หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน --------------------------------------- เอ้า ทุกข์เกิดขึ้นมากน้อยก็เป็นเรื่องของทุกข์ ทุกข์จะดับไปก็เป็นเรื่องของทุกข์ เราเป็นผู้รู้ รู้ทั้งที่ทุกข์เกิดขึ้น ทั้งทุกข์ตั้งอยู่ ทั้งทุกข์ดับไป ธรรมชาตินี้เป็น “ผู้รู้” ไม่ใช่ผู้เกิดผู้ดับ จะกลัวความเกิดความดับ กลัวความล่มความจมในจิตอย่างไรกัน มันจะล่มจมไปไหน พิจารณาอย่างนี้เพื่อจะฟื้นฟูจิตใจขึ้นมาจากตมจากโคลน เพื่อให้ใจได้เห็นชัดรู้ชัดตามความจริง จิตใจจะล่มจมไปไหนถึงกลัวนักหนาในขณะจะตาย มันหลอกกันเฉยๆ นี่! ตามความเข้าใจของท่านของเรา ถ้าพูดถึงว่าหลอกกันนะ แต่ไม่มีใครจะมีเจตนาหลอกใครแหละ ตายๆๆนี่น่ะ
โลกเขาสมมุติกันมาอย่างนั้นนับกัปกัลป์ไม่ได้แล้ว เมื่อพิจารณาเข้าถึงความจริงแล้ว “โอ๋ นี่มันหลอกกัน” ความจริงไม่มีอะไรตาย! ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ สลายลงไปแล้วก็ไปอยู่ตามธาตุเดิมของเขา จิตที่กลัวตายนี้ยิ่งเด่น มันไม่ได้ตายนี่ เห็นชัดๆอย่างนี้ อะไรเป็นสาเหตุให้จิตตายไม่มี เห็นชัดๆ อยู่ว่าไม่มี ใจยิ่งเด่น ผู้ที่รู้ที่พิจารณาสิ่งทั้งหลายนั้นยิ่งเด่น เราไม่หวงอะไร จะไปก็ไปเมื่อถึงคราวแล้ว ผู้ที่รู้ก็รู้ตามเหตุตามผล ไม่ถอยในเรื่องรู้ ผู้ที่สลายก็สลายไป ไม่อาลัยไม่เสียดาย ไม่หวง หวงทำไม? มันหนัก ยึดไว้ทำไม? สิ่งเหล่านี้เป็นของหนักมาก การรู้ตามเป็นจริง ปล่อยวางตามสภาพของมัน นั่นแลคือความจริง ไม่กังวล ถึงอยู่ไปอีกมันก็จะตายอย่างนี้ อยู่เพื่อตาย! อยู่เพื่อแตก! เวลานี้ พิจารณาให้เห็นความแตกดับเสียก่อนตั้งแต่ยังไม่แตก นี่เป็นสิ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้มีปัญญา นี่ขั้นสำคัญ ! ผู้พิจารณาเช่นนี้จะเป็นผู้ไม่หวั่นไหว เห็นชัดตามเป็นจริง ที่ชื่อว่า “เวทนา”นั้น มันเป็นอะไร มันก็เวทนานั่นแล มันเป็นเราเมื่อไร มันเกิดขึ้นมันดับไป เราทำไมจะเกิดขึ้นดับไปอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่งเช่นนั้น ถ้าเวทนาเป็นเรา ถ้าเวทนาเป็นเราแล้ว เอาที่ไหนเป็นที่แน่ใจว่า “เป็นเรา” หรือสาระอะไรว่าเป็นเราได้ ทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็ว่าเราเกิดขึ้น ทุกขเวทนาดับไปก็ว่าเราดับไป มีแต่เราเกิดเราดับอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่งหาความแน่นอนที่ไหนได้! ถ้าเราจะไปเอาเรากับทุกขเวทนามาบวกกันมันไม่ได้เรื่อง เหลวไหลทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเพื่อความจริง เพื่อความไม่เหลวไหลต้องให้ทราบ ทุกข์มันเกิดขึ้นมากน้อย ต้องให้ทราบว่าทุกข์เกิดขึ้นคือเรื่องของทุกข์ มันตั้งอยู่ก็คือเรื่องของทุกข์ มันดับไปก็คือเรื่องของทุกข์ เราผู้รู้ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องของความรู้นี่!
“สัญญา” จำได้แล้วมันดับ เราเห็นไหม มันเกิดมันดับอยู่อย่างนั้น เป็น “เรา”ได้อย่างไร เอาความแน่นอนกับมันได้ที่ไหน ท่านจึงว่า “สญฺญา อนิจฺจา สญฺญา อนตฺตา” “สังขาร” ปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงเท่าไรมันก็ดับไปพร้อมกันทั้งนั้น ถ้าเราจะเอา“เรา” เข้าไปสู่สังขาร มันเกิดดับวันยังค่ำ หาความสุขไม่ได้เลย “วิญญาณ” มันกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบเมื่อไรมันรู้ ๆ รู้แล้วดับไปพร้อมๆ กัน ทั้งขณะที่เกิดที่ดับมันขึ้นในขณะเดียวกัน เราจะเกิดดับ ๆ เกิดดับอยู่อย่างนั้น หาความแน่นอนเที่ยงตรงได้อย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นอาการอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ผู้ที่รู้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แลคือใจ ความรู้เป็นสิ่งที่แน่นอน เป็นสิ่งที่ตายตัว ขอให้รู้สิ่งภายนอกอันจอมปลอมทั้งหลายนี้ ว่าเป็นสภาพอันหนึ่งๆ เท่านั้น จิตนี้จะตั้งตัวได้อย่างตรงแน่วไม่หวั่นไหว จะเกิดขึ้นก็ไม่หวั่นไหว จะไม่เกิดขึ้นก็ไม่หวั่นไหว จะดับไปก็ไม่มีอะไรหวั่นไหว เพราะจิตรู้เรื่องทุกสิ่งทุกอย่างบรรดาอาการที่อาศัยกันอยู่ และรู้ทั้งตัวจริงคือธรรมชาติของจิตแท้ว่าเป็นตัวของตัวแท้ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยปัญญาซักฟอกด้วยดีแล้ว ผู้นี้เป็นผู้แน่นอน นี่แหละท่านผู้แน่นอน คือท่านผู้รู้ธรรมชาติที่แน่นอน และรู้ถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหลายตามความเป็นจริง ปล่อยวาง สลัดปัดทิ้งออกตามส่วนของมัน ส่วนไหนที่จริงให้อยู่ตามธรรมชาติแห่งความจริงของตน เช่น จิต เป็นต้น นี่หลักความจริง หรือหลักวิชาที่เรียนมาเพื่อป้องกันตัว เพื่อรักษาตัว เพื่อความพ้นภัย เปลื้องทุกข์ทั้งหลายออกจากตัว นี่คือหลักวิชาแท้ เรียนธรรมเรียนอย่างนี้เรียนเรื่องของตัวเอง เรียนเรื่อง “ความรู้” ความคิดต่างๆ เรียนเรื่องกาย เรื่องเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็น “อาการ ๕ อย่าง” นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับใจ ถึงกับเหมาว่า นี่เป็นตนเป็นของตน ให้รู้ตามความเป็นจริงของมันทุกอาการ แล้วปล่อยวางไว้ตามสภาพแห่งอาการของมัน
นี่ เรียกว่า “เรียน” เรียกว่า “ปฏิบัติ” เรียกว่า “รู้” รู้ก็ละก็ถอน! ถ้ารู้จริงแล้วต้องละต้องถอน เมื่อละถอนแล้ว ความหนักซึ่งเคยกดถ่วงจิตใจที่เนื่องมาจาก “อุปทาน” ก็หมดไป ๆ เรียกว่า “จิตพ้นจากโทษ” คือความจองจำจากความสำคัญมั่นหมายที่เป็นเหตุให้จองจำ พ้นอย่างนี้แลที่ว่า “จิตหลุดพ้น” ไม่ได้เหาะเหินเดินฟ้าขึ้นไปที่ไหน พ้นตรงที่มันข้องนั่นแหละ ที่มันถูกจองจำนั่นแหละ ไม่ได้พ้นที่ไหน รู้ที่มันหลงนี่แหละ สว่างที่มันมืดนั่นเอง นี่จิตสว่าง คือสว่างที่ตรงมืดๆ มืดมนอนธการ มืดอยู่ภายในตัวเอง ทีนี้เวลาพิจารณาปฏิบัติไป สติปัญญาเกิดขึ้น ๆ ส่องแสงสว่างให้เห็นความจริงในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตน ทราบว่าเป็นเพียงสิ่งที่เกี่ยวข้อง สลัดออกได้โดยลำดับๆ เมื่อความสว่างรอบตัวก็ปล่อยได้หมด “ธมฺโม ปทีโป” จะหมายถึงอะไร ถ้าไม่หมายถึง “จิต” ดวงที่สว่างรอบตัวไม่มีอะไรเจือปนเลยจะหมายถึงอะไร! นี่เรียกว่า “ธรรมแท้” ธรรมแท้ที่เป็นสมบัติของเราหมายถึงธรรมนี้ ที่เป็นสมบัติของเราแท้ ที่เป็นสมบัติของพระพุทธเจ้าก็ที่ประทานไว้เป็นตำรับตำรา! เราเรียนเท่าไรก็มีแต่ความจำ ไม่ใช่เป็นตัวของตัวแท้ เอาความจำนั้นเข้ามาปฏิบัติให้เป็นความจริง จนปรากฏขึ้นเป็น “ธมฺโม ปทีโป” เฉพาะภายในใจเรานี้เป็นสมบัติของเราแท้ นี้แลคือ “ธรรมสมบัติ” ของผู้ปฏิบัติ พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์อย่างนี้ที่ประทานศาสนาไว้ ให้รู้จริงเห็นจริงตามนี้“สนฺทิฏฺฐิโก” ไม่ทรงผูกขาด ผู้ปฏิบัติจะพึงรู้เองเห็นเอง “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ”ท่านผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้เฉพาะตน คือหมายถึงรู้อย่างนี้” นี่เป็นผลของการปฏิบัติธรรม เมื่อได้ผลเต็มที่แล้ว อยู่ไหนก็อยู่เถอะ แสนสบาย หมดกังวล โลกจะมีมากมีน้อยเพียงใดมีความวุ่นวายขนาดไหน ผู้นี้ไม่วุ่น เพราะผู้นี้ไม่เป็นโลก ผู้นี้ไม่หลง เรื่องโลกมันกว้างขวางมาก ไกลจากตัวของเราออกไป เฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่ทั้งวันทั้งคืน ก็คือ “ขันธ์ห้า” กับ “จิต” นี่แหละ มันเกี่ยวข้องกันจนจะแยกกันไม่ออก แต่นี้เรายังสามารถแยกออกได้ ทำไมเราจะไปหลงว่าเป็น “โลก” ด้วยกัน นี่แหละการปฏิบัติ ผลเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้แน่นอนไม่เป็นอื่น ขอให้ผลิตขึ้นมาพิจารณาขึ้นมา ปัญญาหุงต้มกินไม่ได้ ใช้ได้แต่แก้กิเลส ใช้แก้ความงมงายของเจ้าของเท่านั้น ให้พิจารณา เรียนตรงนี้แหละเรียนธรรม อย่าไปเรียนที่อื่นให้มากมายก่ายกอง เพราะพิษอยู่ตรงนี้ โทษภัยก็อยู่ตรงนี้ แก้ตรงนี้แล้ว คุณค่าอันสำคัญก็เกิดอยู่ที่นี่เอง!
โอวาทธรรมหลวงปู่เทพโลกอุดร ให้ไว้กับปู่โทน หลำแพร --------------------------------------- ปู่โทน หลำแพร ในสมัยตอนเป็นหนุ่มเป็นผู้ใฝ่ธรรมเคยบวชเรียนและได้มีโอกาสพบพระธุดงค์รูปหนึ่ง จึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใสได้ติดตามพระธุดงค์รูปนั้นและมีโอกาสได้ศึกษาข้อธรรมและวิชาความรู้ ต่อมาจึงได้ทราบว่าพระธุดงค์รูปนั้นคือ “พระครูเทพโลกอุดร” และหลวงปู่พระครูเทพโลกอุดร ได้ให้โอวาทการปฏิบัติกรรมฐาน
“การปฏิบัติธรรมทางด้านจิตนั้น จงเป็นผู้มีสติปัญญา รู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของจิตทุกลมหายใจเข้าออก และทุกอิริยาบถ เมื่อรู้เท่าทันจิตแล้ว ต้องรู้รักษาจิต จงดูจิตเคลื่อนไหว อย่าหวั่นไหวไปตามจิต จงดูพฤติการณ์ของจิตเฉยๆ ด้วยอุเบกขาจิต”
หลวงปู่สี ฉันทสิริ สอนธรรม หลวงปู่แหวน สุจิณโณ --------------------------------------- ในคำบันทึกบอกเล่าของหลานและศิษย์หลวงปู่สีและจากคำบอกเล่าของ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เกิด ๑๖ มกราคม ๒๔๓๐ มีจิตใจใฝ่ในธรรม อายุ ๑๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโพธิ์ชัย บ้านโป่ง จังหวัดเลย พออายุได้ ๒๒ ปี ในพ.ศ.๒๔๕๒ อุปสมบทที่วัดสร้างถ่อ อำเภอเกษมสีมา (ปัจจุบันเป็นอำเภอม่วงสามสิบ) จังหวัดอุบลราชธานี พระภิกษุแหวน สุจิณโณ ได้ออกจาริกธุดงค์ไปแต่ลำพังผู้เดียว โดดเดี่ยวดั้นด้นเข้าสู่ป่าเขาลำเนาไพรด้วยดวงใจอันเด็ดเดี่ยว
พระภิกษุหนุ่มแหวนท่องเที่ยวจาริกไปเรื่อย ๆ หยุดพักตามโคนต้นไม้ชายทุ่งบ้าง ชายป่าห่างไกลจากหมู่บ้านบ้าง เข้าไปในป่าลึก พักบำเพ็ญเพียรตามชะโงกเขาบ้าง ตามเงื้อมผาหรือในถ้ำบ้าง บางวันก็ออกมาโคจรบิณฑบาต บางครั้ง ๒-๓ วัน ถึงบิณฑบาตครั้งหนึ่ง อาหารที่บิณฑบาตได้ส่วนมากเป็นข้าวเหนียวนึ่งเป็นปั้นๆ เมื่อได้มาแล้วก็นำมาฉันตามมีตามเกิด เป็นการฉันหรือกินข้าวด้วยความไม่มีอุปาทาน คือไม่มีเจตนากินให้อร่อย แต่เป็นการกินเพื่อให้ร่างกายมีชีวิตอยู่ได้ เพื่อใช้กรรมตามกฎแห่งนามธรรม
เมื่อท่านฉันข้าวแบบไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในรสชาติอร่อยเช่นนี้ ปัญญาเรื่องอาหารการขบฉันจึงเป็นเรื่องไม่สำคัญ มีก็ฉัน ไม่มีก็ไม่ฉัน ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะจิตใจมีความสุขชื่นฉ่ำสำราญในสมาธิอยู่แล้ว ทุกอิริยาบถ เพ่งเพียรภาวนาเดิน ยืน นั่ง และหลับในสมาธิเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ และถูกต้องตามหลักผู้มีสติไม่ประมาท อันได้แก่การเจริญสติปัฏฐาน ๔ หรือ กรรมฐานนั่นเอง
ย้อนกลับไปในระหว่างที่พระภิกษุหนุ่มแหวนท่องเที่ยวธุดงควัตรอยู่แถวอีสาน แถบถิ่นอุบลราชธานีเข้าสู่จังหวัดเลย ได้พบปะกับพระธุดงค์ในป่าอยู่บ่อยๆ บ้างก็มาจากถิ่นไกล ข้ามมาจากฝั่งลาวก็มี แต่แล้วพระภิกษุแหวนก็ได้พบกับพระธุดงค์องค์สำคัญ รูปร่างสูงใหญ่ เป็นพระภิกษุที่อยู่ในวัย ๖๒ ปี ผู้เคร่งครัดในพระวินัย มีปฏิปทาสูง ลักษณะเป็นผู้มากบุญ จิตเมตตา นั่งปฏิบัติธรรมอยู่บนหน้าผาบนหุบเขาในป่าจังหวัดเลย
ในเย็นวันนั้น พระภิกษุแหวนจึงได้มีโอกาสเข้าไปกราบพระภิกษุผู้เคร่งปฏิบัติธรรม เพราะตลอดระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร ท่านนั่งปฏิบัติอยู่ พระภิกษุแหวนก็มิได้เข้าไปรบกวน จวบจนพระภิกษุผู้เคร่งปฏิบัติท่านออกจากฌาน
หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ ท่านเพ่งมองอยู่ชั่วครู่ แล้วจึงเอ่ยถามพระภิกษุแหวน “ท่านมาจากไหน?” “ผมมาจากจังหวัดเลยครับ ผมเข้าป่ามาตั้งใจจะแสวงหาที่วิเวกปฏิบัติธรรม” พระแหวนตอบ “..อือม..ตั้งใจดี หมั่นภาวนานะ” เป็นคำพูดสั้นๆ แต่ได้ใจความ
ในวันต่อมาหลวงปู่สีได้สอนกรรมฐาน โดยย้ำว่าการภาวนาเป็นพื้นฐาน จงมีสติเป็นเพื่อนอยู่เสมอ
การเรียนรู้ปฏิบัติธรรมอยู่ด้วย หลวงปู่แหวนได้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วมีความเพลิดเพลินในการปฏิบัติ เมื่อติดขัดอะไรก็เข้าไปเรียนถามหลวงปู่สี หลวงปู่ก็แนะนำให้เป็นอย่างดี และแจกแจงข้อธรรมอย่างละเอียด อย่างเช่นท่านสอนให้รักษา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเราให้ดี จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ทุกอย่างต้องน้อมเข้ามาหากาย น้อมเข้าหาใจ พระธรรมทั้งหลายให้ยกใจขึ้นเป็นหัวหน้า
ชำระใจให้บริสุทธิ์ รักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย ไว้ รักษาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไว้ หมั่นภาวนา พิจารณาให้ดีนะ...ดั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่า “ละในสิ่งที่ควรละ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่นแหละคือทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน”
หลวงปู่สี ฉนฺทสิริ พิจารณาเห็นว่า พระภิกษุแหวน เป็นผู้ตั้งใจในการปฏิบัติธรรม มีความวิริยะ อุตสาหะ อย่างสม่ำเสมอ วันหนึ่งข้างหน้าจะเป็นผู้สืบสานพระพุทธศาสนาต่อไปได้ดี
หลวงปู่ และพระภิกษุแหวน อาจารย์ และศิษย์ได้ออกธุดงค์ บำเพ็ญเพียรเสาะแสวงหาสัจธรรม ร่วมอยู่ในป่าจังหวัดเลย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๓-๒๔๕๔ พระภิกษุแหวนติดตามหลวงปู่อยู่ ๒ ปี หลวงปู่สีท่านก็ถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้พระภิกษุแหวน สุจิณโณ หลายประการ ก่อนแยกย้าย หลวงปู่ก็เน้นสั่งสอนในข้อปฏิบัติของการออกธุดงค์...คือ - อย่าปักกลดที่ไหนเกิน ๗ วัน จะทำให้ติดที่ - ห้ามนอนปักกลดขวางทางสัตว์เดิน - ห้ามปักกลดริมน้ำ (นอน) เพราะธรรมชาติสัตว์จะต้องมากินน้ำริมลำธาร - ห้ามปักกลดนอนใต้ต้นไม้ใหญ่เกิน ๓ ราตรี เพราะต้นไม้ใหญ่มีรุกขเทวดาอยู่ จะทำให้รุกขเทวดาเดือดร้อน ไม่กล้าอยู่ จะเข้าออกขึ้นลงก็ลำบาก หากไม่จำเป็นห้ามนอนปักกลดใต้ต้นไม้ใหญ่
จงอย่าลืม ต้องหมั่นพิจารณากรรมฐาน ทุกเช้าจะต้องตื่นมาพิจารณารับอรุณ เดินจงกรม ทำอานาปานสติ ทำจิตให้เป็นสมาธิ ทุกย่างก้าวต้องมีสติเน้อ...
|