นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 16 ม.ค. 2025 2:58 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 09 ธ.ค. 2015 7:16 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
เหตุที่ต้องศึกษาเฉพาะคำของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาพุทธ ที่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าต้องเป็นผู้ถ่ายทอดเฉพาะคำสอนของพระองค์ เท่านั้น!
เนื่องจาก....

ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะ
จากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น(งานเขียนสาวกร้อยแก้วร้อยกรอง ฯลฯ ที่ไม่ใช้คำสอนของพระพุทธเจ้า)

พระสูตร.....

ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรอง ประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิต เพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้.

ด้วยการทำดังนี้ เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้. ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัย เธอก็บรรเทาลงได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่; (ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา) จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล.


“ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใด
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม
ปฏิบัติชอบยิ่ง, ปฏิบัติตามธรรมอยู่;
ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมสักการะ เคารพนับถือ
บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด”




เบื้องแรกของการปฏิบัติภาวนา โดย ท่านพระอาจารย์ชา สุภทฺโท

"จงหายใจเข้า หายใจออก อยู่อย่างนี้แหละ อย่าใส่ใจกับอะไรทั้งนั้น อยู่แต่กับลมหายใจ เข้า-ออก ให้ความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ..ไม่ไปเอาอะไรอื่น ไม่ต้องคิดว่าจะเอานั่นเอานี่ ไม่เอาอะไรทั้งนั้น ให้รู้จักแต่ลมเข้า ลมออก อยู่กับลมหายใจอย่างนี้แหละ เอาอันนี้เป็นอารมณ์

ลมเข้าก็รู้จักลมออกก็รู้จัก ให้รู้จักอย่างนี้จนจิตสงบหมดความรำคาญ ไม่ฟุ้งซ่านไปไหนทั้งสิ้น ให้มีแต่ลมออก ลมเข้า ลมออก ลมเข้า อยู่เท่านั้น ให้มันเป็นอยู่อย่างนี้ ยังไม่ต้องมีจุดหมายอะไร นี่แหละเบื้องแรกของการปฏิบัติ

ถ้ามันสบาย ถ้ามันสงบ มันก็จะรู้จักของมันเอง ทำไปเรื่อยๆ ลมก็จะน้อยลง อ่อนลง กายก็อ่อน จิตก็อ่อน มันเป็นไปตามเรื่องของมันเอง นั่งก็สบาย ไม่ง่วง ไม่โงก ไม่หาวนอน จะเป็นอย่างใด ดูมันคล่องของมันเองไป ทุกอย่างนิ่ง สงบ

สิ่งที่ติดตามเรา เรียกว่า สติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว เราจะพูดอะไร จะทำอะไร ก็ให้รู้จักเรื่องของมัน ให้มีสติอยู่เสมอ

เดินจงกรมมันก็เหมือนกับทำสมาธิ ให้กำหนดความรู้สึกขึ้นในใจว่า " บัดนี้ เราจะทำความเพียร จะทำจิตให้สงบ มีสติสัมปชัญญะให้กล้า"

การกำหนดก็แล้วแต่ แต่ละคน ตามใจ บางคนออกเดินก่อน ก็แผ่เมตตาสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สารพัดอย่าง แล้วก็ก้าวเท้าขวาออกก่อนให้พอดี พอดี

ให้นึก " พุทโธ พุทโธ " ตามก้าวเดินนั้น ให้มีความรู้ในอารมณ์นั้นไปเรื่อย

ถ้าใจเกิดฟุ้งซ่าน หยุด ให้มันสงบ ก้าวเดินใหม่ ให้มีความรู้ตัวอยู่เรื่อย

นี่เป็นวิธีทำ กำหนดเดินจงกรม เดินจงกรมคือเดินกลับไป กลับมา เหมือนคนบ้า แต่หารู้ไม่ว่า การเดินจงกรมนี้ ทำให้เกิดปัญญานักละ

เดินกลับไป กลับมา ถ้าเหนื่อยก็หยุด กำหนดจิตให้นิ่ง กำหนดลมหายใจให้สบาย เมื่อสบายพอควรแล้ว ก็ทำความรู้สึกกำหนดการเดินอีก

