พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
อาทิตย์ 27 ก.ย. 2015 8:45 am
● คำหลวงพ่อสอนเรื่องความรัก●
รักเขาเหลือเกิน แต่เขาไม่รักตอบ
บางคนมีปริญญาโท มาร้องให้กับหลวงพ่อ
โยม. : หลวงพ่อคะ เขาไม่รักหนู
หลวงพ่อ : นี่หนู เข้ามาฟังหลวงพ่อใกล้ๆนี่
เขาไม่รักหนู ไม่เป็นไร แผ่นดิน
ไม่ไร้เท่าใบพุทรา จำไว้...
คนอื่นเยอะแยะไปที่เขารักเรา
เรียนมาถึงปริญญาโท ทำไมโง่
ละ ปริญญาโททำไมโง่...
โปรดกรุณาไปรักคนที่รักเรา ไอ้คนที่ไม่รักเรา
แล้วเราจะไปรักทำไม คิดแค่นี้พอ มีสติ ปัญญา
ก็ใช้ให้เป็น คิดให้ได้ อย่าคิดมากจนหาทาง
ออกไม่เจอ เรื่องมีนิดเดียว เขาไม่รักก็ไม่ต้อง
รักเขาก็พอ รักคนที่รักเรานะ...เจริญพร...
♢หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม♢
การปฏิบัติประเภททุกฺขาปฏิปทา คือ
๑. ทุกฺขาปฏิปทา คือ ผู้ปฏิบัติเป็นผู้มีปกติเห็นความไม่งามในกาย
๒. มีสัญญาว่าปฏิกูลในอาหาร
๓. มีสัญญาในโลกทั้งปวงโดยความเป็นของไม่น่ายินดี
๔. เป็นผู้มีปกติตามเห็นความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง
๕. ตั้งมรณสัญญา (กำหนดความตาย) ไว้อย่างดีในภายใน
นี้คือผู้ปฏิบัติประเภทลำบาก ยุ่งยาก อย่างที่เรียกว่าทุลักทุเล น่าหวาดเสียวปฏิกูล ไม่สะดวกสบายมีอยู่ ๕ ประเภทเป็นต้น; ส่วนอีกจำพวกหนึ่ง คือ
ผู้ปฏิบัติประเภทสุขาปฏิปทา เป็นการปฏิบัติที่เยือกเย็น เป็นสุขสบายไปแต่ต้นมือจนกระทั่งบรรลุอนันตริยคุณสิ้นอาสวะ เรียกว่าเป็นการปฏิบัติได้ฌานที่ ๑-ที่ ๒-ที่ ๓-หรือที่ ๔ เรียกว่าได้ฌานใดฌานหนึ่งก็ได้
ผู้ปฏิบัติบางท่านเหมาะสำหรับระบบปฏิบัติลำบาก บางท่านเหมาะสำหรับระบบปฏิบัติสบาย แต่จะ ประสพผลเร็วหรือช้านั้น ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ทั้งห้าของเขา.(อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๔๒๗-๑๔๓๐.)
อสุภสูตรว่าด้วยปฏิปทา ๔ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ นี้ ฯลฯ คือ
ทุกฺขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า
ทุกฺขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว
สุขา ปฏิปทา ทนฺธาภิญฺา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า
สุขา ปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว
ศึกษารายละเอียด พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๒๑ ข้อ ๑๖๓ หน้า ๑๔๘-๑๔๙ ./ ฉบับมหาจุฬาฯ เล่ม ๒๑ ข้อ ๑๖๓ หน้า ๒๒๘-๒๓๐ ./ ฉบับมหามกุฏฯ เล่ม ๒๖ ข้อ ๑๖๓ หน้า ๓๘๙-๓๙๒. (เล่มสีแดงให้ดูที่ข้อเป็นหลัก เพราะหน้าจะไม่ตรงกันกับสีเล่มน้ำเงิน).
ดังนั้นเมื่อรู้ว่าวิธีการปฏิบัติแบบสบายและแบบลำบากแล้ว ในสูตรท่านกล่าวไว้อีกว่าบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็วกับได้ช้า ต่างกันตรงที่ผู้ปฏิบัตินั้นอาศัยเสขพละ ๕ คือ สัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญานี้อยู่ เพราะอินทรีย์ ๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็แก่กล้า ย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้เร็ว แต่หากว่าผู้ปฏิบัตินั้นอินทรีย์ ๕ อ่อน ย่อมบรรลุอนันตริยคุณเพื่อความสิ้นอาสวะได้ช้าต่างกันตรงนี้
สำหรับประเภททุกฺขาปฏิปทานั้นในที่นี้จะคงยังไม่กล่าวถึง แต่กล่าวถึงเฉพาะผู้ปฏิบัติประเภทสุขาปฏิปทา แต่จะบรรลุเร็วหรือช้านั้นก็แล้วอาศัยเสขพละ ๕ และอินทรีย์ ๕ ที่แก่กล้าหรืออ่อนเท่านั้น ในประเภทสุขาปฏิปทานี้ท่านกล่าวว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกสมาธิได้ในระดับ ๑.ปฐมฌาน ๒.ทุติยฌาน ๓.ตติยฌาน ๔.จตุตถฌาน ซึ่งรายละเอียดดังต่อไปนี้ คือ
๑. ผู้ปฏิบัติสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานคือ วิตก(ความตรึก)/ วิจาร(ความตรอง)/ ปีติ(ความอิ่มใจ)/ สุข(ความสุข)/ จิตเตกัคคตา(ความที่จิตมีอารมณ์เดียว)/
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
๓. เพราะปีติจางคลายไปมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข คือ สุข สติ สัมปชัญญะ(ความรู้ตัว)
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ก็คือ อุเบกขา อทุกขมสุขเวทนา เพราะใจบริสุทธิ์แล้วจึงไม่มีความคิดคำนึง สติบริสุทธิ์ จิตเตกัคคตา
ครั้นเมื่อผู้ปฏิบัติฝึกสมาธิได้ในระดับ ปฐมฌาน / หรือทุติยฌาน /หรือตติยฌาน/ หรือจตุตถฌาน ฌานใดฌานหนึ่งได้แล้ว นี้เรียกว่าสมถะ คือ ความสงบ ให้ผู้ปฏิบัติเพ่งดูลมหายใจเข้า -ลมหายใจออก (อานาปานสติ) หรือเฝ้าดูจิตว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ภายในของระบบขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า จิต ,ใจ , มโน,วิญญาณ, ความรู้, ตัวรู้, นี้คืออันเดียวกันทั้งหมด ต่างที่เรียกชื่อเท่านั้น การดูลมหายใจ หรือการเฝ้าดูจิต นี้ก็คือการดูระบบการทำงานของขันธ์ ๕วิญญาณนี้จะทำหน้าสำคัญในระบบขันธ์ ๕ ทั้งหมด / เพราะวิญญาณนี้จะต้องทำหน้าที่ไปเกาะกับ ขันธ์ทั้ง ๔ ที่เหลือ พูดง่ายๆคือ วิญญาณนี่เป็นพระเอก มันจะวิ่งไปไม่เกินกว่า ๔ ขันธ์ที่เหลือนี้ไปได้ ไม่เชื่อก็ลองพิสูจน์ดูก็ได้ เมื่อผู้ปฏิบัติใช้อานาปานสติเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์
โดยเริ่มปฏิบัติในระดับ ปฐมฌาน คือ ให้ผู้ปฏิบัติเพ่งดูลมหายใจเข้า -ลมหายใจออก (อานาปานสติ) / จะเกิด วิตกที่ลมหายใจเข้า-ออก (ความตรึก)/ วิจาร(ความตรอง)/ ปีติ(ความอิ่มใจ)/ สุข(ความสุข)/ จิตเตกัคคตา(ความที่จิตมีอารมณ์เดียว)/ ลักษณะนี้ วิญญาณจะทำงานอยู่กับรูป / หากมีความสุขวิญญาณจะไปอยู่กับเวทนา / หากวิญญาณไปรับรู้เรื่องอดีต (ความจำได้หมายรู้) ก็เท่ากับวิญญาณไปทำงานอยู่กับสัญญา / หากวิญญาณไปรับรู้เรื่องอนาคต (การปรุงแต่ง) ก็เท่ากับวิญญาณไปทำงานอยู่กับสังขาร/
ดังนั้นหากผู้ปฏิบัติฝึกสมาธิมาถึงตรงนี้แล้วจะเห็นได้ว่า วิญญาณนั้นไม่ได้นิ่งอย่างที่เราเข้าใจกัน แต่วิญญาณนั้นจะเกิด – ดับจากขันธ์หนึ่ง ไปสู่อีกขันธ์ / เป็นอยู่อย่างนี้ ตลอดวันตลอดคืน
" .. เราท่านทั้งหลายได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา
เป็นการยากแท้ที่สัตว์ทั้งหลายล้านตัวไม่มีโอกาสอย่างเรา
จงอย่าประมาท รีบสร้างบารมีให้แก่ตนด้วยการทำดี
ทั้งชั้นต้น ชั้นกลางและชั้นสูง
อย่าปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่า ปราศจากประโยชน์เลย .. "
หลวงปู่ชา สุภัทโท
ให้พึ่งตน พึ่งธรรม
อานนท์ ! เราได้กล่าวเตือนไว้ก่อนแล้วมิใช่
หรือว่า “ความเป็นต่าง ๆ ความพลัดพราก ความเป็น
อย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ย่อมมี; อานนท์ !
ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า : สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว
อันปัจจัยปรุงแล้ว มีความชำรุดไปเป็นธรรมดา, สิ่งนั้น
อย่าชำรุดไปเลย ดังนี้; ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้”.
อานนท์ ! เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่น
เหลืออยู่ ส่วนใดเก่าคร่ำกว่าส่วนอื่น ส่วนนั้นพึงย่อยยับ
ไปก่อน, ข้อนี้ ฉันใด; อานนท์ ! เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มี
ธรรมเป็นแก่นสารเหลืออยู่, สารีบุตรปรินิพพานไปแล้ว
ฉันนั้นเหมือนกัน. อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า :
สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยปรุงแล้ว มีความ
ชำรุดไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นอย่าชำรุดไปเลย ดังนี้;
ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้.
อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้
พวกเธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นประทีป
มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ;
จงมีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ.
อานนท์ ! ภิกษุ มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ, มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็น
สรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ อยู่,
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายเนือง ๆ อยู่,
พิจารณาเห็นจิตในจิตเนือง ๆ อยู่,
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายเนือง ๆ อยู่;
มีเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้.
อานนท์ ! ภิกษุอย่างนี้แล ชื่อว่ามีตนเป็นประทีป
มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็น
ประทีป มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่.
อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไป
แห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตน
เป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป
มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่.
อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา,
ภิกษุพวกนั้น จักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด.
ในการพิจารณาธรรม จนเกิดวิมุตติหรือบรรลุธรรมนั้น
จะต้องมีโยนิโสมนสิการ คือมีการพิจารณาใคร่ครวญ ให้เห็นถึงต้นเหตุ คือต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบครอบทุกแง่มุมและสืบไปให้ถึงต้นเหตุจริงๆ จนจิตบังเกิดความหลุดพ้น (วิมุตติ) ซึ่งเรียกว่าเป็น การเห็นสัจธรรม ซึ่งในขณะที่มีการเห็นสัจธรรม หรือเห็นความจริงแท้ของธรรมชาตินั้นจะมีลำดับขั้นในการเห็นโดยละเอียด อยู่ถึง ๙ ขั้น อันได้แก่
๑. อนิจจตา เห็นความไม่เที่ยง
๒. ทุกขตา เห็นความต้องทน
๓. อนัตตา เห็นความไม่ใช่ตัวตน
๔. ธัมมัฏฐิตตา เห็นความที่มันตั้งอยู่ โดยความเป็นอย่างนั้น
๕. ธัมมนิยามตา ห็นความที่มันเป็นไปตามกฎของธรรมชาติอย่างนั้น
๖. อิทัปปัจจยตา เห็นความที่มันเป็นไปตามปัจจัย
๗. สุญญตา เห็นความว่างจากตัวตน
๘. ตถตา เห็นความที่มันเป็นของมันเช่นนั้นเอง
๙. อตัมมยตา เห็นสภาวะจิตที่ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้หวั่นไหวได้
เมื่อเรายกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (เช่น รูปขันธ์) ขึ้นมาเพ่งพิจารณา
ให้เห็นความไม่เที่ยง (หรือการเกิด-ดับ) อย่างแรงกล้า (ด้วยสมาธิ) ก็จะมองเห็นความทุกข์และถ้าเพ่งมองทุกข์ต่อไปอย่างแรงกล้า ก็จะมองเห็นความไม่ใช่ตัวตน และถ้าเพ่งมองไปไม่หยุด ก็จะบังเกิดการเห็นต่อไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายจิตก็จะเกิดความเห็นแจ้ง ในความเป็นเช่นนั้นเอง แล้วจิตก็จะหลุดพ้น และมองเห็นสภาวะจิตที่หลุดพ้น ที่ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งให้หวั่นไหวได้อีกต่อไป ซึ่งการเห็นทั้งหมดนี้ จะเกิดต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว แต่เราสามารถแยกแยะ ออกมาให้ศึกษาได้ถึง ๙ ขั้น โดยในแต่ละขั้นนั้นจะเรียกว่าเป็น ญาณ ที่หมายถึง ความรู้ที่เกิดมาจากการปฏิบัติ แต่ญาณทั้ง ๙ ขั้นนี้เมื่อสรุปแล้วจะเหลือเพียง ๒ ญาณ อันได้แก่
๑. ธัมมฐิติญาณ ญาณที่เห็นความตั้งอยู่ของธรรมชาติ
๒. นิพพานญาณ ญาณที่เป็นส่วนของการดับทุกข์
ญาณทั้งหลายถ้ายังไม่ถึงกับดับทุกข์ได้ จะสรุปลงในธัมมฐิติญาณ คือยังเป็นเพียงการเห็นความตั้งอยู่ ของธรรมชาติเท่านั้น แต่ถ้านิพพานปรากฏแล้ว
ก็จะเกิดนิพพานญาณคือ จะเกิดความรู้ว่านิพพานปรากฏแล้ว
ถูกต้องแล้ว ไม่มีอะไรที่จะยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว....