Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

จงเชื่อในความดี

อังคาร 17 พ.ย. 2015 5:28 am

ถ้าเราเชื่อความดีที่มีอยู่ในตัว‬ ความกลัวก็ไม่มีปัญหา แต่ความกลัวก็มีประโยชน์อยู่บ้างเหมือนกัน ถ้าเรากล้าต่อสู้กับมันแล้ว ก็จะกลับมาอบรมจิตใจให้สงบแน่วแน่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เกิดปีติขึ้นมาฆ่าความกลัวดับลงอย่างราบคาบ จากนั้นเราก็จักได้เร่งเจริญดำเนินความเพียรติดต่อโดยไม่หยุดยั้ง เพื่อบรรลุถึงธรรมที่เรายังไม่ได้บรรลุ เพื่อให้ได้ถึงธรรมที่เรายังไม่ถึง..
•ธรรมประวัติหลวงปู่ฝั้น อาจาโร•โอวาทธรรมที่หลวงปู่มั่นให้กับหลวงปู่ฝั้นหลังจากไปเจออาจารย์ผีและอาจารย์เสือ•




"..คนเราเกิดมาในชาติหนึ่งๆ
อย่าปล่อยให้ร่างกายของเราเหมือนเรือไหลล่อง
ผู้เป็นเจ้าของต้องเตรียมตัว ระมัดระวังหางเสือของเรือไว้ให้ดี

ผู้ใดเผลอผู้ใดประมาท ผู้นั้นมอบกายของตน
ให้เป็นเรือไหลล่องไปตามกระแสน้ำ
ผู้นั้นเรียกว่าโง่น่าเกลียด ฉลาดน่าชัง เป็นยาพิษ

เรือที่เรานั่งไปนั้นหากมันล่มลงในกลางน้ำ จรเข้ก็จะไล่กิน
กระโดดขึ้นมาบนดิน ฝูงแตนก็ไล่ต่อย

คนเราเกิดมามีกิเลสเรียกว่า."กิเลสวัฏฏะ" เป็นเชือกผูกมัดคอ
ผู้มีกิเลสต้องทำกรรมเรียกว่า."กรรมวัฏฏะ" ซึ่งก็เป็นเชือกมัด
คออีกเส้นหนึ่ง

ผู้ใดที่ทำกรรมไว้ ย่อมจะได้เสวยผลของการกระทำ
เรียกว่า"วิบากวัฏฏะ"เป็นเชือกเส้นที่สาม มัดคอไว้ในเรือนจำ

เราทุกคนต้องสร้างสมอบรมปัญญา
ซึ่งสามารถทำลายเรือนจำให้แตก

ผู้ใดทำลายเรือนจำไม่ได้ ผู้นั้นก็จะเกิดแก่เจ็บตาย
เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะนี้เรื่อยไป

เพราะฉะนั้น เราทุกคนจะต้องเตรียมตัวเป็นนักกีฬา
ต่อสู้ทำลายเรือนจำให้มันแตก อย่าให้มันขังเราไว้ต่อไป

..คนเราจะไปสวรรค์ก็ได้ ไปนิพพานก็ได้ ไปอบายภูมิก็ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้. ต้องดำเนินชีวิตในทางที่ดีที่งาม.

..อยากดี ต้องทำดีเป็น...อยากได้ต้องทำได้เป็น
อยากดีต้องละเว้นทางเสื่อม ตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้

'นิททาสีลี'....อย่าพากันนอนตื่นสาย
'สภาสีลี'.....ผู้ใดอยากดีอย่าพากันพูดเล่น
'อนุฏฐาตา'...ผู้ใดอยากดีให้พากันขยันหมั่นเพียร
'อลโส'....ผู้ใดอยากดีอย่าเป็นคนเกียจคร้าน

ผู้ใดอวดเก่งผู้นั้นเป็นคนขี้ขลาด
ผู้ใดอวดฉลาดผู้นั้นเป็นคนโง่
ผู้ใดคุยโวนั้นผู้นั้นไม่เอาถ่าน

อยากเป็นคนดีต้องทำดีถูก..เรียนหนังสือเพื่อรู้...
ดูหนังสือเพื่อจำ...ทำอะไรต้องหวังผล...
เกิดมาเป็นคนต้องมีความคิด....

อุบายเครื่องพ้นทุกข์ ไม่ใช่อยู่ที่อื่นไกล
หากแต่อยู่ที่ มี'สติสัมปชัญญะ' รอบคอบในทุกอิริยาบท.."

******************************************
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่จันทร์ เขมิโย


ต่อไปนี้จะให้ทำบุญโดยเข้าที่ภาวนา‬ นั่งดูบุญดูกุศลของเรา จิตใจมันเป็นยังไง ดูให้มันรู้มันเห็นซี่ อย่าสักแต่ว่า สักแต่ทำ เอาให้มันเห็นจริงแจ้งประจักษ์ซี่ เราต้องการความสุขสบาย แล้วมันได้ตามต้องการไหม เราก็มาฟังดูว่าความสุขความสบายมันอยู่ตรงไหน เราก็นั่งให้สบาย วางกายของเราให้สบาย วางท่าทางให้สง่าผ่าเผยยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อกายเราสบายแล้ว เราก็วางใจให้สบาย รวมตาเข้าไปหาดวงใจ หูก็รวมเข้าไป เมื่อใจสบายแล้ว นึกถึงคุณพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรมอยู่ในใจ พระอริยะสงฆ์อยู่ในใจ เราเชื่อมั่นอย่างนั้นแล้ว จึงให้นึกคำบริกรรมภาวนา ว่า " พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ" สามหน แล้วเอาคำเดียว ให้นึกว่า "พุทฺโธ พุทฺโธ " หลับตา งับปากเสีย ตาเราก็เพ่งเล็ง ดูตำแหน่งที่ระลึกพุทโธนั่น มันระลึกตรงไหน หูเราก็ไปฟังที่ระลึกพุทโธนั่น สติเราก็จ้องดูที่ระลึก พุทโธ พุทโธ จะดูทำไมเล่า ดูเพื่อให้รู้ว่า ตัวเรานี่เป็นสุข หรือ เป็นทุกข์ มันดีหรือมันชั่ว จิตของเราอยู่ในกุศล หรือ อกุศลก็ให้รู้จัก ถ้าจิตของเราเป็นกุศล มันเป็นยังไง คือ จิตมีความสงบ มันไม่ส่งหน้า ส่งหลัง ส่งซ้าย ส่งขวา เบื้องบน เบื้องล่าง ตั้งอยู่จำเพาะท่ามกลางผู้รู้ มันมีใจเยือก ใจเย็น ใจสุข ใจสบาย จิตเบา กายมันก็เบา ไม่หนักไม่หน่วงไม่ง่วงไม่เหงา หายทุกข์ หายยาก หายความลำบาก รำคาญ สบายอกสบายใจ นั่นแหละตัวบุญตัวกุศลแท้ นี้จะได้เป็นบุญเป็นบารมีของเรา เป็นนิสัยของเรา ติดตนนำตัว ไปทุกภพทุกชาติ นี่แหละให้เข้าใจไว้ จิตของเราสงบเป็นสมาธิ คือ กุศล อกุศลเป็นยังไง คือ จิตเราไม่ดี จิตทะเยอทะยาน จิตดิ้นรนพะวักพะวง จิตทุกข์ จิตยาก จิตไม่มีความสงบ มันเลยเป็นทุกข์ เรียกว่า อกุศล ธรรมทั้งหลาย กุศลธรรม อกุศลธรรม อันนี้ว่าเป็นกรรม ในศาสนาท่านว่า กรรมทั้งหลายไม่ได้อยู่ในที่อื่น กมฺมสฺสโกมฺหิ กรรมนั้นเป็นของๆ ตน กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะได้นับผลของกรรมนั้นสืบไป เราจะรู้ได้อย่างไง กุศลกรรม พิจารณาดูซี่ กรรมทั้งหลายมันไม่ได้อยู่อื่น กายกรรม แน่ะ มันอยู่ในกายของเรานี้ มันเกิดจากกายของเรานี้ วจีกรรม มันเกิดจากวาจาของเรานี้ ไม่ได้เกิดจากอื่นไกล มโนกรรม มันเกิดจากดวงใจของเรานี้แหละ ให้รู้จักไว้ ต่อไปเราไม่ต้องสงสัยว่า กรรมมันมาจากไหน ใครเป็นผู้ทำล่ะ เดี๋ยวนี้เรารู้ เราเป็นผู้ทำเอง ไม่ใช่ เทวบุตรเทวดาทำให้ เราทำเอาเอง ที่นั่งอยู่เดี๋ยวนี้หละ เราทำบุญบุญอันนี้ เป็นอย่างเลิศประเสริฐแท้ คือเราให้ทานร้อยหน พันหน ก็ตาม อานิสงส์ไม่เท่าเรานั่งสมาธิ นี้มีผลานิสงส์ เหมือนทำบุญอย่างที่สุดแล้ว

•หลวงปู่ฝั้น อาจาโร•



•‪#‎บุญกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่นไกล‬ ก็ได้แก่ทานบารมี ศีลบารมี ภาวนาบารมีนี้แหละทาน ก็รู้อยู่แล้ว คือการสละ หรือ การละการวาง ผู้ใดละมาก วางได้มาก ก็เป็นผลานิสงส์มาก ผู้ใดวางได้น้อย ละได้น้อย ก็มีผลานิสงส์น้อย ละได้น้อย ก็มีผลานิสงส์น้อย มัจฉริยะความตระหนี่เหนียวแน่น นี้หละ คือความโลภ ต้องสละเสีย ให้เป็นผู้บริจาค ก็บริจาคทรัพย์สมบัติ วัตถุทั้งหลายเหล่านั้นหละ ไม่ใช่อื่นไกล แปลว่า ทะนุบำรุงตน เหมือน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านจะสำเร็จมรรคผล ท่านก็ได้สร้างบารมีมา คือทานบารมีอันนี้ นี่ให้เข้าใจไว้ ทานเป็นเครื่องเสบียงของเรา เมื่อเราได้ทำไว้พอแล้ว เราจะเดินทางไกล เราก็ไม่ต้องกลัวอดกลัวอยาก กลัวทุกข์กลัวยาก ของเก่าเราได้ทำมาไว้ ถ้าอะไรเราไม่ได้ทำไว้ อยากได้ มันก็ไม่ได้ ถ้าได้ทำไว้แล้ว สร้างไว้แล้ว ไม่อยากได้ มันก็ได้ นี่แหละทานบารมี เหตุนี้ ให้พากันเข้าใจ

ศีลบารมีล่ะ คนเราเพียงแต่รับศีลไม่ได้รักษาศีล เข้าใจว่า ศีลนั้นเป็นของพระ ถ้าพระไม่ให้แล้ว ก็ว่าเราไม่ได้ ศีลอย่างนี้ เป็นสีลัพพตปรามาส เพียงแต่ลูบคลำศีล แท้ที่จริงนั้น ศีลของเรา เกิดมาพร้อมกับเรา ศีลห้าบริบูรณ์ตั้งแต่เกิด ขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่ง อันนี้คือตัวศีลห้า เราได้จากมารดาของเรา เกิดมาก็มีพร้อมแล้ว เมื่อเรามีศีลห้าบริสุทธิ์อย่างนี้ ก็ให้เรารักษาอันนี้หละ รักษากายของเรา รักษาวาจา รักษาใจให้เรียบร้อย อย่าไปกระทำโทษน้อยใหญ่ ทางกาย ทางวาจา ทางใจของเรา โทษห้าคืออะไร คือ ปาณาติปาตา ท่านให้งดเว้น อย่าไปทำ นั่นเป็นโทษ ไม่ใช่ศีล อทินนาทานา นั่นก็เป็นโทษ ไม่ใช่ศีล กาเมสุมิจฉาจารา นั่นก็ไม่ใช่ศีล เป็นแต่โทษ มุสาวาทา ท่านให้งดเว้น มันเป็นโทษ ไม่ใช่ศีล สุราเมรยมชฺชฯอันนี้ก็เป็นแต่โทษ ถ้าเราไม่ได้ทำความผิดห้าอย่างนี้ อยู่ที่ไหนเราก็มีศีล อยู่ในป่าในดง ก็มีศีล อยู่ในรถในรา เราก็มีศีล ให้เข้าใจศีลตามนี้ ที่คอยจะรับจากพระ นั่นไม่ใช่ ท่านก็บอกว่า อย่าไปทำ ห้าอย่างนั้นให้ละเว้น เมื่อเราละเว้นแล้ว อยู่ที่ไหนก็มีศีล เราก็เป็นคนบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ศีลห้า อย่างนั้น เราไม่อยากได้ ไม่ปรารถนา เหตุฉันใด จึงว่าไม่อยากได้ พิจารณาดูซี่ สมมติว่ามีคนมาฆ่า หรือ มาฆ่าพี่ฆ่าน้อง ญาติพงศ์ ของเรา เราดีใจไหมล่ะ เราไปฆ่าเขาล่ะ เขาดีใจไหม พิจารณาดูซี่ เราไม่ต้องการอย่างนั้นไม่ใช่เหรอ ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นแล้ว โทษของเรา ก็ไม่มี เกิดมาอายุก็ยืนนาน ไม่ตายแต่น้อย แต่หนุ่ม ก็เพราะเราไม่ได้ทำปาณาติบาตไว้ ในหลายภพหลายชาติ แม้ในชาตินี้ก็เหมือนกัน เราฟังธรรม ก็ฟังในชาตินี้ แล้วก็ปฏิบัติในปัจจุบันนี้ เราไม่ต้องคำนึงถึงอดีตอนาคต เรากำหนดให้รู้เดี๋ยวนี้ เรานั่งอยู่นี่ ก็เป็นศีลอยู่ นี่ข้อสำคัญ

เหตุนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไว้ ให้ละเว้นโทษที่เราไม่พึงปรารถนา เช่น อทินนาทาน การขโมยอย่างนี้หละ เขามาขโมยของ ขโมยเล็กขโมยน้อยของเรา เราก็ไม่อยากได้ หรือโจรปล้นสะดมอย่างนี้ เราก็ไม่อยากได้ ท่านจึงให้ละ ถ้าเราไม่ได้ขโมยของใคร ไม่ว่าในภพใดภพหนึ่ง เราก็ไม่ถูกโจรไม่ถูกขโมย ไม่มีร้ายไม่มีภัยอะไรสักอย่าง เราละเว้นแล้ว โจรทั้งหลายก็ไม่มี โจรน้ำ โจรไฟ โจรลมพายุพัด ก็ไม่มี นี่เป็นอย่างงั้น กาเม ก็เช่นเดียวกัน เกิดมามีสามีภรรยา มีบุตร รองดองกัน อันเดียวกัน เกิดคนมาละเมิดอย่างนี้ เราก็ไม่อยากได้ ว่ายากสอนยาก หรือทะเลาะเบาะแว้งกัน เราก็ไม่อยากได้ ถ้าเราละเว้นโทษกาเมนี้แล้ว มันก็ไม่มีโทษหละ มุสาวาทา ก็พึงละเว้น มีคนมาฉ้อโกงหลอกลวงเรา เราก็ไม่อยากได้ คิดดูซี เราไปหลอกลวงฉ้อโกงเขา เขาก็ไม่อยากได้ เช่นเดียวกัน นี่หละ พระพุทธเจ้าท่านจึงได้ละเว้น มันเป็นโทษ คนไม่ปรารถนา ถ้าเรารักษาศีลนี้แล้ว เราก็สบาย ไปไหนก็สบายซี่ ไม่มีโทษ เหล่านี้แล้ว สุรา การมึน การเมา เราละกันแล้ว เราก็ไม่อยากได้ ภรรยาขี้เมา สามีขี้เมา ลูกขี้เมา พ่อแม่พี่น้องขี้เมา เราก็ไม่อยากได้ เมื่อไม่มีเมาแล้ว จะทะเลาะเบาะแว้งกันที่ไหนเล่า เกิดมากรรมให้โทษ เช่น คนเป็นใบ้บ้าเสียจริตผิดมนุษย์ เป็นลมบ้าหมู เราก็ไม่อยากได้ หูหนวกตาบอด เป็นใบ้ อย่างนี้ เราก็ไม่อยากได้ ขี้ทูตกุดถัง กระจอกงอกง่อย เป็นคนไม่มีสติปัญญา เราก็ไม่อยากได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ละเว้นโทษเหล่านี้ เมื่อเราทั้งหลายละเว้นแล้ว เราไปไหน ก็อยู่เย็นเป็นสุขสนุกสบาย ฉะนี้เมื่อเราสมาทานศีล พระท่านจึงบอกว่า สีเลน สุคติ ยนฺติ ผู้ละเว้นแล้วมีความสุข สีเลน โภคสมฺปทา เราก็มีโภคสมบัติ ไปในภพไหนก็ดี ในปัจจุบันก็ดีเป็นคนไม่ทุกข์ เป็นคนไม่จน ด้วยอำนาจของศีลนี้ สีเลน นิพฺพุติ ยนฺติ จะไปพระนิพพาน ก็อาศัยศีลนี้เป็นต้น
•หลวงปู่ฝั้น อาจาโร•อาจาโรวาท



ท่านว่า‬ สุสฺสูสํ ลภเตปญฺญํ ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา คำว่า ฟังด้วยดีนั้น ตั้งใจฟังด้วยความเคารพตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระองค์วางไว้ เรียกว่าเป็น "พิธีธรรม" หรือ "พิธีฟังธรรม" ในทางพระพุทธศาสนาท่านวางระเบียบ เพื่อความเรียบร้อย เพื่อความงามในชุมนุมชนจึงมี "พิธีการ" เกิดขึ้น

แต่เราไม่เข้าใจในความมุ่งหมาย
เลยเราดูแต่ระเบียบ ดูแต่พิธี ไม่ได้ "โอปนยิโก"น้อมเข้ามาหาสู่จิตใจของเรา
เพื่อให้เกิดสติเกิดปัญญา มุ่งจากความมุ่งหมายในพิธีที่เป็นระเบียบได้จัดทำขึ้น เช่น พิธีในงานศพเหมือนเรากำลังทำอยู่นี้ก็เป็นพิธีอันหนึ่ง

ในพิธีงานศพนั้นมักนิมนต์พระสวด คาถาที่สวดนั้นก็ไม่เหมือนกับพิธีอื่นๆ ไม่ว่าพิธีงานศพที่ไหน ในทุกครั้งก็ล้วนไปสวด "กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมมา อพฺพยกตา ธมฺมา ฯลฯ"

ธรรมะสูตรนี้ถ้าไม่มีคนตาย เกี่ยวเนื่องกับงานศพล่ะรู้สึกจะไม่ได้ฟังเลย ทั้งๆ ที่เป็นธรรมะที่ทรงชี้ทรงแสดง น่าจะได้ฟังอยู่เสมอๆ ได้ปฏฺิบัติเกิดความเข้าใจ

แล้วนอกจากอันนั้นแล้ว "อนิจฺจา วตสงฺขารา อุปาทวาย ธมฺมิโน"นี่ก็เป็นพิธีอันหนึ่ง เรียกว่า พิธีชักอนิจจา

หลังจากสวด เรียกว่า บังสุกุล
โดยความเพ่งเล็งถึงวัตถุ เมื่อชักอนิจจาแล้วก็ต้องมีวัตถุไทยทานต่างๆเป็นทานมัยกุศล ก็ถูกต้องตามธรรมเนียม

แต่ความมุ่งหมาย-ประโยชน์ที่จะได้รับอันสูงละเอียดยิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อหาสาระและข้อความที่ท่านสวดและที่ท่านชักบังสุกุล เป็นหลักธรรมะอย่างสูงเป็นธรรมะที่เตือนสติ ให้เราทั้งหลายเกิดความรู้สึกตัว

•หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ•
ตอบกระทู้