แล้วอิริยาบถมันก็เปลี่ยนไปเองหรอก การยืน การเดิน การนั่ง การนอน มันเปลี่ยน คนเราจะนั่งรวดเดียวไม่ได้ ยืนอย่างเดียวไม่ได้ นอนอย่างเดียวไม่ได้ มันจะต้องอยู่ตามอิริยาบถเหล่านี้ ทำอิริยาบถทั้งสี่นี้ให้มีประโยชน์ ให้มีความรู้สึกตัว อยู่อย่างนี้ นี่คือ การทำ ทำไป ทำไป

มันก็จะคิดของมันไปตามเรื่อง ใครจะว่าอะไรก็ช่าง ยกอยู่อย่างนั้นสองนาทีนะอย่าเผลอ ไม่ใช่ห้านาที พอสองนาทีก็เอามาตั้งไว้นี่ กำหนดอยู่อย่างนี้ เป็นเรื่องของการกระทำ

จะดูลมหายใจเข้า-ออกก็เหมือนกัน ให้นั่งขาขวาทับขาซ้าย ให้ตัวตรง สูดลมหายใจเข้าไปให้เต็มที่ ให้หายใจลงไปให้หมดในท้อง สูดเข้าให้เต็ม แล้วปล่อยออกให้หมดปอด อย่าไปบังคับมัน

ลมจะยาวแค่ไหน จะสั้นแค่ไหน จะค่อยแค่ไหนก็ช่างมัน ให้มันพอดี พอดีกับเรา

นั่งดูลมเข้า ลมออก ให้สบายอยู่อย่างนั้น อย่าให้มันหลง ถ้าหลง หยุดดูว่ามันไปไหน มันจึงไม่ตามลม ให้หามันกลับมา ให้มันมาเล่นตามลมอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็จะพบของดีสักวันหนึ่งหรอก

ให้ทำอยู่อย่างนั้น ทำเหมือนกับว่า จะไม่ให้อะไร ไม่เกิดอะไร ไม่รู้ว่าใครมาทำ แต่ก็ทำอยู่เช่นนั้น

นั่งเฉย ๆ บางครั้งก็จะนึกว่า " จะนั่งเฝ้าดูมันทำไมนะ ลมนี่น่ะ ถึงไม่เฝ้า มันก็ออก เข้า ของมันอยู่แล้ว "

มันก็หาเรื่องคิดไปเรื่อย และมันเป็นความเห็นของคนเรียกว่า " อาการของจิต " ก็ช่างมัน พยายามทำไป ทำไป ให้มันสงบ

เมื่อสงบแล้ว ลมจะน้อยลง ร่างกายก็อ่อนลง จิตก็อ่อนลง มันจะอยู่พอดีของมัน จนกระทั่งว่า นั่งเฉยๆ เหมือนไม่มีลมหายใจเข้า - ออก แต่มันก็ยังอยู่ได้

ถึงตอนนี้ อย่าตื่น อย่าวิ่งหนี เพราะคิดว่า เราหยุดหายใจแล้ว นั่นแหละ มันสงบแล้ว ไม่ต้องทำอะไร นั่งเฉย ๆ ดูมันไปอย่างนั้นแหละ

บางที่จะคิดว่า " เอ เราหายใจหรือเปล่านี่ " อย่างนี้ก็เหมือนกัน มันคิดไปอย่างนั้น แต่ อย่างไรก็ช่างมัน ปล่อยไปตามเรื่องของมัน ไม่ว่าจะเกิดความรู้สึกอะไรขึ้น ให้รู้มัน ดูมัน แต่อย่าไปหลงใหลกับมัน

ทำไป ทำให้บ่อยๆ ไว้ ไม่ใช่เดินยอกแยก ยอกแยก คิดโน่น คิดนี่ เที่ยวเดียว แล้วเลิกขึ้นกุฏิ มองดูพื้นกระดาน " เออ มันน่านอน " ก็ลงนอนกรนครอกๆ อย่างนี้ ก็ไม่เห็นอะไรเท่านั้น

ไม่ใจมาพูดบอกตัวเองว่า " สงบ สงบ สงบ " แล้วพอนั่งปุ๊บ ก็จะให้มันสงบเลย ครั้นมันไม่สงบอย่างที่คิด ก็เลิก ขี้เกียจ ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่มีวันได้สงบ แต่พูดมันง่าย หากทำแล้วมันยาก

หาความสงบอย่างนี้ ใคร ๆ ก็อยากสงบด้วยกันทั้งนั้นแหละ แต่เราไม่ทันจะรู้จักมัน จะถาม จะพูดกันสักเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักขึ้นมาได้หรอก

ฉะนั้นให้ทำ ให้ตามรู้จักให้ทันว่า กำหนดลมเข้า ออก กำหนดว่า " พุทโธ พุทโธ " เอาเท่านั้นแหละ ไม่ให้คิดไปไหนทั้งนั้น ในเวลานี้ ให้มีความรู้อยู่อย่างนี้ ทำอยู่อย่างนี้ ให้เรียนรู้อยู่อย่างนี้แหละ

ให้ทำไป ทำไป อย่างนี้แหละ จะนึกว่า " ทำอยู่นี้ ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย " ไม่เป็น ก็ให้ทำไป ไม่เห็น ก็ให้ทำไป ให้ทำไปอยู่นั่นแหละ แล้วเราจะรู้จักมัน

เอาละนะ ทีนี้ลองทำดู ถ้าเรานั่งอย่างนี้ แล้วมันรู้เรื่อง ใจมันจะพอดี๊ พอดี พอจิตสงบแล้ว มันก็รู้เรื่องของมันเองดอก ต่อให้นั่งตลอดคืนจนสว่างก็ไม่รู้สึกว่านั่น เพราะมันเพลิน

ฉะนั้น ให้ทำ อย่าหยุด อย่าปล่อยไปตามอารมณ์ให้ฝืนทำไป ถึงจะขี้คร้านก็ให้ทำ จะขยันก็ให้ทำ จะนั่งก็ทำ จะเดินก็ทำ

เวลาจะนอนก็สอนมัน เวลาจะฉันจังหันก็สอนมัน ให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย จะยืนก็ให้รู้สึก จะทำอะไรสารพัดอย่างก็ให้ทำอย่างนั้น

อย่าไปมองดูผู้อื่น อย่าไปเอาเรื่องของผู้อื่น ให้เอาแต่เรื่องของตัวเองเท่านั้น

การนั่งสมาธินั้น นั่งให้ตรง อย่าเงยหน้ามากไปอย่าก้มหน้าเกินไป เอาขนาดพอดี เหมือนพระพุทธรูปนั่นแหละ มันจึงสว่างไสวดี

ครั้นจะเปลี่ยนอิริยาบถก็ให้อดทนจนสุดขีดเสียก่อนปวดก็ให้ปวดไป อย่าเพิ่งรีบเปลี่ยน อย่าคิดว่า " บ๊ะไม่ไหวแล้วพักก่อนเถอะน่า " อดทนมันจะปวดถึงขนาดก่อน พอมันถึงขนาดนั้นแล้วก็ให้ทนต่อไปอีก

ทนไป ทนไป จนมันไม่มีแก่ใจจะว่า " พุทโธ " เมื่อไม่ว่า "พุทโธ" ก็เอาตรงที่มันเจ็บนั่นแหละมาแทน " อุ๊ย เจ็บ เจ็บแท้ๆ หนอ " เอาเจ็บนั่นมาเป็นอารมณ์แทน "พุทโธ" ก็ได้ กำหนดให้ติดต่อกันไปเรื่อย นั่งไปเรื่อย ดูซิว่าเมื่อปวดจนถึงที่สุดแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น

พระพุทธเจ้าท่านว่า มันเจ็บเอง มันก็หายเอง ให้มันตายไป อย่าเลิก บางครั้งมันเหงื่อแตกเม็ดโป้ง ๆ เท่าเม็ดข้าวโพดไหลย้อยมาตามอก " ถ้าครั้นทำจนมันได้ข้ามเวทนา อันหนึ่งแล้ว มันก็รู้เรื่องเท่านั้นแหละ " ให้ค่อยทำไปเรื่อยๆ อย่าเร่งรัดตัวเองเกินไป ให้ค่อยทำไป ทำไป

ฉันจังหันอยู่ก็ให้รู้จัก เมื่อเคี้ยวกลืนลงไปนะ มันลงไปถึงไหน อาหารที่แสลงโรค มันผิดหรือถูกกันธาตุขันธ์ ก็รู้จักหมด ฉันจังหันก็ลองกะดู ฉันไป ฉันไปกะดูว่าอีกสักห้าคำจะอิ่มก็ให้หยุดเสีย แล้วดื่มน้ำเข้าไปก็จะอิ่มพอดีลองทำดูซิว่า จะทำได้หรือไม่ แต่คนเรามันไม่เป็นอย่างพอจะอิ่มก็ว่า " เดิมอีกสักห้าคำเถอะ " มันว่าไปอย่างนั้น มันไม่รู้จักสอนตัวเองอย่างนี้

พระพุทธเจ้าท่านให้ฉันไป กำหนดดูไป ถ้าพอ อีกสักห้าคำจะอิ่มก็หยุดดื่มน้ำเข้าไป มันก็จะพอดี จะไปเดิน ไปนั่ง มันก็ไม่หนักตัว ภาวนาก็ดีขึ้น แต่คนเราไม่อยากทำอย่างนั้น พออิ่มเต็มที่แล้ว ยังเติมเข้าไปอีกห้าคำ มันเป็นไปอย่างนั้น เรื่องของกิเลสตัญหากับเรื่องพระพุทธเจ้าสอนมันไปคนละทาง ถ้าตนที่ไม่ต้องการฝึกจริง ๆ แล้วก็จะทำไม่ได้ ขอให้เฝ้าดูตนเองไปเถิด

เรื่องทำจิตนี้เป็นเรื่องแรก ท่านเรียกว่าทำกรรมฐาน เวลานั่งให้จิตมีอารมณ์เดียวเท่านั้น ให้อยู่กับลมเข้า ลมออก แล้วจิตก็จะค่อยๆ สงบไปเรื่อยๆ

ถ้าจิตวุ่นวาย ก็จะมีหลายอารมณ์ เช่น พอนั่งปุ๊บโน่น คิดไปบ้านโน้น บ้างก็อยากกินก๋วยเตี๋ยว บวชใหม่ ๆ มันก็หิวนะ อยากกินข้าว กินน้ำ คิดไปทั่ว หิวโน่น อยากนี่ สารพัดอย่างนั่นแหละ มันเป็นบ้า จะเป็นก็ให้มันเป็นไป เอาชนะมันได้เมื่อไหร่ ก็หายเมื่อนั้น ให้ทำไปเถิด เคยเดินจงกรมบ้างไหม เป็นอย่างไร ขณะที่เดิน จิตระเจิดกระเจิงไปหรือ ก็หยุดมันซิ

ทำให้มันรู้เรื่อง กลางวันก็ช่าง กลางคืนก็ตาม ให้ทำไป แม้จะมีเวลาสักสิบนาทีก็ทำ กำหนดทำไปเรื่อยๆ ให้ใจมันจดจ่อ ให้มีความรู้สึกอยู่เสมอ อยากจะพูดอะไร ก็อย่าพูด หรือกำลังพูดก็ให้หยุด ให้ทำอันนี้ให้ติตต่อกันไว้ เหมือนอย่างกับน้ำในขวดนี่แหละ ครั้งเรารินมันทีละน้อย ก็จะหยด นิด นิด นิด พอเราเร่งรินให้เร็วขึ้น มันก็จะไหลติดต่อเป็นสายน้ำเดียวกัน ไม่ขาดตอนเป็นหยดเหมือนเวลาที่เรารินทีละน้อย

สติของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราเร่งมันเข้ามา คือ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอแล้ว มันก็จะติดต่อกันเป็นสายน้ำไม่เป็นน้ำหยด หมายความว่า ไม่ว่าเราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ความรู้อันนี้มันไม่ขาดจากกัน มันจะไหลติดต่อกันเป็นสายน้ำ จะปฏิบัติจิตนี่ก็เป็นอย่างนั้น เดี๋ยวมันคิดนั่น คิดนี่ ฟุ้งซ่านไม่ติดต่อกัน มันจะคิดไปไหนก็ช่างมัน ให้เราพยายามทำให้เรื่อยเข้าไว้ แล้วมันจะเหมือนหยดแห่งน้ำ มันจะทำความห่างให้ถี่ ครั้นถี่เข้าๆ มันก็ติดกันเป็นสายน้ำ

ทีนี้ความรู้ของเราก็จะเป็นความรู้รอบ จะยืนก็ตาม จะนั่งก็ตาม จะนอนก็ตาม จะเดินก็ตาม ไม่ว่าจะทำอะไรสารพัดอย่าง มันก็มีความรู้อันนี้รักษาอยู่

ถ้ามัวแน่นั่งคอยดูว่ามันจะเป็นอย่างไรละก็ มันไม่ได้เรื่องหรอก แต่ให้ระวังด้วยนะว่า ตั้งใจมากเกินไปมันไม่เป็น ไม่ตั้งใจเลยก็ไม่เป็น

แต่บางครั้งเราไม่ได้ตั้งใจว่าจะนั่งสมาธิหรอก เมื่อเสร็จงาน ก็นั่งทำจิตให้มันว่าง ๆ มันก็พอดีขึ้นมา ปั๊บ ดีเลย สงบ ง่ายอย่างนี้ก็มี ถ้าทำให้มันถูกเรื่อง ถ้าไม่ปฏิบัติ ผู้เรียนไม่ค่อยรู้ ถ้าปฏิบัติแล้วก็รู้ซึ้ง สิ่งที่เราเรียกมา แจ้งออก ชัดออก ให้พูดอยู่คนเดียว ดูจิตดูใจคล้ายๆ กับว่า จิตมันวางเป็นปกติจิต ถ้ามันเคลื่อนออกจากปกติ เช่น มันคิด มันนึกต่างๆ นั่นเป็นสังขาร สังขารนี้มันจะปรุงต่อไประวังให้ดี

เมื่อลงนั่งสมาธิถ้าเกิดนิมิตต่างๆ เช่น เห็นนางฟ้า เป็นต้น นิมิตที่เกิดขึ้นอย่าอยากให้มันเกิด อย่าไม่อยากให้มันเกิด มันมาพิจารณา พิจารณาแล้วอย่าหลง ให้นึกว่ามันไม่ใช่ของเรา นี่ก็เป็นอนิจจังทุกขัง อนัตตา เช่นกัน ถึงมันจะเป็นอยู่ก็อย่าเอาใจใส่มัน เมื่อมันยังไม่หาย ตั้งจิตใหม่ กำหนดลมหายใจมาก ๆ สิ่งเหล่านี่เป็นเพียงนิมิต คือของหลอกลวง

๑. ให้เราชอบ ๒. ให้เรารัก ๓. ให้เรากลัว

นิมิตเป็นของหลอกลวงใจเรา มันไม่แน่นอน ถ้าเห็นแล้วอย่าไปหมายมัน ไม่ใช่ของเรา อย่าวิ่งตามนิมิต เห็นนิมิตให้ย้อนดูจิตเลย นิมิตนี้ให้ประโยชน์แก่คนมีปัญญา ให้โทษแก่คนไม่มีปัญญา ทำความเพียรไปจนเราไม่ตื่นเต้นในนิมิต ทีแรกเราตื่นของน่าดู มันก็อยากดู ความดีใจเกิดขึ้นมาอย่างนี้ก็หลง ไม่อยากให้มันดี มันก็ดี ไม่รู้จะทำอย่างไร ปฏิบัติไม่ถูกก็เป็นทุกข์ มันอยากดีใจก็ช่างมัน ให้เรารู้ความดีใจนั่นเองว่าความดีใจนี้ก็ผิดไม่แน่นอนเช่นกัน แก้มันอย่างนี้ อย่าไปแก้ว่า " ไม่อยากให้มันดีใจ ทำไมจึงดีใจ " นี่ผิดอยู่นะ ผิดอยู่กับของเหล่านี้ ผิดอยู่ใกล้ ๆ ไม่ได้ผิดอยู่ไกลหรอก อย่ากลัวนิมิต ไม่ต้องกลัว

การปฏิบัตินั้น แม้จะนั่งเก้าอี้อยู่ก็ตามกำหนดได้เบื้องแรกไม่ต้องกำหนดมาก กำหนดลมหายใจเข้าออก หรือจะว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ได้ แล้วกำหนดลมหายใจเข้าออก เมื่อกำหนด ให้มีความตั้งใจไว้ว่า การกำหนดลมนี้จะไม่บังคับ ถ้าเราจะลำบากกับลมหายใจแล้วยังไม่ถูก ดูเหมือนลมหายใจสั้นไป ยาวไป ค่อยไป แรงไป เดินลมไม่ถูก ไม่สบาย

การนั่งสมาธินี่ สิ่งที่ไม่น่าผิดก็ผิดได้ เช่น เวลานั่งเราตั้งใจว่า " เอาละ จะเอาให้มันแน่ ๆ ดูที " เปล่า วันนั้นไม่ได้เรื่องเลย แต่คนเราชอบทำอย่างนั้น อาตมาเคยสังเกตมันเป็นของมันเอง เช่น บางคืนพอเริ่มนั่งก็นึกว่า " เอาละ วันนี้อย่างน้อยตีหนึ่งจึงจะลุก " คิดอย่างนี้ก็บาปแล้ว เพราะว่าไม่นานหรอก เวทนามันรุมเอาเกือบตาย มันดีเวลานั่งโดยไม่ต้องกะต้องเกณฑ์ ไม่มีที่จุดที่หมาย ทุ่มหนึ่ง สองทุ่ม สามทุ่ม ก็ช่างมัน นั่งไปเรื่อยๆ วางเฉยไว้ อย่าบังคับมัน อย่าไปหมายมั่น อย่าไปบังคับหัวใจว่า จะเอาให้มันแน่ ๆ มันก็ยิ่งไม่แน่ ให้เราวางใจสบาย ๆ หายใจก็ให้พอดี อย่าเอาสั้นเอายาว อย่าไปแต่งมัน กายก็ให้สบาย ทำเรื่อยไป ถ้าดีก็ให้รู้ว่าดี ถ้าไม่ดีก็ให้รู้ว่าไม่ดี อันนี้เป็นของสมมุติบัญญัติ ถึงจะดีจะชั่ว ก็เป็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตาทั้งนั้น เป็นของไม่แน่นอน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อ่านคาถานี้ไว้ด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้เรื่อยๆ ไป ปัญญาจะเกิดเอง

ความยึดมั่นถือมั่นเป็นกิเลสจริงๆ เพราะวางจิตใจไม่ถูกบางคนนั้นเวลานั่งจุดธูปไว้ข้างหน้าคิดว่า " ธูปดอกนี้ไหม้หมดจึงจะหยุด " แล้วนั่งต่อไป พอนั่งไปได้ ๕ นาที ดูเหมือนนานตั้งชั่วโมง ลืมตามองดูธูป แหม ยังยาวเหลือเกิน หลับตานั่งต่อไปอีกแล้วก็ลืมตาดูธูป ไม่ได้เรื่องอะไรเลย อย่า อย่าไปทำ มันเหมือนกับจิตลิงเลยไม่ต้องทำอะไร นึกถึงแต่ธูปที่ปักไว้ข้างหน้าว่าจวนจะไหม้หมดหรือยังหนอนี่ มันเป็นอย่างนี้ เราอย่าไปหมาย นั่งไปยังไม่ถึงชั่วโมงต้องร้อนรนออกจากสมาธิ แล้วก็เกิดนิวรณ์ว่า " แหม มันจะตายหรือยังกันน่า ว่าจะเอาให้มันแน่ มันก็ไม่แน่นอน ตั้งสัจจะไว้ก็ไม่ได้ดั่งตั้ง " คิดทุกข์ใส่ตัวเอง ด่าตัวเอง พยาบาทตัวเอง ไม่มีคนพยาบาทก็เป็นทุกข์อีกนั่นแหละ ถ้าได้อธิษฐานแล้ว ต้องเอาให้มันรอดตายหรือตายโน่น อย่าไปหยุดมันจึงจะถูก เราค่อยทำค่อยไปเสียก่อน ไม่ต้องอธิษฐาน พยายามฝึกหัดไป บางครั้งจิตสงบ ความเจ็บปวด ทางร่างกายก็หยุด เรื่องปวดแข้งปวดขามันหายไปเอง

การปฏิบัติอีกแบบหนึ่งนั่น เห็นอะไรก็ให้พิจารณาทำอะไรก็ให้พิจารณาทุกอย่าง อย่าทิ้งเรื่องภาวนา บางคนพอออกจากทำความเพียรแล้ว คิดว่าตัวหยุดแล้วพักแล้ว จึงหยุดกำหนด หยุดพิจารณาเสีย เราอย่าเอาอย่างนั้น

การพิจารณาเข้าหาธรรมะนั้น ให้เราพิจารณาดูอาการเหตุผลต่างๆ นานา มันน้อยใหญ่ ดำขาว ดีชั่ว อารมณ์ทุกอย่างแหละ ถ้าคิดเรียกว่ามันคิด แล้วพิจารณาว่ามันก็เท่านั่นแหละ สิ่งเหล่านี้ตกอยู่ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย นี่แหละ"ป่าช้า"ของมัน ทิ้งมันใส่ลงตรงนี้จึงเป็นความจริง เรื่องการเห็นอนิจจังเป็นต้นนี้คือเรื่องไม่ให้ทุกข์ เป็นเรื่องพิจารณา เช่น เราได้ของดีมาก็ดีใจ ให้พิจารณาความดีเอาไว้ บางทีใช้ไปนาน ๆ เกิดไม่ชอบมันก็มี อยากเอาให้คนหรืออยากให้คนมาซื้อเอาไป ถ้าไม่มีใครมาซื้อก็อยากจะทิ้งไป เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ มันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจึงเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ขาย ไม่ได้ทิ้งก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้ พอรู้จักเรื่องเดียวเท่านั้น จะมีอีกกี่เรื่องก็ช่าง เป็นอย่างนี้หมด เรียกว่าเห็นอันเดียวก็เห็นหมด บางทีรูปนี้หรือเสียงนี้ไม่ชอบ ไม่น่าฟัง ไม่พอใจก็ให้พิจารณาจำไว้ ต่อไปเราอาจจะชอบ อาจจะพอใจในของที่ไม่ชอบเมื่อก่อนนี้ก็มีมันเป็นได้เมื่อนึกรู้ชัดว่า " อ้อ...สิ่งเหล่านี้ ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา " ทิ้งลงใส่นี่แหละ ก็เลยไม่เกิดความยึดมั่นในสิ่งที่ได้ดีมีเป็นต่างๆ เห็นเป็นอย่างเดียวกันให้เป็นธรรมะเกิดขึ้นเท่านั้น

พยายามให้มีศีล ๕ กาย วาจาของเราพยายามให้เรียบร้อย พยายามดี ๆ เถอะ ค่อยทำค่อยไป การทำสมถะนี่อย่านึกว่าไปทำครั้งหนึ่งสองครั้งแล้วมันไม่สงบก็เลยหยุด ยังไม่ถูก ต้องทำนานอยู่นะ ทำไมจึงนาน ก็คิดดูสิ เราปล่อยมานี่กี่ปีแล้ว เราไม่ได้ทำ มันว่าไปทางโน้นก็วิ่งตามมัน มันว่าไปทางนี้ก็วิ่งตามมัน ทีนี้จะมาหยุดให้มันอยู่เท่านี้ เดือนสองเดือนจะให้มันนิ่ง มันก็ยังไม่พอ คิดดูเถิด เรื่องการทำจิตใจ ให้เราเข้าใจว่าสงบในเรื่อง สงบในอารมณ์ ทีแรกพอเกิดอารมณ์ ใจไม่สงบ ใจวุ่นวาย ทำไมจึงวุ่นวาย เพราะมีตัณหา ไม่อยากให้คิด ไม่อยากให้มีอารมณ์ ความไม่อยากนี่แหละตัวอยากคือ วิภาวตัณหา ยิ่งไม่อยากเท่าไรมันยิ่งชวนกันมา เราไม่อยาก ทำไมมันจึงมา ไม่อยากให้มันเป็น ทำไมมันเป็น นั่นแหละ " เราอยากให้มันเป็น " เพราะเราไม่รู้จักใจเจ้าของ ไม่อยากให้มันเป็น อยากให้มันสงบไม่อยากให้มันฟุ้ง นี่แหละความอยากทั้งแท่งละ ว่างมันเถอะ

เราทำของเราไป เมื่อมีอารมณ์อะไรมา ก็ให้พิจารณามันไป เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทิ้งลงใส่สามขุมนี่เลย แล้วคิดไปพิจารณาไป เรื่องอารมณ์นั้น โดยมากเรามีแต่เรี่องคิด คิดตามอารมณ์ เรื่องคิดกับเรื่องปัญญามันคนละอย่าง มันพาไปอย่างนั้นก็คิดตามมันไป ถ้าเป็นเรื่องความคิดมันไม่หยุด แต่เรื่องปัญญาแล้วหยุด อยู่นิ่งไม่ไปไหน เราเป็นผู้รับรู้ไว้ เมื่ออารมณ์อันนั้นมา จะเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น เรารู้ไว้ ๆ เมื่อถึงที่สุดแล้วก็ว่า เรื่องเหล่านี้มันไม่เป็นแก่นสารทั้งหมด เป็นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งสิ้น ตัดบทมันเลย ทิ้งลงใส่ไตรลักษณ์เลย ครั้งนั่งต่อไปอีกมันก็เกิดขึ้นอีกเป็นมาอีก เราก็ดูมันไป สะกดรอยมันไป



"...เขาว่าเราทำผิด แต่เราไม่ผิดดังเขาว่า
เขาพูดไม่ถูก ก็ไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไม
เพราะเขาพูดไม่ถูกตามความจริง
ถ้าเราผิดดังเขาว่า ก็ถูกดังเขาว่าแล้ว
ก็ไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไมอีก
ถ้าคิดได้ดังนี้ รู้สึกว่าสบายจริงๆ
มันเลยไม่มีอะไรผิด
ล้วนแต่เป็นธรรมทั้งหมด..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ชา สุภัทโท



"..ผู้มี "กุศลในใจ" คือ มีบุญในใจ
หนักแน่น ใครด่าว่าติเตียน
ก็ไม่เสียใจ ไม่โกรธ ไม่เกลียด
เพราะว่า ใจมีบุญเป็นเครื่องอยู่
ตรงกันข้ามกับ
"ใจ-ที่มีกิเลส" เป็นเครื่องอยู่
กิเลส อยู่ในใจใคร ก็มีแต่
ปั่นจิตใจ ให้เดือดร้อนวุ่นวาย.."
..............................
โอวาทธรรมคำสอน..
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต ต.บ้านหม้อ
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย




..."พุทธองค์ตรัสถึงความสงบกับภิกษุว่า"...

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย! ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบความสุขชนิดนี้สามารถหาได้ในตัวเรานี้เองตราบ ใดที่มนุษย์ยังวิ่งวุ่นแสวงหาความสุขจากที่อื่นเขาจะไม่พบความสุขที่แท้จริง เลย มนุษย์ได้สรรค์สร้างสิ่งต่าง ๆขึ้นไว้เพื่อล่อให้ตัวเองวิ่งตาม แต่ก็ตามไม่เคยทันการแสวงหาความสุขโดยปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ที่ ปรารถนานั้นเป็นการลงทุนที่มีผลไม่คุ้มเหนื่อยเหมือนบุคคลลงทุนวิดน้ำในบึง ใหญ่เพื่อต้องการปลาเล็ก ๆ เพียงตัวเดียวมนุษย์ส่วนใหญ่มัววุ่นวายอยู่กับเรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติจนลืมนึกถึงสิ่งหนึ่ง ซึ่งสามารถให้ความสุขแก่ตนได้ทุกเวลา สิ่งนั้นคือดวงจิตที่ผ่องแผ้ว

.เรื่องกามเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรน

.เรื่องกินเป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา

และเรื่องเกียรติเป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้

เมื่อ มีเกียรติมากขึ้นภาระที่จะต้องแบกเกียรติเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งของมนุษย์ผู้หลง ตนว่าเจริญแล้วในหมู่ชนที่เพ่งมองแต่ความเจริญทางด้านวัตถุนั้นจิตใจของเขา เร่าร้อนอยู่ตลอดเวลาไม่เคยประสบความสงบเย็นเลยเขายินดีที่จะมอบตัวให้จม อยู่ในคาวของโลกอย่างหลับหูหลับตาเขาพากันบ่นว่าหนักและเหน็ดเหนื่อย พร้อม ๆกันนั้นเขาได้แบกก้อนหินวิ่งไปบนถนนแห่งชีวิตอย่างไม่รู้จักวาง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ! คนในโลกส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความกลับกลอกและ หลอกลวงหาความจริงไม่ค่อยได้ แม้แต่ในการนับถือศาสนา ด้วยอาการดังกล่าวนี้โลกจึงเป็นเสมือนระงมอยู่ด้วยพิษไข้อันเรื้อรังอยู่ ตลอดเวลาภายในอาคารมหึมาประดุจปราสาทแห่งกษัตริย์ มีลมพัดเย็นสบายแต่สถานที่เหล่านั้นมักบรรจุเต็มไปด้วยคนซึ่งมีจิตใจเร่า ร้อนเป็นไฟอยู่เป็นอันมากภาวะอย่างนั้นจะมีความสุขสู้ผู้มีใจสงบอยู่โคนไม้ ได้อย่างไร”


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 186 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO