นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 16 ม.ค. 2025 2:25 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: อานาปานสติ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 09 ก.ย. 2015 6:03 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งกายทั้งปวงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับกายสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุขหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุขหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ระงับจิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับจิตสังขารหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งจิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้รู้แจ้งจิตหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้บันเทิงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตใจ{๒}ให้บันเทิงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตมั่นหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตมั่นหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักเปลื้องจิตหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัดหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัต {๑}หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความดับหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า
เราจักพิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.





ยศถาบรรดาศักดิ์
หลวงปู่มีศิษย์เป็นข้าราชการทหารเรือหลายท่าน ตั้งแต่ผู้พัน ผู้การ ตลอดจนถึงนายสิบนายจ่า บางนายเป็นศิษย์เพราะธรรม บางนายเป็นศิษย์เพราะวัตถุมงคล บางนายเป็นศิษย์เพราะหลวงปู่ไปโปรดเอาในฝัน บางนายหลวงปู่ช่วยชีวิตจากกระสุนจากระเบิด หลวงปู่จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของเหล่าทหารเรืออย่างยิ่ง ทุกนายเมื่อมีปัญหาทุกข์เนื้อร้อนใจก็มักจะกราบเรียนท่านอยู่เสมอ เช่นท่านผู้การ(พลเรือโท(พิเศษ)) เป็นศิษย์คนโปรดองค์หลวงปู่เพราะท่านจะมาร่วมงาน มาปฏิบัติกับท่านไม่ได้ขาด หลวงปู่ชอบชมผู้การท่านนี้ให้พระ-เณร ฟังเสมอ เมื่อท่านเกษียนประมาณปลายปีที่แล้ว ก็เข้ามากราบองค์หลวงปู่
ผู้การ: กราบนมัสการปู่ครับผม
หลวงปู่: อือ ผู้การมายังไง
ผู้การ: กระผมตั้งใจมากราบครูบาอาจารย์ ผมจะมาลาบวชสัก ๒-๓ เดือน บวชให้เจ้ากรรมนายเวร
หลวงปู่: อือ สาธุ ดีแล้วๆ
ผู้การ: แต่หลวงปู่ครับผม มันน่าใจหาย ทั้งๆที่ผมก็เตรียมใจไว้แล้ว แต่ก่อนมีลูกน้อง มีคนดูแล มาบวชแล้วจะต้องทำตัวอย่างไร มันเหมือนมีอะไรหายๆไป คิดแล้วก็น่าใจหาย
หลวงปู่: เหอ โอ้ปฏิบัติมาจนป่านนี้ยังตัดห่วงไม่ขาดเหรอ เป็นพระแล้วไม่มีพระพลโท พระพลเอกนะ มีแต่พระ มีแต่ผู้ปฏิบัติ ตั้งแต่เราเกิดมาเราก็ไม่ได้เป็นพลเอก พลโทมาด้วยนะ เมื่อเราคิดได้อย่างนี้ความยึดความติดมันจะลดลง แท้จริงแล้วเราไม่ได้เป็นอะไรและอย่าเป็นอะไร เพราะเราเป็นอะไรเราก็ทุกข์เพราะเราเป็น ทุกข์เท่าที่เราเป็นนั้นหล่ะ อย่าเป็นมันเป็นแล้วมันทุกข์ หลวงปู่ ไม่เป็นเจ้าคุณ ไม่เป็นพระอริยะ ไม่เป็นไดโนเสาร์ ไม่เป็นผู้วิเศษ คุณก็เหมือนกันนะ เป็นนายพลก็ทุกข์เท่านายพล เป็นนายพันก็ทุกข์เท่านายพัน เป็นพลทหารก็ทุกข์เท่าพลทหาร อย่าเป็นมันทุกข์นะ ยศที่ได้มาคือหน้าที่ ที่เราต้องรับผิดชอบ เมื่อหมดหน้าที่แล้วก็หมดยศด้วย แต่เรายังเหลือยศอันเดียวกันยศเท่ากัน นั้นคือยศคน เราเป็นคน ยศที่คุณหมดไป อันนั้นเป็นยศดีกรี แต่พระพุทธเจ้าท่านมียศดีจริงให้นะ ยศดีจริงคือ ยกระดับใจเราจากคนเป็นมนุษย์ จากมนุษย์เป็นพระ จากพระเป็นอริยะ คุณละยศดีกรีเสียแล้วมาเอายศดีจริง ยศดีกรีเมื่อคุณละโลกนี้ไปแล้วเกิดมาใหม่ต้องมาหาอีกนะ แต่ยศดีจริงแม้คุณจะละโลกนี้ไปยศนั้นจะตามคุณไปด้วย เกิดชาติหน้าไม่ต้องหาใหม่ มันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ละวางยศดีกรีซะ ปล่อยซะวางซะ แล้วเพียรพยายามทำยศดีจริงให้มันเกิดขึ้น เข้าใจนะ
พระญาณวิสาลเถร (หา สุภโร)
เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธุ์ จ.กาฬสินธุ์





ความปรารถนาของมนุษย์แม้จะมีมากมายหลายอย่างก็จริง แต่ไม่พ้นไปจากจุดหมายปลายทาง คือ ต้องการพบความสุขและอยู่กับความสุขให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อีกประการหนึ่งคือต้องการหลีกเลี่ยงความทุกข์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เป็นความต้องการฝ่ายลบ ส่วนความต้องการสุขเป็นฝ่ายบวก

แต่สุขทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นเอง มันมีเหตุปัจจัยให้เกิด ฝ่ายทุกข์พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า ทุกขสมุทัย เป็นอริยสัจข้อที่ ๒ คือเหตุให้เกิดทุกข์ ทรงชี้ไปที่ตัณหาหรือกิเลสว่าเป็นส่าเชื้อของทุกข์ อีกนัยหนึ่งเหตุแห่งทุกข์คือบาป มนุษย์สร้างเวรกรรมทำบาปมากเท่าใด ทุกข์ก็ติดตามมากเท่านั้น เพราะได้หว่านเมล็ดพืชแห่งทุกข์ไว้แล้ว รอแต่จะผลิดอกออกผลเท่านั้น มนุษย์เราเมื่อหว่านเมล็ดพืชแห่งชีวิต คือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม มักไม่ค่อยระวัง สักแต่ว่าหว่านลงไปๆ แต่พอผลิดอกออกผลเป็นความทุกข์จึงร้องครวญครางอย่างเจ็บปวดว่า ไม่น่าเลย รู้อย่างนี้ไม่ทำดีกว่า

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า เพราะมันตามแผดเผาภายหลังได้” และว่า

“ถ้าท่านทั้งหลายกลัวต่อทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่รักของท่านทั้งหลายแล้ว ท่านอย่าทำบาปทั้งในที่แจ้งและที่ลับ ถ้าท่านทั้งหลายจักทำบาปหรือว่าจะทำ ก็จะไม่พ้นจากความทุกข์ไม่ว่าจะหนีไปที่ใดก็ตาม” (๒๕/๑๑๕/๑๕๐)

ต้นเหตุที่ทำให้พระพุทธองค์ตรัสเรื่องนี้ มีโดยย่อว่า เช้าวันหนึ่งพระศาสดาเสด็จออกจากวัดเชตวันเข้าเมืองสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ทอดพระเนตรเห็นเด็กจำนวนมากกำลังจับปลา เบียดเบียนปลาอยู่ จึงเสด็จเข้าไปหาและตรัสว่า “พวกเธอกลัวต่อความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รักของพวกเธอหรือไม่” พวกเด็กกราบทูลว่า “ไม่ชอบความทุกข์เลย”

พระศาสดาจึงตรัสข้อความดังกล่าวแล้ว

พิจารณาดูสังคมของเราตลอดถึงสังคมโลก ร้องระงมด้วยความกลัวทุกข์ ทั้งที่มาถึงแล้วและคิดว่าจะมีมาในภายหน้า แต่สังคมของเราไม่ค่อยกลัวบาปอันเป็นต้นตอของทุกข์ เหมือนคนกลัวแก่ เจ็บ ตาย แต่ชอบความเกิดซึ่งเป็นต้นทาง และเป็นเหตุตรงแห่งทุกข์ทั้ง ๓ ประการนั้น เราชื่นชมโสมนัสต่อความเกิดหรือผู้เกิด โดยมิได้เฉลียวใจสักนิดว่า นั่นคือการชื่นชมต่อทุกข์ซึ่งดักรออยู่ข้างหน้า

ความฟุ่มเฟือยเป็นบาปอย่างหนึ่งของสังคม ถ้าสังคมยังฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย เพลิดเพลินสนุกสนาน และหาความสุขบนความทุกข์ยากแร้นแค้นของผู้อื่นอยู่ สังคมย่อมไม่สามารถประสบสันติสุขที่แท้จริง จะมีบ้างก็แต่ความสุขอันฉาบฉวย จอมปลอม พร้อมที่จะมอบทุกข์ให้เป็นผลตอบแทนเหมือนคนกินขนมเจือยาพิษ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

“ผู้ใดแสวงหาสุขเพื่อตนด้วยการนำทุกข์ให้ผู้อื่น ผู้นั้นระคนด้วยเวร ย่อมไม่พ้นจากเวร” (๒๕/๓๑/๕๓)

คนไทยชอบพูดว่า “เวรกรรม” “เวรกรรมแท้ๆ” เวลาประสบเคราะห์ร้าย พจนานุกรมไทยให้ความหมายคำว่า “เวร” ว่า ความพยาบาทกัน, ปองร้ายกัน, บาป นี่คือความหมายทางธรรม ส่วนความหมายธรรมดา คือการผลัดเปลี่ยนกันทำงาน เช่น อยู่เวร เข้าเวร – ออกเวร เป็นต้น

โดยนัยนี้ น่าจะต้องมี “กรรม” คือการกระทำก่อน แล้วจึงมี “เวร” คือทำกรรมอันเป็นบาป หรือเป็นเหตุให้พยาบาทปองร้ายกัน เราเมองเห็นคนในสังคมปองร้ายกันมากมาย อันสืบเนื่องมาจากกรรมที่เป็นบาป เพราะความโลภบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้าง เป็นรากเหง้าอยู่ ถ้าไม่มีกรรมอันเป็นบาป ก็ไม่มีเวร หรืออาจพ้นจากเวรไปทีเดียว ดังสุภาษิตที่ว่า “ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว” (ทุกฺขโต ทุกฺขฐานํ) ในทางกลับกัน “ให้สุขแก่ท่าน สุขนั้นถึงตัว” (สุขโต สุขฐานํ)

ไม่ว่าจะมองในแง่จิตวิทยา หรือในมุมมองของศาสดาทุกศาสนา สิ่งใดออกจากผู้ใด สิ่งนั้นย่อมกลับเข้าหาผู้นั้น ผู้คิดร้าย พูดร้าย ทำร้าย ย่อมได้รับร้าย ผู้คิดดี ทำดี พูดดี ย่อมได้รับผลดี เหมือนลำต้น ดอก และใบของต้นไม้ย่อมแสดงถึงเมล็ดพันธุ์ของมัน อย่าได้สงสัยเลย

“บุคคลพึงศึกษาเรื่องบุญอันมีผลไพบูลย์ยิ่งใหญ่ มีสุขเป็นกำไร พึงให้ทาน พึงประพฤติสุจริต (สมจริยา) พึงเจริญเมตตาจิตทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นสุขสมุทัย คือ แหล่งเกิดแห่งความสุข ด้วยประการดังกล่าวมานี้ บัณฑิตย่อมเข้าถึงโลกอันเป็นสุข ไม่มีการเบียดเบียน”

ตามพระพุทธจริยาและพระพุทธพจน์นี้จะได้หลักธรรมหลายข้อ อันเป็นแหล่งเกิดแห่งความสุข คือ

๑.ทาน (การให้)
๒.ทมะ (การฝึกตน)
๓.สัญญมะ (การสำรวมตน)
๔.สมจริยา (การประพฤติสุจริต)
๕.เมตตา (ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข)


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 53 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO