Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

การตั้งจิต

พุธ 19 ส.ค. 2015 5:26 am

อันสมาธินั้น หมายถึง การตั้งจิต ให้รู้ถึงที่ตั้งของจิต ที่ตั้งของจิตนั้น ในจิตใจของคนเรา มีดวงจิตผู้รู้อยู่ภายในร่างกายของคนเราจะยืน เดิน นั่ง นอน ไป มา พูดจาปราศรัย ได้นั้น อยู่ที่ดวงจิตผู้รู้นี้เอง
ดวงจิตผู้รู้ ธาตุรู้ ดวงนี้นั้น เป็นดวงตั้งดวงเดิม มีมาตั้งแต่อเนกชาติ นับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว มิใช่ว่าพึ่งมาเกิดในภพนี้ชาตินี้ก็หามิได้
ดวงจิตผู้รู้นี้ เป็นของเราเอง เป็นจิตใจของเราทุกคน ไม่ใช่บิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าให้
บิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าให้นั้นคือให้รูปขันธ์ ขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่ง รูปตัวก้อนธาตุดินน้ำไฟลมนี้ ได้มาจากบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้า
ส่วนดวงจิตผู้รู้นี้เป็นของเราเอง เกิดตายๆ มาในโลกนี้นับไม่ถ้วน ก็จิตผู้รู้ดวงนี้แหละ ยังลุ่มหลงอยู่ในรูปรสกลิ่นเสียง

เวลาภาวนาตั้งจิต ท่านจึงให้ตั้งลงไป ณ ที่นี้ จะบริกรรมอุบายใดก็ตาม กำหนดตรวจกายก็ตาม คือเอาจิตดวงนี้กำหนดพิจารณาตรวจไปตามร่างกาย มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น
เมื่อกำหนดพิจารณาร่างกายทุกอย่าง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ให้มารวมจิตใจเข้าไปที่ดวงจิตผู้รู้ที่ว่านี้
ดวงจิตผู้รู้อันนี้ มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้มีอยู่ในอดีต มิได้มีอยู่ในอนาคต สิ่งใดที่เป็นอดีตล่วงมาแล้ว สิ่งนั้นมันก็หมดไปแล้ว สิ่งที่ยังมาไม่ถึง คือข้างหน้าอนาคตกาล สิ่งนั้นก็ยังเป็นเรื่องข้างหน้า
จิตใจมิได้อยู่ข้างหน้า เป็นแค่อารมณ์ส่ายไปในเรื่องอดีต ส่ายไปในเรื่องอนาคต แล้วก็มาเป็นอารมณ์สับสนอยู่ภายในจิต ถ้าไม่ชำระแก้ไขในเวลาปัจจุบัน คนเราก็จะหาเวลาทำสมาธิรวมจิตรวมใจให้สงบไม่ได้
เพราะอารมณ์เรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งบาปทั้งบุญมารวมอยู่ในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ เวลานั่งสมาธิภาวนาทุกครั้งทุกคราว ท่านจึงให้ละวางปล่อยวางเรื่องราวอารมณ์ที่ผ่านมาแล้ว ที่ยังไม่มาถึง ดีเท่าไรก็อย่าไปคิดคำนึง ชั่วร้ายขนาดไหนก็อย่าไปคิดคำนึง เพราะสิ่งนั้นมันเป็นธรรมดาของจิตปุถุชนคนเรา
ท่านให้เลิกติดต่อกับสิ่งนั้นๆ มาตั้งจิตลงไปในดวงจิตผู้รู้ที่กล่าวนี้
คำว่า ดวงจิตผู้รู้ นี้ มิใช่ว่าแต่งตั้งหรือว่าเทศน์ธรรมจึงเกิดมีขึ้น จิตดวงที่มีความรู้อยู่นี้ มันเป็นดวงดั้งเดิม เป็นธาตุแท้จิตใจของคนเราและสัตว์ทั้งหลาย ไม่ได้มีอะไรมาเพิ่มเติม
ดวงจิตผู้รู้นี้ ทีนี้สิ่งที่เพิ่มเติมนั้นก็คือ จิตผู้รู้นี้แหละมีสังขารจิตปรุงแต่งคิดนึกไปตามอารมณ์ อดีต อนาคต แล้วก็เก็บเข้ามา มาหมักหมมไว้ในดวงจิตผู้รู้อันนี้ มาหลอกหลอนจิตผู้รู้อันนี้ ให้ไหวหวั่นพรั่นพรึงไปตามสังขารจิตอันนั้น
ท่านจึงให้ชื่อสังขารจิตที่ปรุงแต่งหลอกหลอนนั้นว่า เป็นสังขารมาร
คำว่า สังขารมาร มารคือสังขาร ที่ท่านให้ชื่อว่ามาร ก็คือว่ามันเป็นผู้ฆ่า ผู้ทำลาย ทำลายศีล ทำลายสมาธิ ทำลายปัญญา ทำลายวิชาความรู้หมดทุกอย่าง ถ้าใครหลงไปตามสังขารมารเหล่านั้น
ท่านจึงให้ตั้งจิตให้มั่นคงลงไปจำเพาะดวงจิตที่มีความรู้อยู่อย่างเราฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังคำสั่งสอนอยู่ในเดี๋ยวนี้ขณะนี้ เพราะมีหูจึงได้ยินเสียง เสียงนั้นไม่ว่าเทศน์เสียงธรรม เสียงอะไรๆ มันเข้าไปได้หมด
ที่รับรู้ว่าเสียงนั้นเสียงนี้นั่นแหละ ดวงจิตอยู่ตรงนี้แหละ ตรงที่รู้จักว่าเสียงกระทบเข้ามา หรือเราบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ ก็ผู้ที่ได้ยินว่า พุทโธ พุทโธนี่เอง

