Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ร่างกายของเรานี้คือป่าช้า

ศุกร์ 11 ก.ย. 2015 5:41 am

หลวงตามหาบัว
ร่างกายของเรานี้ก็คือป่าช้าผีดิบอยู่แล้ว คือส้วมคือถานอยู่แล้วโดยหลักธรรมชาติของมัน เป็นแต่เพียงว่าผิวหนังบาง ๆ ไปปิดเอาไว้นิดหน่อย หลอกลวงทั้งตัวเราหลอกลวงทั้งผู้อื่น เป็นสิ่งที่หลอกลวงโลกได้ด้วยผิวหนังบาง ๆ เท่านั้นเอง



กิเลสตัณหาความอยากของเรา ตลอดถึงคนที่เราหลงรักอยากเข้าไปคุยด้วยฯลฯ เปรียบได้ประดุจลิ่มที่ทิ่มแทงใจอยู่ ...เมื่อจิตใจของเราโดนลิ่มทิ่มแทงอยู่ ย่อมไม่อาจภาวนาให้จิตสงบได้ ...การภาวนาในขั้นเริ่มแรก "สติ"จะคุมจิตได้ดี ก็ต่อเมื่อเราถอดลิ่มเก่าๆ ที่ฝังลึก อยู่ในจิตใจมานานหลายภพหลายชาติ ออกให้ได้ก่อน เป็นลำดับแรก ...ลำดับต่อไปก็ให้นำลิ่มใหม่ ตอกเข้าไปแทนที่ลิ่มเก่า ...ลิ่มใหม่คืออะไร? ลิ่มใหม่ก็คือคำบริกรรม"พุทโธ" ที่มีสติไม่เผลอนี้แหละ คือลิ่มตัวใหม่ ...ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการภาวนาแบบ ตอกๆย้ำๆอยู่ที่เดิมทุกวันไม่เลิก ...เมื่อภาวนาตอก"พุทโธ" เป็นประจำอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง จิตของเราจะสงบเย็นเป็นสมาธิ และได้เป็นพระอริยะบุคคลผู้มีตาทิพย์สมปรารถนา.
...โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่ไม อินทสิริ...



หลวงตามหาบัว
ยกเอาเรื่องธาตุเรื่องขันธ์ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก กระทั่งถึงร่างกายทุกสัดทุกส่วน ให้เป็นเหมือนไฟได้เชื้อ เชื้อนั้นคือร่างกายทุกส่วนนี้แล ไฟคือสติปัญญา ตปธรรม หนุนเข้าไปพิจารณาเข้าไป สัมผัสสัมพันธ์กับอวัยวะใดก็ตามในร่างกายของเราที่เป็นที่ถนัดใจ พิจารณาอันนั้น ๆ แล้วจะค่อยแตกกระจัดกระจายไปถึงเรื่องว่า อสุภะอสุภัง อย่างนี้ก็เหมือนกัน อสุภะก็คือของไม่สวยไม่งาม ของสกปรกโสโครกนั้นเองจะเป็นอะไรไป ร่างกายของเรานี้ก็คือป่าช้าผีดิบอยู่แล้ว คือส้วมคือถานอยู่แล้วโดยหลักธรรมชาติของมัน เป็นแต่เพียงว่าผิวหนังบาง ๆ ไปปิดเอาไว้นิดหน่อย หลอกลวงทั้งตัวเราหลอกลวงทั้งผู้อื่น เป็นสิ่งที่หลอกลวงโลกได้ด้วยผิวหนังบาง ๆ เท่านั้นเอง จากบาง ๆ ไปนั้นมีอะไร เรียกว่าหมดทั้งตัวมีแต่เรื่องกองอสุภะอสุภัง ป่าช้าผีดิบเต็มไปหมดในร่างกายของเรา พิจารณาทางด้านปัญญาพิจารณาอย่างนี้

ผิวหนังบาง ๆ ก็แยกละเอียดเข้าไปอีก ผิวหนังก็มีขี้เหงื่อขี้ไคลอยู่ในนั้นอีกมันสะอาดที่ไหน จากผิวเข้าไป หนังกับเนื้อมันก็ติดกันไป เข้าไปข้างในเท่าไรยิ่งสกปรกโสมม ปัญญาหยั่งเข้าไป ๆ ครั้งนี้เห็นเท่านี้ ครั้งต่อไปพิจารณาเข้าไป ค่อยแยบคายไป ๆ ความเห็นค่อยละเอียดลออเข้าไป ๆ ลุกลามไปได้หมด เลยปรากฏตั้งแต่อสุภะหมดทั้งตัวเลย ปัญญาก้าวเดินตามนี้จนมีความคล่องแคล่วว่องไว แล้วมันจะค่อยถอนตัวของมันเอง

เรื่องความรักความชัง ราคะตัณหานี้ มันจะค่อยถอนตัวของมันออกไป ๆ เรื่อย ๆ พิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจนมากเท่าไร เรื่องราคะตัณหามันถอนของมันเองแหละ ที่มันเป็นราคะตัณหาก็เพราะมันหลงอันนี้ เข้าใจว่าเป็นของสวยของงาม ก็รักชอบใจกำหนัดยินดีไปได้ซี เมื่อเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นป่าช้าผีดิบแล้วมันจะไปกำหนัดอะไร อยู่ในป่าช้ากองกันพะเนินเทินทึกใครไปกำหนัดยินดีกับมันที่ไหน อันนี้ป่าช้าของเราก็เหมือนกัน เมื่อลงได้เห็นชัดเจนอย่างนี้แล้วมันก็ถอนตัวออกมา ๆ

ความชำนิชำนาญในอสุภะอสุภังมากเท่าไร ประหนึ่งว่าราคะไม่มีนะ เหมือนว่าหมดไปเลยทั้ง ๆ ที่มันสงบตัวของมันต่างหาก มันไม่ได้สิ้นได้หมดนะ แต่ประหนึ่งว่าสิ้นไปแล้วราคะ เพราะอำนาจอสุภะอสุภังทับหัวมันไว้ เพราะฉะนั้นจึงแยกแยะพิจารณาขยับขยายเพ่งดูภายนอกออกไปว่าเป็นเหมือนกับร่างกายของเรานี้ ดูร่างกายก็เหมือนภายนอก แล้วดูร่างกายของตัวเองชัดเจนเข้าไป เมื่อมันมีความชำนิชำนาญแล้วดูซากอสุภะอสุภังของเจ้าของที่กางเอาไว้ข้างหน้า เช่น กองอสุภะของตัวเอง หรือกองอสุภะของผู้ใดก็ตามมาตั้งไว้ตรงหน้า มันก็เห็นชัดเจนอย่างนั้น

ครั้นสุดท้ายกองอสุภะอสุภังทั้งของเขาทั้งของเรา ออกไปกองเอาไว้ มันเป็นมาจากไหน นั่นเวลาจะถึงตัวจริงของมัน กองอสุภะอสุภังที่ไปตั้งเอาไว้นี้กำหนดดูให้ชัดเจน ดูอันนี้มันเป็นยังไงอสุภะอันนี้ มาจากไหน ความเคลื่อนไหวของมันจะปรากฏขึ้นมา เวลาเราทำลาย-ทำลายเมื่อไรก็ได้ ตั้งขึ้นมาพับให้ดับขาดสะบั้นลงไปทันทีทันใดก็ได้ เพราะปัญญาคล่องแคล่วว่องไว

ทีนี้เราจะพิสูจน์ให้มันเห็นชัดว่า อสุภะนี้มาจากไหน ทั้ง ๆ ที่เราตั้งขึ้นมานั้นมันตั้งขึ้นมาจากอะไร อะไรพาให้เป็นอสุภะขึ้นมาต่อหน้าของเรานี้ เพ่งดู ดูตัวอสุภะตัวนี้มันจะเคลื่อนไหวไปไหน มันจะเข้าในหรือออกนอก หรือมันจะเหาะเหินเดินฟ้าไปไหนดูจุดนั้นให้ดี นี่ถึงขั้นที่มันจะตัดสินกันนะ ดูจุดนี้ ถ้ามันยังไม่ถึงขั้นตัดสินกันได้ ดูมันก็เป็นอีกแง่หนึ่ง ๆ ของมัน พอถึงขั้นที่มันจะตัดสินกันแล้ว อสุภะที่เรากำหนดอยู่ข้างหน้านี้ จิตมันจะเพ่งดูนาน ๆ แล้วจิตดวงนี้แหละมันค่อยกลืนเข้ามา ๆ อสุภะที่นั่งเด่นอยู่ต่อหน้าเรานี่ ความเด่น ๆ นั้นถูกความรู้อันนี้คือใจนี้กลืนเข้ามา ๆ สุดท้ายอสุภะเลยมาเป็นใจเสียเองไปหลอกตัวเอง ตั้งเป็นอสุภะนั้นขึ้นมา ครั้นเวลากำหนดตามหลักความจริงแล้ว อสุภะนั้นเลยหมุนเข้ามาหาใจตัวเองซึ่งเป็นผู้ไปวาดนี้แล เลยกลายเป็นจิตเสียเองเป็นผู้ไปวาดภาพตัวเอง ทั้งว่าสวยว่างาม ทั้งว่าอสุภะอสุภัง ไม่ใช่ผู้ใด คือตัวจิตนี้เองไปหลอกตัวทั้งสองด้านนั้นแหละ

พอเข้าถึงนี้แล้วมันก็รู้ตัวจริงของมันว่าตัวนี้เป็นผู้หลอก ตัวนี้เป็นตัวอสุภะหรือเป็นตัวสุภะ ภาพข้างหน้าที่เรากำหนดไว้นั้นไม่ใช่สุภะไม่ใช่อสุภะ ตัวนี้ต่างหากเป็นผู้ไปหลอกวาดภาพไว้ข้างหน้า เวลาพิจารณาแล้วมันก็กลืนเข้ามาหาตัวผู้ไปหลอกนี้เอง พอเห็นนี่แล้วมันก็ปัดผึงเลย เรื่องอสุภะก็ตามสุภะก็ตาม ภายนอกภายในที่ไหนมันไม่ถือเป็นปัญหายิ่งกว่าสุภะอสุภะที่เจ้าของคือใจดวงนี้เอง เป็นผู้ไปหลอกเสียเอง ไปตั้งอันนั้นไว้ พอมารู้ตัวเองว่าเป็นผู้ไปหลอก ตัวเองก็กลืนเข้ามา มันก็เห็นชัดเจนว่า ตัวเองนี้เท่านั้นเป็นผู้ไปวาดภาพว่าสุภะอสุภะ อสุภะภายนอกเลยไหลเข้ามาเป็นอสุภะภายในหัวใจเสีย ทีนี้มันก็ปล่อยเลย ปล่อยเรื่องราคะตัณหา มันปล่อย นี้เป็นขั้นเริ่มแรกที่มันปล่อย ตัดสินใจแน่แล้วทีนี้ ถึงจะไม่เสร็จสิ้นร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนพวกที่เป็นขิปปาภิญญาก็ตาม แต่ก็เรียกว่าสอบได้แล้วขั้นนี้ ให้กำเริบเป็นอื่นเป็นไปไม่ได้ จะให้ย้อนกลับมาเป็นราคะตัณหาอีกเหมือนแต่ก่อนเป็นไปไม่ได้แล้ว แน่ใจเจ้าของ

ทีนี้ก็มีแต่จะฝึกฝนเจ้าของ ฝึกซ้อมเจ้าของ โดยตั้งอสุภะที่เคยพิจารณาดังที่ว่านั้น ที่มันกลืนเข้ามา ๆ ตั้งอันนั้นปั๊บกำหนดเข้าไปแล้วค่อยกลืนเข้ามาเรื่อย ๆ กลืนเข้ามามาถึงตัวนี้อีก ตั้งอีกตั้งใหม่อีก ตั้งเรื่อยเข้ามา เรียกว่าฝึกซ้อมขั้นนี้ให้ชำนิชำนาญ ขั้นราคะตัณหาได้หลักได้เกณฑ์แล้ว ทีนี้ฝึกซ้อมให้มีความชำนิชำนาญเข้าไป พอตั้งเป็นอสุภะขึ้นมา พอกำหนด ๆ นี้อันนั้นมันจะค่อยหมุนเข้ามาหาตัวใจคือตัวผู้รู้นี้ กลืนไปหมด เอา ตั้งใหม่ นี่เรียกว่าฝึกซ้อมจิตขั้นนี้ ขั้นได้หลักได้เกณฑ์เรื่องสุภะอสุภะแล้ว ถ้าพูดถึงเรื่องราคะก็เป็นอันว่าขาดไปแล้ว แต่ยังไม่สิ้นไม่สุด ส่วนใหญ่ขาดเรียบร้อยแล้ว ให้กำเริบไม่มีทางแล้ว แต่ส่วนย่อยส่วนอะไรจะเรียกว่ามลทินหรือสนิมเล็ก ๆ น้อย ๆ ติดอยู่กับนั้นยังมี

นี่ที่ว่าสอบได้แล้ว ๕๐% เรียกว่าสอบราคะตัณหาได้ ๕๐% แล้ว เป็นขั้นได้แล้ว ต่อไปนี้จะฝึกซ้อมกันให้เป็น ๖๐% ๗๐% ด้วยความชำนิชำนาญในการกำหนดอสุภะไม่หยุดไม่ถอยเข้าไปเรื่อย ๆ ต่อไปอันนี้ก็จะหมุนเข้ามาเร็วเข้า ๆ แล้วดับไปเรื่อย พอเข้ามาถึงใจแล้วก็ดับที่ใจ เข้ามาถึงใจแล้วดับที่ใจเร็วเข้า เร็วมากเท่าไรดับที่ใจ นี่เรียกว่าฝึกซ้อมขั้นกามราคะที่สอบได้ระดับแล้ว เพื่อให้มีความชำนิชำนาญก้าวขึ้นสู่ความสิ้นราคะโดยสิ้นเชิง แต่ยังไงมันก็ไม่มีกำเริบแล้วถ้าถึงขั้น ๕๐% นี้ เรียกว่าตัดขาด ให้ถอยลงมากว่านี้ไม่ถอย เป็นแต่เพียงว่ามันช้า

การฝึกซ้อมตัวเองนี้หากเป็นไปเอง ไม่มีใครบอกก็รู้ แล้วฝึกซ้อมไปเรื่อย ๆ เพื่อความชำนิชำนาญ ครั้นต่อไปเวลามันหมดมันสิ้นเสียจริง ๆ กำหนดภาพขึ้นมาพับ พอปรากฏปั๊บมันก็ดับพร้อม ๆ เข้าในหัวใจหรือไม่เข้าในหัวใจก็รู้มันดับพับ ๆ หมด ทีนี้ไม่มีการฝึก แต่เราก็ต้องอาศัยภาพอันนี้เป็นเครื่องฝึกไปเรื่อย ๆ ชำนาญไปเท่าไรก็ต้องฝึกอยู่นี้ จิตมันจะค่อยก้าวของมันไปเอง จากนั้นก็เป็นความว่างไป ๆ แล้วก็ติดตามพวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อพิจารณาร่างกายหมดปัญหาไปแล้ว มันก็ต่อเนื่องถึงพวกเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นนามธรรม

รูปกายนี้เมื่อเวลามันหมดปัญหาไปแล้ว ให้พิจารณาเหมือนแต่ก่อนมันไม่ยอมพิจารณา มันรู้เองนั่นแหละ คือมันพอกามกิเลสพอตัวแล้ว ละได้แล้ว เรื่องพิจารณาร่างกายเกี่ยวโยงกับกามกิเลสมันก็ค่อยหมดปัญหา จนกระทั่งนิมิตที่ว่านี้หมดไปโดยสิ้นเชิง กามราคะก็หมดไป ๆ ไปแบบนี้ ๆ จากนั้นก็ว่างแล้วพิจารณาถึงพวก สัญญา สังขาร เฉพาะอย่างยิ่งสังขารตัวสำคัญ มันปรุงแพล็บเกิดขึ้นที่ไหนมันก็ดับที่นั่น นี่เรียกว่าพิจารณานามธรรม มันหากเป็นไปเองนะ สัญญา สังขาร วิญญาณ ส่วนมากจะหนักอยู่ทางพวกสังขารผู้พิจารณานามธรรมนี้ คอยดูความปรุงความคิด ความเศร้าหมองผ่องใสที่เป็นสัญญาอารมณ์มีอยู่ ๒ อย่าง สัญญา สังขาร มันจะเป็นอยู่ภายในจิต ติดตามเข้าไป

เรื่องร่างกายมันหมดปัญหาไปแล้ว มันก็มีแต่นามธรรมที่ปรากฏมาจากจิต แล้วตามเข้าไปก็ไปดับที่จิต ตามเข้าไป นี่ก็เป็นการฝึกซ้อมตลอดเหมือนกัน ความคิดความปรุงของจิต คิดเรื่องอะไรมันก็ดับพร้อม ๆ คิดดีก็ดับ คิดชั่วก็ดับ แล้วก็ฝึกซ้อมกันไปในตัว มันก็ก้าวเข้าไปถึงตัวใหญ่คืออวิชชา นี่เราพูดเพียงย่อ ๆ สรุปเอานะ ถ้าพูดถึงภาคปฏิบัตินี้ โถ มันเหมือนฟ้าดินถล่ม การพิจารณาก็ยืดยาวนาน ไม่ทราบว่ากี่วันกี่คืนฟัดกันอยู่อย่างนั้น แต่นี้สรุปเอาในการพิจารณาธรรมทั้งหลายให้เห็นชัดเจนเป็นลำดับลำดาไป คำว่ากามกิเลสมันขาดยังไงก็ขาดอย่างนี้แหละ
พอถึงขั้นที่นิมิตที่เรากำหนดไว้ข้างหน้า มันหมุนตัวเข้ามา เป็นใจกลืนเข้ามาเสียเองแล้ว นี่เรียกว่าได้รากฐาน นิมิตภายนอกนั้นหมดแหละปัญหา ก็มาทราบตัวเองว่าตัวเองเป็นผู้หลอกตัวเองต่างหาก ไปตั้งสุภะขึ้นมาก็ตัวเองหลอกตัวเอง สุภะก็ดี อสุภะก็ดี เป็นตัวเองหลอกตัวเอง แต่เวลาเรายังไม่รู้ตัวนี้นั้นก็เป็นทางเดินของเรา ถูกต้องนะ แต่พอรู้ตัวนี้แล้วมันก็รู้โทษของตัวเองของจิต ว่าตัวจิตนี้เองไปหลอก มันเป็นขั้นเป็นตอน ในขณะที่ยังไม่รู้ก็เป็นทางเดินอันดีงาม ถูกต้อง จากนั้นมันก็เข้าถึงจุดใหญ่ซิ



หลวงตามหาบัว

คำว่าความสงบกับสมาธินั้นไม่ได้เหมือนกัน เมื่อพูดตามภาคปฏิบัติแล้ว ความสงบนั้นคือจิตสงบลงไป หรือว่ารวมลงไปหนหนึ่งแล้วถอนขึ้นมา ๆ เรียกว่าสงบเป็นครั้งคราว ในเวลาจิตที่รวมลงไปถอนขึ้นมานี้เรียกว่า ความสงบ ทีนี้เวลามันสงบลงไปถอนขึ้นมาหลายครั้งหลายหน มันสร้างฐานแห่งความมั่นคงภายในตัวของมันขณะที่สงบนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งกลายเป็นจิตที่แน่นหนามั่นคงขึ้นมา จากความสงบที่สั่งสมกำลังแห่งความแน่นหนามั่นคงมาเป็นลำดับนั้น ติดต่อกันมาเรื่อย ๆ เลยกลายเป็นสมาธิขึ้นมาแน่นหนามั่นคง นี่เรียกว่าจิตเป็นสมาธิแล้ว

เวลาสงบแล้วถอนขึ้นมา ๆ นั้นเรียกว่าจิตสงบ หรือว่าจิตรวม พอถึงขั้นจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตจะถอนขึ้นมาไม่ถอนขึ้นมาก็ตาม ฐานของจิตคือความสงบนั้นแน่นปึ๋ง ๆ ตลอดเวลา นี่ท่านเรียกว่าจิตเป็นสมาธิ เห็นประจักษ์ในหัวใจอย่างนี้ อ๋อ สมาธิกับความสงบนี้ต่างกัน นี่เรียกว่าสมาธิ เพื่อให้ถูกต้อง ดำเนินด้วยความราบรื่น พอจิตเป็นสมาธิมีความสงบมันอิ่มอารมณ์ ไม่เสียดายในความคิดความปรุงไปทางรูป ทางเสียง ทางกลิ่น ทางรสต่าง ๆ พอใจอยู่กับความสงบใจของตนนั้น เรียกว่าจิตมีสมาธิ จิตอิ่มอารมณ์ คือไม่อยากคิดกับอารมณ์นั้นอารมณ์นี้ อาศัยความสงบเย็นใจ ความแน่นหนามั่นคงของสมาธินั้นเป็นเรือนอยู่ของใจ

จิตขั้นนี้เวลามันสงบมีกำลังมาก ๆ แล้วมันจะรำคาญในการคิดการปรุงต่าง ๆ ซึ่งแต่ก่อนมันหิวโหยมาก ไม่ได้คิดได้ปรุงอยู่ไม่ได้ ดีดดิ้นอยากคิดอยากปรุง พอจิตมีความสงบเป็นจิตแน่นหนามั่นคง เรียกว่าเป็นสมาธิเต็มที่แล้วนั้นไม่อยากคิด ความคิดเป็นการรบกวนตัวเอง จิตที่อยู่แน่วมีแต่ความรู้ที่เด่นอยู่ภายในตัวนั้น ถือว่าเป็นความสะดวกสบายไม่มีอะไรมากวนใจ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีสมาธิจึงมักติดในสมาธิ หรือติดในสมาธิ เพราะสมาธินี้ก็เป็นอารมณ์กล่อมใจได้ดี เมื่อยังไม่ถึงขั้นปัญญาที่จะมีผลมากกว่านี้แล้วจะติดได้

ทีนี้พอจิตมีความแน่นหนามั่นคงแล้ว มันอิ่มอารมณ์แล้วที่นี่ เมื่อจิตอิ่มอารมณ์แล้วพาออกทางด้านปัญญา ถ้าจิตไม่อิ่มอารมณ์ ยังหิวอารมณ์อยู่แล้ว ออกทางด้านปัญญาจะเป็นสัญญาไปเรื่อย ๆ คาดหมายอย่างนั้นอย่างนี้ กลายเป็นสมุทัยไปหมด เลยไม่เป็นปัญญาให้ เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนให้อบรมทางสมาธิเสียก่อน สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา คือสมาธิมีความแน่นหนามั่นคงแล้ว สมาธิมีความอิ่มตัวแล้วก็หนุนปัญญาได้ พิจารณาทางด้านปัญญาก็คล่องตัว ๆ เป็นปัญญาจริง ๆ ไม่ได้เป็นสัญญาอารมณ์ เพราะจิตอิ่มอารมณ์แล้ว ออกพิจารณาทางด้านปัญญา






"ขอให้จิตมันเป็นปัจจุบันเถอะ อดีตที่ล่วงมาแล้วอย่าไปคำนึง ทำให้เป็นปัจจุบันอยู่นั่น สังเกตหัวใจเจ้าของ มันคิดไปได๋บ่ดีก็หักห้ามมัน ห้ามเข้าๆ ห้ามหลายครั้งมันก็อยู่เข้าๆ มันก็จับหลักได้เท่านั้น"

"ถ้ามีหลักแล้วมันก็รอบหลักเท่านั้นแหละ มันบ่ได้แล่นตามใจได้ อันนี่คือกันล่ะจิตใจของเฮา เจ้าของทำเอา ครูบาอาจารย์มีแต่บอกทางเท่านั้น อันทำให้กันบ่ได้ดอก คือความเจ็บปวดอันนี่คิดดู เจ็บอันนั่น เจ็บอันนี่ มีแต่ถามอาการเท่านั้นแล้ว ปวดหัวตัวร้อนหมู่นั่น ถามอาการเท่านั้น สิมาทำให้กันบ่ได้ คือกันกับกินข้าว ฉันอาหาร หากเฮาบ่กิน บ่ฮู้จักรสจักอิ่มคือกัน อันนี่คือกัน อันนั้นอร่อยอันนี่อร่อย ถ้าเฮาบ่รับก็เท่านั้น อันนี่คือการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์เพิ่นบอกเพิ่นเทศน์ เฮาต้องทำเอาหมด มันจึงจะเป็นปัจจัตตัง"

(คัดจากหนังสือ "ธรรมลี" วัดภูผาแดง)
ตอบกระทู้