พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อังคาร 25 ส.ค. 2015 9:24 am
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
--------------------------
สิ่งที่ยึดถือได้ไม่ผิดหวังก็คือพุทโธ ธัมโม สังโฆ ดังที่ท่านแสดงไว้ในธรรมว่า พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คตา. ผู้ใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้โดยลำดับโดยไม่ต้องสงสัย การไปพึ่งที่นั่นที่นี่ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์วิเศษ มันศักดิ์สิทธิ์วิเศษแต่ความสำคัญเจ้าของเฉยๆ ไปไหว้เจดีย์ร้าง ต้นไม้ใหญ่ ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นจะมาให้ความดีความชอบแก่เรา ต้นไม้ก็เป็นต้นไม้ อิฐปูนหินทรายที่ก่อเจดีย์ร้างเอาไว้มันก็เป็นอิฐปูนหินทราย ตั้งแต่ตัวมันเองก็ยังร้าง มันจะดิบดีที่ตรงไหน
พ่อแม่ครูอาจารย์เสาร์ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่น และศิษย์พระกรรมฐานทั้งหลายที่จาริกไปแสวงหาสถานที่วิเวกเพื่อทำความเพียร เจริญจิตภาวนานั้นก็เพื่อให้เกิดปัญญาในธรรมขั้นสูง ๆ ขึ้นไป
ในขณะเดียวกันนั้นก็เพื่ออบรม สั่งสอนประชาชนชาวบ้านที่ไปโปรดทั้งบิณฑบาต และแสดงธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ละทิฏฐิเก่าที่เชื่อนับถือผี ให้หันมายึดในไตรสรณคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นสัมมาทิฏฐิและเป็นหนทางที่จะดับทุกข์ได้ ภูต ผี เทวดาต่าง ๆ ยังมีกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ พอใจก็ให้คุณได้ ถ้าไม่พอใจก็ให้โทษ แต่ไตรสรณคมน์นั้นมีแต่คุณ พระพุทธเจ้าสอนให้ละ โลภะ โทสะ โมหะ และชักจูงให้ชาวบ้านญาติโยมประพฤติปฏิบัติตามจะได้มีสุขและหาทางพ้นทุกข์ในที่สุด
ชาวบ้านที่มาฟังธรรม รักษาศีล ตามวัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่ก็ยังรู้สึกกลัวผี โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก เรียกว่า “ขวัญอ่อน” เคยมีเหตุการณ์ยามดึกสงัด โยมได้ยินเสียงเสมือนสัตว์วิ่งเหยียบใบไม้บนพื้นดังชอบ ๆ สักพักก็หยุดแล้วก็ดังใหม่ขึ้นอีกมาเป็นระยะ ๆ เสียงตะโกนมาว่า “ช่วยด้วยผีมา” ได้ยินเหมือนขึ้นต้นไม้เมื่อฉายไฟไปยังเสียงก็ปรากฏว่าเป็นตัวบ่างวิ่งหากินในยามค่ำคืน นี่แหละจิตที่กิเลสครอบงำอยู่ปรุงแต่ง ปัญญาธรรมเข้ามาไม่ทันก็กลัว เมื่อรู้อย่างนี้แล้วความกลัวคงน้อยลง ความกล้าคงมากขึ้นจนไม่กลัวเลย