หลวงปู่สิม พุทธาจาโร






บอกสอนให้ใส่บาตรทำบุญ

กลับมาพักบ้านแม่บ่อแก้วได้ไม่นานก็เข้าไปพักภาวนาอยู่บ้านของพวกชาวกระเหรี่ยง จำชื่อบ้านไม่ได้ บ้านบ่อแตน หรืออะไรนี่หล่ะ อยู่กับพวกกระเหรี่ยง หมู่บ้านนี้นานได้หลายเดือน เพราะบอกลาเขาวันใด เขาก็ไม่ยอมจะให้ไปไม่ยอมให้เราไปที่อื่น มาขอร้องให้เราอยู่ มาขอทั้งฮ้องทั้งไห้ มาทั้งเด็กหนุ่มสาวคนเฒ่าคนใหญ่ เป็นอยู่หลายครั้ง เราก็ใจอ่อนอยู่กับเขา

พวกเขากลัวเราจะหนี ก็จัดเวรยามมาเฝ้า ตอนสายๆ ตอนเที่ยง ตอนบ่าย ตอนค่ำ วันหนึ่งมาเฝ้าดู ๔ รอบ

ตอนเช้าเราไปบิณฑบาต พวกเขาใส่บาตรกันทุกหลังคาเรือน เต็มบาตรทุกวัน แต่วันแรกที่เราเข้าไปบิณฑบาตนั้น ทั้งเด็กน้อยคนใหญ่ คนเฒ่า วิ่งวุ่นหลบเข้าไปในบ้านในเรือนจนหมด เราก็ยืนนิ่งอยู่หน้าบ้าน เขาไม่ให้ก็ไปหลังใหม่ก็เป็นอย่างนั้นกันทั้งหมู่บ้าน หรือว่าเขาไม่เคยใส่บาตรทำบุญกับพระหรือว่าเขายังไม่คุ้นเคยกับเรา เดินไปจนสุดหมู่บ้าน

กลับมาเขาก็ยังหลบตัวอยู่จะมีแต่คนผู้ชายหนุ่มๆ ถือดาบถือหอกถือหน้าไม้ ออกมายืนเป็นกลุ่มคอยสังเกตการณ์จับตามองเราอยู่ห่างๆ แต่ไม่ว่าอะไร ไม่เข้ามาทำอันตรายใดๆ พวกเด็กน้อยเขาก็อยากดูอยากเห็นก็โผล่หน้าออกมาดูเรา บางคนก็ยิ้มให้เรา เราก็พยักหน้ายิ้มตอบ เขาก็หลบตัวเข้าไปแล้วโผล่หน้ามาอีก

ไปบิณฑบาตวันแรกไม่ได้ข้าว ไม่ได้ฉันอะไร กลับมาฉันแต่น้ำแล้วนั่งภาวนา เดินจงกรมอยู่ แต่พวกกระเหรี่ยงเขาก็จัดคนให้มาสอดส่อง ดูลาดเลาท่าทีอยู่ เราก็รู้อยู่ แต่ก็ไม่สนใจเขา เดินจงกรมไปมา นั่งภาวนาหิวขึ้นมาก็ฉันน้ำเสียให้เต็มท้องก็พอทนอยู่ได้

เช้าวันที่สองเราก็เข้าบิณฑบาตอีก เดินไปอย่างเดิม พวกเขาก็ยังกลัวอยู่ เหมือนเดิมก็ว่า เอ..วันนี้ทำอย่างไรหนอถึงจะได้ข้าวมาฉันหรือจะบอกจะสอนเขาอย่างไร คนดงคนป่าเหล่านี้ ความเมตตาสงสารมันรุกขึ้นในใจของเรา คนรู้แล้วพระพุทธเจ้าไม่สอน คนที่พระพุทธองค์สอนก็มาสอนคนไม่รู้นี้เอง

เราก็เดินไปทุกหลังคาเรือน ได้หลังที่ห้า พอดีหลังนี้คนหุงข้าวเป็นเด็กสาวรุ่นอายุ ๑๕ - ๑๖ ปี กำลังดงข้าวอยู่พลิกหม้อข้าวมองเขาไปมาอยู่ หากจะลุกหนีหลบตัวก็ห่วงหม้อข้าว จึงเก้ๆ กังๆ อยู่แล้วทำท่าไม่เห็นเรา นั่งหันข้างหันหลังให้ เรานึกในใจว่า...

“พระพุทธเจ้าคงจะไม่ปล่อยให้ลูกศิษย์สาวกของพระองค์ลำบากเกินไป”

อีสาวน้อยคนนั้นเขาดงหม้อข้าวอยู่จนแล้วเสร็จแล้ว เขาก็หันหน้ามาดูเราว่า ทำไมไม่ไปสักที หรือจะหันหน้ามาดูเราให้ชัดๆ ก็เป็นได้ เราก็ได้จังหวะเปิดฝาบาตรออก เอามือชี้ไปที่หม้อข้าว แล้วชี้ลงที่บาตรของเรา แล้วทำทางกิริยาการกินให้เขาดู

อีสาวน้อยคนนั้นก็เข้าใจ วางหม้อข้าวเดินไปหยิบช้อนตักข้าว กลับมายกหม้อข้าวมาตักข้าวใส่บาตรให้ ผู้ข้าฯ ก็รับเพียง ๓ ทัพพีแล้วปิดบาตร ตัวเขาก็หยุดใส่ เราก็พยักหน้าให้แล้วเดินต่อไปเรือนหลังใหม่ อีสาวน้อยคนนั้นมันก็ร้องบอกเป็นภาษาของเขา

ทีนี้เขาก็พอรู้กันได้ว่ามาขอบิณฑบาตข้าวสุก ก็มีออกมาใส่บาตรบ้างนับได้ ๕ คนที่ใส่บาตรข้าวเปล่าให้ กลับไปที่พักก็ฉันจนหมด วันที่สองนั้นได้ฉันแต่ข้าวกับน้ำแท้ๆ วันที่สามก็ไปอีก พอดีวันนี้โยมผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านที่พอพูดภาษาเมืองได้บ้าง เข้าใจได้บ้าง และตัวเขาเองก็เคยเห็นพระมาก่อน จึงได้เข้ามาพูดคุย เราก็อธิบายให้ฟังจนเข้าใจกันได้ดี โยมผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านก็เคาะเกราะไม้รัวๆ ๓ ยก สักพักผู้ใหญ่ เด็กน้อย คนเฒ่า ต่างคนต่างก็มา ถืออาวุธมาอย่างในวันแรก มากันมากแล้วผู้เป็นหัวหน้าจึงได้บอกลูกบ้านญาติพี่น้องของเขาว่า

“ท่านเป็นพระมาขอบิณฑบาตข้าวพร้อมกับข้าว สุดแท้แต่ใครมีอันใด ขอให้ใส่บาตรถวายท่านได้ แต่ต้องของที่สุกแล้วด้วยไฟ”

โยมผู้เป็นหัวหน้า ก็เอาข้าวสุกกับอาหารมาใส่ให้ดู จากนั้นพวกเขาก็รีบด่วนกลับไปเรือนแล้ว เตรียมของจังหันใส่บาตร วันที่สามนี้ทั้งข้าวทั้งกับเต็มบาตร จนต้องได้ใส่ฝาบาตร

ขากลับคืนผ่านบ้านของผู้เป็นหัวหน้านั้นจึงได้บอกว่า อาหารมากมายนี้อาตมาฉันไม่หมดหรอก ขอให้โยมกับชาวบ้าน ๓ - ๔ คน ตามออกไปด้วย ไม่ใช่อยากให้ตามไปหรือไม่ใช่ว่าเราจะห่วงอาหาร แต่เป็นอุบายที่จะชักจูงพวกเขาต่างหาก พวกเขาก็ถือหม้อออกไปด้วย

เราก็ฉันจนอิ่ม ฉันให้เขาดู ทำกิริยาให้เขาดู บางอย่างเขาก็ถามเราก็อธิบายให้ฟัง การกิน การอยู่ การหลับนอน การอาบน้ำ กิจวัตรข้อวัตร เมื่อพวกเขาเข้าใจแล้ว วันต่อมาก็หลายคนขึ้นมามากขึ้นๆ ก็อาศัยโยมผู้เป็นหัวหน้านั้นเป็นล่ามแปล และผู้ข้าฯ ก็เรียนภาษากับพวกเขาด้วย ความเคารพรัก ความเลื่อมศรัทธาก็มากขึ้นทุกวันในใจของพวกเขา แต่เรื่องที่พักเสนาสนะนั้นเขาทำร้านที่พักให้อย่างดี ป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายได้ อุขังน้ำ ที่ตักน้ำ ถ้วยชาม หม้อต้มน้ำ เขาจัดหามาให้ พวกคนหนุ่มคนสาว มีอีสาวน้อยคนนั้นเป็นหัวหน้าหมู่พากันมาส่งจังหันทุกวัน ขณะที่เรานั่งฉันอยู่นั้น เขาก็จะจับต่อกันเป็นวงกลมแล้วร้องรำไปด้วย เต้นรำไปด้วย ทำอยู่อย่างนั้นทุกวัน

เล่นรำอยู่ประมาณสัก ๕ นาทีแล้วก็กราบไหว้แล้วนั่งรออยู่ ก่อนเราฉัน เราจัดอาหารแล้ว เขาก็พากันมาดูบาตรเรา เราก็ผลักบาตรออกไปให้เขาดู พอฉันแล้วเขาก็มาดูบาตรเราอีก การขบฉันของเราก็วันมากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่ธาตุขันธ์ร่างกายต้องการ แต่เรื่องอาหารการอยู่กิน มีเหลือล้นทุกวัน น้ำพริกผักลวก เนื้อย่าง ปลาปิ้ง พวกแกงป่า แกงเลียง อาหารการขบฉันก็ถือว่าได้สัปปายะ สะดวกสบายไม่อดไม่หิว นานๆ ก็จะได้ฉันอาหารทางเวียงทางเมือง เช่น พวกปลาทูเค็ม แค๊บหมู หากช่วงใดโยมผู้เป็นหัวหน้านั้น เอาของป่าลงไปขายก็จะได้อาหารในเมืองข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ขึ้นมาแลกเปลี่ยนกันใช้สอย แบ่งปันกันกินภายในหมู่บ้าน ๑๖ หลังคาเรือนของพวกเขา ที่อยู่ก็สบาย ใกล้ห้วยน้ำ

พวกผู้คนเขาก็ไม่มารบกวนอะไรเรา มาเฝ้าดูว่าเรายังอยู่เท่านั้น เขาก็กลับไป เราก็บอกสอนเขา พวกผู้หญิงอยากมาหาต้องให้มีผู้ชายมาด้วย แปลกอยู่อย่างของเขา คือ เขาจะให้ทานอะไร ได้ทานอะไรแล้ว ได้มาทำอะไรให้แล้ว หากเราไม่ปันศีลปันพรให้เขาจะไม่ยอมลุกจากไป ต้องได้รับพรเสียก่อน

มันเรื่องลำบากใจแท้นั้นตอนที่ลาพวกเขาออกมา เพราะทนอากาศหนาวไม่ไหว กลางวันพอทนอยู่ได้ แต่พอค่ำเท่านั้นอากาศเย็นเยียบเข้ากระดูก เลยก็ว่าได้ จุดไฟไว้หากไฟมอดอ่อนเปลวลงยามใดก็ต้องเย็นหนาว กลางคืนนี่ไฟต้องลุกอยู่ตลอด จึงจะพออยู่ได้ ลำบากเรื่องหนาวนี้เอง จึงลาพวกเขาออกมา แต่พวกเขาไม่ยอม

ธรรมะประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ





พระกราบแม่เหมาะสมหรือไม่?

ปุจฉา-หลวงพ่อครับเมื่อวันแม่ที่ผ่านมา มีคนนำภาพพระหลายท่าน ก้มกราบแม่มาลงในเฟชบุ๊ก เป็นที่วิจารณ์กันมาก ว่าสิ่งที่นั้นทำถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ หลวงพ่อช่วยแสดงความคิดเห็นให้สาธุชน ให้หายสงสัยด้วยครับ

พระไพศาล วิสาโล วิสันชนา - การกราบเท้าพ่อแม่นั้นเป็นทั้งการแสดงความเคารพและความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ เป็นสิ่งที่พึงกระทำ อย่างไรก็ตามวิธีนี้เป็นธรรมเนียมที่เหมาะแก่ฆราวาสเท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับพระ เพราะธรรมเนียมไทย(และชาวพุทธ)แม้ถือว่าพ่อแม่อยู่สูงกว่าลูก แต่เวลาเดียวกันก็ถือว่า พระอยู่สูงกว่าฆราวาส ดังนั้นจึงมีแต่ฆราวาสเท่านั้นที่ไหว้หรือกราบพระ อย่าว่าแต่ฆราวาสที่เป็นพ่อแม่เลย ถึงแม้เป็นพระมหากษัตริย์ ก็ต้องเป็นฝ่ายไหว้และกราบพระเท่านั้น ความข้อนี้รวมถึงฆราวาสที่เป็นพระอริยบุคคล ก็ต้องไหว้หรือกราบพระเช่นกัน ถึงแม้ฝ่ายหลังจะเป็นแค่ปุถุชนก็ตาม

อันที่จริงเมื่อใครก็ตามบวชพระ เขาไม่ได้เป็นแค่นาย ก. หรือนาย ข. เหมือนครั้งเป็นฆราวาสอีกต่อไป เขามีสถานะใหม่ ที่สำคัญก็คือเป็นตัวแทนของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หรือเป็นตัวแทนของพระธรรมวินัย ประการหลังต่างหากที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ฆราวาสกราบพระ แม้ว่าพระรูปนั้นเพิ่งบวชได้วันเดียว หรือเคยเป็นลูกของตนมาก่อนก็ตาม (ตามธรรมเนียมชาวพุทธ ผู้ที่บวชพระถือว่าสละครอบครัว มีสังกัดใหม่คือคณะสงฆ์ จึงทิ้งนามสกุลเดิม และมีฉายาใหม่ที่เป็นภาษาบาลีที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้ และถือว่าพระอุปัชฌายนั้นคือพ่อแม่ในสถานะใหม่) ด้วยเหตุนี้เมื่อฆราวาสกราบพระที่เคยเป็นลูกของตน เขาไม่ได้คิดว่ากราบลูก แต่กำลังกราบพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบซึ่งพระรูปนั้นเป็นตัวแทน พูดอีกอย่างคือ กราบผ้าเหลือง หากใครเข้าใจว่าพ่อแม่กำลังกราบลูก นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด

พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าเมื่อบวชพระแล้วจะตัดความสัมพันธ์กับพ่อแม่ การแสดงความเคารพและกตัญญูต่อพ่อแม่ก็ยังควรกระทำ แต่ไม่จำเป็น(หรือไม่ควร)ที่จะแสดงออกด้วยการกราบเท้าท่าน ยังมีวิธีอื่นที่ดีกว่า ส่งผลยั่งยืนกว่า ไม่ใช่แสดงออกแค่รูปแบบหรือสัญลักษณ์เท่านั้น เช่น การน้อมนำท่านให้รู้จักธรรมะ ดังพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า แม้ลูกจะแบกพ่อและแม่บนไหล่ทั้ง ๒ ข้างจนท่านมีอายุถึง ๑๐๐ ปี ขณะเดียวกันก็ดูแลท่านด้วยการนวด บีบ อาบน้ำทุกวัน รวมทั้ง ให้พ่อแม่ถ่ายอุจาระปัสสาวะบนบ่า ก็ยังไม่นับว่าได้สนองบุญคุณของท่านได้บริบูรณ์ แต่หากทำให้ท่านตั้งอยู่ในคุณความดี คือ มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เป็นต้น จึงได้ชื่อว่าสนองคุณท่านเต็มที่ ใช่แต่เท่านั้นยังมีวิธีอื่นที่ดีรองลงมา เช่น ดูแลท่านยามเจ็บป่วย หรือนำอาหารบิณฑบาตมาเลี้ยงดูท่านหากท่านยากจน วิธีเหล่านี้ไม่ได้เหมาะแก่พระเท่านั้น ฆราวาสก็ควรนำไปปฏิบัติด้วย ไม่ใช่ไปเยี่ยมท่านหรือกราบเท้าท่านเฉพาะวันแม่เท่านั้น
ตอบกระทู้