นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 16 ม.ค. 2025 8:36 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


Switch to mobile style


โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: การฝึกอบรมพัฒนาตนเอง
โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ 17 ต.ค. 2015 8:03 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
หลวง ปู่ท่านสอนเสมอว่า
ไม่มีปาฏิหาริย์อันใด จะอัศจรรย์ เท่ากับ
การฝึกหัดอบรมพัฒนาตนเอง
จากความเป็น ปุถุชน ไปสู่ความเป็น อริยชน
ตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้
ทั้งหลักศีล สมาธิ และปัญญา
ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือ
การพัฒนาความสามารถในการมีความสุขของตน
ให้ละเอียด ประณีตยิ่งขึ้น
กระทั่งถึงภาวะความสุขชนิดที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีก นั่นก็คือ พระนิพพาน

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ





ชีวิตและปฏิปทาของพระธุดงค์

“กินน้อย นอนน้อย ทรมานร่างกาย

จังหวะใดได้โอกาสอยู่คนเดียว อยู่ไกลหมู่เพื่อนก็ได้แต่งตั้งใจของตนในการกิน การนอน ให้มันน้อยอย่าให้มันมาก สัญญากับโยมเขาว่า...

“โยมวันใดอาตมาออกมาบิณฑบาตก็จะฉัน วันใดไม่ออกมาก็จะไม่ฉัน การขบฉันก็จะฉันตามความพอใจของอาตมา ฉันมากหรือฉันน้อยขอโยมอย่าได้เป็นทุกข์ใจด้วย อาตมาตั้งใจจะทรมานตนเองกำราบกิเลสภายใน และขอบอกโยมไว้ด้วยมิใช่อาตมาจะอวดอ้างตนออก แต่ขอตกลงกันไว้เพื่อความสบายใจ”

โยมเขาก็ว่า... “สุดแท้แต่ท่านเถ๊อะ”

สมัยยังหนุ่มแน่นนั้น เรื่องที่มารบกวนมากที่สุดเรื่องความรู้สึกทางกามกับเรื่องความอยากหลับอยากนอน กามวิตก ถีนมิทธะ สองประการนี้เองที่มันบุกรุกใจอยู่ก็หาอุบายต่อสู้กับมัน

อดข้าว ฉันแต่น้ำที่นี้อดนานวันเข้าหลายวันเข้า ๗ – ๘ วัน ร่างกายมันสั่นเทาๆ ท็อกๆ จิตแทนที่จะอยู่มันก็ซ่านซึมเซ่อเป๋อบ๋าอยู่เรียกว่าจิตไม่คล่องแคล่ว ก็เปลี่ยนอุบายมาเป็นผ่อนอาหารฉันน้อยปั้นเป็นคำๆ ๗ คำ ๘ คำ ๙ คำ ๑๐ คำข้าว กับข้าวก็เอาแต่พอได้ล่องคำข้าวลงคอได้ บางที่เทเอาแต่น้ำแกง ความอ่อนเพลียของร่างกายก็หายไปพอมีเรี่ยวแรง เดินจงกรม ภาวนา เดินไปเดินมา ทำข้อวัตรของตนได้

ฉันจาก ๗ คำ เพิ่มวันละคำ ถึง ๑๐ คำ แล้วก็ลดลงมา บางวันแค่ ๕ คำ ร่างกายก็อยู่พอสบายได้ ความกำหนัดกามก็หายไปเบาไป ความอยากหลับอยากนอนก็ไม่เท่าไหร่ นอนวันละ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง

เริ่มต้นทีแรกนั้นก็ต้องฝึกหัด ต้องต่อสู้เป็นอย่างมาก เพราะการกิน การนอนเป็นอาหารของรูปร่างฮ้างคีงอันนี้ แต่ให้เป็นอย่างเมาหลับเมานอน เมาอยู่เมากิน ก็ไม่ได้เรื่องไม่ได้ความอะไรสักอย่างของตน

ก่อนนอนนั้นตั้งสัจจะไว้หากตื่นเวลาใดก็จะลุกขึ้นในเวลานั้น จะนอนให้น้อยที่สุดบางวัน ๑๐ นาที ๑๕ นาที ๒๐ นาที

เริ่มจากนอน วันละ ๔ ชั่วโมงให้ได้ แล้วก็ลดลงมาทีละน้อยๆ มาได้การนอนพอดี วันละ ๒ ชั่วโมง กลางวันไม่ให้มันนอน ให้นอนตอนกลางคืน ตื่นแล้วไม่นอนอีก

ฝึกอยู่อย่างนั้น ทรมานอยู่อย่างนั้น เดือนแรก เดือนสอง เดือนที่สาม ทั้งกายทั้งใจจึงไปด้วยกันได้ กายเบาใจเบา

เดินจงกรม ยืนรำพึงภาวนา นั่งภาวนา ใจเกาะหากามไม่มี เพราะร่างกายได้อาหารน้อย ฆวยไม่พอแข็ง – แข็งแต่พอได้เยี่ยว ร่างกายก็ไม่ซึมเซ่อ สดชื่นอยู่ความง่วงก็มีน้อย มีอยู่ไม่ใช่ไม่มี แต่บังคับไม่ให้มันมีมาก

