“ลมปาก” "...ลมปากมนุษย์ มันพอใจมันก็ว่าให้ดี ที่ลมปากมนุษย์มันไม่พอใจ มันก็ด่าให้ว่าให้ อย่าไปเป็นทุกข์เป็นร้อน ทำใจของเราให้วางเฉย พุทโธ อยู่ในดวงใจให้จิตใจเย็นสบาย เป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัยภายในใจของเรานี่เอง บางคนเมื่อถูกความคิดติเตียนนินทา เหมือนเอาน้ำร้อนมาลวกเข้าไป เต้นเหย็งๆ คือว่าไม่ภาวนา ว่าลมแรงยังไม่แรงเท่าลมปาก เขาว่าอย่างนั้น ลมแรงนั้นนานๆ จึงจะพัดมาทีหนึ่ง แต่ลมปากมนุษย์มันพัดอยู่ทุกวันเวลา ใครไม่ภาวนาก็เป็นทุกข์เป็นร้อน ถ้าเขาสรรเสริญเรา ก็ไม่ควรดีใจ ถ้าเขานินทาว่าร้ายป้ายสี ก็ไม่ควรเสียใจ เพราะความสรรเสริญนินทานี้ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ความเที่ยงแท้แน่นอนมันอยู่ในจิตใจทุกคน ตั้งจิตตั้งใจให้มั่นคง!!! " พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
“..คนเราเกิดมาทุกรูปทุกนาม รูปสังขารเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าพระราชา มหากษัตริย์ พระยานาหมื่น คนมั่งมี เศรษฐี และยาจก ล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น มีทางพอจะหลุดพ้นทุกข์ได้ คือทำความเพียร เจริญภาวนา อย่าสิมัวเมาในรูปสังขารของตน มัจจุราชมันบ่ไว้หน้าผู้ใด ก่อนจะดับไป ควรจะสร้างความดีเอาไว้..” ************************************ โอวาทธรรม.. องค์หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ วัดประสิทธิธรรม จ.อุดรธานี
“สติ” "..จำเป็นต้องมีสติ พัฒนาให้มีกำลังเพียงพอ ที่จะไปทำหน้าที่ควบคุมจิต ”จิต”.. เป็นสิ่งที่จะต้องถูกควบคุมด้วยสติ ถ้าใช้สติยึดมั่น ดื่มด่ำลงสู่ขณิกสมาธิ-อุปจารสมาธิ และเข้าสู่แดนของปฐมฌาน คือ จิตเข้าสู่ความสงบยิ่งในนามอัปนาสมาธิ พักชั่วขณะหนึ่ง ถอนความรู้สึกมาอยู่ที่อุปจารสมาธิ เพื่อสร้างสัมปชัญญะความรู้สึกตัว ให้มีควบคู่กับสติ ให้เป็นอันเดียวกัน สัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัว เกาะกุมอยู่กับสติที่กำลังควบคุมจิตอยู่ จะต้องเลือกดูพระกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ต้องทดสอบจนแน่ใจว่าถูกจริต แต่ละห้องถ้าทำถูกจริต ถ้าทำปุ๊บ ก็สว่าง-สงบ-ก้าวหน้า แสดงว่าถูกจริตกับกองกรรมฐานนั้นๆ ยังมีสิ่งที่จะต้องศึกษาอีกมาก เช่น ไม่ใช่ไปอ่านเอาฟังเอา ต้องเกิดจากการปฏิบัติเอา และนี่คือหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะเป็น วิปัสสนากรรมฐาน จุดเริ่มต้นของ ปฐมฌาน.." โดยต้องศึกษาเรื่อง ๑. ศีล สมาธิ ปัญญา ๒.ศึกษาเรื่องสติปัฏฐาน ๔ ให้เข้าใจ ฝึกจนมีสมรรถภาพ มีพลังของสติ โดยรู้ด้วยอารมณ์ของเจตสิก ว่ามีกำลังเพิ่มขึ้นๆ เป็นสติที่จะอำนวยความสะดวก ในการจะเข้าปฐมฌาน ๓.ต้องศึกษาพุทธประวัติและคำสั่งสอนให้รู้ซึ้ง ถึงความยากลำบาก กว่าจะได้เป็นสมณโคดมพระพุทธเจ้า ๔.ต้องศึกษามรรค ทั้งหมด เป็นธรรมที่เป็นทาง ที่จะต้องเดิน เข้าไปสู่ผลเท่านั้น ผลก็จะต้องได้จากการปฏิบัติที่จะต้องเอาชีวิตเข้าแลก ท่านว่า อย่าไปเสียดายมันเลยชีวิตนั้น เดี๋ยวก็ตายทิ้งไปเปล่า ๆ วางความตายเสีย อย่าไปเสียดายความมีอยู่เลย มันหลอกให้เราทุกข์ทั้งนั้น เกิดซ้ำๆ ซากๆ ไม่หยุดหย่อนให้ผ่อนคลายเลย นี่เป็นทาง (ชี้ไปที่หัวใจ) ทั้งหมดนี้ เป็นการย่นย่อคำสอนให้สั้นที่สุด เพื่อให้เหมาะสมกับเวลาที่กำหนดตายตัว.." ,,,, โอวาทธรรมคำสอน.. หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร คัดลอกจาก...หนังสือแก้วมณีอีสาน หน้า ๑๗๒-๑๗๓
พระพุทธเจ้าทรงเทศนามากมายหลายอย่างกว้างขวาง เพื่อให้มองเห็น ตัวจิต ตัวเดียวที่อธิบายมากมายถ้าหากผู้ไม่เข้าใจจับจิตไม่ถูก มันก็ไปมัวแต่หลงตามโวหารคําพูด ถ้าหากว่า จับจิต ตัวเดียวได้แล้ว ถูกธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้า ถูกหมด ที่จิตมีหลายอย่างจิตเป็นหลายอย่างนั้นเป็นอาการของจิต ไม่ใช่ตัวใจ ตัวใจแท้นั้นอันเดียว ส่วนจิตนั้นมีหลายอย่าง อธิบายกว้างขวางสักเท่าไรไม่มีที่สิ้นสุด ครั้นถ้าหากว่าท่านผู้ถึงที่สุดแล้วนั้นอธิบายถึงเรื่องจิตมากมาย ไล่ตามอาการของจิต แล้วรวมเข้ามาเป็นใจ เข้ามาถึงใจ อันเดียว ใจเป็นของมีอันเดียว จิตนั้นมีหลายอย่าง อาการต่างๆของใจ จึงเรียกว่าจิต
แต่ท่านก็พูดว่า จิต กับ ใจ ก็อันเดียวกันนั่นแหละ จิตอันใดใจอันนั้น ครั้นถ้าหากจับจิตไม่ได้จับใจไม่ถูกแล้ว ก็หลงโลกอยู่นั่นแหละ ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าจับจิตได้แล้ว เห็นเลย โอ้!…อันนั้นมันอาการของจิต คิดนึกปรุงแต่งสารพัดทุกอย่าง ร้อยแปดพันประการที่อธิบายมากมายนั้น เป็นเรื่องอาการของจิตทั้งหมด ถ้าเข้าถึงใจแล้ว ไม่มีอะไร นิ่งเฉยเลย
การนิ่งเฉยมันจะได้รู้อะไร? รู้หรือไม่รู้ก็เอาไว้เสียก่อน อันความที่มันนิ่งเฉยนั่นน่ะให้มันรู้ความนิ่งเฉยเสียก่อน อาการของจิตมันมากมายหลายเรื่องหลายอย่าง แต่อาการของใจ มีอันเดียว อาการของ จิต ถ้ารวมเข้ามาแล้ว เป็นอาการของ ใจ ดังที่ท่านพูดถึงเรื่องมัคคสมังคี ที่ผู้สําเร็จมรรคผลนิพพานแล้วรวมเป็นหนึ่งนั่นแหละเข้าถึง ใจ แล้วนั่น
ถ้าหากอยากรู้จักตัวใจมันเป็นอย่างไรกัน? ให้อนุมานเอาโดยพิจารณาอย่างนี้ก็แล้วกันเราอยู่เฉยๆ นี่แหละ ทดลองกําลังใจของเราลองดู กลั้นลมหายใจสักพักหนึ่ง เอาเดี๋ยวนี้ก็ได้ ไม่ต้องเอาไกลหรอก เอาเดี๋ยวนี้แหละ สักพักหนึ่งลองดู ชั่วขณะที่กลั้นลมหายใจนั้นมันมีอะไรอยู่ในที่นั้น บอกว่าไม่มีเลยแต่ว่า รู้ว่าไม่มี เพียงแต่รู้ไม่มีอะไรเฉยๆ นั่นแหละตัวใจ ตัวใจแท้ทีเดียวนั่นเห็นตัวเดิมตัวใจแท้เสียก่อน แล้วจึงค่อยไปพิจารณาถึงจิต ที่มันคิดกว้างขวางมากมาย ให้เข้าถึงใจอยู่เสมอๆ มันจึงมีที่สิ้นสุด พุทธศาสนาน่ะสอนมีที่สิ้นสุด ไม่เหมือนวิชาในทางโลก ทางโลกเขาสอนไปเถิด สอนไปเท่าไรก็ไม่มีที่สิ้นสุด
•หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี•
นิทานธรรมะสอนใจ เรื่อง.. "หลวงตา"กับ"เด็กวัด" ...วันหนึ่ง หลวงตากลับจากการบิณฑบาต เจอเด็กวัดนั่งร้องไห้ หลวงตาถามว่าเป็นอะไร เจ้าเด็กน้อยก็บอกว่า เขาใส่ร้ายว่าเป็น "ขโมย" เขาเป็นคนที่เข้าไปปัดกวาดเช็ดถูในหอพระบ่อยๆ พอเงินในหอพระหายไป ทุกคนก็หาว่าเขาเป็นคนขโมยเงิน "ทั้งที่ผมไม่ได้ทำ แต่ไม่มีใครเชื่อผมเลย" เจ้าเด็กน้อยร้องไห้สะอึกสะอื้น หลวงตานั่งปลอบเด็กวัดเป็นปริศนาธรรม "เจ้ารู้ไหมว่าในตัวเรามีคนอยู่ ๓ คน คนแรกคือคนที่เราอยากเป็น คนที่สองคือคนที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น และคนที่สามคือตัวเราที่เป็นเราจริงๆ" เจอปริศนาธรรมเข้า เด็กวัดก็นิ่งฟัง หลวงตาบอกว่า เราทุกคนล้วนมี "ความฝัน" และ "ความฝัน" เป็นสิ่งสวยงาม เป็น "พลัง" ให้เราก้าวเดิน บางคนอยากเป็นนักร้อง ดารา บางคนอยากเป็นนักธุรกิจร่ำรวย นั่นคือ "คนแรก" ที่เราอยากเป็น ส่วน "คนที่ ๒" นั้น เราไม่ได้คิด ไม่ได้ฝัน แต่ "คนอื่น"เป็นคนกำหนด มองว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ บางครั้งก็ "ดีเลิศ"จนเราอาย เพราะจิตสำนึกบอกเราว่า "ไม่จริง" บางครั้งก็ "เลวร้าย"จนแทบจะรับไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ........ เจ้าเด็กน้อยนั่งฟังอย่างตั้งใจ หลวงตาสอนว่า "คนที่ ๒" ในตัวเรา เรากำหนดไม่ได้ เพราะเป็นโลกในมือคนอื่น บางคนก็มองเราดี บางคนก็มองเราในแง่ร้าย มองผ่าน "กระจกสีดำ"ในใจตัวเอง *** "เจ้าต้องจำไว้นะ ทุกครั้งที่เราว่าคนอื่นเลว คนอื่นไม่ดี ก็เท่ากับเราประจานความมืดดำในใจเราออกมา" หลวงตาสอนว่า.. "ดังนั้น ถ้าเราเห็นใครทำไม่ดี จงเตือนตนเองเสมอว่า อย่าทำ อย่าเลียนแบบ" "แล้วเราต้องทำตัวอย่างไรครับ เมื่อเจอคนแบบนี้เรื่อยๆ" ลูกศิษย์ถาม หลวงตายิ้ม "ให้นึกถึง "คนที่สาม "ที่อยู่ในตัวเรา" นั่นคือตัวเราที่เป็นเราจริงๆ หลวงตาสอนว่า ต้องพยายามเข้าใจจิตใจมนุษย์ เรียนรู้ว่าความเข้าใจผิดนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ "เราห้ามใจใครไม่ได้ แต่ให้คิดเสมอว่า สิ่งใดที่เราไม่ได้ทำ ไม่ได้คิด ไม่ได้เป็น เราก็ไม่ควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนอื่นยัดเยียดให้ และเขาเหล่านั้น เป็นคนที่น่าสงสาร มีเวลามากในการมองคนอื่น แต่ไม่มีเวลามองตัวเอง" หลวงตาลูบหัวเด็กน้อยเบาๆ "จงแผ่เมตตาให้เขาไป"
|