# การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด #
ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง. ท่านทั้งสองนั้นคือใคร ? คือ ๑. มารดา ๒. บิดา
ภิกษุทั้งหลาย ! บุตรพึงประคับประคองมารดา ด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดา ด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุมีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำและการดัดและท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสอง ของเขานั่นแหละ
ภิกษุทั้งหลาย ! การกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่า อันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดาเลย.
ภิกษุทั้งหลาย ! อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ในแผ่นดินใหญ่ อันมีรัตนะ ๗ ประการ มากหลายเช่นนี้
การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้ว หรือตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดาเลย.
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะมารดาบิดา มีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยงแสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย.
ส่วนบุตรคนใด ยังมารดาบิดา ผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในสัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา). ยังมารดาบิดา ผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในสีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล). ยังมารดาบิดา ผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค). ยังมารดาบิดา ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา).
ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่า อันบุตรนั้นทำแล้ว และ ทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา.
# มารดาบิดา และการกตัญญู ตามหลักพระพุทธศาสนา #
พุทธพจน์...
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดา อันบุตรแห่งตระกูลทั้งหลายใด บูชาอยู่ในเรือนของตน ตระกูลทั้งหลายนั้น ชื่อว่ามีพรหม มีบุรพาจารย์ มีอาหุไนย คำว่าพรหม บุรพาจารย์ อาหุไนยนี่ เป็นคำเรียกมารดาบิดาทั้งหลาย นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะมารดาบิดาทั้งหลายเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ฟูมฟักเลี้ยงดู แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย ฯ
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้กตัญญกตเวที และอุปการะแม้เพียงเล็กน้อย ที่บุคคลอื่นกระทำในเราทั้งหลายจักไม่เสื่อมสูญไป เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้
มารดาบิดา ในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงความสำคัญของมารดาบิดาไว้ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องผู้เป็นพ่อแม่ไว้ว่า
พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ ปชาย อนุกมฺปกา ฯ
แปลใจความได้ว่า มารดาบิดา เป็นพระพรหมของบุตร มีพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา มารดาบิดา เป็นครู-อาจารย์คนแรกของบุตร สั่งสอนอบรมกิริยามารยาทให้ลูกก่อนคนอื่น มารดาบิดา เป็นบุคคลที่สมควรแก่วัตถุที่ลูกนำไปบูชา เป็นพระอรหันต์ของลูก มารดาบิดา เป็นผู้อนุเคราะห์เลี้ยงดูบุตรจนโตใหญ่ สามารถเลี้ยงตนเองได้ มารดาบิดา เป็นเทวดาของบุตร มารดาบิดา เป็นบุพการีของบุตร และ มารดาบิดา เป็นมิตรในเรือนของบุตร "มาตา มิตฺตํ สเก ฆเร"
# คติธรรมคำสอน องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต #
การตำหนิติเตียนผู้อื่น ถึงเขาจะผิดจริง ก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดแต่ตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิด และบาปกรรมไม่ดีเลย
# คติธรรมคำสอน พระราชวุฒาจารย์ (พระอตุโล หลวงปู่ดูลย์) #
จิตนี้คือพุทโธ จิตนี้คือธรรม เป็นสภาวะพิเศษที่ไม่ไป ไม่มา เป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ จิตนี้เหนือความดีและความชั่วทั้งปวง ซึ่งไม่อาจจัดเป็นลักษณะรูปหรือนามได้
เหมือนกะละมังที่ตั้งหงายอยู่กลางแจ้ง ถึงแม้ฝนจะตกลงมาใส่ทีละหยดๆ มันก็มีโอกาสที่จะเต็มได้ เมื่อเราทำบุญแล้วเรายังไม่ได้ละบาป ก็เหมือนกับเราเอากะละมังไปครอบคว่ำไว้กลางแจ้ง ฝนตกลงมาถูกก้นกะละมังเหมือนกัน แต่ว่ามันถูกข้างนอก เมื่อมันถูกข้างนอก น้ำก็ไม่มีโอกาสที่จะเต็มในกะละมังนั้นได้ อันนี้เรียกว่า "ทำบุญแต่ไม่ละบาป"
หลวงปู่ชา สุภัทโท
|