ธรรมที่ขีดกันไม่ให้จิตเห็นตามสภาวะตามเป็นจริงคือ ธรรมที่เรียกว่า นีวรณธรรม 5. ประการ เปรียบเหมือนจอกแหนที่กั้นไม่ให้เห็นตัวปลา หากเราแหวกจอกแหนออกเราก็เห็นตัวปลาได้ การพิจารณากายก็เช่นกัน หากเรากำหนดพิจารณานีวรณ์ที่เกิดขึ้นให้ระงับดับไป นีวรณ์มี 5คือ กาม ความอยากได้อยากมีอยากเป็น, 2. พยาบาท อารมณ์ที่ขึงเครียดด้วยการผูกโกรธใครไว้ ว่าคนนี้ทำความชิบหายแก่เราเบียดเบียนเรา 3. ความง่วงงาวหาวนอนที่เกิดขึ้นที่จิต 4. ความหดหู่ฟุ้งซ่านรำคาญใจ 5. ความลังเลสงสัยในความดีต่างๆ ในพระพุทธเจ้าก็ดี ในสมาธิก็ดี รีบกำจัดออกไปจากจิต วิธีระงับเพียงแค่รู้เท่าทันโดยใช้สติว่า รู้หนอๆๆๆ เดียวก็ดับไปเอง
ขั้นแรก คือการฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อจะได้รับฟังถึงเรื่องของความทุกข์ เรื่องของวิธีการเกิดขึ้นของความทุกข์ และเรื่องของวิธีของการที่จะทำให้ความทุกข์นั้นหายไป พอเราได้ยินได้ฟังแล้ว ขั้นต่อไปเราก็เอาคำสอนที่เราได้ยินได้ฟังนี้ มาใคร่ครวญมาคิดอยู่เรื่อยๆ มาพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เพราะว่าถ้าเราไม่นำมาใคร่ครวญมาพิจารณาอยู่เรื่อยๆก็จะลืมไปได้ เพราะว่าเรามีงานการที่ต้องทำมีภารกิจอะไรต่างๆ ที่ต้องทำที่ต้องใช้ความคิด พอไปใช้ความคิดเกี่ยวกับเรื่องการทำงานทำการ วิธีการดับทุกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เรารู้จักก็จะเลือนลางจางหายไป เราก็จะลืมไป จึงต้องกลับมาฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่มีวันพระวันธรรมสวนะขึ้นมา ก็คือวันฟังธรรม ให้เป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนที่จะหยุดภารกิจการงานต่างๆ เพื่อที่จะได้เข้ามาวัดเพื่อมาฟังเทศน์ฟังธรรม มาทบทวนพระธรรมคำสอนหรือมารับคำสอนเพิ่มเติม เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้านี้มีหลายขั้นมีหลายตอน มีหลากหลายตัวอย่างหรือหลากหลายข้อมูลที่จะต้องนำเอาไปใช้ในการดับความทุกข์ใจ แล้วพอเราได้ยินได้ฟังแล้วเรานำเอาไปคิดใคร่ครวญอยู่เรื่อยๆ เพื่อไม่ให้หลง ไม่ให้ลืม
พอเวลาเกิดเหตุการณ์คือเวลาเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เราจะได้ใช้คำสอนของพระพุทธเจ้ามาดับความทุกข์ใจได้ ถ้าเราไม่สามารถดับความทุกข์ใจได้ก็เป็นเพราะว่าเราไม่ได้ทำการบ้าน คือไม่ได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้ามาก่อนนั่นเอง ถึงแม้อาจจะใคร่ครวญอยู่คิดอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าไม่นำสิ่งที่ใคร่ครวญนี้มาปฏิบัติมาพิจารณามาทำ ถึงเวลาที่จะใช้ธรรมะมาดับความทุกข์ใช้ปัญญามาดับความทุกข์ ก็จะดับไม่ได้ นี่คือปัญญา ๓ ขั้น เป็นเหมือนกับการไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน
เวลาเราเข้าห้องเรียนนี้เราก็จะได้ยินได้ฟังคำสอนของครูบาอาจารย์ แล้วพอกลับบ้านครูบาอาจารย์ก็ให้การบ้านไปทำ ถ้าเราไม่ทำการบ้าน ถึงเวลาที่เข้าห้องสอบเราก็จะสอบไม่ผ่าน เวลาฟังคำสอนของครูบาอาจารย์ในห้องเรียนก็เรียกว่า สุตมยปัญญา เวลากลับไปบ้านเอาการบ้านกลับไปทำที่บ้านก็เรียกว่าจินตามยปัญญา เวลาเข้าห้องสอบก็เรียกว่าปัญญามยปัญญา
ดังนั้นจะดับความทุกข์ได้หรือไม่ได้นั้นจึงต้องดับด้วยปัญญา ภาวนามยปัญญาคือต้องเข้าห้องสอบ ความรู้ที่ได้จากการได้ยินได้ฟังและความรู้ที่เกิดจากการใคร่ครวญพิจารณาอยู่เนืองๆนี้ ยังไม่ได้เป็นความรู้ที่จะมาใช้ดับความทุกข์ได้ เพราะว่ายังไม่ได้เข้าห้องสอบ ยังไม่ได้เคยเห็น ยังไม่ได้พบกับเหตุการณ์จริง แต่เวลาเราได้พบกับเหตุการณ์จริง เช่นพบกับความแก่ พบกับความเจ็บไข้ได้ป่วย พบกับความตาย พบกับการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ จากบุคคลที่รักที่ชอบ ตอนนั้นเราจะรู้ว่าเราผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าเรายังทุกข์อยู่กับความแก่ ทุกข์อยู่กับความเจ็บ ทุกข์อยู่กับความตาย ทุกข์อยู่กับการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ จากคนที่รักที่ชอบอยู่ ก็แสดงว่าเรายังสอบไม่ผ่าน แต่ถ้าเราสามารถผ่านกับเหตุการณ์ต่างๆไปได้อย่างไม่มีความรู้สึกทุกข์เลย รู้สึกเฉยๆเหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมา อันนั้นน่ะแสดงว่าเราได้สอบผ่านแล้ว.
ธรรมะบนเขา วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖ “ยาของพระพุทธศาสนา” พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
อุบายการขัดเกลากิเลส
มีอยู่ปีหนึ่งท่านอาจารย์แหวนกับท่านอาจารย์ตื้อ ได้รับกิจนิมนต์ขณะเดินธุดงค์ผ่านจังหวัดสุโขทัย ศรีสัชนาลัย โยมเขาจะทำบุญเลี้ยงพระวันแต่งงาน
ตอนเช้าเขาเลี้ยงพระอาหารทั้งคาวทั้งหวาน และที่ดีที่สุดคือขนมจีนน้ำยาของชอบของท่านอาจารย์แหวน
วันนั้นคาวหวานอย่างอื่นไม่ฉัน ให้โยมเขาประเคนกระจาดเส้นข้าวปุ้น และหม้อน้ำยาให้ก็เอาเส้นลงในบาตร เทน้ำยาลง ฉันอิ่มแล้วก็นั่งเทิ้งอิงหมอนอยู่
เสร็จพิธีของเขาแล้วก็รีบด่วนกลับวัด พอถึงวัดยื่นบาตรขึ้นกุฏิ ตัวท่านอาจารย์แหวนก็ลงไปฟูมน้ำอยู่หลังวัด แช่อยู่ในน้ำจนเที่ยงวัน ขนมจีนได้น้ำแล้วมันขึ้นอืดเต็มอัดอยู่ในกระเพาะ อยู่มิได้ทุรนทุราย พอขึ้นมาจากน้ำก็อาเจียนออกจนหมด เป็นขี้รากเขียว
นับแต่วันนั้นมาก็เป็นอันหมดในความอยากที่จะฉัน หมดความอาลัยในรสชาติของขนมจีนน้ำยา
ผู้ข้าฯ ถามว่า... “ทำไมท่านอาจารย์เล่นแก่แท้”
“สอนมัน มันอยากกินก็ให้มันกิน มันอิ่มจนล้นแล้วมันก็ไม่อยากอีก”... ท่านอาจารย์แหวนตอบแล้วก็หัวเราะ
