** เหตุที่ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถปรินิพพานในปัจจุบัน** * สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะเสด็จเข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับทรงถวายบังคมแล้ว ประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเหตุปัจจัยอะไรหนอ ที่ทำให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรท่านผู้เป็นจอมเทพ *รูปทั้งหลาย ที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุ เสียง ที่จะพึงรู้สึกด้วยโสตะ * กลิ่น ที่จะพึงรู้สึกด้วยฆานะ รส ที่จะพึงรู้สึกด้วยชิวหา * สัมผัสทางกาย ที่จะพึงรู้ด้วยกายะ ธรรมารมณ์ ที่จะพึงรู้สึกด้วย มนะ ** อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ หากภิกษุเพลิดเพลินหมกมุ่น พัวพันในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ธรรมารมณ์นั้นอยู่ เมื่อเธอเพลิดเพลิน หมกมุ่น พัวพันในสิ่งเหล่านี้นั้นอยู่ วิญญาณอันอาศัยตัณหานั้นย่อมมี อุปาทานอันอาศัยตัณหานั้นก็ย่อมมี ภิกษุผู้ยังมีอุปาทาน ยังไม่ปรินิพพาน. ** หมายเหตุ นอกจากสักกสูตรนี้แล้วยังมีสูตรอื่นที่มีลักษณะเดียวกันคือ ปัญจสิขสูตร, เวสาลีสูตร, วัชชีสูตร, นาฬันทสูตร, โสณสูตร, นกุลบีตุสูตร, เป็นต้น
ชีวิตที่วัดป่าบ้านตาด : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ถาม : ตอนพระอาจารย์ไปพบหลวงตาครั้งแรก หลวงตาท่านว่าอย่างไรบ้างครับผม
พระอาจารย์ : ก็ไปกราบท่าน ท่านก็บอกอยู่ได้ชั่วคราว พอดีช่วงนั้นกำลังเตรียมตัวจะไปบิณฑบาตพอดี เพราะเรานั่งรถไฟจากกรุงเทพฯไปตอนเย็น ไปถึงอุดรฯตอนเช้ามืด ก็มีศรัทธาญาติโยมที่อุปัฏฐากวัดป่าบ้านตาด เขารับจากสถานีมาส่งให้ที่วัด พอไปถึงวัดก็พอดีพระลงมาทำความสะอาดศาลาเตรียมตัวออกบิณฑบาต พอหลวงตาลงมาก็ได้ไปกราบท่าน พอกราบท่าน ท่านก็จะห่มจีวรออกบิณฑบาต ก็เลยได้พูดแค่นั้น “อยู่ได้ชั่วคราว ที่นี่ไม่ว่าง” แล้วก็หลังจากนั้นก็ไม่ได้คุยไม่ได้อะไรกับท่าน ก็อยู่ไป ปกติเราก็ไม่ชอบไปคุยกับใคร ไม่อะไร อยู่ก็พยายามทำหน้าที่ของเราไป หน้าที่ของทางวัดก็ร่วมกับเขาทำไปบิณฑบาต ปัดกวาดถูศาลาก็ทำไปตามหน้าที่
ส่วนงานภาวนาเราก็ทำของเรา เวลาเสร็จจากหน้าที่เราก็กลับไปที่พักของเราไปเดินจงกรมนั่งสมาธิของเรา เวลาหลวงตาเรียกประชุมก็มานั่งฟังประชุม แต่ไม่เคยมีโอกาสได้คุยกับท่าน เพราะไม่เคย มันเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าอยากจะคุยกับท่าน
ถาม : แล้วพระอาจารย์ไม่ได้ติดปัญหาธรรมหรือครับ
พระอาจารย์ : ก็ท่านเทศน์อยู่เรื่อยๆ ท่านเทศน์ทุกอย่าง ครบถ้วนบริบูรณ์ ท่านเทศน์ตั้งแต่ศีล สมาธิ ปัญญา ขึ้นไปถึงวิมุตติหลุดพ้น แล้วเราก็อาศัยอ่านหนังสือธรรมะของท่าน ตอนนั้นมีอยู่ ๒ – ๓ เล่ม ประวัติหลวงปู่มั่น และก็ปฏิปทาฯ และก็อ่านแว่นดวงใจ อ่าน ๓ เล่มนี้เป็นหลักแล้วก็มีเล่มอื่น พอดีตอนนั้นท่านกลับมาจากลอนดอน ท่านก็มีภาษาอังกฤษ เป็นหนังสือที่ท่านไปเทศน์ให้ชาวต่างประเทศฟัง ก็ใช้หนังสือของท่านอ่าน หาเวลาอ่านประมาณวันละชั่วโมง เสริมความรู้ไปก็เลยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปรบกวนท่าน แล้วตอนนั้นจิตของเราก็ไม่อยากจะยุ่งกับใคร มันชอบของมันอยู่คนเดียว ชอบลุยกับกิเลสตัณหาของตัวเอง สู้กับเรื่องของตัวเอง ก็เลยไม่ไปสนใจใคร แม้แต่พระด้วยกันเราก็ไม่ไปยุ่งกับใคร
มีท่านสุดใจพอดีอยู่กุฏิใกล้กันก็เลยได้คุยกันบ้างเวลาไปสรงน้ำ เพราะไปสรงที่เดียวกัน ที่บ่อ
ถาม : บ่อใกล้ๆ โรงน้ำร้อนใช่ไหมครับ
พระอาจารย์ : บ่อข้างบน ใกล้กุฏิของท่านตอนนี้
ถาม : พระอาจารย์สู้กับกิเลสนานไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์ : โอ๊ย…ก็ตั้งแต่เริ่มต้นเลยแหละ ตั้งแต่ลาออกจากงานแล้วก็ห้ามตัวเองไม่ให้ไปทำตามกิเลส แล้วก็เริ่มสู้กับมัน ประกาศสงครามตั้งแต่วันนั้นว่า ต่อไปนี้จะไม่เที่ยวไม่หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย จะหาความสุขจากการภาวนาเพียงอย่างเดียว เดินจงกรมนั่งสมาธิทำใจให้สงบ อ่านหนังสือธรรมะ ทำแค่นี้ ตอนที่เป็นฆราวาสอยู่ปีหนึ่ง ทำไปจนกระทั่งรู้สึกว่าเอ่อ..เราพอจะอยู่เป็นพระได้แล้ว ถ้าบวชไม่คิดอยากจะสึกแล้ว เลยตัดสินใจอย่างนั้น ตอนต้นก็ไม่แน่ใจไม่กล้าไม่รู้ว่าจะบวชแล้ว จะสึกหรือเปล่าก็เลยยังไม่กล้าบวช ลงปฏิบัติไปก่อนทดสอบจิตใจไปก่อน ปิดประตู ปิดทางออกของกิเลส ทวารทั้ง ๕ ก่อน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ไปดูไปฟังไม่ไปเที่ยวไปกินไปดื่มไปเล่น
ถาม : แล้วสู้นานไหมเจ้าคะ
พระอาจารย์ : อ่อ มันก็สู้ไปเรื่อยๆ
ถาม : มันไม่มีที่สิ้นสุด กิเลสมันเยอะ
พระอาจารย์ : มันก็น้อยลงไปเรื่อยๆ ก็สู้มันฆ่ามันไปเรื่อยๆ มันก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และอยู่กับหลวงตาดี ท่านมีความรู้มาก แนะแนวทางหลายอย่าง อุปสรรคต่างๆเวลาเกิดก็ท่านบอกไว้ก่อนแล้ว มาตรงนี้จะติดสมาธินะ มาตรงนี้จะติดปัญญานะ ท่านบอกไว้ก่อนแล้ว พอไปถึงตรงนั้นเราก็รู้เลย รู้ว่าจะติดแล้ว เราก็แก้ได้ ไปตรงนี้จะติดก็แก้มันไปก็เลยสบาย มีคนบอกทางไว้ล่วงหน้าแล้ว เราเดินไปถึงจุดนั้นเราก็รู้วิธีที่จะต้องปฏิบัติ มีครูบาอาจารย์ที่ผ่านมาแล้วเป็นผู้สอนนี้มันได้ประโยชน์มาก
ถาม : เพราะอยู่กับหลวงตาหรือเปล่าครับ กิเลสจะยุบยอบไปหมดเลย
พระอาจารย์ : เพราะกิเลสมันกลัวหลวงตาไง เพราะหลวงตาท่านเคยปราบกิเลสมาแล้ว
ถาม : กลัวหลวงตามากกว่ากิเลสไหมครับ
พระอาจารย์ : ก็นั้นแหละหลวงตาช่วยปราบกิเลสให้เราไง เพราะเวลากิเลสออกนี้หลวงตาท่านจะใส่เราทันที ที่ท่านใส่นี้ไม่ได้ใส่เรานะ ท่านใส่กิเลสของเรา เพราะกิเลสของเรามันออกมาแสดงลวดลายให้ท่านเห็นไง
ถาม : เพราะเราเป็นกิเลสใช่ไหมครับ
พระอาจารย์ : ใช่ ๙๙ เปอร์เซ็นต์นี้เป็นกิเลสทั้งนั้น
ถาม : แต่เราไม่เห็น เราไม่รู้
พระอาจารย์ : เราไม่รู้ เราทำอะไรคิดว่าเป็นของดีสำหรับเรา แต่มันเป็นของอันตรายต่อจิตใจ อาจจะดีกับกิเลสไง ทำแล้วเรามีความสุข ได้กินได้เที่ยวได้ดื่มแล้วเรามีความสุขเราก็คิดว่ามันดี แต่ความจริงมันทำให้ใจทาสของพวกเราเหล่านี้ของเหล่านี้ เวลาไม่ได้ก็ทุกข์ ท่านจะมาคอยช่วยมาไล่ให้พวกเราไปในทางจงกรม เวลาออกมาเพ่นพ่านทำอะไร เป็นเรื่องของกิเลสนี้เดี๋ยวท่านไล่กลับเข้าไปแล้ว มานั่งฉันน้ำร้อนนั่งเกินเวลา ท่านก็มาไล่แล้ว เรื่องฉันน้ำปานะนี้ท่านเปิดโอกาสให้ฉันวันละครั้งอย่างนี้ ถ้าท่านเดินผ่านมารอบแรกไม่เป็นไร ถ้าท่านมารอบที่สองนี้เจอเราอยู่นี้รีบโกยได้แล้ว ไม่งั้นเดี๋ยวท่านจะใส่แล้ว
ถาม : กิเลสกลัวหลวงตาจริงๆ
พระอาจารย์ : หลวงตาท่านรู้เรื่องของกิเลสเพราะท่านผ่านมาหมดแล้ว แต่เราไม่รู้ว่าเป็นกิเลสเราคิดว่าไม่เป็นไร ๆ แต่มันเป็น ถ้ามันไม่เป็นท่านจะไม่มาห้าม
ถาม : หมายถึงเวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านก็ต้องแหย่เราเห็น แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันคือกิเลส สมมติว่าเราอยู่คนเดียวว่าอันนี้มีกิเลสแทรกออกมาแล้ว
พระอาจารย์ : ก็ต้องมีสมาธิก่อนไง ถ้าจิตสงบแล้วเวลามีกิเลสแล้วใจมันจะร้อนขึ้นมาเหมือนภูเขาไฟระเบิด
ถาม : คือใจร้อนขึ้นมานี้รู้แล้วว่าเป็นกิเลส
พระอาจารย์ : ใจวุ่นวาย ใจไม่สงบ กระสับกระส่ายกระวนกระวาย ถ้าไม่มีสมาธิมันไม่เห็นนะ เพราะมันไม่สงบอยู่แล้วมันก็เลยไม่รู้ว่ามันแตกต่างกัน แต่เวลาใจสงบนิ่งๆนี้ แม้กระทั่งเรื่องนิดเดียว คิดนิดเดียวมันก็ทำให้ใจกระเพื่อมขึ้นมาได้ มันก็รู้ว่านี่เป็นกิเลส แต่ถ้ารู้ว่าเป็นธรรม คิดเป็นธรรมมันจะไม่กระเพื่อม คิดเป็นธรรมก็ต้องคิดว่าเป็นไตรลักษณ์ คิดว่าเป็นไตรลักษณ์แล้วใจจะไม่กระเพื่อม
ถาม : คำว่าไม่กระเพื่อมนี้คือมันดับใช่ไหมครับ
พระอาจารย์ : ไม่คือคุณทำใจให้สงบไง ใจสงบมันเป็นเหมือนน้ำนิ่ง เวลากระเพื่อมเหมือนคุณโยนก้อนหินลงไปในน้ำ น้ำมันกระเพื่อม หรือมีปลาอยู่ใต้น้ำมันผุดขึ้นมา มันก็ทำให้น้ำกระเพื่อม กิเลสก็เหมือนปลาที่อยู่ในน้ำ เวลาจิตสงบนี้น้ำมันจะนิ่ง พอคิดไปทางกิเลสปั๊บ ใจมันกระเพื่อม
ถาม : แสดงว่าถ้าใจวุ่นวายมันก็คือกิเลสทั้งนั้นเลย ต้องเหลือแต่ตัวรู้อย่างเดียว
พระอาจารย์ : อุเบกขาไง ถึงบอกว่าทุกคนต้องเข้าถึงอัปปนาก่อน ถึงจะเข้าถึงฐานของความจริง ถึงจะเห็นอริยสัจได้อย่างชัดเจน อริยสัจมันอยู่ตรงนั้น เวลาจิตนิ่งก็เป็นนิโรธ พอมีปัญหาขึ้นมา จิตกระเพื่อมก็เป็นทุกข์แล้ว แต่ถ้าใช่ไตรลักษณ์เจ้ามาปั๊บมันก็กลับมาสงบได้ มันจะเห็นการทำงานของอริยสัจ ๔
ถาม : เอาไตรลักษณ์มาปราบใช่ไหมเจ้าคะ /แปลว่าสิ่งที่เราส่งออกนอกเป็นกิเลสทั้งนั้นเลย
พระอาจารย์ : หลวงปู่ดูลย์ก็บอกแล้วว่าจิตออกนอกเป็นสมุทัย อะไรพูดตั้งหลายครั้งหลายหน ไม่เข้าใจสักที เพิ่งมาเข้าใจวันนี้
ถาม : พูดง่ายๆต้องวางทั้งหมด
พระอาจารย์ : ใช่ต้องวางทุกอย่าง
ธรรมะบนเขา สนทนาธรรม วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
จิตใจของเรานี่ถ้าหากไม่มีสิ่งใดตามรักษาดูแลแล้ว ปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจของจิตใจแล้ว มันจะเต็มไปด้วยภัยอันตราย เช่น อย่างไร จะอธิบายหลักให้ฟังว่า ผู้ใดที่ไม่บำเพ็ญภาวนา ไม่ได้สร้างกำลังตัว ตะปะธรรม หรืออริยมัคคุเทศก์หรือตัวนำพานี่ขึ้นมา เพื่อจะนำพาจิตใจของเราโน้มเข้าสู่ธรรมแล้วปล่อยให้เป็นไปตามธรรมดา อย่างที่พวกเราเคยปล่อยมาแล้ว มันจะเป็นไปด้วยภัยอันตราย เช่น มีเหตุการณ์เกิดขึ้น เช่น เขาด่าเราก็ดี ถ้าเราไม่มีกำลังยับยั้งแล้ว มันก็จะเป็นไปตามอำนาจของเหตุการณ์ บางทีก็ต้องชวนทะเลาะกันถึงต่อยตีกัน หรือบางทีอาจจะฆ่ากันตายก็ได้ หรือหากมีผู้ใดมาชวนไปในทางที่ผิด ก็ย่อมจะเป็นไปตามความต้องการของจิตได้ นั่นเป็นอย่างนั้น แต่สำหรับผู้บำเพ็ญภาวนานี่ อาศัยกำลังของตะปะธรรมตัวนำพา ซึ่งต้องพิจารณาก่อนเมื่อไปเห็นเหตุซึ่งแสดงบทบาทหรือเหตุการณ์ที่จะชวนให้ เราโกรธ ควรหรือไม่ควร สำหรับผู้บำเพ็ญภาวนา ซึ่งสามารถสร้างกำลังของตะปะธรรมขึ้นมาได้แล้ว ย่อมเอากำลังส่วนนี้มาพิจารณาก่อนว่า จะประกอบด้วยโทษหรือประกอบด้วยคุณจะเป็นไปเพื่อผลดีหรือผลเสีย จะต้องมาทบทวนก่อน หากในเมื่อไม่ควร จะต้องอาศัยกำลังของธรรม หรือตะปะธรรม หรือ ตัวอริยมัคคุเทศก์ ที่สร้างขึ้นมานี่ มาหักห้ามจิตของเรา ไม่ให้เป็นไปตามอำนาจของเหตุการณ์หรือไม่ให้เป็นไปด้วยความต้องการของจิตที่ ผิดอีก ย่อมมีกำลังยับยั้งได้ หรือบุคคลใดใครผู้หนึ่งจะชวนเราไปในทางที่ถูก หากในเมื่อเรากำลังของ ตะปะธรรมที่เราสร้างขึ้นมา คอยยับยั้งจิตของเราคอยพิสูจน์ถึงผลดีและผลเสีย หากในเมื่อเราดำเนินไปแล้วจะเกิดผลดีหรือผลเสียนั้น จะต้องมาพิสูจน์และยับยั้ง หากในเมื่อบุคคลที่มาชวนเรานั้น จะชวนไปในทางที่ผิด ประกอบด้วยโทษ กำลังของตะปะธรรมที่เราสร้างขึ้นมา ต้องยับยั้งจิตของเราทันที หากในเมื่อไม่ควรแล้ว ก็ตัดออก นี่เป็นอย่างนั้น
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
|