การเตรียมอนาคตที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือ การเตรียมอนาคตในภพชาติเบื้องหน้า ทุกคนจะมีชีวิตอยู่ในชาตินี้อย่างมากก็ประมาณร้อยขวบปีเท่านั้น จะทุกข์จะสุขในภพชาตินี้ก็จะชั่วระยะเวลาที่ไม่นานเท่าไร โดยเฉพาะผู้ผ่านพ้นวัยเด็กมาศึกษาธรรมอยู่แล้วในขณะนี้ ย่อมมีเวลาในภพชาตินี้อีกไม่นานเลย ได้ความมั่งมีศรีสุข ลาภ ยศ สรรเสริญ ในภพชาตินี้สักเพียงไรก็ไม่อาจรักษาไว้ได้นาน แต่ภพชาติในอนาคตนั้นนานหนักหนานับปีนับชาติไม่ได้ จึงควรเตรียมภพชาติในอนาคตมากกว่า ที่ท่านเรียกว่า เตรียมเสบียงเดินทางไว้สำหรับภพชาติข้างหน้า คือเตรียมบุญกุศลไว้ให้พร้อม ให้เพียงพอแก่ทางที่ไกลแสนไกลจนประมาณไม่ได้ บุญกุศลที่จะเป็นเสบียงเดินทางนั้นต้องประกอบด้วย ทาน ศีล ภาวนา การทำจิตทำใจให้ผ่องแผ้ว บริสุทธิ์จาก โลภ โกรธ หลง จำเป็นที่สุด สำคัญที่สุด และก็มีโอกาสจะทำได้มากที่สุด เพราะไม่ต้องประกอบด้วยอะไรอื่นเลย ใจมีอยู่กับตัวเราเองแล้ว กิเลสก็อยู่กับใจนั่นเอง ถอดถอนออกเสียให้เสมอทุกเวลานาที ทุกอิริยาบถ ย่อมได้รับผลเป็นเสบียงที่พึงปรารถนาของนักเดินทางที่สุด . สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก คัดจากพระนิพนธ์ "วิธีสร้างบุญบารมี"
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!! พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ...
มิใช่เพื่อ... หลอกลวงคน
มิใช่เพื่อ... ให้คนทั้งหลายมานับถือ
มิใช่เพื่อ... อานิสงค์ ลาภสักการะ และความสรรเสริญ
มิใช่มุ่งหมายเพื่อ... เป็นเจ้าลัทธิและแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้
... ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ ...
เพื่อสังวระ คือ.. ความสำรวม
เพื่อปหานะ คือ.. ความละ
เพื่อวิราคะ คือ.. ความคลายกำหนัดยินดี
เพื่อนิโรธะ คือ.. ความดับทุกข์
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !! ธรรมที่เราได้บรรลุนี้ ลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบประณีต
มิใช่วิสัยแห่งตรรก คิดเอา หรือไม่ควรลงความเห็นด้วยการคาดเดา " แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอรู้ได้ "
พระพุทธพจน์
"แทนคุณ หรือ ทวงคืน"
คัมภีร์กฎแห่งกรรม 3 ชาติ ได้บันทึกไว้ว่า...
“สามีภรรยามีกรรมร่วมกันมา ไม่ว่าจะดีหรือกรรมชั่ว ไม่มีกรรมไม่อาจอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน
บุตรธิดาคือหนี้... ไม่ว่าจะเป็นทวงหนี้ หรือใช้หนี้ ไม่มีหนี้ไม่มาเกิดเป็นพ่อแม่ลูกกัน”
ดังนั้น.. สามีภรรยาที่มีกรรมดีต่อกัน ย่อมสมานสามัคคีรักใคร่กลมเกลียว ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร
ส่วนสามีภรรยาที่มีกรรมชั่วต่อกัน.. ย่อมทะเลาะเบาะแว้งบ้านแตกสาแหรกขาด ไม่อาจอยู่ร่วมกันจนวันตาย
ส่วนบุตรธิดาที่มาทวงหนี้.. เป็นลูกที่ไม่เอาไหน เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทำให้พ่อแม่ทุกข์ใจไม่วายเว้น
บุตรธิดาที่มาใช้หนี้.. จะสำรวมระวังรู้คุณทดแทนคุณ ไม่กล้าทำให้พ่อแม่ชอกช้ำใจ
ชาวโลกเกิดมาต่างหนีไม่พ้น.. พบ พราก สุข เศร้า อภัย แค้น รัก ชัง นี่คือผลลัพธ์ของกรรมปัจจัย
ปลูกเหตุเช่นไร.. ย่อมได้ลิ้มผลเช่นนั้น
ไม่ว่าจะเหตุใด หรือ ผลใด ล้วนหนีไม่พ้นกรรมปัจจัยทั้งนั้น...
1. มาแทนคุณด้วยบุญในอดีต ที่ได้สั่งสมร่วมกันมา.. ด้วยพระคุณที่มีต่อกัน จึงได้มาเกิดเป็นพ่อแม่ลูกหลานกัน เราเรียกบุตรธิดาเหล่านี้ว่า “ลูกกตัญญู”
เขามาเพื่อที่จะทดแทนคุณ เป็นเด็กดี ฉลาด เชื่อฟัง เขาเหล่านี้ไม่มีทางจะทำอะไรเสียหาย ให้พ่อแม่ต้องกลัดกลุ้มกังวลใจ
2. มาล้างแค้นด้วยกรรมในอดีต ที่ได้สร้างร่วมกันมา จึงได้มาเกิดเป็นพ่อแม่ลูกหลานกัน
เมื่อเติบใหญ่ก็จะกลายเป็นลูกล้างผลาญ ทำให้ครอบครัวล่มสลาย เราเรียกบุตรธิดาเหล่านี้ว่า “ลูกทรพี”
เขามาล้างแค้น ดังนั้นอย่าได้ผูกเวรไว้กับใคร เจ้ากรรมนายเวรที่อยู่ภายนอก ยังพอป้องกันได้
แต่นี่เกิดมาเป็นลูกหลานในบ้านในตระกูลแล้ว จะทำอย่างไรดี...
ดังนั้น อย่าทำร้ายใคร อย่าฆ่าแกงกัน เพราะต่างคนต่างก็รักตัวกลัวตายเช่นกัน
3. มาทวงหนี้ชาติก่อนหนหลัง พ่อแม่เป็นหนี้ไว้ ไม่ได้ชดใช้คืน
หนี้ที่ว่าคือ.. หนี้เงิน ไม่ใช่หนี้ชีวิต เขาจึงเกิดมาเพื่อทวงหนี้คืน
หากเป็นหนี้กันน้อย เกิดมาให้ดูแลปีสองปีเขาก็ตาย เราเป็นหนี้เขาเท่าไหร่ เมื่อใช้หมด เขาก็ไป ต่อให้คุณรักเขามากแค่ไหน เขาก็ไม่เคยใส่ใจคุณ
หากเป็นหนี้เขาเยอะ.. เลี้ยงจนเติบใหญ่ จบมหาวิทยาลัย จบวันนั้นก็ตายวันนั้น เขาไม่อยู่รับใช้เรา เพราะมาทวงหนี้.. หนี้หมดก็จากไป
4. มาใช้หนี้ชาติก่อนหนหลัง เขาเป็นหนี้พ่อแม่ไว้ ไม่ได้ชดใช้คืน
เมื่อเขาเกิดมาในชาตินี้ จึงต้องทำงานหาเงิน เพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่ก็อยู่ที่ว่าเป็นหนี้พ่อแม่มากน้อยเพียงใด
หากเป็นหนี้มาก ก็เลี้ยงดูพ่อแม่เป็นอย่างดี หากเป็นหนี้พ่อแม่น้อย ก็เลี้ยงดูตามอัตภาพ
เหมือนที่เราเคยพบเห็น เลี้ยงพ่อแม่ประหนึ่งคนรับใช้ในบ้าน เพราะอะไร... เพราะใช้หนี้
ลูกประเภทนี้.. แม้จะเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่ก็หล่อเลี้ยงแค่กาย ไม่หล่อเลี้ยงจิตใจ เลี้ยงดูโดยปราศจากความเคารพ และความกตัญญู
ซึ่งต่างจากบุตรที่เกิดมาเพื่อทดแทนคุณ.. ประเภทนี้ไม่เพียงแต่หล่อเลี้ยงกาย ยังหล่อเลี้ยงจิตใจบุพการี...
#หลักธรรมในข้อนี้... มิใช่เพียงแค่ลูกหลาน ยังรวมทั้งญาติพี่น้องและคนรอบข้างทั้งหลาย ที่เราได้รู้จัก และเคยได้อยู่ร่วม หากแต่เป็นเพราะ กรรมที่ร่วมก่อกันมา หนักหนา หรือ เบาบาง
หากบุญคุณความแค้นหนักหนา.. ก็เกิดมาเป็นสามีภรรยา และลูกหลานพี่น้อง
หากบุญคุณความแค้นเบาบาง.. ก็เกิดมาเป็นญาติสนิทมิตรสหาย
คุณเดินซื้อของในตลาด.. อยู่ๆคนแปลกหน้าก็มายิ้มให้คุณและคุณก็ยิ้มตอบ ล้วนเป็นบุญกรรมแต่ชาติปางก่อน
คุณเดินซื้อของในตลาด.. อยู่ๆคนแปลกหน้าก็มายิ้มให้คุณ แต่คุณรู้สึกขัดหูขัดตา แถมไม่พอ ยังถมึงตาใส่ฝ่ายตรงข้ามอีก นี่ก็ล้วนเป็นบุญกรรมแต่ชาติปางก่อน
เมื่อเข้าใจในกรรมปัจจัยเหล่านี้.. เราจะได้ไม่ผูกกรรมด้านดำเพิ่ม แต่จงผูกกรรมด้านขาวซึ่งเป็น กรรมดีจะดีกว่า...
แล้วจะแก้ไขอย่างไร.. หากเราและลูกหลานผูกกรรมที่ไม่ดีต่อกันมา
คำตอบก็คือ.. นำพาลูกหลานให้หมั่นบำเพ็ญปฏิบัติ ศึกษาพระธรรมคัมภีร์ โปรดจำไว้ว่า...
“ลูกเขาเราสอน ลูกเราเขาสอน”
เมื่อต่างฝ่ายต่างศึกษาธรรม ย่อมแปรกรรมร้ายให้กลายเป็นกรรมดีได้ ย่อมคลายความจองจำ คับแค้นให้สลายคลายลงได้ เช่นนี้ที่เราเรียกว่า... "เปลี่ยนแปลงชะตาชีวิต เปลี่ยนร้ายกลายดี”
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น เห็นรูปด้วยตาแล้ว ย่อมไม่กำหนัดยินดีในรูป อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ย่อมไม่ขัดเคือง ในรูป อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น...ได้ยินเสียงด้วยหูแล้ว ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในเสียง อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ย่อมไม่ขัดเคือง ในเสียง อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น... รู้สึกกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในกลิ่น อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ย่อมไม่ขัดเคือง ในกลิ่น อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น... ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในรส อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ย่อมไม่ขัดเคือง ในรส อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น... ถูกต้องสัมผัสด้วยกายแล้ว ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในสัมผัสทางกาย อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ย่อมไม่ขัดเคือง ในสัมผัสทางกาย อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง...
ภิกษุนั้น... รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมไม่กำหนัดยินดี ในธรรมารมณ์ อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ย่อมไม่ขัดเคือง ในธรรมมารมณ์ อันมีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งความเกลียดชัง เป็นผู้อยู่ด้วยสติเป็นไปในกายอันตนเข้าไปตั้งไว้แล้ว มีจิตหาประมาณมิได้ด้วย ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งธรรมอันเป็นบาปอกุศลทั้งหลายด้วย
ภิกษุนั้น... เป็นผู้ละเสียได้แล้ว ซึ่งความยินดี และความยินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาใด ๆ อันเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ในเวทนานั้น ๆ
เมื่อภิกษุนั้น... ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่เมาหมกอยู่ ในเวทนานั้น ๆ นันทิ (ความเพลิน) ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมดับไป
เพราะ...ความดับแห่งนันทิของภิกษุนั้น... จึงมีความดับแห่งอุปาทาน เพราะ...มีความดับแห่งอุปาทาน... จึงมีความดับแห่งภพ เพราะ...มีความดับแห่งภพ... จึงมีความดับแห่งชาติ เพราะ...มีความดับแห่งชาตินั่นแล.., ชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะฯ จึงดับสิ้น
ความดับลงแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมี ด้วยอาการอย่างนี้.
มู. ม. ๑๒/๔๙๔/๔๕๘.
|