“ส่วนท่านอาจารย์ตื้อนั้น อยากจะฉันนมข้นหวาน อันนี้อยู่วัดป่าห้วยน้ำริน วันใดก็คิดถึงแต่นมข้นหวาน วันใดก็คิดอยากฉัน
ได้ปัจจัยมาจากไปสวดมนต์คนตาย ใช้ให้เด็กน้อยวัดไปซื้อมาให้ ๑๐ กระป๋อง เป็นนมข้นหวานตราทหาร กระป๋องมันสูงกว่ากระป๋องนมข้นสมัยนี้
ได้มาก็เอามีดพับเจาะแทงเป็นสองรูตรงข้ามกัน เอาใส่แก้วผสมน้ำร้อนฉัน ไม่ทันใจเปิดได้แล้ว ก็ยกขึ้นดูดกลืนๆ หมดกระป๋องนี้เอากระป๋องนี้ หมดกระป๋องนี้เอากระป๋องนี้ หมดไปได้ ๙ กระป๋อง เหลือกระป๋องสุดท้ายเปิดแล้วว่าจะฉันมันอิ่มก่อน
อึกอักจากท้องลุกได้มือจับเสากุฎิได้ยื่นหน้าออกนอกกุฏิอวกออกจนหมด ตีรวนมวนท้อง อาเจียนออกหมดทั้งจังหันที่ฉันเข้าไป จนเหนื่อยอ่อน ระทวย จากนั้นมาไม่คิดถึงมันอีกเลย
ท่านอาจารย์ตื้อว่า... “ดัดสันดานปาก ดัดกกลิ้น กินให้มันตาย ทำไมมันจึงอยาก”
(อุบายการขัดเกลากิเลสของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งสององค์ผู้มีปฏิปทาคล้ายคลึงกันนับเป็นปฏิปทาอันน่าศึกษา ถือเอามาเป็นแบบอย่างมิใช่น้อย)
ธรรมะประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ
" ความพ้นทุกข์เป็นอย่างไรเล่า. พูดง่าย ๆ คือจิตเราไม่ทุกข์, มันก็พ้นทุกข์. จิตยังมีทุกข์อยู่มันก็ไม่พ้นทุกข์."
" ความรู้สึกเบาตนเบาตัวเบาร่างเบากาย. หายทุกข์หายยากหายความลำบากลำคาญ, ส-บ๊-า-ย เย็นอกเย็นใจ, นั่นแหละความสุข. "
" ธรรมมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม, ถ้าสัตว์ใดปฏิบัติธรรมดี ธรรมย่อมนำความดีมาให้, ถ้าสัตว์นั้นปฏิบัติธรรมชั่ว ธรรมก็นำความชั่วมาให้. "
เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว. " โอปนะยิโก " น้อมเข้ามารู้ภายใน, รู้เฉพาะตนนั่นแหล่ะ. เมื่อท่านได้ฟังแล้ว. " โยนิ โสมมนสิการ " พากันกำหนดจดจำไว้แล้ว, พากันประพฤติปฏิบัติ. ฝึกหัดตนไปตามคำสั่งสอนดั่งได้บรรยายแล้ว, ขอให้ท่านทั้งหลายมีความสุขความเจริญ.... "
เราลองใจกว้างซะหน่อย อย่าตัดสินว่า ความคิดที่ต่างกับเรานั้นใช้ไม่ได้ ควรมองว่า ความคิดต่างนั้นช่วยให้เราเห็นมุมที่แตกต่างจากเดิม หากมองได้เช่นนี้เราจะมีความรู้สึกลบกับ คนที่เห็นต่างน้อยลง และมีความสุขใน การทำงานง่ายขึ้น พูดง่าย ๆ คือถ้าเราคลาย ความยึดมั่นถือมั่นในความคิดใจ เราจะเปิดรับความเห็นต่างได้ง่ายขึ้น
#พระไพศาล วิสาโล
กลุ่มมโนมัย ขอเชิญร่วมอบรม การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน ครั้งที่ 11 วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม 2558 โดย พระอาจารย์ โน้ส และ พระอาจารย์ ตุ้ม จาก วัดป่าสุคะโต ณ อาคารธรรม ดีรุ่งโรจน์ เริ่มรับสมัครแล้ว ติดต่อได้ที่ โทร 02 285 4318 - 9 มือถือ 097 017 4087
|