พระอาจารย์อินทร์ถวาย เคยถามหลวงปู่ว่า “หลวงอา กลัวไหมครับ”
หลวงปู่ตอบว่า “ไม่กลัวมันหรอก เพราะเขากลัวเราจนร้องห่มร้องไห้แล้ว เราจะไปกลัวเขาทำไม”
เมื่อน้อมมาพิจารณาเป็นธรรมะจะเห็นได้ว่า ผีในจิตใจของเราร้ายยิ่งกว่าผีภายนอก กิเลสในจิตใจเป็นผีร้ายคอยสิงอยู่ให้จิตใจคิดทำความชั่ว บาปอกุศล แต่ถ้าธรรมะเข้ามาอยู่ในจิตใจเมื่อใดย่อมจะคิดทำความดีทำบุญกุศล หลวงปู่จามจึงพยายามสั่งสอนให้ทำความดีย่อมได้ผลดีตลอดไป
ประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ
หลวงปู่ขาว อนาลโย
------------------------------
สัตว์ทั้งหลายเกิดมาในโลกนี้ มีแต่บ่ายหน้าไป บ่ายหน้าไปหาความแตกดับเป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนี้ อันที่จริงมันไม่ใช่ตาย พระพุทธเจ้าว่ามันตายเล่น ไม่ใช่ตายจริง ตายแล้วมันกลับก่อขึ้นอีก มันบังเกิดอีก เพราะความอาลัยอาวรณ์ผิด เหมือนพวกคุณหมอ คุณหญิงก็ดี เดี๋ยวนี้อัตภาพร่างกายมาอยู่ที่นี่ ที่ถ้ำกลองเพล พอออกจากที่นี่จะไปไหนล่ะ เพราะใจ ดวงใจมันไปจดจ่ออยู่ที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ของตนอยู่ที่ไหน ต้องไปจดจ่ออยู่ที่นั่น สัตว์ตายแล้วเกิดที่ไหน พระพุทธองค์ไม่ทรงพยากรณ์ เพราะการทำความดีความชั่วอยู่ มันเป็นเพราะกรรม กรรมเป็นของ ๆ ตน กรรมดีให้ผลตอบแทน คือความดี ความพอใจ กรรมไม่ดีให้ผลตอบแทนคือความไม่ดี ความไม่พอใจ มันเป็นสมบัติของสัตว์ ชาตินี้ยังอาลัยอยู่กับสิ่งทั้งปวงแล้ว คิดดูใจเราเดี๋ยวนี้แหละ เดี๋ยวนี้จดจ่ออยู่กรุงเทพฯ ตายไปเกิดที่ไหนล่ะ เกิดกรุงเทพฯ มนุษย์ถือผี ถือนั่น ถือเทพ บวงสรวงอย่างนั้นอย่างนี้ เอาอันนั้นเป็นสรณะที่พึ่งก็เหมือนกัน มันเคยแต่ไหว้ เคยแต่พึ่งอันนั้น มันตายจากนั่นมันเอาแต่นั่นเป็นชาติ ชาติอันนั้นมันต้องเป็น ชาติของเขาอยู่อย่างนั้น จิตเราไปจดจ่ออยู่ที่ไหน มันก็ไปเกิดที่นั่นแหละ อยู่ที่บ้านมันก็ไปเกิดอยู่ที่บ้าน
เพราะเหตุนั้นแหละ พระพุทธเจ้าจึงแนะนำสั่งสอนเทศนาอบรมจิตใจ อย่าให้มันไปเกี่ยวข้องในอารมณ์ บ้านช่องที่บ้านที่อยู่ที่ทำการทำงาน ทำ ๆ ไป แต่ไม่ให้จิตไปเกี่ยวข้อง ให้จิตอยู่กับจิต ให้จิตมันรู้เท่าอยู่กับจิต
กายนี่ก็ไม่ใช่ของตน มันแตกมันดับไปแล้ว มันไปก่อภพใหม่ชาติใหม่ ดวงจิตดวงเดียวนี่แหละมันไปก่อ จิตนี่แหละเดิมมันผ่องแผ้ว แต่อาศัยมันไม่รู้เท่าอารมณ์ อาศัยอาคันตุกกิเลส คือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั้งหลาย เอาเข้ามาฉาบมาทาแล้ว ทำจิตใจของเราให้เศร้าหมองขุ่นมัวไป จิตเดิมเลยกลายเป็นตัวอวิชชา ความโง่ความเขลาไป ไม่รู้เท่าตามความเป็นจริง ไม่รู้เท่าสังขาร ยึดถือ เมื่อสิ่งทั้งปวงวิบัติไปแล้ว ก็มีความโศกเศร้าอาลัยผูกพัน สิ่งที่ไม่พอใจมาประสบพบกัน มาประชุมร่วมกัน ประสบอันนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดความคับแค้น เป็นเหตุให้เกิดทุกข์โทมนัส ความคับแค้น เห็นสิ่งที่พอกพอใจพลัดพรากไป ไม่มาร่วม ไม่ประชุมร่วม นี่ก็เป็นเหตุให้เกิดความโศกเศร้าความอาลัยอาวรณ์ถึงกัน เรื่องของสังขารมันเป็นอย่างนั้น จึงให้พิจารณาให้รู้เท่า เกิดเป็นรูป เป็นนามล้วนแต่ของไม่เป็นสาระแก่นสารหมดทั้งนั้น รู้เท่าแล้วถึงสิ่งทั้งหลาย มันจะเป็นอย่างไรก็ตาม ไม่มีความหวั่นไหว แล้วย่อมผ่องใส จิตไม่เศร้าโศก จิตผ่องใส จิตเบิกบาน จิตเยือกเย็น จิตเยือกเย็นแล้วสิ่งทั้งปวงมารวมหมด ภายนอก วัตถุข้าวของเงินทอง แก้วแหวนเงินทองอะไรก็มารวมหมด มาอาศัย พุทโธ ผู้รู้
พุทโธมีอยู่ทุกรูปทุกนาม พุทโธ คือผู้รู้ สัมปชัญญะ คือ ผู้ตื่นอยู่ ผิดหรือชอบ ตื่นขึ้น สัมปชัญญะเป็นผู้ตัดสิน เราทำผิด หรือเราพูดผิด คิดผิด ไม่ถูก สัมปชัญญะเป็นผู้รู้ สติเป็นผู้ระลึกขึ้น พอระลึกแล้ว สัมปชัญญะว่า “ถูก” เราทำถูก พูดถูก คิดถูก นั่นแหละ รู้เห็นตนอยู่อย่างนั้น จิตจะได้เบิกบานแช่มชื่นเบิกบาน จิตเบิกบานแล้ว ไม่มีความโศกเศร้า ไม่มีความเสียใจ ไม่มีความเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่มีความทุกข์กาย ไม่มีความเสียใจ สบาย ครั้นเย็นแล้ว สิ่งทั้งปวงภายนอกย่อมไหลเข้ามา เงินทองมาพึ่ง มาพึ่งพุทโธหมด มาพึ่งธัมโม มาพึ่งสังโฆหมด
เดี๋ยวนี้เราถึงพระพุทธเจ้าอย่างไร ถึงพระธรรมอย่างไร ถึงพระสงฆ์อย่างไร ให้มาพิจารณาถึงกายของตน จิตใจของตน ถึงพระพุทธเจ้า หมายความว่าใจเบิกบาน ใจรู้เท่าต่อสิ่งทั้งปวง ไม่มีความดิ้นรนต่อสิ่งที่ไม่พอใจ สิ่งที่พอใจก็ไม่มีความฟูขึ้นไปตามอารมณ์ เรียกว่าพุทโธ เป็นผู้รู้ยิ่ง ธรรมไม่ใช่อยู่ที่อื่น ให้พิจารณาเอา พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงแล้ว นี่เรียก พุทโธ พุทโธเป็นผู้เห็น พุทโธเป็นผู้เบิกบาน เป็นผู้ตื่นแล้ว ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีความอาลัย ธัมโมคือแสงสว่าง เมื่อจิตสงบแล้ว นั่นแหละมีความสว่างไสวขึ้นมาในดวงจิต จิตสงบลงไป แน่วแน่ลงไป มีความสว่างไสวขึ้นมา ทำให้เราเห็นสิ่งทั้งปวง เห็นอัตภาพสกนธ์กายของตนชัดเจนขึ้นไป เห็นธัมโม สว่างขึ้น เห็นว่า โอ แม่นจริง ๆ พระพุทธองค์ว่าอัตภาพเป็นของกลาง ใครฉลาดใช้มันก็ได้ใช้ มันดี เอากำไรกับมัน ซื้อบุญกุศลคุณงามความดีไว้ ใครเป็นผู้โง่เขลา ไม่ก็เป็นผู้ประมาทไปยึดถือ ไม่รีบเร่งบำเพ็ญคุณงามความดีใส่ตนไว้ ก็ไม่ได้อะไรกับมัน เสียสมบัติดี ปล่อยให้มันแก่เฒ่ามันตายไป อันนี้เรียกว่าเป็นผู้ไม่ฉลาด ก็เพราะรู้ไม่เท่ามัน มายึดถือเป็นตนเป็นตัว ก็เป็นเหตุให้ทำสิ่งที่ไม่ดี ทางกายก็ไม่ดี วาจาก็ไม่มี ใจก็ไม่ดี ไม่มีเมตตากรุณาต่อเพื่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่าเสียสมบัติ
อันนี้พระพุทธเจ้าก็ว่าอยู่ กิจโฉ มนุสสปฏิลาโภ การที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นลาภใหญ่ เกิดมาชาติหนึ่ง ๆ แสนทุกข์แสนยากแสนลำบาก เราได้มาแล้ว เราเป็นผู้ไม่ประมาท รีบเร่งเอาทรัพย์ภายในไว้เสีย ความได้อัตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นลาภอันสำคัญ มนุษย์เป็นชาติอันสูงสุด เป็นสัตว์ใจสูง มีเมตตาซึ่งกันแลกัน ได้สมบัติมาดีแล้วก็รีบเอามัน รับทำเอาเสีย อบรมบ่มอินทรีย์ให้มันแก่กล้า แก่กล้ามันสุก สุกมันก็ดี หมากไม้มันสุกมันก็หวาน ไม่ใช่สุกแกมดิบ นอกจากอัตภาพร่างกายของเราแล้วสิ่งอื่นไม่มี เรื่องนอกธรรม เรื่องข้างนอกกว้างขวาง ต้องเข้ามาพิจารณาแต่กายกับใจของเราเท่านั้น อันนี้ได้ชื่อว่าเข้ามาใกล้แล้ว ใกล้เข้ามาทุกที ใกล้ทางพระนิพพาน เป็นผู้อยู่ต้นทางพระนิพพานก็ว่าได้ เป็นผู้ไม่ประมาท เข้าใกล้เข้าทุกที ๆ ครั้นบารมีของเราพร้อมบริบูรณ์แล้วก็สามารถที่จะพิจารณาได้
หลวงปู่ขาว อนาลโย
--------------------------------
ความทุกข์มันเกิดจากความอยากความใคร่ ภวตัณหาความอยากได้ อยากเป็นอยากมี อยากกอบโกยเอา อยากได้มาเป็นของตัว อยากเป็นเศรษฐีคหบดี อยากเป็นราชามหากษัตริย์ เรียกว่าภว ความอยากเป็นอยากมี ความไม่พอใจเหมือนอย่างความแก่หง่อมแห่งชีวิต ความเปลี่ยนแปลงแห่งชีวิต ความมีหนังหดเหี่ยวเป็นเกลียว ผมหงอกฟันหัก อันนี้ไม่พอใจ เสียใจ อยากให้มันเป็นหนุ่มตึงอยู่เหมือนเก่า ผมหงอกมันก็เอายาดำๆ มาย้อม แล้วมันก็ป่งขึ้นอีก มันก็ขายหน้าล่ะ มันก็ดำอยู่ปลายนั่น โคน ๆ มันก็ขาว มันก็ขายหน้าอีก แล้วก็ไม่พอใจ นี่เรียกว่า วิภวตัณหา ตัณหาสามอย่างนี้แหละเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.