พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อังคาร 08 ก.ย. 2015 7:07 am
การปฏิบัติ.ถ้าคิดหาทาง
ก็หลงทางทันที
(ขยายความหน่อยก็ดี มันลึกซึ้งนัก)
การปฏิบัติ.ถ้าคิดหาทางคือการปฏิบัติที่เจือด้วยตัณหา หาทางปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น หาทางปฏิบัติให้ดี ทั้งที่สภาพธรรมตามจริงคือ ทุกอย่าง ไม่เที่ยง เกิดดับตลอดเวลา ดีก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว เมื่อดิ้นรนหาทางจึงถูกกิเลสหนุนหลังและครอบงำใจ ยิ่งดิ้นรน ยิ่งออกห่างจากทางสายกลาง
ก็ต่อเมื่อ เลิกหาทาง แล้วมารู้ หรือเห็นรูปนามตามความเป็นจริง (ไม่ต้องใช้ความคิดด้วย)
ด้วยจิตที่มีสัมมาสมาธิตั้งมั่น มีปัญญาเห็นสรรพสิ่ง เกิดขึ้นแล้วดับไป เห็นอย่างนี้บ่อยๆ วันนหนึ่งจิตจะเข้าสู้ความเป็นกลาง และแจ้งในธรรมะว่า ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วดับไปเป็นธรรมดา ที่กล่าวมานี่ต้องฝึกเจริญสติปัญญาในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ แล้วจะเข้าใจวลีที่โพสต์ข้างต้น...ไม่ได้กล่าวมาลอยๆตามตำรา
ความปรารถนาของมนุษย์แม้จะมีมากมายหลายอย่างก็จริง แต่ไม่พ้นไปจากจุดหมายปลายทาง คือ ต้องการพบความสุขและอยู่กับความสุขให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกประการหนึ่งคือต้องการหลีกเลี่ยงความทุกข์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เป็นความต้องการฝ่ายลบ ส่วนความต้องการสุขเป็นฝ่ายบวก
แต่สุขทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นเอง มันมีเหตุปัจจัยให้เกิด ฝ่ายทุกข์พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า ทุกขสมุทัย เป็นอริยสัจข้อที่ ๒ คือเหตุให้เกิดทุกข์ ทรงชี้ไปที่ตัณหาหรือกิเลสว่าเป็นส่าเชื้อของทุกข์ อีกนัยหนึ่งเหตุแห่งทุกข์คือบาป มนุษย์สร้างเวรกรรมทำบาปมากเท่าใด ทุกข์ก็ติดตามมากเท่านั้น เพราะได้หว่านเมล็ดพืชแห่งทุกข์ไว้แล้ว รอแต่จะผลิดอกออกผลเท่านั้น มนุษย์เราเมื่อหว่านเมล็ดพืชแห่งชีวิต คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม มักไม่ค่อยระวัง สักแต่ว่าหว่านลงไปๆ แต่พอผลิดอกออกผลเป็นความทุกข์จึงร้องครวญครางอย่างเจ็บปวดว่า ไม่น่าเลย รู้อย่างนี้ไม่ทำดีกว่า
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
“ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า เพราะมันตามแผดเผาภายหลังได้” และว่า
“ถ้าท่านทั้งหลายกลัวต่อทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่รักของท่านทั้งหลายแล้ว ท่านอย่าทำบาปทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ถ้าท่านทั้งหลายจักทำบาปหรือว่าจะทำ ก็จะไม่พ้นจากความทุกข์ไม่ว่าจะหนีไปที่ใดก็ตาม” (๒๕/๑๑๕/๑๕๐)
ต้นเหตุที่ทำให้พระพุทธองค์ตรัสเรื่องนี้ มีโดยย่อว่า เช้าวันหนึ่งพระศาสดาเสด็จออกจากวัดเชตวันเข้าเมืองสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ทอดพระเนตรเห็นเด็กจำนวนมากกำลังจับปลา เบียดเบียนปลาอยู่ จึงเสด็จเข้าไปหาและตรัสว่า “พวกเธอกลัวต่อความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รักของพวกเธอหรือไม่” พวกเด็กกราบทูลว่า “ไม่ชอบความทุกข์เลย”
พระศาสดาจึงตรัสข้อความดังกล่าวแล้ว
พิจารณาดูสังคมของเราตลอดถึงสังคมโลก ร้องระงมด้วยความกลัวทุกข์ ทั้งที่มาถึงแล้วและคิดว่าจะมีมาในภายหน้า แต่สังคมของเราไม่ค่อยกลัวบาปอันเป็นต้นตอของทุกข์ เหมือนคนกลัวแก่ เจ็บ ตาย แต่ชอบความเกิดซึ่งเป็นต้นทาง และเป็นเหตุตรงแห่งทุกข์ทั้ง ๓ ประการนั้น เราชื่นชมโสมนัสต่อความเกิดหรือผู้เกิด โดยมิได้เฉลียวใจสักนิดว่า นั่นคือการชื่นชมต่อทุกข์ซึ่งดักรออยู่ข้างหน้า
ความฟุ่มเฟือยเป็นบาปอย่างหนึ่งของสังคม ถ้าสังคมยังฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย เพลิดเพลินสนุกสนาน และหาความสุขบนความทุกข์ยากแร้นแค้นของผู้อื่นอยู่ สังคมย่อมไม่สามารถประสบสันติสุขที่แท้จริง จะมีบ้างก็แต่ความสุขอันฉาบฉวย จอมปลอม พร้อมที่จะมอบทุกข์ให้เป็นผลตอบแทนเหมือนคนกินขนมเจือยาพิษ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า
“ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตนด้วยการนำทุกข์ให้ผู้อื่น ผู้นั้นระคนด้วยเวร ย่อมไม่พ้นจากเวร” (๒๕/๓๑/๕๓)
คนไทยชอบพูดว่า “เวรกรรม” “เวรกรรมแท้ๆ” เวลาประสบเคราะห์ร้าย พจนานุกรมไทยให้ความหมายคำว่า “เวร” ว่า ความพยาบาทกัน, ปองร้ายกัน, บาป นี่คือความหมายทางธรรม ส่วนความหมายธรรมดา คือการผลัดเปลี่ยนกันทำงาน เช่น อยู่เวร เข้าเวร – ออกเวร เป็นต้น
โดยนัยนี้ น่าจะต้องมี “กรรม” คือการกระทำก่อน แล้วจึงมี “เวร” คือทำกรรมอันเป็นบาป หรือเป็นเหตุให้พยาบาทปองร้ายกัน เราเมองเห็นคนในสังคมปองร้ายกันมากมาย อันสืบเนื่องมาจากกรรมที่เป็นบาป เพราะความโลภบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้าง เป็นรากเหง้าอยู่ ถ้าไม่มีกรรมอันเป็นบาป ก็ไม่มีเวร หรืออาจพ้นจากเวรไปทีเดียว ดังสุภาษิตที่ว่า “ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว” (ทุกฺขโต ทุกฺขฐานํ) ในทางกลับกัน “ให้สุขแก่ท่าน สุขนั้นถึงตัว” (สุขโต สุขฐานํ)
ไม่ว่าจะมองในแง่จิตวิทยา หรือในมุมมองของศาสดาทุกศาสนา สิ่งใดออกจากผู้ใด สิ่งนั้นย่อมกลับเข้าหาผู้นั้น ผู้คิดร้าย พูดร้าย ทำร้าย ย่อมได้รับร้าย ผู้คิดดี ทำดี พูดดี ย่อมได้รับผลดี เหมือนลำต้น ดอก และใบของต้นไม้ย่อมแสดงถึงเมล็ดพันธุ์ของมัน อย่าได้สงสัยเลย
“บุคคลพึงศึกษาเรื่องบุญอันมีผลไพบูลย์ยิ่งใหญ่ มีสุขเป็นกำไร พึงให้ทาน พึงประพฤติสุจริต (สมจริยา) พึงเจริญเมตตาจิตทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นสุขสมุทัย คือ แหล่งเกิดแห่งความสุข ด้วยประการดังกล่าวมานี้ บัณฑิตย่อมเข้าถึงโลกอันเป็นสุข ไม่มีการเบียดเบียน”
ตามพระพุทธจริยาและพระพุทธพจน์นี้จะได้หลักธรรมหลายข้อ อันเป็นแหล่งเกิดแห่งความสุข คือ
๑.ทาน (การให้)
๒.ทมะ (การฝึกตน)
๓.สัญญมะ (การสำรวมตน)
๔.สมจริยา (การประพฤติสุจริต)
๕.เมตตา (ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข)
-------------
#บทนำหนังสือแห่งเกิดแห่งความสุข (ุสุขสมุทัย)
#อาจารย์วศิน อินทสระ
#ตอนพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร
พบ ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ (โดยหลวงปู่วิริยังค์)
--------------------------
ท่านอาจารย์กงมาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าเมื่อท่านได้เดินธุดงค์ตามท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ เพื่อไปส่งมารดาของท่านที่บวชชีไปอยู่จังหวัดอุบลนั้น ท่านได้แวะพักที่บ้านของท่านอาจารย์ลี ขณะนั้นท่านบวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดบ้าน เมื่อท่านอาจารย์ลีทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์มาพักที่ป่าช้า ก็เกิดความสนใจขึ้น จึงได้มาพบพระอาจารย์กงมา ซึ่งมีมารยาทที่น่าเลื่อมใส ผิดกับภิกษุอื่นๆ ที่เคยเห็นมา ทำให้เกิดความเลื่อมใสในใจเป็นอย่างยิ่ง ครั้นเมื่อได้เข้าไปนมัสการไต่ถามถึงธรรมต่าง ๆ ก็ให้เกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้น โดยเฉพาะท่านอาจารย์กงมา ท่านได้อธิบายธรรมที่ท่านได้รับการปฏิบัติทางใจมาจากท่านอาจารย์มั่น ฯ และการปฏิบัติที่ผ่านมาแล้ว ยิ่งทำให้ท่านอาจารย์ลีเกิดความสนใจเป็นพิเศษ
ท่านอาจารย์กงมาได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ครั้งแรกที่เราได้แสดงธรรมให้แก่ท่านอาจารย์ลีนั้น เราได้แสดงถึงข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณากายให้เกิดอริยสัจจธรรม ตามแนวของท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงทำให้ท่านอาจารย์ลีที่กำลังฟังนั้นนั่งนิ่งเหมือนกับถูกสะกดจิตทีเดียว
จากคืนวันนั้น ก็ทำให้ท่านอาจารย์ลีได้ตัดสินใจที่จะไปธุดงค์กับท่านอาจารย์กงมา โดยการเดินติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ ไปจนถึงจังหวัดอุบล เมื่อไปถึงจังหวัดอุบล พักอยู่วัดบูรพาราม พอดีกับท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระ (หนู) อดีตเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามขึ้นมาจากกรุงเทพ ฯ พักอยู่ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี และท่านเจ้าคุณปัญญา ฯ นี้ ได้เป็นเพื่อนสหธัมมิกกับพระอาจารย์มั่น ฯ จึงขอให้เป็นอุปัชฌาย์ญัตติบวชใหม่ให้ท่านอาจารย์กงมาและท่านอาจารย์ลี โดยพระอาจารย์กงมาเป็นนาคขวา พระอาจารย์ลีเป็นนาคซ้าย เพราะเหตุนั้นท่านทั้งสองจึงได้มีการสนิทสนม และเคารพนับถือซึ่งกันและกันตลอดมา
ขณะที่ผู้เขียนเป็นสามเณร และได้ติดตามพระอาจารย์กงมา เป็นศิษย์ก้นกุฏิ ก็ได้เห็นท่านทั้งสองปรึกษาธรรมและกิจการพระศาสนาอยู่เสมอๆ ดังนั้นเมื่อท่านพระอาจารย์ลี ได้ไปเผยแพร่ข้อปฏิบัติธรรมทางจันทบุรี มีประชาชนให้ความสนใจมาก และมีความเลื่อมใสในข้อปฏิบัติของกัมมัฎฐานกว้างขวางขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงได้มีจดหมายไปอาราธนาท่านพระอาจารย์กงมา ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่บ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา อันเป็นบ้านเดิมของผู้เขียน ท่านอาจารย์กงมาก็มีความยินดี ที่จะมาร่วมงานการเผยแพร่พุทธธรรมข้อปฏิบัติ จึงได้เดินทางมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งข้าพเจ้าเป็นสามเณรได้ติดตามท่านมาด้วย
การเดินทางครั้งนั้นได้โดยสารเรือทะเลมา ชื่อเรือภาณุรังสี นับว่าเป็นการเห็นทะเลครั้งแรกของผู้เขียน เป็นการอัศจรรย์ดีเหมือนกันเมื่อได้เห็นความกว้างขวางของทะเล
เมื่อพระอาจารย์กงมาได้มาถึงจันทบุรี ก็ได้มาพักอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้ง อันเป็นวัดกัมมัฏฐานวัดแรกของจังหวัดจันทบุรีที่พระอาจารย์ลีได้มาริเริ่มก่อสร้างขึ้น
ขณะนั้น ชาวจันทบุรีโดยทั่วไปมีความประสงค์ที่จะให้พระอาจารย์กัมมัฏฐานไปแนะนำข้อปฏิบัติตามถิ่นของตน ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านหนองบัว อำเภอเมืองนั้นมีความสนใจในธรรมกันมาก ได้เคยพยายามมาติดต่อท่านอาจารย์ลีอยู่เสมอ เพื่อขอพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิไปสร้างวัด เพื่อให้เป็นสถานที่อบรมการปฏิบัติ ก็พอดีวันนั้นได้มีนายหลวน และนายเสี่ยน ชาวบ้านหนองบัวได้ไปที่วัดป่าคลองกุ้งอีกครั้งหนึ่ง ได้พบกับพระอาจารย์กงมาเกิดความเลื่อมใสได้อาราธนาให้ท่านไปที่บ้านหนองบัวเพื่อจะได้ไปสอนธรรมปฏิบัติ ท่านพระอาจารย์กงมาจึงบอกว่าให้กลับไปก่อน ลองเสี่ยงความฝันดู ถ้าดีก็ให้มารับไป ถ้าไม่ดีก็ไม่ต้องมารับ
นายหลวนจึงบอกว่า “ผมฝันดีแล้วตั้งแต่เมื่อคืนนี้”
ท่านพระอาจารย์กงมาถามว่า “ฝันว่าอย่างไร ลองเล่าให้ฟังที”
นายหลวนจึงเล่าว่า “ผมฝันว่าได้ช้างเผือก ๒ เชือกงามมาก ตัวหนึ่งเป็นแม่ ตัวหนึ่งเป็นลูก ขณะที่ฝันนั้นผมดีใจมาก พยายามลูบคลำช้างนั้นอย่างรักใคร่เป็นอย่างมาก นายหลวนได้พูดเสริมต่อไปว่า ผมนึกว่าผมจะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ เสียแน่แล้ว แต่ว่าหาใช่เช่นนั้นไม่ คือผมจะได้อาจารย์ไปสอนธรรมะให้พวกกระผมนั่นเอง ซึ่งพวกกระผมดีใจกว่าถูกลอตเตอรี่เสียอีก”
ท่านอาจารย์กงมาได้ฟังนายหลวนเล่าให้ฟังเช่นนั้น ก็จึงได้ตกลงใจที่จะไปบ้านหนองบัว นัดวันให้มารับ คือวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้ไปกับสามเณรวิริยังค์ ( คือผู้เขียน ) การไปบ้านหนองบัวนั้นต้องไปทางเรือแจว ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ขณะที่ไปในเรือซึ่งมีคณะเก่าของนายหลวน-นายเสี่ยน กับพวกอีก ๕ คนมารับ และนายหลวนได้พูดขึ้นว่า เป็นการแน่นอนแล้วสำหรับความฝันของผมว่าได้ช้างเผือก ๒ เชือกแม่กับลูก คือท่านอาจารย์กงมา กับสามเณรนี้เอง ทำให้พวกเขาเกิดความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง พวกเราได้ไปถึงบ้านหนองบัว และเดินต่อไปที่ป่าช้า ซึ่งเขาจะจัดให้เป็นที่สร้างวัด ซึ่งปรากฏเป็นวัดทรายงามในเวลาต่อมา ได้ถึงเวลาป่ายโมงกับสิบห้านาที
การสร้างวัดทรายงามนี้ ท่านอาจารย์กงมาท่านได้สร้างคน หมายความว่าท่านได้สร้างคุณธรรมให้แก่คนในละแวกนั้นอย่างเต็มที่ เพราะตั้งแต่วันมาถึง ท่านได้เปิดการแสดงธรรมทุกวัน ก็มีประชาชนสนใจมาฟังทุกวันมิได้ขาด นอกจากแสดงธรรมแล้ว ท่านก็นำบำเพ็ญสมาธิ จนปรากฏว่ามีผู้ได้รับธรรม จนเกิดปีติภายในกันมากในระยะ ๓ เดือนแรก ท่านอาจารย์ได้แสดงธรรมอย่างวิจิตรพิสดารทำให้ชาวบ้านนั้นเกิดศรัทธา ได้ช่วยสร้างศาลาการเปรียญและกุฏิอย่างรวดเร็ว พอกับพระ ๕ รูป สามเณร ๑ รูปในปีนั้น
ตลอดระยะเวลา ๕ ปีของท่านพระอาจารย์กงมา ที่ท่านได้อยู่สร้างวัดที่จันทบุรีนี้ ท่านได้ทำประโยชน์แก่พระพุทธศาสนามากอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแนะนำในการปฏิบัติธรรม ทั้งผ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์
เป็นอันว่า จังหวัดจันทบุรีในขณะนั้นได้มีผู้สร้างบุคคลให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ๒ องค์ คือ พระอาจารย์ลี และพระอาจารย์กงมา ได้ช่วยกันเผยแพร่ธัมมะปฏิบัติกว้างขวางออกไปทุกอำเภอ และหลาย ๆ ตำบล อันเป็นผลงานปรากฏจนถึงทุกวันนี้ คือปรากฏว่ามีวัดที่เป็นวัดปฏิบัติอยู่แทบทุกอำเภอ เช่น วัดคลองกุ้ง วัดเขาแก้ว วัดเขาน้อย ท่าแฉลบ วัดยางระโหง วัดเขากระแจะ วัดทรายงาม วัดดำรงธรรม วัดมณีคีรีวงศ์ วัดสถาพรวัฒนา วัดสามัคคีคุณาวาส (วัดสถานีทดลองพริ้ว) ฯลฯ นี้คือผลงานของพระอาจารย์ทั้งสอง และนี้เป็นทางด้านวัตถุ ส่วนทางด้านธรรมคือ ทำให้เกิดพระที่เป็นสมภารให้แก่วัดต่าง ๆ ซึ่งกำเนิดมาจากวัดทรายงาม หนองบัวไปเป็นสมภาร มีพระครูสุทธิธรรมรังสี (เจี๊ยะ จุนโท) พระครูญาณวิโรจน์ (ปทุม) พระอาจารย์ถวิล พระมหาเข้ม พระอาจารย์สันติ สันติปาโล เป็นต้น ส่วนทางอุบาสกอุบาสิกาก็ได้รับรสพระธรรมตกทอดมาจนถึงลูกหลาน ก็ได้มาเข้าวัดฟังธรรม และปฏิบัติจนเป็นหลักฐานในทางใจ ได้รับผลสืบต่อมาจากบิดามารดา จนปรากฏว่ายังมีการปฏิบัติธรรมกันเป็นอย่างดีทุก ๆ วัด ที่เป็นวัดเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของศิษย์ท่านอาจารย์ทั้งสอง
ประวัติหลวงปู่วิริยังค์
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.