าน แม้องค์ท่านเองก็รู้สึกเพลิดเพลินไปด้วยในการแสดงธรรมแก่พระเณรแต่ละครั้ง ท่านแสดงอย่างถึงเหตุถึงผลและถึงใจผู้ฟังซึ่งมุ่งต่ออรรถธรรมจริง ๆ ธรรมที่ท่านแสดงล้วนถอดออกมาจากใจที่รู้เห็นมาอย่างประจักษ์แล้วทั้งนั้น จึงไม่มีอะไรที่น่าสงสัยว่าไม่เป็นความจริง นอกจากจะสามารถปฏิบัติได้อย่างท่านแสดงหรือไม่เท่านั้น
ขณะที่ฟังท่านแสดงทำให้จิตประหวัดถึงครั้งพุทธกาล ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุบริษัทโดยเฉพาะในสมัยนั้น แน่ใจว่าพระองค์ทรงหยิบยกเอาแต่ธรรมมหาสมบัติ คือมรรคผลนิพพานอออกแสดงล้วน ๆ ไม่มีธรรมอื่นแอบแฝงอยู่ในขณะนั้นเลย จึงสามารถทำให้ผู้ฟังบรรลุมรรคผลนิพพานไปตาม ๆ กัน ไม่ขาดวรรคขาดตอนตลอดวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน เพราะพระพุทธเจ้าผู้ประกาศธรรม ก็เป็นผู้ทรงความบริสุทธิ์สุดส่วนแห่งธรรมในพระทัย พระธรรมที่แสดงออกก็เป็นธรรมประเสริฐอัศจรรย์ ทรงมรรคทรงผลล้วน ๆ ผู้ฟังจึงกลายเป็นผู้ทรงมรรคทรงผลไปตาม ๆ กัน
ท่านอาจารย์มั่นแสดงธรรมก็ล้วนเป็นธรรมปัจจุบันกลั่นกรองออกจากใจล้วน ๆ มิได้แสดงแบบลูบ ๆ คลำ ๆ กำดำกำขาวออกมาให้ผู้ฟัง ซึ่งต่างมีความสงสัยอยู่แล้ว ให้เพิ่มความสงสัยยิ่งขึ้น แต่กลับเป็นธรรมเพื่อทำลายความสงสัยนั้น ๆ ให้ทลายหายไปทุกระยะที่แสดง ผู้ฟังธรรมประเภทอัศจรรย์จากท่านจึงมีทางบรรเทากิเลสไปได้มากมาย ยิ่งกว่านั้นก็มีทางให้สิ้นความสงสัยโดยประการทั้งปวงเสียได้
วันที่ไม่มีการประชุมธรรม พอขึ้นจากทางจงกรม ราว ๒ ทุ่ม จะได้ยินเสียงท่านทำวัตรสวดมนต์เบา ๆ ทุกคืน เป็นเวลานาน ๆ กว่าจะจบ และนั่งสมาธิภาวนาต่อไปจนถึงเวลาท่านจำวัด ถ้าวันที่มีการประชุม จะได้ยินตอนหลังจากเลิกประชุมแล้วทุกคืนเช่นเดียวกัน และได้ยินท่านสวดอยู่เป็นเวลานาน เช่นเดียวกับคืนที่ท่านสวดแต่หัวค่ำ วันเช่นนั้นท่านต้องเลื่อนการจำวัดไปพักเอาตอนดึก ราวเที่ยงคืนหรือตีหนึ่งนาฬิกา
..บางครั้งผู้เขียนที่นึกคะนองบ้าขึ้นมา พอได้ยินเสียงท่านสวดมนต์ก็แอบเข้าไปฟังบ้าง เพื่อทราบว่าท่านสวดสูตรใดบ้างถึงได้นานนักหนากว่าจะจบแต่ละคืน พอแอบเข้าไปใกล้ ๆ เพื่อจะฟังให้ชัด..
..แต่ท่านกลับหยุดนิ่งไปเสียเฉย ๆ นี่เอง พอเห็นท่าไม่ดี เราก็รีบออกมายืนรอฟังอยู่ห่าง ๆ หน่อย พอเราถอยออกมาท่านก็เริ่มสวดขึ้นอีก เราก็แอบเข้าไปฟังอีก ท่านก็หยุดนิ่งไปอีก เลยไม่ทราบชัดว่าท่านสวดสูตรใดกันบ้าง
ถ้าจะขืนดื้อแอบรอฟังอยู่ที่นั้นนาน ๆ ก็กลัวฟ้าจะผ่าลงที่นั้น คือตะโกนดุออกมาในขณะนั้น แม้เช่นนั้นพอตื่นเช้าเวลาท่านออกจากที่พักมา เรามองดูท่านยังไม่เต็มตาเลย ท่านเองก็มองดูเราด้วยสายตาอันคมกล้าน่ากลัวมาก เลยเข็ดแต่วันนั้นไม่กล้าไปแอบฟังท่านสวดมนต์อีกต่อไป กลัวจะโดนอะไรอย่างหนัก ๆ เท่าที่สังเกตดู ถ้าขืนไปแอบฟังท่านอีกมีหวังโดนอะไรแน่ ๆ
ข้อนี้มา ทราบเรื่องท่านได้ชัดเมื่อภายหลัง ว่าท่านทราบเรื่องต่าง ๆ ได้ดีจริง ๆ คิดดูเวลาเราไปยืนส่งจิตจดจ้องมองท่านแบบไม่มีสติเช่นนั้น ท่านจะไม่ทราบอย่างไรเล่า ต้องทราบอย่างเต็มใจทีเดียว เป็นแต่ท่านรอฟังดูเหตุการณ์กับพระที่ดื้อไม่เข้าเรื่องไปก่อน หากยังขืนทำอย่างนั้นอีกต่อไป ท่านถึงจะลงอย่างหนัก ที่แปลกใจอยู่มากคือเวลาเราแอบเข้าไปทีไร ท่านต้องหยุดสวดทุกครั้ง แสดงว่าท่านทราบได้อย่างชัดเจนทีเดียว
หนังสือประวัติ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
...ท่านบอกว่า ก่อนที่ใจจะออกจากร่าง
เป็นจุดที่จำเป็นเเละสำคัญอย่างยิ่ง
มันต้องฝึดหัดไว้ให้ดีๆ หากไม่ฝึกหัดเอาไว้
ถึงจะเป็นผู้สร้างบุญ สร้างกุศลมาเก่าเเก่ก็เถอะ
ก็ไปทุคติได้เช่นกัน
ยกตัวอย่าง พระยาธรรมโศกราช
เเม้ท่านได้สร้างถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนา
อย่างมากมาย
ลูกชายก็เป็นพระอรหันต์ คือพระมหินท์
ส่วนลูกสาวคือนางสัฆมิตตาเป็นภิกษุณี
เเละบรรรุพระอรหันต์เช่นกัน
เเต่ถึงอย่างนั้นพระยาธรรมโศกราช พอขาดใจ
ก็กลับไปเกิดเป็นงู เพราะความโกรธให้บริษัท
บริวาร ที่ไม่ทำตามบัญชาของตน ที่จะให้สละ
เงินในส่วนพระองค์ถวายทำบุญ
ซึ่งเขาทำให้ไม่ได้เพราะอยู่ในช่วงข้าวยาก
หมากเเพง ต้องนำเงินไปช่วยเลี้ยงดูประชาชน
สรูปเเล้วก็คือ ขณะที่ใจของคนเราจะออกจากร่าง
จุดนั้นเป็นจุดที่ล่อเเหลม เเละสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้นเราควรจะฝึกหัดใจเอาไว้เเต่เนิ่นๆ
ไม่ใช่ว่าใกล้ๆเสียก่อนจึงจะฝึก
มันไม่ได้น่ะ ต้องฝึกไว้เเต่นานๆ เเต่เนิ่นๆ
เริ่มเเต่เดี๋ยวนี้ล่ะ....
คติธรรมคำสอน หลวงพ่ออินทร์ถวาย สนฺตุสฺสโก วัดป่านาคำน้อย อ.นายุง จ.อุดรธานี
# โอวาทธรรม องค์หลวงปู่ศรี มหาวีโร #
" เรื่องของจิตถ้าหากไม่ได้รับความสงบ ไม่ได้ดูดดื่มรสของธรรมะ หรือรสที่เรียกว่าเป็นอาหารของใจแล้ว โดยมากจิตจะไม่มีพลัง เมื่อไปประสบกับอารมณ์ต่างๆ แล้วจึงถูกเขาดึงไปตามอารมณ์นั้นๆ
เมื่อไม่มีสติหรือความยับยั้งชั่งใจพินิจพิจารณาให้รู้ บางทีอาจจะเป็นไปในด้านฝ่ายต่ำส่วนที่เป็นบาปเป็นกรรม
ฉะนั้นการรักษาจิตใจจึงถือว่าเป็นของสำคัญ เพราะเราเคยแต่วิ่งตามจิตใจมาโน่นมานี่ บางคนไม่มีเวลาพักผ่อนเลย และอาจวิ่งตามจิตใจมาหลายภพหลายชาติก็ยังได้ "
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.