อาทิตย์ 23 ส.ค. 2015 8:49 am
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ. .
----------------------------------------
เรื่องเดินธุดงค์แล้วไปพบกับสิ่งอัศจรรย์นั้นมีมาก แต่จะยกเหตุการณ์ของครูบาอาจารย์ที่เคยพบมาก็มี เช่น พระอาจารย์ขาวท่านเล่าว่า ที่พระพุทธบาทบัวบกนี่แรงและศักดิ์สิทธิ์จริง ๆ ถ้ามาปฏิบัติธรรมต้องมีความพากเพียรให้มาก ๆ นั่งสมาธิ ภาวนา เดินจงกรมทำจิตใจให้สงบระงับ มีความสงบ กาย วาจา ใจ ทำตัวเองให้เป็นพระให้จงได้ ถ้ามามัวแต่เหน็ดเหนื่อย ท้อแท้ ท้อถอย เอาแต่หลับนอนสัปหงกหัวโขกพื้น หรือเอาแต่พูดคุยไม่ค่อยทำความเพียร ทำความเพียรน้อย พูดคุยใจหลากมากก็ไม่ดี เพราะเคยปรากฏว่ามีสิ่งลึกลับคอยมาดึงขา กระชากแขนแรง ๆ เกียจคร้านมาก ๆ ไม่ค่อยภาวนา จะเอาขั้นชนิดต้องเก็บบริขารลากลับวัด ลาสึกไปเลย ถ้ามากกว่านั้นเช่นทำผิดพระธรรมวินัย ถูกอาบัติร้าย ๆ ก็อาจเป็นไข้ป่าร้ายแรง เสียชีวิตลงที่นั่นเลยก็เป็นได้
สมัยท่านพระอาจารย์เสาร์กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น จึงต้องฝึกฝนอบรมจิตใจให้อ่อนนุ่มนวล เบิกบาน ปล่อยวางอารมณ์ที่จะฟุ้งซ่านออกไป ทุ่มเทจิตใจกับการปฏิบัติอบรมใจ อย่างที่เรียกว่า เอาชีวิตนี้แหละเป็นเดิมพัน เอาทุกอย่างลงทุน จนกว่าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างใสสะอาด คือชนะกิเลสในตน นั่นแหละเป็นความตั้งใจจริงของผู้ปฏิบัติและสามารถเอาตัวรอดได้อย่างสิ้นสงสัย
ชีวิตพระธุดงค์เป็นชีวิตที่น่าศึกษามาก สมัยก่อนป่าไม้มากในทุก ๆ แห่ง สัตว์ป่าชุกชุมเราก็ถือว่า เราก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เรียกตนเองว่าคน มนุษย์อะไรทำนองนี้แหละ ส่วนสำคัญมากคือ สติ เพราะการอยู่ในสิ่งแวดล้อม อย่างในป่าดงพงพฤกษ์ เป็นผลดีอย่างหนึ่ง ฉะนั้นพระพุทธเจ้าของเรา พระองค์จึงนิยมป่ามากกว่าอย่างอื่น พระองค์ให้ตั้งสติมั่น อย่าหวั่นไหวสิ่งที่ได้ผ่านพ้นมานั้นเป็นอุบายภาวนา เอามาเป็นครู คอยกำชับ กำหราบ จิตใจให้เกิดความสงบเพื่อให้ได้พบทางแห่งความดี ครูบาอาจารย์ท่านสอนพวกเราว่า อะไร ๆ ก็ไม่สำคัญเท่าสติ ความชำนาญ ให้เราปฏิบัติให้ชำนาญมาก ๆ คือ วสี ที่ต้องกล่าวถึงวิธีนี้ ต้องพูดเสียก่อน ท้าย ๆ เรื่องถึงจะได้เข้าใจว่า วสี นั้นถ้าใครชำนาญ แม้จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นเฉพาะหน้า ก็จะเอาตัวรอดได้
วสี มีอยู่ ๕ ชนิด และต้องทำให้ชำนาญด้วย คือ
๑. ชำนาญในการยกอุบายอะไรขึ้นมาพิจารณาก็ได้ ให้ทันท่วงที
๒. ชำนาญในการเข้าสมาธิ
๓. ชำนาญในการออกจากสมาธิ
๔. ชำนาญในการตั้งอยู่ของสมาธิ
๕. ชำนาญในการกำหนดรู้ของอารมณ์ของสมาธิ
นี่ว่ากันตามวิถี ถ้าพูดกันตามปัญญา อย่างครูบาอาจารย์ท่านมีความชำนาญ เราก็ต้องพิจารณาให้เห็นสรรพสังขารทั้งหลายตกลงสู่พระไตรลักษณ์ เพราะนี่เปรียบเป็นยานพาหนะให้พบความสำเร็จขึ้นถึงฝั่งได้ ทีนี้จะพูดกันว่า วสี ๕ นั้นมีความสำคัญอย่างไร ทำไมต้องชำนาญ
คืนหนึ่งเรานั่งปักกลดอยู่หน้าปากถ้ำที่มีพลาญหินกว้างมากนะ ตอนนั้นเป็นฤดูหนาวนั่งข้างนอกไม่ไหว เลยต้องย้ายเข้าไปในถ้ำเล็ก ๆ ในบริเวณนั้น เวลาก็ดึกมากแล้ว เที่ยงคืนเศษ ๆ ขณะนั่งสมาธิ ภาวนา ก็ได้มีเสือโคร่งตัวหนึ่ง โตนะ มองเห็นมันเดินไปมาหน้าปากถ้ำมันคงจะหนาวมากจึงมาหาที่อบอุ่น มันเดินวนไปวนมาอยู่ครู่หนึ่ง แล้วมันก็ก้าวเข้ามาทรุดตัวหมอบลงลักษณะครึ่งนั่งครึ่งนอน ความจริงจะว่ามันมาเยี่ยมก็ไม่เชิง เพราะข้างนอกอากาศหนาวจัดนี่ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ ก็มีสัญชาติญาณรักตัวกลัวทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น มันจึงมารวมอยู่ในถ้ำเล็กคับแคบนี้ด้วยกัน ตลอดทั้งคืนมันก็ยังนอนขวางทางอยู่อย่างนั้นนะ จนกระทั่งสว่าง
ก็มาคิดว่า “เออ! จะทำอย่างไรดี เสือมันก็มานั่งอยู่อย่างที่เห็นเมื่อตอนกลางคืน ถึงเวลาออกบิณฑบาตก็ไม่สามารถออกจากปลดได้ เสือโคร่งตัวนี้มันก็ยังนั่งเฉยอยู่เหมือนว่าจะแกล้ง เอาล่ะ! เมื่อไม่มีทางแล้วก็เอาอย่างนี้ดีกว่า เราจะขอตั้งจิตอธิษฐานแล้วก็แผ่เมตตาไปยังเสือโคร่งตัวนี้”
จากนั้นชั่วครู่ใหญ่ ๆ เขาก็มองมาที่กลดของเรา แล้วก็ร้องคำรามขึ้นครั้งหนึ่ง เหมือนจะบอกกล่าวให้รู้ว่า “ไปละ” จากนั้นเขาก็เดินออกจากถ้ำเข้าป่าไป พอเขาไปแล้ว จึงออกบิณฑบาตไปยังหมู่บ้านซึ่งห่างจากถ้ำ ๕ กิโลเมตร
หนังสือ "พระโพธิธรรมาจารย์เถร (สุวัจน์ สุวโจ)" เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ วันเสาร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล /--วัดป่าสันติกาวาส
----------------------------------------
“ร่างกายนี้เป็นดงหนาป่าทึบ ยากที่บุคคลจะถากถางบุกป่าฝ่าดงนี้ให้ทะลุไปได้ ในดงหนาป่าทึบนี้เต็มไปด้วยอสรพิษ คอยกัดตอดให้ได้รับทุกขเวทนาอยู่ตลอดเวลา ได้แก่ความเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บท้อง ปวดหัว เจ็บตา ปวดฟัน เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานอยู่ในกายอันนี้ เมื่อเราหลงอยู่ในดงหนาป่าทึบอันนี้ จึงถูกอสรพิษทำร้ายอยู่ตลอดเวลา หลงในร่างกายนี้ ชายหลงหญิง หญิงหลงชาย หลงกันอยู่อย่างนี้ เราหลงเขา เขาหลงเรา นี้จึงพ้นทุกข์ไปไม่ได้ ถ้าใครมาถากถางดงหนาป่าทึบคือร่างกายนี้ให้เตียนโล่ง คือพิจารณาให้เห็นสภาพความเป็นจริงในกายนี้ เป็นของแตกดับทำลาย ไม่จีรังยั่งยืน เป็นเพียงธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันอยู่เท่านั้น ในที่สุดก็จะสลายลงสู่ธาตุเดิมของเขาเท่านั้น เมื่อเห็นอย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า ข้ามดงหนาป่าทึบไปได้ จึงจะพ้นทุกข์พ้นภัยไปได้” นี้เป็นโอวาทธรรมที่หลวงปู่แสดงเตือนศิษยานุศิษย์ที่ไปกราบเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาลศิริราช
ประชาสัมพันธ์งานปิดทองประจำปี 2559
http://bhantung.gagto.com/