นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 16 ม.ค. 2025 7:47 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


Switch to mobile style


โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 25 ธ.ค. 2015 5:24 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
ภาวนาบนเส้นทางช้างศึก

แถวใกล้นครเวียงจันทน์ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ไปปักกลดภาวนาบนเส้นทางช้างศึกของเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์ในประวัติศาสตร์ของลาว

ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะเป็นเส้นทางเดินทัพของเจ้าอนุวงศ์ในอดีต หลวงปู่ได้ปักกลดภาวนาอยู่บนเส้นทางนั้นหลายคืน

หลวงปู่เล่าให้สานุศิษย์ฟังว่า..

..มีคืนหนึ่ง ท่านได้นิมิตว่ามีวิญญาณหลงทางมาหามากมายจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นทหารหนุ่มๆ ทั้งสิ้น เดินผ่านมาทางที่ท่านพักปักกลดอยู่

ที่ท่านเรียกว่าวิญญาณหลงทาง ก็คือ เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้จักกราบพระไหว้พระ บางคนก็ยืนมองพระเฉยๆ บางคนก็สนุกสนานเฮฮาไปตามเรื่อง

หลวงปู่ ได้แผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลไปให้ ปรากฏว่าไม่ได้ทำให้พวกเขาสามารถระลึกและคลายมานะทิฏฐิได้เลย วิญญาณเหล่านั้นได้แต่มาปรากฏให้เห็นเท่านั้น ก็ได้แสดงกริยาอะไรกับท่านเลย คล้ายกับเป็นวิญญาณที่มืดบอดจากคุณธรรมความดี ท่านจึงเรียกว่าเป็นวิญญาณหลงทาง ยังไม่สามารถชี้แนะในทางดีได้ ท่านก็ปล่อยให้วิญญาณเหล่านั้นผ่านไป

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ปักกลดภาวนาในที่ต่างๆ แถวนครเวียงจันทน์อยู่ ๔ เดือนเศษ มีโยมมาขอให้ท่านพักอยู่นานๆ พวกเขาจะสร้างกุฏิถวาย แต่ท่านไม่รับนิมนต์ บอกชาวบ้านเหล่านั้นว่า ท่านตั้งใจจะเดินธุดงค์ขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ เป้าหมายอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคนถิ่นนั้นรู้จักเชียงใหม่ว่าเป็น “เมืองเหนือของไทยใหญ่”

หลวงปู่ตื้อ ตั้งใจจะไปเสาะหาและฟังคำสอนของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่พำนักอยู่ตามป่าเขาแถบจังหวัดเชียงใหม่ และเชียงรายในขณะนั้น

หลวงปู่ตื้อ เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า.. การออกธุดงค์ครั้งนั้นไปกัน ๖ องค์ แต่ไม่ได้เดินทางไปด้วยกัน ต่างแยกย้ายกันไปแสวงหาที่บำเพ็ญภาวนาตามนิสัยของตน หลายๆ วันจึงจะพบปะกันบ้าง ไต่ถามเรื่องราวกันและกัน แล้วแยกกัน ต่างองค์ต่างไป

นอกจากพระไทยแล้ว บางครั้งก็พบกับพระพม่าซึ่งท่านเหล่านั้นก็ออกท่องเที่ยวธุดงค์ไปเหมือนกัน

ออกจากเวียงจันทน์ หลวงปู่ ธุดงค์ไปทางหลวงพระบาง หนทางเดินลำบากที่สุด สภาพทั่วไปเป็นป่าทึบและภูเขาสูงๆ มากมาย บางวันเดินขึ้นเขาสูงๆ แล้วเดินลงไปอีกด้านหนึ่งใช้เวลาทั้งวันก็มี พอตกเย็นค่ำมืด ท่านก็ปักกลดพักผ่อน ทำความเพียรภาวนา เมื่อได้อรุณก็ตื่นและออกเดินทางต่อไป

บางวันหลวงปู่ ไม่ได้บิณฑบาตและไม่ได้ฉันอาหารเลยเพราะไม่พบบ้านเรือน ต้องเดินทางไปข้างหน้าเรื่อยๆ ท่านบอกว่าถนนหนทางแถวนั้นยากที่สุด รถยนต์ไม่มีโอกาสเข้าไปได้เลย แม้จะเดินเท้าก็ยังยาก รถราไม่เคยมีในถิ่นนั้น

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
พระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ในยุคปัจจุปัน
โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๒




พระคติธรรม....ท่านสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
"ความดีก็ตาม ความชั่วก็ตาม เป็นสิ่งที่ทำได้ทุกเวลา แต่จะทำสองอย่างพร้อมกันไม่ได้ ต้องทำทีละอย่าง จึงต้องตัดสินใจเลือกว่าจะทำอย่างไหน จะทำดีหรือจะทำชั่ว อย่ามีใจอ่อนแอโลเล เพราะจะทำให้พ่ายแพ้ต่ออำนาจของความชั่ว ยอมให้ความชั่วมีอำนาจแย่งเวลาที่ควรทำความดีไปเสีย "






จับกับวาง

นักศึกษาธรรมะ หรือนักปฏิบัติธรรมะ มีสองประเภท ประเภทหนึ่ง ศึกษาปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ประเภทสอง ศึกษาปฏิบัติเพื่อจะอวดภูมิกัน ถกเถียงกันไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น ใครจำตำราหรืออ้างครูบาอาจารย์ได้มาก ก็ถือว่าตนเป็นคนสำคัญ บางทีเข้าหาหลวงปู่ แทนที่จะถามธรรมะข้อปฏิบัติจากท่านก็กลับพ่นความรู้ความจำของตนให้ท่านฟังอย่างวิจิตรพิสดารก็เคยมีไม่น้อยฯ
แต่สำหรับหลวงปู่นั้นทนฟังได้เสมอ เมื่อเขาจบลงแล้วยังช่วยต่อให้หน่อยหนึ่งว่า

“ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน”
(หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)





ทุกคนมีโอกาสที่จะเลือกชีวิตข้างหน้า
ภพภูมิข้างหน้าได้ พึงทำความดีให้เต็มความสามารถ
อย่าละโอกาสที่จะทำความดีนั้นเลย
นั่นแหละ จะเป็นการเลือกภพชาติข้างหน้าสำหรับตนได้
จะเลือก"เป็น" อะไรก็ได้ "ไม่เป็น"อะไรก็ได้
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก






"ธรรม" เป็นเครื่องปกครองสมบัติและปกครองใจ
ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว
ความอยากของใจจะพยายามหาทรัพย์
ได้กองเท่าภูเขาก็ยังหาความสุขไม่เจอ.

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


โลกนี้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไป จะอยู่ที่โน่นก็เปลี่ยนแปลง อยู่ที่นี่หรือที่ไหนก็เปลี่ยนแปลงเพราะพวกเราทั้งหลายอยู่ได้ด้วย การเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราก็อยู่ไม่ได้ หายใจ ออกมาแล้วก็เปลี่ยนเป็นหายใจเข้า แล้วก็หายใจออก ไม่เช่นนั้น ก็อยู่ไม่ได้ ออกไปหมดก็อยู่ไม่ได้ ลมเข้ามาแล้วไม่ออกก็อยู่ไม่ได้ เราทั้งหลายอยู่ในโลกนี้ก็เป็นของโลก มันเป็นของๆ โลก ไม่ควรทำความน้อยใจ ไม่ควรทำความเสียใจใดๆ เราต้องเป็นผู้มีจิตใจ เข้มแข็ง จะตกไปอยู่ที่ไหนก็สร้างแต่คุณงามความดี แม้หมดชีวิต ก็อย่าทิ้งคุณงามความดี

ธรรมจากหลวงปู่ชา สุภัทโท


จงทำใจเหมือนน้ำ
เพราะธรรดาของน้ำ ย่อมเป็นของสะอาด
ชำระของสกปรกได้ทุกเมื่อ
และเป็นของดื่มกิน
เพื่อมีชีวิตช่วยเหลือ
แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
หลวงปู่ขาว อนาลโย



ธรรมะก่อนนิทรา : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
คืนที่ ๗๙๒ พุทธวิธีควบคุมความคิด , วิธีควบคุมความคิดตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส (๑)

ได้กล่าวขยายความถึงวิธีควบคุมความคิดตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน วิตักกสัณฐานสูตร (ม.มู. ๑๒/๒๕๖/๒๔๑) ครบบริบูรณ์แล้วทั้ง ๕ ข้อ คือ ๑. เปลี่ยนความคิด ๒. ให้พิจารณาโทษของความคิด ๓. ให้เลิกคิด ๔. ให้ใคร่ครวญหาเหตุผลที่ทำไมจึงคิด และ ๕. ให้กัดฟันใช้ลิ้นกดเพดานให้แน่น

ทั้งหมดนี้เพื่อควบคุมความคิดมิให้เป็นไปในทางที่จะก่อให้เกิดโทษ

วิธีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นี้ เป็นวิธีที่เมื่อปฏิบัติแล้วไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่งจะต้องให้ผล แต่มิใช่ว่าพอจับปฏิบัติก็ให้ผลทันที จำเป็นต้องอาศัยความคุ้นเคยกับการปฏิบัติพอสมควร

เช่นเดียวกับการทำอย่างอื่นเหมือนกัน ทำไม่เป็นก็ยังไม่เป็นผล ต้องทำเป็นเสียก่อนจึงจะเป็นผล ดังนั้น การทำเสมอให้คุ้นเคย จึงเป็นความจำเป็นสำหรับการปฏิบัติเพื่อควบคุมความคิด

ที่ถูกแล้วจะต้องควบคุมความคิด แม้ที่เล็กน้อยเพียงไร ไม่ใช่ว่าจะควบคุมเฉพาะที่ใหญ่โต จนก่อทุกข์โทษที่มากมายเท่านั้น

ที่จริงการควบคุมความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้แหละสำคัญจะเป็นการป้องกันมิให้เกิดความคิดใหญ่ๆ ที่ไม่ถูกไม่ชอบได้ หรือถึงเกิดก็จะสามารถควบคุมได้ โดยอาศัยความชำนาญที่ฝึกฝนควบคุมความคิดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไว้ก่อนแล้วนั้นเอง.



วันหนึ่ง โยมมานิมนต์ท่านไปเทศน์ที่บ้าน บอกท่านว่าจะมารับแต่เช้า หลวงพ่อก็นั่งรอจนสายโยมก็ไม่มาสักที ท่านจึงว่า “ไม่มาก็ดีเหมือนกันเนาะ เราฉันข้าวของเราดีกว่า”
ท่านฉันข้าวได้ไม่กี่คำ โยมก็มารับพอดี กราบกรานขอโทษที่มาช้าเหตุเพราะว่ารถเสีย
หลวงพ่อจึงหยุดฉัน “ก็ดีเนาะ ไปฉันที่งานเนาะ”

หลวงพ่อ นั่งรถไปได้สักพัก เครื่องรถก็ดับ คนขับบอก “รถเสียครับ”
หลวงพ่อก็ว่า “ดีเนาะ ได้หยุดพักชมวิวเนาะ”
คนขับง่วนอยู่กับรถพักใหญ่ ทำอย่างไรเครื่องก็ไม่ติด จึงออกปากขอร้องให้หลวงพ่อช่วยเข็นรถ ความจริงหลวงพ่อก็แก่แล้ว ข้าวก็ฉันได้ไม่กี่คำ แต่แทนที่จะบ่น ท่านกลับยิ้มแล้วบอกว่า “โอ้ดีเนาะ ได้ออกกำลังเนาะ”

แล้วท่านก็ขมีขมันออกแรงช่วยเข็นรถจนวิ่งได้ ปรากฏว่า กว่าจะถึงบ้านงานก็เลยเที่ยงแล้ว หมดเวลาฉันอาหารไปแล้ว เป็นอันว่า วันนั้นหลวงพ่ออดข้าวทั้งสองมื้อ แต่เนื่องจากได้เวลาเทศน์แล้ว เจ้าภาพจึงนิมนต์ท่านขึ้นเทศน์ทันที หลวงพ่อก็สนองด้วยดี “ดีเนาะ มาถึงก็ได้ทำงานเลยเนาะ”

ว่าแล้วท่านก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์จนจบ มีคนชงกาแฟถวาย แต่เผลอตักเกลือใส่แทนน้ำตาล หลวงพ่อจิบกาแฟไปได้หน่อยก็บอกโยมว่า “ดีเนาะ” แล้วก็วาง ธรรมเนียมของญาติโยมที่ศรัทธาเกจิอาจารย์ เวลาท่านฉันอะไรเหลือ ลูกศิษย์ก็อยากได้บ้าง ถือเป็นสิริมงคล แต่ลูกศิษย์ดื่มกาแฟแค่อึกแรกเท่านั้นก็พ่นพรวดออกมา
“เค็มปี๋เลยหลวงพ่อ ฉันเข้าไปได้ยังไง !”
“ดีเนาะ ฉันกาแฟหวาน ๆ มานาน”
หลวงพ่อว่า “ฉันเค็ม ๆ มั่งก็ดีเหมือนกัน”

ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับท่าน จะแย่แค่ไหน หลวงพ่อก็มองเห็นแต่แง่ดี ท่านจึงไม่มีความทุกข์เลย

เคยมีลูกศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่งไปทำผิด ถูกจับติดคุก ท่านก็ว่า “ก็ดีเนาะ มันจะได้ศึกษาชีวิต”
หลวงพ่อดีเนาะมิใช่เป็นหลวงตาธรรมดาๆ หากเป็นพระผู้ใหญ่ ที่มีชื่อของจังหวัดอุดรธานี ที่ใครๆ ก็รู้จัก ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาและผู้เคารพนับ ถือทั่วประเทศ การประพฤติปฏิบัติของท่านเป็นที่เล่าขานกันมากมายหลายเรื่อง

เช่น มีผู้เล่าว่า กุฏิของท่านเป็นที่จับตาของโจรผู้หนึ่ง เพราะเห็นว่ามีสิ่งของมีค่ามากมายที่ญาติ โยมนำมาถวาย วันหนึ่งได้โอกาสบุกเข้าประชิดตัวหลวงพ่อบนกุฏิ พร้อมปืนในมือ “นี่คือการปล้น อย่าได้ขัดขืนนะหลวงพ่อ”

หลวงพ่อแทนที่จะตกใจหรือโมโห กลับยิ้มให้โจรด้วยอารมณ์ดี และกล่าวกับโจรอย่างนิ่มนวลว่า “ปล้นก็ดีเนาะ”
โจรแปลกใจในคำพูดและท่าทีของหลวงพ่อ จึงพูดว่า “ถูกปล้นทำไมว่าดีล่ะหลวงพ่อ”

หลวงพ่อตอบว่า “ทำไมจะไม่ดีล่ะ ก็ข้าต้องทนทุกข์ทรมานเฝ้าไอ้สมบัติบ้าๆ นี้ตั้งนานแล้ว เอ็งเอาไปเสียให้หมด ข้าจะได้ไม่ต้องเฝ้ามันอีก”
โจรตอบว่า “ไม่ใช่ปล้นอย่างเดียว ฉันต้องฆ่าหลวงพ่อด้วย เพื่อปิดปากเจ้าทรัพย์”
หลวงพ่อก็ตอบเหมือนเดิม “ฆ่าก็ดีเนาะ”

โจรแปลกใจจึงถามว่า “ถูกฆ่ามันจะดีได้อย่างไรล่ะหลวงพ่อ”
หลวงพ่อตอบ “ข้ามันแก่แล้ว ตายเสียได้ก็ดี จะได้ไม่ทุกข์ร้อนอะไร”
โจรรู้สึกอ่อนใจเลยบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นฉันไม่ฆ่าหรอก”

หลวงพ่อก็พูดเหมือนเคย “ไม่ฆ่าก็ดีเนาะ”
โจรถามอีก “ทำไมฆ่าก็ดี ไม่ฆ่าก็ดีอีก”
หลวงพ่อตอบว่า “การฆ่ามันเป็นบาป เอ็งจะต้องใช้เวรทั้งชาตินี้และชาติหน้า อย่างน้อยตำรวจเขาจะต้องตามจับเอ็งเข้าคุก เข้าตะราง หรือไม่ก็ถูกฆ่าตาย ตายแล้วก็ยังตกนรกอีก”

ได้ยินเช่นนี้โจรเลยเปลี่ยนใจ “ถ้าอย่างนั้นฉันไม่ปล้นหลวงพ่อแล้ว”
หลวงพ่อก็ตอบอีกว่า “ไม่ปล้นก็ดีเนาะ”

มีผู้เล่าต่อมาว่า ในที่สุดโจรคนนั้นก็สำนึกบาปเข้ามอบตัวกับตำรวจ เมื่อพ้นโทษออกมาก็ขอให้หลวงพ่อบวชให้และอยู่ในผ้าเหลืองเป็นเวลานาน ส่วนหลวงพ่อมีคนให้ฉายาท่านว่า “หลวงพ่อดีเนาะ” มาจนทุกวันนี้

หลวงพ่อดีเนาะ แห่งวัดมัชฌิมาวาส อุดรธานี เป็นผู้ที่มองเห็นข้อดีของทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับท่าน อีกทั้งท่านยังมองคนอื่นในแง่ดีเสมอ ไม่เคยว่าใครหรือจับผิดใคร เจอปัญหาอะไรๆ ก็พูดว่า “ดีเนาะ”...

ในที่สุดจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น
“พระเทพวิสุทธาจารย์ สาธุอุทานธรรมวาที”
ซึ่งแปลว่า ผู้สอนธรรมด้วยการเปล่งคำว่า "ดีเนาะ"

“พระเทพวิสุทธาจารย์ สาธุอุทานธรรมวาที”
วัดมัชฌิมาวาส ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี

เขียนเล่าเรื่องโดย.. พระไพศาล วิสาโล





ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพถวายผ้าห่มองค์พระ
พระประธานในศาลาที่ วัดถ้ำวัวแดง ต. บ้านเจียง อ. ภักดีชุมพล จ. ชัยภูมิ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 110 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO