อังคาร 05 ม.ค. 2016 9:09 am
"..มีบางคน ชอบพูดคะนองปากว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป พูดอย่างนี้ผิด พูดไม่รู้จริง เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนี้ เราต้องใจเย็น คอยดูผลตลอดชีวิต อย่าดูในระยะสั้นๆ ต้องดูไปเรื่อยๆ ในระยะยาว อย่าใจร้อน
การทำดี เพื่อจะให้ดีนั้น เราต้องทำให้ "ถูกหลัก" คือ ทำให้ถูกดี ทำให้ถึงดี ทำให้พอดี อย่าทำเกินพอดี ทำให้ถูกบุคคล ทำให้ถูกกาลเทศะ การต้องการผลดีตอบแทนนั้น อย่าหวังผล แค่ด้านวัตถุท่าเดียว ต้องหวังผล ทางใจ คือ ความสบายใจ ความสุขใจด้วย.."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
"ความชั่วมี ความดีมี จิตมีสิทธิ์ที่จะเลือก
ถ้าจิตฉลาดก็เลือกเอาบุญกุศล
ถ้าไม่ฉลาดก็เลือกเอาเรื่องชั่ว พอใจทำชั่ว"
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
วัฏจักร
"..วัฏจักรเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักแรมของจิตวิญญาณไม่มีกาลสมัย เมื่อใด ใจยังมีตัณหาคือ ความอยาก เมื่อนั้นจิตวิญญาณยังต้องการอยู่ในสามภพนี้ตลอดไป มีทั้งสมหวังและผิดหวัง มีทั้งสุขและทุกข์ ทั้งหัวเราะและร้องไห้ปนกันไป
ในสามภพนี้เป็นสถานที่พักชั่วคราวเท่านั้น จิตวิญญาณจะไปอยู่แบบถาวรตายตัว ตลอดไปไม่ได้ จะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยที่สร้างเอาไว้ จะอยู่ในภพนั้นบ้างอยู่ในภพนี้บ้าง แล้วก็ผ่านไปไม่คงที่ จะมีความพอใจยินดีอยากจะอยู่ เป็นหลักฐานตลอดกาลไม่ได้ หรือจะไปที่ไหนอยู่ที่ไหนเอาตามใจชอบก็ไม่ได้ เช่นกัน
เหมือนกับบุคคลอยู่ในแพกลางมหาสมุทร จะกำหนดทิศทางให้แก่ตัว เองไม่ได้เลย จะไปตกค้างอยู่ที่ไหนอย่างไรก็จะเป็นไปตามกระแสของลม ฉันใด ผู้จะไปเกิดในภพชาติใดจะมีกรรมเป็นตัวกำหนดให้ไปเกิดในที่นั้น ๆ ผู้ทำกรรมดี เอาไว้ก็จะได้ไปเกิดในภพชาติที่ดี ผู้ทำกรรมที่ไม่ดีเอาไว้ก็จะได้ไปเกิดในภพชาติที่ไม่ดี กรรมจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุก ๆ คน
แม้บุคคลไม่ยอมรับผลของกรรมชั่วที่ตัวเองทำเอาไว้ แต่ก็หนีไม่พ้นจะต้องได้รับผลของกรรมชั่วแน่นอน คำว่า กรรมดีและกรรมชั่วนั้น มันเป็นกฎของธรรมชาติ เป็นผลตอบแทนให้แก่เหตุอย่าง ตรงไปตรงมา จะเรียกว่าศาลโลกที่ตัดสินคดีให้แก่มนุษย์ทั้งหลายก็ว่าได้ ผู้ที่ เวียนว่ายเกิดตายอยู่ในภพทั้งสาม จะต้องถูกศาลวัฏจักรตัดสินชี้ขาดให้ทั้งหมด
ฉะนั้นจิตวิญญาณที่ชอบเที่ยวเร่ร่อนไปตามวัฏฏะ จะต้องอยู่ในขอบเขตของกฎ แห่งกรรมด้วยกันทั้งนั้น ผู้ที่นับถือในศาสนาอะไร หรือผู้ที่ไม่นับถือศาสนาอะไร จะต้องอยู่ในอำนาจกฎแห่งกรรมด้วยกัน ไม่มีจิตวิญญาณใดอยู่เหนือกรรมนี้ไปได้เลย.."
เทศนาธรรมคำสอน..
หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
หลวงปู่บุญมา คัมภีรธัมโม สอนกรรมฐาน
“...เรื่องการกระทำบำเพ็ญ เราก็คงจะพอเข้าใจกันบ้างแล้ว มีแต่พวกเราจะทำให้มันมาก เจริญให้มันยิ่งขึ้นไป ให้มันได้รับผลของการปฏิบัติ การปฏิบัตินี่ส่วนมากจิตใจของพวกเรา หรือว่าจิตใจของครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ที่ท่านได้ปฏิบัติมาก่อนพวกเรา มันก็เป็นของทำได้ยากอยู่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะมันต้องได้ฝืนธรรมดา ฝืนธรรมชาติ ธรรมชาติจิตใจมันชอบจะไหลลงไปทางต่ำเสมอ เพราะฉะนั้นเราจะต้องฝ่าฝืน
ทีนี้ข้อวัตรปฏิบัติที่เราได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ เราก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ไม่ใช่ว่าอาจารย์รูปนี้สอนอย่างนี้ อาจารย์รูปใหม่สอนอีกอย่าง เราก็เปลี่ยนไปอีก มันก็ไม่ถูกเหมือนกัน ต้องจับให้มันมั่น ทำอะไรทำให้มันจริงมันจัง เมื่อเราทำจริง ปฏิบัติจริง มันก็จะได้เห็นของจริง มันก็รู้ของจริง ถ้าเราทำไม่จริง มันก็เห็นไม่จริง มันก็ไม่รู้จริง
เมื่อเราปฏิบัติได้แล้ว ทีนี้มันเป็นของใคร มันก็เป็นของเรา เป็นที่พึ่งของเราโดยตรง และเป็นที่พึ่งอันเกษมสูงสุด คือพึ่งตัวเรา ตัวของเราผู้ซึ่งเป็นคนปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไป บางคนจิตใจคงเคยได้รับความสงบเข้าไปบ้าง แต่บางคนก็อาจจะยังไม่เคยสงบ ยังไม่เคยได้รับผล แต่อย่าไปสงสัย อย่าไปน้อยใจว่าเราปฏิบัติไปจะไม่ได้รับผล ต้องได้รับผลแน่นอนตามเหตุ ตามปัจจัย ทำน้อยได้รับผลน้อย ทำมากได้รับผลมาก จนกว่ามันจะรู้จะเห็นเป็นไปของเรา ความเป็นไป ความได้มันอยู่ตรงไหน มันอยู่ในจิต คือ ตัวสติ ตัวรู้ คือความรู้นี่ฟื้นฟูดวงรู้นี่ขึ้นมา ดวงรู้นี่คือดวงใจของเรามีทุกคน แต่ว่ามันรู้อยู่แต่มันไม่เต็มภูมิ เปรียบประมาประมัยเหมือนกับพระจันทร์ข้างขึ้น-ข้างแรม ที่มันยังเว้ายังแหว่งอยู่ มันไม่เต็มภูมิ
เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมาศึกษาปฏิบัติ มารักษาตัวสติให้มันติดต่อ ให้มันต่อเนื่องกัน บำรุงตัวสติให้มันเด่นดวงขึ้นมา คือ ตัวรู้ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ปัญญามันก็จะตามมา เพราะปัญญากับสติมันอยู่ด้วยกัน มีสติรู้อยู่กับอารมณ์กรรมฐานที่เราปฏิบัติอยู่ บางคนก็กำหนดลมหายใจ หรือกำหนดคำบริกรรม หรือกำหนดที่ใดที่หนึ่ง เมื่อเรากำหนดอยู่ที่จุดใด ก็กำหนดให้มันอยู่ที่จุดนั้น เมื่อเวลาจิตมันแว่บไปก็ให้มันรู้ มันอยู่ก็ให้มันรู้ หรือมันฟุ้งซ่านก็ให้มันรู้ ให้ฝึกตัวรู้นี่ก่อน เหมือนกับเด็กที่เพิ่งเกิดใหม่ เมื่อมันเกิดมาใหม่ ก็ต้องฝึกนั่ง แล้วก็มาฝึกยืน เมื่อยืนมั่นคงแข็งแรงแล้วค่อยก้าวออกไป ถ้ามันไม่แข็งแรงก้าวออกไปมันก็จะล้ม
ต้องฝึกอบรมตัวสติ ฝึกไป ฝึกไป ทำไป ทำไป เว้นไว้แต่หลับ เมื่อนานๆ ไป เมื่อจิตมันอยู่เป็นสมาธิ เราบริกรรมพุทโธ พุทโธไป บริกรรมไป บริกรรมไป จนจิตมันวางคำบริกรรม มันจะวางพุทโธ เมื่อมันวางพุทโธแล้วจิตมันจะนิ่ง เมื่อมันนิ่งเข้าไปแล้ว ทีนี้มันจะเหลือแต่ดวงรู้อย่างเดียว เมื่อมันเหลือแต่ดวงรู้อย่างเดียว เราก็กำหนดรู้อยู่นั่นแหละ ประคับประคองดวงรู้ให้มันเด่นดวงอยู่นั่นแหละ ถ้าอยู่ได้นานก็ยิ่งดีเมื่อฝึกครั้งแรก
จับหลักสมาธิตัวนี้ให้มันมั่นคงก่อน เมื่อสมาธิตัวนี้มันมั่นคงแล้ว ทีนี้อันดับต่อไปเราจะได้ค้นคว้าพิจารณาร่างกายนี่แหละ ถ้าสมาธิดีแล้ว ดูกายแยกออกไปว่า ในร่างกายนี้มีอะไรบ้าง ร่างกายนี้มีรูป รูปคือขันธ์ มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ นี่ท่านเรียกว่าขันธ์ ๕...ขันธ์ แปลว่าผูก แปลว่ามัด แปลว่าถ่วง แปลว่าดึง แปลว่าทับ มันจึงหนัก มาพิจารณาแยกแยะออกจากรูปอันนี้ ร่างกายนี้มีอะไรบ้างอยู่ในรูปนี้ มันมีธาตุทั้ง ๔ มีดิน มีน้ำ มีไฟ มีลม ประชุมกันอยู่นี่ ธาตุดิน มีขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ตับ ปอด หัวใจ ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า เป็นต้น ธาตุเหล่านี้คือธาตุดิน...ธาตุน้ำ มีน้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร นี่เป็นธาตุน้ำ...ธาตุไฟ ไฟยังกายให้อบอุ่น ไฟยังกายให้ทรุดโทรม ไฟยังกายให้กระวนกระวาน ไฟเผาอาหารให้ย่อย...ธาตุลม ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องล่าง ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รวมทั้ง ๔ ธาตุที่มาประชุมกันเป็นก้อนสกนธ์กายขึ้นมา เรียกว่าสัตว์ เรียกว่าบุคคล เมื่อมันแตกออกจากกันแล้ว ดินไปสู่ดิน น้ำลงไปสู่น้ำ ไฟไปสู่ไฟ ลมไปสู่ลม เมื่อมันแตกออกจากกันแล้วก็ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีรูปร่าง มีแต่ดวงรู้ ทีนี้ร่างกายมันแตกเป็น มันแปรปรวนเป็น ร่างกายนี่มันเป็นอนิจจัง มันเป็นทุกขัง มันเป็นอนัตตา มันแปรปรวน เปลี่ยแปลง มันไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ และสิ่งใดเป็นทุกข์ ตรงนี้จำเอาไว้ให้ดีว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตน" ถ้ามีแต่ตนของตนล้วนๆ อยู่แล้ว มันไม่มีอะไรอยู่ในนั้น มันไม่มีสุข มันไม่มีทุกข์ มันไม่มีร้อน มันไม่มีหนาว มันไม่มีมืด มันไม่มีสว่าง ถ้าเข้าไปถึงดวงใจจริงๆ นั่นล่ะ มันเป็นอย่างนี้ แต่นี่เรามันหลง หลงมายึดกาย กายนี่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสุข พาให้เกิดทุกข์ พาให้ร้อน พาให้หนาว พาให้เย็น พาให้วุ่นวาย พาให้เจ็บนั่นเจ็บนี่ ปวดนั่นปวดนี่ เพราะกายนี่ ถ้ามีแต่จิตล้วนๆ มันไม่มีอะไรอยู่ในนั้น ทีนี้จิตเรามายึดกาย ตรงนี้แหละทำให้เกิดทุกข์ เกิดเวทนา เวทนา ก็มีสุข มีทุกข์ มีเฉยๆ ทำให้เกิดราคะตัณหา เกิดโทสะ เกิดโมหะ เกิดอวิชชาตัณหา เกิดความโกรธ ความโลภ ความหลง โกรธเพราะมันมีกาย ถ้าไม่มีกายมันก็จะไม่มีอะไร
เพราะฉะนั้นท่านถึงให้มาปฏิบัติค้นคว้า มาดูกาย แยกแยะถอนจิตออกจากกาย ทำลายกายออกจากจิต แยกเป็นส่วนๆ อย่างอาการ ๓๒ แยกเอาผมมากองไว้ที่หนึ่ง เอาขนมากองไว้ที่หนึ่ง เอาเล็บมากองไว้ที่หนึ่ง เอาฟันมากองไว้ที่หนึ่ง เอาหนังมากองไว้ที่หนึ่ง เอาเนื้อมากองไว้ที่หนึ่ง เอากระดูกมากองไว้ที่หนึ่ง เอาตับมากองไว้ที่หนึ่ง เอาไตมากองไว้ที่หนึ่ง เอาม้ามมากองไว้ที่หนึ่ง เอาเอ็นมากองไว้ที่หนึ่ง เอาตับไตไส้พุงเอาไปแยกเป็นกองๆ ไว้ อาการ ๓๒ นี้ ทั้งน้ำ น้ำดีก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำเสลดก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำเหลืองก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำหนองก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง น้ำเลือดก็ไปกองไว้ที่หนึ่ง กองให้มันเรี่ยรายออกไป แล้วเราก็ดูกำหนดไปแต่ละอย่างๆ พอกระจายออกไปแล้วทีนี้ก็เอารวมเข้ามาอีก แล้วก็แยกกระจายออกไปอีก เล่นอยู่อย่างนั้นแหละ ให้มันชำนิชำนาญ
เมื่อจิตมันทำได้อยู่อย่างนี้ ก็แปลว่า จิตของเราก็เป็นสมาธิอยู่โดยปริยาย พิจารณาอยู่อย่างนี้มันก็เป็นสมาธิอยู่กับการที่เราพิจารณานี้ นี่ท่านเรียกว่า ใช้ปัญญาพิจารณา เมื่อเราพิจารณาดูกายของเราได้ชัดเจนแล้ว ทีนี้ของภายนอกก็อย่างเดียวกัน สัตว์ก็อย่างเดียวกัน ต้นไม้ก็อย่างเดียวกัน ภูเขาก็อย่างเดียวกัน เพราะมันเป็นวัตถุอย่างเดียวกัน มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีแปรปรวนในท่ามกลาง และมีแตกสลายในที่สุด มันเป็นอยู่อย่างนั้น ให้ยกขึ้นมาพิจารณาให้จิตมันรู้ ให้มันเห็น ให้จิตมันถอนออก ไม่ให้จิตมันหลง หลงรัก หลงชัง ไม่ให้จิตมันหลงยึดมั่นถือมั่นในกายนี้ แยกแยะดูกาย วันนี้ก็ดู วันหน้าก็ดู ดูมันอยู่นั่นแหละ จนให้จิตมันถอนออกหรือคลายออก อันนั้นมันจะเป็นไปของมันเอง เมื่อมันรู้แล้วมันจะวางของมันเอง วางตรงไหน รู้ตรงไหน เห็นว่าไม่ใช่เรา เห็นว่าไม่ใช่ตน เห็นว่ามันเป็นดิน เห็นว่ามันเป็นน้ำ เห็นว่ามันเป็นไฟ เห็นว่ามันเป็นลม เห็นมันเป็นอาการ ๓๒ อยู่เฉยๆ มันไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ดูมันอยู่นั่นแหละ ให้มันชำนิชำนาญ ให้มันเร็วขึ้น พอเห็นรูปปั๊บ ถ้ามันเห็นเกิดความสวยงามขึ้นมา เราก็กำหนดเข้ามา เข้ามาดูกายของเรา เมื่อดูกายของเรามันเห็นอย่างเดิม ที่เราได้พิจารณาค้นคว้าอยู่แล้ว มันก็จะหายจากความกำหนัดยินดีในรูป
ดูภายนอกและก็ดูภายใน ภายนอกก็คือ คนอื่น สัตว์อื่น ต้นไม้ เถาวัลย์ ภายในก็คือ ร่างกายของเรา มันก็อย่างเดียวกัน ถ้ามันแจ้งภายใน มันก็แจ้งภายนอก เพราะฉะนั้นท่านถึงให้มาปฏิบัติให้รู้แจ้งโลก โลกนอกก็คือ คนอื่น สัตว์อื่น ต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ โลกในก็คือ ร่างกายของเราและจิตใจของเรา ถ้าจิตใจของเรายังยึดมั่นถือมั่นร่างกายนี่อยู่ว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่มันก็ยังเป็นโลกอยู่ มันยังไม่เป็นธรรม ถ้ามันถอนออกมาว่า จิตเป็นจิต กายเป็นกาย มันก็จะถอนออกมาจากโลก มันถึงจะเป็นธรรมตรงนี้ ตรงที่มันถอนออกมา ธรรมคือตัวรู้ ตัวรู้คือดวงใจของเรา พอมันแยกออกมาเป็นตนของตนแล้ว ศีลก็อยู่ที่นี่ อันเดียวกันนี่ที่ดวงใจของเรานี่ ดวงใจคือดวงรู้ของเรานี่ สมาธิก็คือดวงรู้ ปัญญาก็คือดวงรู้ นิโรธะ คือ ความดับทุกข์ มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
ศีล-สมาธิ-ปัญญา ก็คืออันเดียวกันอันเดิมนี่ล่ะ สรุปแล้วมารวมอยู่จุดเดียวคือ "ดวงใจ" อะไรๆ อยู่ที่นี่ เกิดขึ้นที่นี่ ดับลงที่นี่ รักก็เกิดที่นี่ ชังก็เกิดที่นี่ โกรธก็เกิดที่นี่ โลภก็เกิดที่นี่ หลงก็อยู่ที่นี่ มันรวมอยู่ที่จิต ถ้าจิตเรารู้เแล้วก็พยายามบำรุงตัวรู้ ตัวสติให้มันเด่นขึ้นมา เมื่อตัวรู้ ตัวสติมันเด่นขึ้นมา ความไม่รู้-ความหลงคืออะไร ความไม่รู้-ความหลงก็คือตัวอวิชชา ตัวอวิชชาคือความไม่รู้ ความไม่รู้นี่แหละมันพาให้เราเกิด มันพาให้เราแก่ มันพาให้เราเจ็บ มันพาให้เราตายอยู่ในโลกนี้...ท่านจึงว่า "อวิชชา ปัจจยาสังขารา" เมื่อมันมีอวิชชาคือความไม่รู้นี่มันพาให้เกิดเป็นสังขาราขึ้นมา ถ้ามันรู้แล้วมันจะมีอะไรพาให้เกิดขึ้นมา เมื่อมันรู้แล้วมันไม่หลงแล้ว ความหลงก็คือความมืด ถ้าความมืดความหลงมันตกไปหมดของเราแล้ว มันก็ไม่กลับมามืดไม่กลับมาหลงอีก มันก็จบแล้วที่นี่จะให้มันเป็นอะไรอีก
กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ขันธ์เป็นขันธ์ รูปเป็นรูป เวทนาก็เป็นเวทนา สัญญาเป็นสัญญา สังขารเป็นสังขาร วิญญาณก็เป็นวิญญาณ จิตก็เป็นจิต ไม่ได้เป็นอะไรมันก็จบ
วาสนาคือการกระทำ มันไม่มีทำให้มันมีได้ มันมีน้อยทำให้มันมีมากได้ ทำไป ทำไป มันก็เต็มของมันเอง เหมือนกับเราทานอาหาร ทานเข้าไป ทานเข้าไป เมื่อมันอิ่มแล้ว มันก็หยุดของมันเอง
ของดีวิเศษที่สุดในโลก ก็คือจิตใจของเรา จิตใจของเราแต่ละรายๆ มันไม่ได้อยู่ที่อื่นนะ ของดีของวิเศษนี่มันอยู่ที่ดวงใจของเรา อย่าดูถูกดูหมิ่นตัวเองว่า บุญน้อย วาสนาน้อย ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่วาสนาของเราที่จะมาปฏิบัติ โยนให้พระอริยเจ้า พระอริยเจ้ามีอยู่ที่ใด พระอริยเจ้าก็แปลว่าประเสริฐ พระอริยเจ้าที่ท่านรู้ ท่านรู้อะไร ท่านก็รู้ทุกข์ แล้วทุกข์มันไม่มีกับเราหรือไง มันก็มี เพราะฉะนั้นทำไมเราจะรู้ไม่ได้ ทีนี้ทุกข์อันใดก็สมุทัยอันนั้น สมุทัยอันใดก็นิโรธอันนั้น มันอยู่ที่เดียวกัน นิโรธก็คือความดับทุกข์ มันเกิดได้ มันก็ดับได้ ทุกข์มันเกิดที่ไหน ทุกข์มันเกิดที่จิต มันก็ต้องดับที่จิต และเราจะไปหาของดีที่ไหน มันมีอยู่แล้ว แต่เราไม่เอากันเท่านั้น
ให้เข้าไปหาความสุขที่แท้จริง มันอยู่ในดวงใจของเรา อันนี้เป็นสุขแท้ๆ หาที่เปรียบไม่ได้ คือนั่งก็เป็นสุข เดินก็เป็นสุข ยืนก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุข อยู่ที่ไหนๆ ก็เป็นสุข ถ้าใครเข้าไปถึงแล้ว พวกเราก็เหมือนกัน ถ้าพากันปฏิบัติมันก็จะได้ สุขหนอ สุขหนอ เหมือนกันนั่นล่ะ...”
ขอเชิญร่วมบุญสร้างบันไดขึ้นพระเจดีย์
https://www.facebook.com/jaroonroj.chop ... 9801802434ขอเชิญร่วมซื้อสมุดปากกาไม้บรรทัด เพื่อน้อง โรงเรียนสองคลอง
https://www.facebook.com/photo.php?fbid ... 785&type=3พระมหาสุทธิเดช สุทธิเดโช วัดป่ามฤคทายวัน ต.ตั้งใจ อ.เมือง จ.สุรินทร์ รายการเสียงธรรมจากวัดป่ามฤคทายวัน แจ้งข่าวงานบุญในายการวันนี้ดังนี้
1. เจ้าภาพเลี้ยงอาหารวันเด็ก ให้โรงเรียนตระเวณชายแดน
1.1 ก๋วยเตี๋ยว 900 ชาม ชามละ 20 บาท
1.2 ไอศกรีม 2 ถัง ถังละ 1,500 บาท
2. เจ้าภาพถวายยาให้วัดป่า ในถิ่นทุรกันดาร จำนวน 3 ลัง ลังละ 1,000 บาท
3. เจ้าภาพไถ่ชีวิตโคท้อง จำนวน 9 ตัว ตัวละ 20,000 บาท ร่วมบุญสามัคคี ทุนละ 1,000 บาท
ร่วมบุญกับ พระมหาสุทธิเดช สุทธิเดโช
โทรศัพท์ 087-001-9818