เอาหมดทุกวิถีทางน้อยหนุ่มกำลังวังชาจิตใจมันอยากทำ อยากฝึก
ผู้ข้าฯ นี้ อดนอนไม่ถูกกันเท่าใดนัก แต่นอนน้อยพอสู้ทนได้

ลดข้าวอดน้ำก็ทำแต่ทำไปๆ จิตไม่ไปไม่มา ต้องฉันน้อยกิน ๗ – ๘ คำ ให้มันนอนสองชั่วโมง

ดีอยู่สมัยยังหนุ่มโรคภัยไข้หนาวก็ไม่พอที่จะมีมาเบียดเบียนเท่าใดนัก เป็นหวัดเป็นไอธรรมดาเท่านั้น

เอาจิตอยู่กับ พุท – โธ ตลอดอิริยาบถเดิน กับยืน กับนอนก็บริกรรมไปจนหลับทั้งไป นั่งก็บริกรรมจนกว่าจะตั้งผู้รู้ไว้ได้

ไปอยู่ป่าฮิ้นผายอง อยู่คนเดียว อยู่ที่นั่นหลายรอบหลายครั้ง พูดจากับโยมชาวบ้าน เขาก็รู้เรื่อง เข้าใจเรื่องของเรา เพราะชาวบ้านเขาเป็นโยมของเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) ครูอาจารย์ชอบ (ฐานสโม) มาก่อน
การตั้งใจของเราก็ดี จับจิตได้ จิตสงบเยือกเย็นดี มีเครื่องดึงดูด ยินดีพอใจอยู่ วันคืนได้สติได้ปัญญา พอเป็นไปได้ของตน

ชอบไปอยู่ภาวนาที่นั่นหน้าหนาวต่อหน้าแล้ง ขอโยมเขามาทำทางจงกรมให้ ๓ – ๔ เส้น กลางคืนวันข้างขึ้นเดือนเป็ง เดือนแปน ก็ออกไปเดินในที่โล่งที่แจ้ง วันพระ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ไม่นอน ไม่เอาหลังพิงฝา พิงเสา ไม่เอาหลังพิง จะหลับให้มันนั่งหลับ
ตั้งเอาคุณงามความดีบารมีที่ตัวทำมาแล้วหลายภพหลายชาติ รำลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ คุณของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ มาเป็นเครื่องต่อสู้

ตั้งเอาสัจจะของตนขึ้นแล้ว พากเพียรตาม

การขบฉัน การนอน แบบนี้เข้าเดือนที่ ๒ จึงพอได้ จงกรมก็เดินเป็นว่าเล่น การยืน จะยืนนานนักก็ไม่ได้เพราะมันหนักร่างกาย ยืน – เดิน – นั่ง สลับกันไปให้ได้ตลอดวันจนเข้านอน ตื่นนอนแล้วก็ตั้งใหม่

ไปอยู่ป่าคนเดียวนั้น ๑. ข้อวินัย อย่าให้เป็นผิดแม้แต่ทุกกฎ

๒. ไหว้พระเจริญปริตรมนต์ อย่าขี้คร้าน เช้าเย็นก่อนนั่งภาวนาทุกครั้ง ก่อนเดินจงกรมก็ให้ยกมือขึ้นไหว้หัวแม่มือจดคิ้ว แล้วรำลึก
พุทโธ ธัมโม สังโฆ
พุทโธ เม นาโถ
ธัมโม เม นาโถ
สังโฆ เม นาโถ
เอากายใจของตนเป็นเครื่องบูชา แล้วก็กำหนดเดินจงกรม อย่าขี้คร้าน

๓. การเจริญเมตตา การให้บุญแก่สัตว์ทั้งหลาย

ในสามหัวข้อนี้อย่าไปอวดใส่เด็ดขาด ต้องระมัดระวังรักษาให้ดี ให้ตนได้ปกติอยู่ เป็นวัตรของตน

เรื่องสำคัญ คือ เรื่องความอยาก...

ปฏิบัติภาวนาเพิ่นไม่ให้อยากใดๆ จ่อกแจ่กไม่ให้อยากสักอัน อยากสงบ อยากปล่อย อยากวาง อยากให้จิตเป็นสมาธิ อยากให้รู้ธรรม อยากเห็นธรรม อยากเห็นผล อยากเล็กอยากน้อย อย่าให้มีเด็ดขาด เพราะมีแล้ว เกิดขึ้นแล้ว มันไม่สมใจอยากก็เป็นปฏิฆะหงุดหงิดไม่อยากทำ ท้อแท้ ขี้แอ

ท่านอาจารย์ชอบ (ฐานสโม) เตือนบอกไว้ว่า...
“ อยากหลายได้กินเท่าปลายก้อย
อยากกินน้อยได้กินเท่าโป้มือ
ให้พอดี มันจึงพอดี”

การเอาความอยากมาบังคับจิตนี้ไม่เคยเป็นอะไรให้ได้เลย โลโภธมฺมานํ ปริปนฺโถ ความอยากเป็นไปไฟเผาไหม้ธรรม พาให้เสียธรรม กายก็ร้อน จิตก็ร้อน ไม่สงบดอก

ความห่วงอาลัยในรูปกายก็อย่าให้มี ไม่มีใครภาวนาแล้วตายหรอก พอมาปฏิบัติก็เมาหลงเป็นห่วงกลัวไม่สุข ไม่ดี เอาให้มันตายลงไปเสีย

ใจของผู้ปฏิบัติต้องเอาแผ่นดินเป็นครู ความอยากได้มันมีมาก จนไม่รู้สึกตัว ความเพียรมิใช่ความอยาก

ใจที่วางสบาย ภาวนาก็พอสบาย จิตก็รวมได้ ไปอยู่ป่า เข้าดงเข้าป่านั้นดี

ตำรับตำรา หนังสืออะไรทิ้งหมดไม่เอาไม่อ่านอีกแล้ว วางตำรา คือ เอาแต่แบบปฏิบัติอย่างเดียว กินน้อย นอนน้อย พูดคุยน้อย ให้เหลือแต่ข้อวัตรข้อวินัย ข้อนี้อย่าทิ้งอย่าให้ล่วงเด็ดขาด จะเป็นจะตายก็อยู่กับข้อต้นนี้หล่ะพระเณรพวกเรา

ตั้งใจของตนตลอดวันตลอดคืน ไม่ส่งจิตออกข้างนอก ไม่ให้สงสัย แม้จะสงสัยอยู่แต่ไม่เอาเรื่องที่สงสัยนั้นมาเป็นอารมณ์
เอาแต่ “พุทโธ” ให้อยู่กับใจตลอด

ปัญญาจากตัวอักษร ปัญญาจากคำของครูบาอาจารย์ ยกไว้ก่อน จะอยู่จะไปก็เอาแต่ปัญญาของตนนี้เองมาอาจหาญแก้ไข ต่อสู้
ไม่ดู ไม่ใส่ใจในของภายนอก อารมณ์ภายนอกทั้งหมด

ตั้งแต่รู้อยู่กับเจ้าของ เอาล่ะ.....ข้าฯ จะภาวนาเท่านั้น อย่างอื่นไม่ใช่เรื่องของข้าฯ ทุกขเวทนา ทุกขเวทนาขันธ์ อะไรทั้งหมดข้าฯ ไม่เอา
จะแก้กาม ก็เอาอสุภ เอาสมถมาแก้ พิจารณาลงมาในรูปกายนี้ทั้งหมด ให้รู้ตัวมีสติในการแยกธาตุ แยกขันธ์ สังเคราะห์ใน อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ พิจารณาในความมิใช่เขามิใช่เรา
พากเพียรอยู่อย่างนี้ เรียกว่าทำงานการภาวนาของตน หางานให้จิตทำสอนจิต เพราะหน้าที่ของจิตก็มีอยู่แค่นี้ ให้อยู่ในความสงบ - สงบแล้วก็พักระยะอยู่แล้วก็ถอนออกมาใช้ปัญญาพิจารณา อะไรบ้างไม่เที่ยง
อะไรบ้างเกิด แก่ เจ็บ ตาย
อะไรมิใช่เขามิใช่เรา มิใช่ตัวมิใช่ตน
ให้รักษาอารมณ์ภายในจิตตภาวนาของตนให้ดี อย่าไปเอาอารมณ์ใน ภายนอกเป็นโลกเป็นสงสารเด็ดขาด และให้รู้จักเจ้าของให้ดี ศรัทธา อย่างใดในจิต
วิริยะ อย่างใดในจิต
สติ อย่างใดในจิต
สมาธิ อย่างใดในจิต
ปัญญา อย่างใดในจิต
เพราะธรรมเหล่านี้เป็นเรื่องที่จะเอาแพ้เอาชนะในมวลกิเลสานุสัย ธาตุขันธ์ เพราะอินทีรยธรรม พลธรรมเป็นกำลังทั้งความสงบ และปัญญาวิปัสสนา
ภาวนาอาลัยหาสุขก็ไม่เป็น ห่วงแต่สุข กลัวไม่ได้สุข เอะอะจ่อกแจ่กอะไรนิดหน่อยก็อยากเลิก หมดกำลัง อาลัยสุข ก็ทุกข์ซ้ำตื่มเข้าอีก ใฝ่สุข ใฝ่สบายก็ทุกข์ เพราะไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม ไม่เห็นตน ไม่เห็นเกิดแก่เจ็บไข้ตาย
สุขของโลก สุขของสมาธิ สุขของฌาน มันล้วนแต่ชวนให้อาลัยห่วงหาอยู่เสมอหากปัญญาไม่พอ ก็ไม่รู้เท่าไม่รู้ทัน
การเจริญภาวนานี้มิใช่ของง่าย เป็นวิชชาที่ยากที่สุดในโลก แต่ใครทำได้แล้วก็ได้ผลเป็นผลอย่างยิ่ง”
ธรรมะประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 116 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO