กิเลสกองไหนที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว ให้รีบตัดรีบละออกไป เลิกไม่ได้ ละไม่ได้.. ก็ให้นึกถึงความตาย.. เราคือกายกับจิตก็ต้องตายจากกันไป.. จะมาโกรธ มาโลภ มาหลง มายึดหน้าถือตา ยึดอะไรต่อมิอะไรไปทำไม.?. จงปล่อยวางให้หมดสิ้นไป.!. •หลวงปู่สิม พุทธาจาโร•
#เรื่องการยืนให้พร พ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าหากมีความจำเป็นที่จะให้พรแก่ญาติโยมเมื่อโคจรบิณฑบาต เป็นต้น หากมีที่นั่ง เช่นเก้าอี้ ก็ให้นั่งให้พร และให้ผู้รับพรนั่งรับพร แต่หากไม่มีที่นั่ง ก็ให้ยืนให้พร แต่ต้องให้ผู้รับพรนั้นยืนรับพรด้วย ............................................ ตามพุทธบัญญัติพระวินัยในพระปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ สิกขาบทเสขิยวัตร ๗๕ หมวดที่ ๓ ธัมมเทสนาปฏิสังยุต มี ๑๖ ข้อ ดังนี้ ๑)ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีร่มในมือ ๒)ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ มีไม้พลองในมือ ๓)ฯลฯ มีศัสตราในมือ ๔)ฯลฯ มีอาวุธในมือ ๕)ฯลฯ สวมเขียงเท้า ๖)ฯลฯ สวมรองเท้า ๗)ฯลฯ ไปในยาน ๘)ฯลฯ อยู่บนที่นอน ๙)ฯลฯ นั่งรัดเข่า ๑๐)ฯลฯ พันศีรษะ ๑๑)ฯลฯ คลุมศีรษะ ๑๒)ฯลฯ เรานั่งอยู่ที่แผ่นดิน จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้นั่งบนอาสนะ ๑๓)ฯลฯ เรานั่งบนอาสนะต่ำ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้นั่งบนอาสนะสูง ๑๔)ฯลฯ #เรายืนอยู่ #จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่ ๑๕)ฯลฯ เราเดินไปข้างหลัง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้เดินไปข้างหน้า ๑๖)ฯลฯ เราเดินไปนอกทาง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้ไปในทาง
ภิกษุใดล่วงละเมิด เป็นอาบัติ #ทุกฏาโย ซึ่งเป็นลหุกาบัติ ต้องแสดงอาบัติต่อภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จึงจะพ้นอาบัตินั้น
ภิกษุใด ไม่เจตนา ๑, พลั้งเผลอ ๑, ไม่รู้ตัว ๑, อาพาธ ๑, มีอันตราย ๑, วิกลจริต ๑, อาทิกัมมิกะ(ผู้เป็นต้นเหตุของสิกขาบท) ๑, #ไม่ต้องอาบัติ ............................................ และอีกอย่างก็เป็นหลักปฏิปทาที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พาดำเนินมาด้วย...และช่วงที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น เวลาพระกราบเรียนเรื่องต่างๆกับหลวงตา หากองค์หลวงตายืนอยู่ พระก็ต้องยืนกราบเรียน คือถ้าหากยืนก็ต้องยืนเสมอกันเวลาสนทนากัน ถ้าหากนั่งก็ต้องนั่งสนทนากันเช่นกัน.... ............................................ จบเรื่องการยืนให้พร : พระญาณรังสี
“เป้าหมายของการพิจารณาอสุภะ”
ถาม : ผมฝึกกำหนดอสุภะกรรมฐาน รู้สึกจิตสงบ แรกๆสงบ หลังๆพอกำนดอสุภะแล้วมันมีที่สิ้นสุดคือ ภาพที่เรากำหนดนั้นดับลง ยิ่งตั้งใจกำหนดภาพเท่าไร ภาพยิ่งดับลงเร็ว การดับไม่ใช่เราไปตั้งใจให้มันดับมันดับของมัน กราบเรียนถามพระอาจารย์จุดสิ้นสุดของอสุภะก็คือจิตใช่ไหม ภาพทั้งหลายมันมาจบลงที่จิตเรา ภาพออกไปจากจิตแล้วก็ดับลงที่จิตภาพภายในนี้มันเกิดดับ มันเป็นไตรลักษณ์ เราไม่ควรไปยึดถือใช่ไหม
พระอาจารย์ : การพิจารณาอสุภะนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การดับกามารมณ์ ที่คอยมารบกวนใจของเรา ทำให้เราอยู่ในความสงบ อยู่ตามลำพังไม่ได้ เวลาเกิดกามารมณ์แล้วเราจะรู้สึกว้าเหว่ เศร้าสร้อยหงอยเหงา อยากจะมีเเฟนอยากจะมีเพื่อน อยากจะมีคู่หลับนอนด้วยกัน แต่การมีกามารมณ์นี้ก็จะทำให้เราไม่สามารถ มีความสุขที่ได้จากความสงบอยู่ตามลำพังได้ ดังนั้นพวกที่แสวงหาความสุขจากการทำใจให้สงบนี้ จำเป็นจะต้องพิจารณาอสุภะเพื่อมาดับกามารมณ์ ที่จะมาทำให้ไม่สามารถตั้งอยู่ในความสงบได้
ดังนั้นเป้าหมายของการพิจารณาอสุภะนี้อยู่ที่การดับของกามารมณ์ ไม่ได้อยู่ที่การดับของอสุภะ อสุภะนี้เป็นเหมือนยาที่จะมารักษาโรคใจ ก็คือกามารมณ์ ความทุกข์ที่เกิดจากการเวลามีกามารมณ์ขึ้นมา ถ้าพิจารณาเห็นอสุภะกามารมณ์ก็จะดับไป เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดยังมีกามารมณ์อยู่ การพิจารณาอสุภะจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเหมือนกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่จำเป็นจะต้องรับประทานยาไปเรื่อยๆ จนกว่าโรคจะหาย ถ้าโรคยังไม่หายก็ต้องกินยาไปเรื่อยๆ รับประทานยาไปเรื่อยๆ ฉันใดถ้ายังมีกามารมณ์อยู่ ยังมีความอยากเสพกามอยู่ก็ต้องยังพิจารณาอสุภะไปเรื่อยๆ จนกว่าความอยากเสพกามนี้หมดไปเท่านั้น การพิจารณาอสุภะก็จะหมดไป ไม่มีความจำเป็นต่อไป.
ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๖
“ฟังธรรมจากผู้รู้จริง”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
จิตจะสงบเป็นสมาธิได้ จะต้องมีสติตั้งมั่นอยู่ตลอด ...ไม่นอนจมอยู่กับความขี้เกียจขี้คร้าน ...ไม่ลุ่มหลงอยู่กับสิ่งไม่ดีไม่งาม ...รู้จักโทษจิตใจตนเอง รู้จักน้อมจิตเข้ามา สังเวชสลดใจตนเอง ที่ยินดีอยู่ในเรื่องราคะ โทสะ โมหะ อันหาสาระประโยชน์ไม่ได้ ...จิตใจของเราถ้าได้ผ่านสิ่งที่ดึงใจ ...ถ้าได้ทิ้งสิ่งที่ผูกมัดจิตใจ "ย่อมอยู่ได้ดี"
...หลวงปู่ไม อินทสิริ...
เขาถามว่า “ได้ยินในตำราว่าไว้ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยเรียกว่าศีล จึงเข้าใจว่า การรักษาศีลไม่จำต้องรักษาใจก็ได้ จึงได้เรียนถามอย่างนั้น”
หลวงปู่มั่นท่านตอบว่า “ที่ว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นศีลนั้นก็ถูก แต่ก่อนกายวาจาจะเรียบร้อยเป็นศีลได้นั้น ต้นเหตุเป็นมาจากอะไร ถ้าไม่เป็นมาจากใจผู้เป็นนายคอยบังคับกายวาจาให้เป็นไปในทางที่ถูก เมื่อเป็นมาจากใจ ใจจะควรปฏิบัติอย่างไรต่อตัวเองบ้าง จึงจะควรเป็นผู้ควบคุมกายวาจาให้เป็นศีลเป็นธรรมที่น่าอบอุ่นแก่ตนเอง และน่าเคารพเลื่อมใสแก่ผู้อื่นได้ ไม่เพียงแต่ศีลธรรมที่จำต้องอาศัยใจเป็นผู้คอยควบคุมรักษาเลย แม้กิจการอื่น ๆ จำต้องอาศัยใจเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่โดยดี การงานนั้น ๆ จึงจะเป็นที่เรียบร้อยไม่ผิดพลาด และทรงคุณภาพโดยสมบูรณ์ตามชนิดของมัน ……
ที่มา : หนังสือ "ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ" เรียบเรียงโดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
วิชชาจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะอริยมัคคสมังคีเกิดขึ้นนั่นแหละ อริยมัคคสมังคีเกิดขึ้นเมื่อใด อวิชชาก็ดับไปเมื่อนั้น กิเลสและความความทุกข์ก็ดับไปพร้อมอวิชชาดับด้วย เราจึงไม่ต้องละอะไรๆ สักอย่างเดียว บางอาจารย์สอนว่าให้ปล่อยอย่างนั้น ให้ปล่อยอย่างนี้ อย่ายึดอย่างนี้ ไม่ถูก ที่แท้ไม่ต้องไปละอะไรเลย ทุกสิ่งทุกอย่างเราไม่ต้องละ เราดูให้รู้ให้เห็นเท่านั้น การจะดูให้รู้ให้เห็นก็ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะตั้งอยู่ที่กายที่จิต ที่เรียกสติปัฏฐาน 4 อยู่เนืองๆ ไม่ละไม่วาง ปัญญาก็เกิดขึ้น รู้เห็นตามความเป็นจริง ทั้งสิ่งที่ไม่ใช่ตนและสิ่งที่เป็นตนด้วย ปัญญาความรู้นี้เป็นไปเหมาะเจาะเมื่อใด อริยมรรคทั้ง8 ก็มีกำลังเสมอกัน ที่เรียกอริยมัคคสมังคีเกิดขึ้น วิชชาหรือปัญญานั้นจึงเห็นแจ้ง เห็นชัดอริยสัจทั้ง 4 ว่าไม่ใช่ตน สมุทัยคือกิเลสทั้งหลายอันมีอวิชชาเป็นประธานก็ดับ ทุกข์ก็ดับไปพร้อมกับอวิชชานั้น ถ้าอริยมัคคสมังคีของพระโสดาบัน เกิดขึ้น อวิชชาตัณหา อุปาทานของปุถุชนดับไปก็เป็นพระโสดาบัน ถ้าสกิทาคามีมรรคเกิดขึ้น กิเลสของพระโสดาบันดับไปก็เป็นพระสกิทาคามี เมื่ออนาคามีมรรคเกิดขึ้น กิเลสของพระสกิทาคามีดับไปก็เป็นพระอนาคามี ครั้งอรหันตตมรรคเกิดขึ้น กิเลสทั้งปวงก็ดับ การที่ใครๆ จะปฏิบัติให้ถึงมรรคผลเป็น พระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปละนั่นละนี่ ที่แท้การคิดว่าจะละละนี่ จะละความโลภ ละความโกรธความหลง คิดจะละอย่างนั้นมันกลับผิด เพราะเราจะละสิ่งใด เราต้องรู้เห็นตามความเป็นจริง และตามความเป็นจริงแล้ว เราไม่อาจจะละอะไรได้ทั้งนั้น มีแต่มันละเราเพราะว่าเรายึดมันไว้ ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ถ้าเรารู้หลักสำคัญนี้แล้ว ตั้งใจเจริญอินทรียสังวร พร้อมเจริญสติปัฏฐาน 4 ตามวิธีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้แล้ว การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผล ถ้าทำถูกวิธีก็เป็นของนิดเดียวไม่ยากมาก ทำสติสัมปชัญญะให้ตั้งอยู่ที่กายที่จิต แล้วเจริญสติปัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเดินอยู่ก็รู้ว่าเราเดินอยู่ ยืนอยู่ก็รู้ว่ายืนอยู่ นั่งอยู่ก็รู้ว่านั่งอยู่ นอนอยู่ก็รู้ว่านอนอยู่ ตั้งกายไว้อย่างใดก็รู้อย่างนั้น พร้อมกับตั้งใจทำกายคงที่ทำใจคงที่ไว้ด้วย ทำอยู่อย่างนี้เนืองๆ เมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้นแล้วก็ทำอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปนึกเอานึกละอะไร อะไรเกิดขึ้น เราก็ดูดูดูดู ดูอยู่อย่างเดียว การดูอยู่อย่างเดียวนี่เป็น มัชฌิมาปฏิปทา คือเป็นทางให้ถึงความสิ้นทุกข์ ครั้งสิ่งที่ดีเกิดขึ้น เรายังดูอยู่เฉยๆ ดูอยู่อย่างนั้น สิ่งที่ดีก็เพิ่มขึ้นๆ เราก็รู้ก็เห็นสิ่งที่ดีนั้นอยู่ เมื่อรู้อยู่นานๆ ก็จะรู้ว่า มันไม่เที่ยง ทีแรกมันมีอยู่นิดเดียว เราดูเฉยอยู่ มันก็มากขึ้นแล้วก็ทรงอยู่ ต่อไปก็ดับ ก็รู้ว่าความดีนี้มันก็ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ เห็นบ่อยๆ เข้า โลกียปัญญาแก่ขึ้นพอสมควร วิปัสสนาก็เกิดขึ้นจนถึงอริยผลได้ ไม่ต้องไปนึกว่าอันนั้นไม่เที่ยง อันนี้ไม่เที่ยง อันนั้นเป็นทุกข์ อันนี้ไม่ใช่ตน ไม่ต้องไปนึกอย่างนั้น ดูอยู่เฉยๆ แล้วเราก็เห็นความไม่เที่ยงของมัน การเห็นความไม่เที่ยงเรียกว่า พิจารณา เห็น อนิจจัง การที่เราไปนึกว่า ไม่เที่ยงๆ นั่นไม่ใช่พิจารณาอนิจจัง พิจารณาหมายความว่า ไปรู้ไปเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าไม่เที่ยงอย่างนั้น ความรู้ดังกล่าวมานี้เป็นความรู้ด้วยโลกิยปัญญา ด้วยปัญญาที่เกิดจากสมถ (สมถ ก็คือ ฌานสมาบัติที่เกิดขึ้น เห็นอนิจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกัน แต่ไม่เห็นตน) เมื่อเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เนืองๆ หนักเข้าๆ มันก็รู้ว่าอันนี้ไม่ใช่เรา สิ่งที่เปลี่ยนแปรไปไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น ถ้าวิปัสสนาเกิดขึ้น มันรู้ทั้งสองอย่าง คือรู้ทั้งสิ่งที่ไม่ใช่ตนด้วย รู้ทั้งตนด้วย ไม่ละการดูคงดูอยู่อย่างนั้น ความรู้มันชัดขึ้นๆ จนถึงขนาด ถึงที่สุดเรียกว่า วิชชาเกิด อวิชชาก็ดับไปจึง สำเร็จ อริยมรรค อริยผล เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ เราต้องดูไว้เฉยๆ อะไรเกิดขึ้นก็ดู ดับไปก็ดู ทั้งตั้งใจทำกายคงที่ทำใจคงที่ไว้ด้วยจึงจะสำเร็จมรรคผลได้ เพราะมีกายคงที่มีใจคงที่ จึงจะสามารถดูเฉยๆ อยู่ได้ กายคงที่ใจคงที่คืออินทรียสังวร อันนี้เราต้องนึกไว้เนืองๆ เราต้องนึกไว้บ่อยๆ เมื่อเรานึกไว้เมื่อใด ความทำกายคงที่ทำใจคงที่ของเราจะมีหน่อยหนึ่ง เมื่อเรานึกถึงกายคงที่ใจคงที่บ่อยๆ เราก็ทำกายคงที่ใจคงที่ได้บ่อยๆ เมื่อเรานึกอยู่เนืองๆ ความมีใจคงที่มีกายคงที่ของเราก็มีมากขึ้นๆ นึกอยู่เนืองๆ ทำอยู่เนืองๆ กายคงที่ใจคงที่ของเราก็มากขึ้นๆ หนักๆ เข้ามันก็กลายเป็นพื้นฐานธรรมดาของเรา •หลวงปู่เจือ สุภโร•
ทำอย่างไรจึงจะทำให้อินทรียสังวรเกิดขึ้นได้ การที่จะทำอย่างไรจึงจะเป็นอินทรียสังวร คือมีกายคงที่มีใจคงที่เกิดได้นั้น ไม่ต้องคิด ไม่ต้องค้น ไม่ต้องหาอะไร ตั้งใจทำกายคงที่ไว้เนืองๆ แล้วจะรู้เองว่า การเจริญอินทรียสังวร คือทำอย่างไรเพราะว่า เราจะคิดค้นหาอุบายวิธีอย่างไรเราก็หาไม่ได้ แต่ถ้าเราตั้งใจทำกายคงที่ใจคงที่ เมื่อเวลาตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกรู้กลิ่น ลิ้นรู้รส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ ใจรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ อยู่เนืองๆ ไม่นานเท่าไร เพียงไม่ก็วัน ก็จะรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราชอบใจ ที่เราพอใจมากๆ หรือไม่พอใจอย่างมากๆ เมื่อเราตั้งใจทำกายคงที่ทำใจคงที่ อยู่เพียงไม่นานภายหลังเราไปพบสิ่งที่เราพอใจมากๆ หรือไม่พอใจมากๆ ความพอใจมากๆ หรือไม่พอใจมากๆ นั้น มันจะหายไป มันจะจืดจางไป เมื่อมันจืดจางไปอย่างนี้ เราจะรู้สึกสบาย เพราะความพอใจมากมันก็ทำให้จิตใจไม่สบาย หวั่นไหวไปตามความพอใจนั้น ความไม่พอใจมากๆ มันก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก ความพอใจมากก็เป็นทุกข์ ความไม่พอใจมากก็เป็นทุกข์ มันเห็นแล้วเฉยๆ มันธรรมดาๆ อย่างนั้น มันค่อยสบาย เมื่อเราตั้งใจทำกายคงที่ ทำใจคงที่เนืองๆ ไม่นานเท่าไร เราจะรู้สึกว่าค่อยสบายขึ้นจิตใจของเราจะไม่หงุดหงิด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เบื้องต้น เราทำกายคงที่ ทำใจคงที่ไว้เท่านั้น ทำอยู่เนืองๆ ความคงที่ของกายและใจก็ค่อยเกิดขึ้นๆ มากขึ้นๆ ตามลำดับ เมื่อความคงที่ของกายและใจมีกำลังพอ สุจริต 3 ก็มีกำลังพอ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต กายจะทำอะไรก็ไม่มีโทษ วาจาจะพูดอะไรก็ไม่มีโทษ ใจจะคิดอะไรก็ไม่มีโทษ คือ ทำอะไรๆ ก็ไม่เบียดเบียนแก่ตนไม่เบียดเบียนแก่ผู้อื่น ไม่เป็นโทษแก่ตนและผู้อื่นด้วย ใจก็สบายเป็นสุข สติสัมปชัญญะก็ตั้งอยู่ที่กายดี ก็เป็นสติปัฏฐาน 4 แต่ไม่เป็นสติปัฏฐานโพธิปักขิยธรรม( เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ )เพราะอาตาปียังไม่เกิด และเมื่อสติปัฏฐานธรรมดาเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้
เรามาเจริญสติปัฏฐานตามอุบายวิธีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้แล้วด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงแสดงไว้แล้วด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงแสดงไว้เฉพาะในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยหัวข้อใหญ่ๆ ถึง 21 หัวข้อมีอานาปานสติสติปัฏฐานเป็นต้น คือมีสติตั้งอยู่ที่กายทั่วกาย หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก ด้วยจิตธรรมดาๆ ไม่กดไม่เก็ก แต่มีสติรู้อยู่ที่กายทั่วกายเบาๆ ทำอยู่อย่างนี้ สมาธิเกิดขึ้นเมื่อใด สติก็จะหยุดนิ่ง สัมปชัญญะก็หยุดนิ่งด้วยอาตาปีจึงเกิดขึ้น กิเลสทั้งหลายก็จะค่อยเสื่อมไปๆ หมดไปๆ ปัญญาก็สว่างไสวมากขึ้นๆ ปัญญาสว่างไสวมากขึ้นเพียงใด ก็ย่อมรู้ย่อมเห็นตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดเป็นตน สิ่งใดไม่ใช่ตน เห็นทั้งสิ่งที่เป็นตน และสี่งที่ไม่ใช่ตนด้วย เมื่อรู้เห็นอย่างนี้แล้ว ยังไม่ปล่อยไม่วาง คงทำสติสมัปชัญญะตั้งอยู่ที่กายที่จิตรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนั้น สมาธิจะสูงขึ้นๆ สมาธิจะสูงขึ้นเท่าไรก็ตาม เราไม่เลิกไม่ละการทำนั้น คงทำอยู่เนืองๆ สติสัมปชัญญะก็มีกำลังมากขึ้นถึงขนาด วิชชาก็เกิดขึ้น ทำให้อวิชชาดับไป
•หลวงปู่เจือ สุภโร•
ขอเชิญร่วมบุญสร้างสถานีวิทยุเสียงธรรมโคกสมบัติ ณ สำนักสงฆ์บ้านโคกสมบัติ ต.สังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์
|