"ท่านเจริญกรรมฐานได้ จะเกิดปัญญา เกิดความรู้เหตุผลข้อเท็จจริงในการแก้ไข คือ ศีลธรรม ท่านจะมีสุขภาพจิตดีมาก สุขภาพจิตท่านจะอดทนต่องาน และ มีขันติความอดทนตลอดไป นอกเหนือจากนั้น การงานท่านจะดีขึ้น ในเมื่อการงานดีขึ้นแล้ว การเงินก็ตามมาเลย การเงินตามมาแล้ว การสังคมตามมาด้วย เข้ากับเด็กก็ได้ เข้ากับผู้ใหญ่ก็ได้ เข้ากับพระสมานพราหมณาจารย์ เข้ากับผู้บังคับบัญชาก็ได้ เหตุผลทางสายเอกอยู่ตรงนี้สรุปทางสายเอก" คำสอนหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม จากเรื่อง ทางสายเอก หนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่ม ๕
♢♢คำสอนหลวงพพ่อ♢♢ ...อุปสรรคเป็นครู ศัตรูเป็นยากำลัง...จำไว้.... ศัตรูที่เขาไม่ชอบเรา เขาเกลียดเรา เขาด่าเรา เขาจะทำลายเรา นั้นแหละเป็นกำลังเพิ่มบารมีให้เราดี เราสร้างความดีแก้ กลับร้ายกลายดี เขาร้ายมาอย่าร้ายตอบ เขาไม่ดีมาจงเอาความดีไปแก้ไข คบคนตระหนี่ให้ของที่ต้องใจ คนพูดเหลวไหลเอาความจริงไปสนทนา นี้แหละอุปสรรคเป็นครูของเรา... มีแต่อุปสรรค การงานธุรกิจก็เป็นอุปสรรคจะได้เป็นครูตัวเรา เรารู้ จะได้แก้ไขเอง...นี่คือพระกรรมฐาน เป็นครูตัวเอง เราจะได้รู้ว่า มารไม่มี บารมีไม่เกิด ประเสริฐไม่ได้....เจริญพร..♢♢ ♢♢หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม♢♢
"ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติ มิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนมานิยมนับถือ มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและสรรเสริญมิใช่อานิสงส์เป็นเจ้าลัทธิหรือแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้ ฯ ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ เพื่อสังวระ ความสำรวม เพื่อปหานะ ความละ เพื่อวิราคะความหายกำหนัดยินดี และเพื่อนิโรธะ ความดับทุกข์ ผู้ปฏิบัติและนักบวชต้องมุ่งตามแนวทางนี้ นอกจากแนวทางนี้แล้ว ผิดทั้งหมด" หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
พระศาสดาตรัสว่าบุคคลอาจอาศัยตัณหาละตัณหาได้ อาจอาศัยมานะละมานะได้ อาจอาศัยอาหารละอาหารได้ แต่เมถุนธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ชักสะพานเสีย คืออย่าทอดสะพานเข้าไปเพราะอาศัยละไม่ได้"
"ข้อว่าอาศัยอาหารละอาหารนั้น คือละความพอใจในรสของอาหาร จริงอยู่สัตว์โลกทั้งมวลดำรงชีพอยู่ได้เพราะอาหาร ข้อนี้พระศาสดาก็ตรัสไว้ แต่มนุษย์และสัตว์เป็นอันมากติดข้องอยู่ในรสแห่งอาหาร จนต้องกระเสือกกระสนกระวนกระวาย และต้องทำชั่วเพราะรสแห่งอาหารนั้น ที่ว่าอาศัยอาหารละอาหารนั้นคืออาศัยอาหารละความพอใจในรสแห่งอาหารนั้น บริโภคเพียงเพื่อยังชีวิตให้ชีวิตนี้เป็นไปได้เท่านั้น เหมือนคนเดินทางข้ามทะเลทราย เสบียงอาหารหมด และบังเอิญลูกน้อยตายลงเพราะหิวโหย เขาจำใจต้องกินเนื้อบุตรเพียงเพื่อให้ข้ามทะเลทรายได้เท่านั้น หาติดในรสแห่งเนื้อบุตรไม่"
"ข้อว่าอาศัยตัณหาละตัณหานั้น คือเมื่อทราบว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ชื่อโน้นได้สำเร็จเป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์ ก็มีความทะยานอยากที่จะเป็นบ้าง เพื่อพยายามจนได้เป็นแล้ว ความทะยานอยากอันนั้นก็หายไป อย่างนี้เรียกว่าอาศัยตัณหาละตัณหา"
"ข้อว่าอาศัยมานะละมานะนั้น คือเมื่อได้ยินได้ฟังภิกษุหรือภิกษุณี หรืออุบาสกอุบาสิกา ชื่อโน้นได้สำเร็จเป็นโสดาบันเป็นต้น ก็มีมานะขึ้นว่าเขาสามารถทำได้ ทำไมเราซึ่งเป็นมนุษย์และมีอวัยวะทุกส่วนเหมือนเขาจะทำไม่ได้บ้าง จึงพยายามทำความเพียร เผากิเลสจนได้บรรลุโสดาปัตติผลบ้าง อรหัตตผลบ้าง อย่างนี้เรียกว่าอาศัยมานะละมานะ เพราะเมื่อบรรลุแล้วมานะนั้นย่อมไม่มีอีก" ส่วนเมถุนธรรมนั้น ใครๆ จะอาศัยละมิได้เลย นอกจากจะพิจารณาเห็นโทษของมันแล้วเลิกละเสีย ห้ามใจมิให้เลื่อนไหลไปยินดีในกามสุขเช่นนั้น น้องหญิง! พระศาสดาตรัสว่า กามคุณนั้นเป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน มีสุขน้อยแต่มีทุกข์มาก มีโทษมากมีความคับแค้นเป็นมูล มีทุกข์เป็นผล"
คัดลอกบางตอนจาก พระอานนท์พุทธอนุชา # อ.วศิน อินทสระ
|