Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

บุญบาป

พฤหัสฯ. 07 ม.ค. 2016 7:45 am

บุญบาป เล็กๆน้อยๆ ผู้ที่มุ่งที่จะปฏิบัติดี
ปฏิบัติชอบ จึงไม่ควรประมาท ควรสังวรระวัง
โอ่งซึ่งเขาตั้งเปิดปากไว้ ในกลางแจ้ง
ย่อมไม่เต็มด้วยน้ำฝน ที่ตกลงมาทีละหยดทีละหยาดฉันใด
บุญกุศลที่เราทำ หรือบาปที่เราทำเล็กๆ น้อยๆ ก็ย่อมไม่เต็ม

แต่เมื่อฝนตกลงมาบ่อยๆ ตุ่มก็เต็มไปด้วยน้ำ
บุญที่เราทำบาปที่เราทำบ่อยๆ
ก็ทำให้จิตใจของเรา เต็มไปด้วยบุญด้วยบาปเช่นเดียวกัน

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย





“เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั่นแหละที่ยังไม่หยุด"

องคุลิมารผู้หลงผิด รวบรวมนิ้วมือมนุษย์ที่ถูกตนประหารเอาไว้ได้แล้ว ๙๙๙ นิ้ว ขาดเพียงนิ้วเดียวก็จะครบหนึ่งพันตามคำสั่งของผู้เป็นอาจารย์

พระพุทธองค์ทรงทราบ..
ว่าอหิงสกะ กำลังจะกระทำมาตุฆาต จึงเสด็จสู่ป่าอันเป็นสถานที่ หลบซ่อนตัวขององคุลิมารโจร เมื่อองคุลิมารเห็น จึงถือดาบวิ่งไล่ตามด้วยความยินดี แต่ไม่ว่าจะพยายาม
วิ่งด้วยความรวดเร็วสักเพียงใด ก็ไม่อาจติดตามทันพระพุทธองค์ที่เดินอยู่ข้างหน้าด้วยอากัปกิริยาปกติมิได้เร่งร้อน ครั้นหมดกำลังลงจึงตะโกน

“สมณะหยุดก่อนหยุดก่อนสมณะ "

พระพุทธองค์ยังคงเสด็จพระดำเนินต่อไปและได้ตรัสตอบว่า...

“เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั่นแหละที่ยังไม่หยุด"

“ดูก่อนอหิงสกะ !!
ที่เรากล่าวว่า เราหยุดแล้ว คือ
หยุดฆ่า
หยุดเบียดเบียน
หยุดแสวงหาในทางผิด
หยุดดำเนินไปในทางทุจริตทุกประการ

ดูก่อนอหิงสกะ !!
ที่เรากล่าวว่า ตัวท่านนั่นแหละที่ยังไม่หยุด เพราะยัง..
ไม่หยุดฆ่า
ไม่หยุดเบียดเบียน
ไม่หยุดแสวงหาในทางที่ผิด
ไม่หยุดดำเนินไปในทางทุจริต

"ในมือของท่านยังถือดาบอยู่ ไฉนท่านจึงกล่าวว่าหยุดแล้ว"





"บุญเก่า" ก็เหมือนน้ำในโอ่ง
ตักออกมาใช้ แต่ไม่มีการตักใหม่มาใส่เพิ่ม
สักวันก็คงหมดลง...!!

หมั่นสร้างบุญ
เติมวาสนาให้ตัวเองอยู่เสมอ
เพื่อที่ตอนมีชีวิตอยู่ ก็อยู่อย่าง "สุขใจ"
เมื่อตอนจากไป ก็ได้ไปในที่ "ดีๆ"



ตัณหา‬ มันเป็นก้อนใครก้อนมัน มีเจตนาพร้อม จึงว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจประเสริฐสุด ถึงแล้วด้วยใจ จะทำคุณงามความดีทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จแล้วด้วยใจ จะทำบาปก็สำเร็จด้วยใจ ผู้ที่มีใจโทษประทุษร้ายอยู่แล้ว มีโลภะ โทสะ โมหะ ประทุษร้ายอยู่แล้ว มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ใจอันถูกประทุษร้ายอยู่แล้ว ภาสติ วา กโรติ วา จะพูดก็ดี พูดก็มีคำหยาบช้า มีคำเศร้าหมอง มีบาป ความเดือดร้อน พูดดีก็เป็นทุกข์ จะทำดี โทษก็ข่มคออยู่นั่น มีแต่ตกต่ำอยู่นั่น ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ ทุกข์ติดตามไปอยู่ จกฺกํว วหโต ปทํ ฯ คนผู้โทษประทุษร้ายเอาแล้ว ใจไม่ดีแล้ว เพราะใจเอาอารมณ์ทั้งหลาย คืออารมณ์ที่ชอบใจ มาหมกเข้าที่ใจ อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ก็เอามาหมักหมมไว้ที่ใจ ให้มันเผาใจ กลัดกลุ้มอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ยืนก็ไม่เป็นสุข เดินก็ไม่เป็นสุข นั่งก็ไม่สุข นอนก็ไม่สุข อันนี้แหละใจไม่ดี มีโทษประทุษร้ายอยู่แล้ว มีราคะ โทสะ โมหะ ความหลงอยู่แล้ว มันจะให้ความสุขอย่างใดล่ะ เหมือนกันกับโคอันเข็นภาระอันหนักไปอยู่ ทุกข์ตามไปอยู่ ล้อตามมันไปอยู่ แอกถูคอมันไปอยู่ ข่มคอมันไปอยู่จนบาดเจ็บ คอโปน เอามันไปอยู่อย่างนั้น เลยไม่ต้องมีความสุขแล้ว
เราเอามาอบรมเดี๋ยวนี้ คือให้ออกจากเครื่องกังวล เครื่องปรุง เครื่องแต่งทั้งหลาย คือฆราวาสมันประกอบด้วยเครื่องกังวล ออกจากอารมณ์ ออกจากความแต่งความปรุงทั้งหลายทั้งปวง ได้ชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อมาวัดในวันพระ มีสี่หนในเดือนหนึ่ง ออกเพื่อเนกขัมมะ ความออก ออกจากสิ่งทั้งปวง ออกจากเครื่องกังวลทั้งหลาย เนกขัมมะต้องออกจากบาป จากความชั่วทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี เมื่อออกมาแล้ว ออกจากของดำของมืด ออกมาที่วิเวกแล้ว มันจึงสงบสงัด มันจึงได้ความวิเวกของใจ สงบใจสบายใจ วันหนึ่ง คืนหนึ่ง อันนี้ชื่อว่าพักแรมของใจ ชั่วครั้งชั่วคราว
อานิสงส์การรักษาอุโบสถท่านพรรณนาไว้ไม่มีที่สิ้นสุด ได้ชื่อว่าออกจากกองไฟ ไฟอะไรล่ะจะมาร้อนกว่าไฟธรรมดา ก็มีกามนั่นแหละ เป็นต้นเหตุ อันนี้ออกมาจากกาม พวกเราออกมาทำความสงบจิตใจชั่วครั้งชั่วคราว ได้ออกมาจากเครื่องกังวล คือได้ กายวิเวก กายไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนหยังด้วยกายวิเวก
เมื่อมันได้กายวิเวกแล้ว มันจะเป็นเหตุให้ จิตวิเวก จิตสงบสงัดจากอารมณ์ทั้งหลาย สงัดจากกามฉันทะ จากพยาบาท จากถีนะมิทธะ จากอุทัจจะกุกุจจะ ฯ สงัดจากวิจิกิจฉา ความสงสัยลังเล ไม่เชื่อใจ ไม่ตกลงใจ นี่ เมื่อได้กายวิเวก ก็เป็นเหตุให้เกิดจิตวิเวก
เมื่อได้จิตวิเวกแล้ว จะเป็นเหตุให้เกิด อุปธิวิเวก อุปธิวิเวกก็คือ ความที่มีจิตแน่วแน่ลงไปถึงอัปปนาสมาธิ อัปนาฌาน แน่นแฟ้น
เมื่ออุปธิวิเวกเกิดขึ้นแล้ว มันจะเกิดความรู้ขึ้น คือ ญาณทัสสนะ ญานัง ความรู้ ทัสสนะ ความเห็น ญาณทัสสนะ ความรุ้เห็นตามความเป็นจริงของอัตภาพร่างกาย สังขารเป็นอย่างไร เมื่อได้อุปธิวิเวกแล้ว มันจะเห็นสังขารร่างกายของตนเป็นของแตกของพังของทำลาย แล้วร่างกายของตนนี่เป็นภัย เป็นอสรพิษ เบียดเบียนตนทุกค่ำเช้า ทุกวันทุกคืนทุกปีทุกเดือน เป็นภัยใหญ่ แล้วร่างกายนี้มันเป็นโทษ อันนี้แหละเรียกว่า นำความเห็น ทัสสนัง ครั้นรู้ว่าร่างกายเป็นอย่างนี้แล้ว เราเข้าใจว่าแม่นของเรา แต่มันเป็นอื่น มันไม่ไว้ท่าเราสักหน่อย ไม่อยากให้มันแก่ มันเจ็บ มันก็ไม่ฟัง ถ้าเป็นของเรา มันต้องฟังเรา อันนี้มันบ่ฟัง จึงว่ามันเป็นอนัตตา แล้วเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง
เราก็เอามันมากำหนดอย่างนี้แหละ กำหนดพิจารณาร่างกายของตนให้มันเห็นตามความเป็นจริงไว้ ยถาภูตํ ญาณทัสฺสนํ นั่นแหละ เห็นว่าร่างกายเป็นของแปรปรวน เป็นของแตกดับ เป็นของสลายไป ชื่อว่าเห็นภัย เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าว่า มันจะมีความเบื่อหน่าย ความกลัว เห็นมันเป็นอสรพิษ เป็นงูจงอางมาขบกัดอยู่ทุกวันทุกคืน มีแต่เจ็บแต่ปวด บ่มีความสบาย มันเจ็บมันปวดอยู่ ชื่อว่ามันเป็นทุกข์
ผู้มาพิจารณาเห็นร่างกายเป็นอย่างนี้แล้ว สพฺเพสงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปัญฺญาย ปัสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา ผู้มาพิจารณาเห็นร่างกายอย่างนี้ เห็นอัตตภาพของตนเป็นอย่างนี้ ย่อมมีความเบื่อหน่ายร่างกายอันนี้ ย่อมเป็นผู้หมดจด เป็นญาณความรู้อันหมดจดบริสุทธิ์ของผู้นั้น
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปัญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เมื่อเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารร่างกายเป็นทุกข์ ย่อมเบื่อหน่าย อันนี้เป็นความเห็นอันบริสุทธิ์ของผู้นั้น
สพฺเพธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปัญฺญาย ปสฺสติ อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เมื่อผู้มาพิจารณาเห็นอัตภาพธรรมทั้งหลาย คือสกนธ์กายขวองเราทุกรูปทุกนามมันเป็นอื่นแล้ว ไม่เป็นเราแล้ว ย่อมมีความเบื่อหน่ายในธรรมอันนี้ ก้อนธรรมอันนี้ สกนธ์กายอันนี้ เบื่อหน่ายในสังขารธรรม คือความปรุงความแต่งอันนี้ เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด คือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์แน่ นี่แหละมันจึงวางภาระ
ขันธ์ ๕ นี้เป็นภาระอันหนักที่ทับคอเราอยู่ คำว่าขันธ์ ๆ เป็นของรวบรวมสิ่งทั้งปวงเข้า เหมือนขันข้าว ขันหมาก ขันอันหยังก็ตาม เอาของมาทับใส่มันหละ อันหยังก็เก็บกวาดใส่เต็มขันนั่นแหละ มันก็หนักนั่นแหละ เป็นทุกข์อันหนักหละ ภาราหเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์เน้อ ภารหาโร จ ปุคฺคโล ชีวิตคือขันธ์ ๕ นำไปเป็นทุกข์ ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก ผู้ยึดถือขันธ์ ๕ แล้ว ไม่พิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง ไม่เข้าใจว่าตัวตนแล้ว ก็เป็นทุกข์อยู่ในโลกนั่นแหละ ภารา นิกฺเขปนํ สุขํ ผู้ปล่อยวางขันธ์ ๕ นี่แล้ว ไม่ยึดไม่ถือว่าเป็นตัวเป็นตนแล้ว ผู้นี้แหละเรียกว่าเป็นผู้วางภาระอันหนัก
นิกฺขิ ปิตฺวา ครุงฺภารํ อนยํ ภารํ อนาทิย ผู้ปล่อยวางแล้ว ไม่ยึดเอาอื่นอีก ขันธ์ห้านี่ไม่ยึดเอาเป็นตัวเป็นตนแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้ขุดเสีย ขุดขึ้นเสียคือ ตัณหา ขุดขึ้นทั้งราก
นิจฺฉาโตปรินิพฺพุโต จัดว่าเป็นผู้เที่ยงแล้ว เที่ยงพระนิพพานแล้ว ใกล้พระนิพพานแล้ว เขาถึงปากทางพระนิพพานแล้ว ครั้นเข้าไปหมดตนหมดตัวแล้ว ความรู้รวมแล้ว มันก็รู้ตัณหาว่าความดิ้นรนมันเผาอยู่ตลอดวันตลอดคืน เรียกว่าความดิ้นรน ตัณหาว่าความใคร่ ความใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ มันเป็นตัณหา ครั้นดิ้นรนอยากได้แล้ว ก็อยากเป็น ทีนี้มันเป็นตัณหาขึ้น อยากเป็นคืออยากเป็นอินทร์ พรหม เป็นจักรพรรดิ์ เป็นเศรษฐี คหบดี อยากเป็นเพราะตัณหา มีตัณหา ๓ ความใคร่เรียกว่ากามตัณหา ความดิ้นรนอยากได้เป็นภวตัณหา วิภวตัณหาคือความไม่อยากเป็นไม่อยากมี เหมือนผมหงอก ฟันหัก ร่างกายหดเหี่ยว ตามืดตามัว ความแก่ ไม่อยากเป็น อารมณ์ที่ไม่ชอบก็ไม่อยากพบ ไม่อยากเห็น ไม่อยากเป็น นี่เรียกว่าวิภวตัณหา มีความขัดเคือง ตัณหานี่เป็นเหตุให้จิตใจเกิดทุกข์
เพราะเหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาให้เห็นทุกข์เสียก่อน อันใดเป็นทุกข์ อัตภาพร่างกายหมดทั้งก้อนนี้เป็นทุกข์ ทุกข์มาจากความเกิด ครั้นเกิดมาเป็นก้อน เป็นสกนธ์กายแล้ว ก็เป็นกองทุกข์ เป็นกองไฟ นี่แหละให้พิจารณาให้มันเห็นทุกข์
ทุกข์ พระพุทธเจ้าให้กำหนดรู้ ให้เห็นตามความเป็นจริงของสภาวะ ชาติ ความเกิดก็เรียกว่า ตัวธรรมดา ให้รู้เท่าตัวธรรมดาเสีย ตัวธรรมดา มันเกิดอยู่ธรรมดานั่นแหละ มันมีเกิดอยู่เป็นธรรมดาในโลก มันมีอยู่อย่างนี้แหละ ให้รู้เท่าธรรมดาเสีย ธรรมดา มันเป็นที่เรานึก อยู่ดี ๆ ละ นึกจะทุกข์ มันก็ทุกข์ ทุกข์มันมาจากไหน ต้องสาวหาเหตุ ทุกข์มันมาจากเหตุ ธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ เหตุคือความอยาก ความดิ้นรน ความใคร่ ความชอบใจ แล้วความอยากเป็นอยากมี ความไม่อยากเป็นไม่อยากมี มันมาจากนี้ ครั้นรู้ว่ามันมาจากนี่ แม้นทุกข์จะเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะความอยากเป็นอยากมี อยากเป็นภพ เป็นชาติอยู่ มันมาจากนี้ แต่ว่าให้ปล่อยวางเสีย ตัณหานี่ปล่อยวางเสีย สำรอกขึ้นเสีย ปลงเสีย อย่าอาลัยในความอยากเป็นอยากมี ความใคร่ ความชอบใจในอารมณ์ก็ดี ความไม่ชอบใจไม่พอใจก็ดี ให้ปล่อยให้วางเสีย ทำเสียจนปล่อยทุกข์ได้ทั้ง ๕ แล้ว เป็นเค้าเป็นมูล ปล่อยวางตัณหาความอยาก ความทะเยอทะยานนี้ได้แล้ว ได้ชื่อว่าปล่อยตัณหาเสียก็ได้
ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย

มุตฺติ ว่า หลุดพ้นจากตัณหา อเสสวิราคนิโรโธ ไม่ได้มีความอาลัยอาวรณ์ ความยินดี ความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ไม่มีเศษ ไม่มีอะไรมาติดอยู่ในใจ ใจผุดผ่อง ใจเบิกบาน ใจผ่องใส ใจนั่นแหละเรียกว่าพุทโธ ตื่นแล้ว ตื่นแล้วจากตัณหา รู้แล้ว พุทโธ พุทธะ ว่ารู้ รู้หน้าตาของตัณหาแล้ว
•หลวงปู่ขาว อนาลโย•




"เตือนกัน ใครให้เตือนกันนะ เตือนให้รวมจิตเข้ามา ไม่ให้ส่งออกไปนอก นี่มันส่งออกนอกนะ ฟังเข้าใจทันที จิตมันออกข้างนอกไม่ได้เข้าใน สติสตังไม่มีก็เลยเพลินไปตามสัญญาอารมณ์ของตัวเองนั้นแหละ มันปรุงออกไป เพราะฉะนั้นให้เตือนกัน คำบริกรรมให้อยู่ภายใน ให้มีสติตั้งอยู่นี้อย่าให้ส่ง ห้ามไม่ให้ส่งเลย เพราะการส่งนี้ที่เป็นเหตุ มันส่งไปรู้เรื่องรู้ราวอะไรตามสัญญาอารมณ์มันก็หลงไปตามนั้นก็เลยไป สติไม่อยู่กับตัวเลยไปกับนั้นไปเลย ให้ย้อนกลับมา"
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน




กามกิเลส‬ กามนี้มันหมุนรอบโลก มันเป็นเจ้าโลก กามกิเลสนี้แหละที่ทำให้เกิดสงคราม
ต่อสู้กัน เกิดก็เพราะกามตายก็เพราะกาม รักก็เพราะกามชังก็เพราะกาม

การทุกอย่างนี้เรียกว่ากามกิเลส การต่อสู้กามกิเลสเป็นสงครามอันยิ่งใหญ่
กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทุกทาง ความพอใจก็คือกิเลส ความไม่พอใจ
ก็คือกามกิเลส กามกิเลสนี้อุปมาเหมือนแม่น้ำธารน้ำน้อยใหญ่ไม่มีประมาณไหล
ลงสู่ทะเลไม่มีที่เต็มฉันใดก็ดี กามตัณหาที่ไม่พอดี ภวตัณหา วิภวตัณหาเป็น
แหล่งก่อทุกข์ ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งหมดอยู่ที่ใจ สุขก็อยู่ที่ใจ
ทุกข์ก็อยู่ที่ใจ ใจนี่แหละคือตัวเหตุ ทำความรักษาหู รักษาตัว รักษาปาก สำรวม
อินทรีย์ รักษาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ พิจารณาเข้าไป

ตจปัญจกกรรมฐาน ๕ กายคตากรรมฐานพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงจะถอนได้
พวกหมู หมา เป็ด ไก่ มันก็เสพกามกันทั่วแผ่นดิน อย่าได้ไปอัศจรรย์ มีแต่ศีล
สมาธิ ปัญญา ผู้ใดรักษาศีลภาวนาเข้าจนเกิดสมาธิแล้ว สติก็ดิ่งเข้าไปแล้ว ก็จะ
ได้ทำจิตทำใจของตนให้บริสุทธิ์ พระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ท่านก็ชี้
เข้าหาใจนี่แหละ ทำใจให้บริสุทธิ์ให้มีสติสัมปชัญญะนำคืนออกให้หมด ถ้ามีสติ
แล้วก็นำความผิดออกจากกายจากใจของตน อย่าหลงสมมติทั้งหลาย มีรูป เสียง
กลิ่น รส สัมผัส อย่าเอามาหมักไว้ในใจ

กามตัณหา เปรียบเหมือนแม่น้ำไหลไปสู่ทะเลไม่รู้จักเต็มสักที อันนี้ฉันใด ความ
อยากของตัณหามันไม่พอ ต้องทำความพอจึงจะดี เราต้องทำใจให้ผ่องใส ตั้งอยู่
ในศีล ตั้งอยู่ในทาน ตั้งอยู่ในธรรม ตั้งอยู่ในสมาธิก็ดี ทุกอย่างเราทำความพอดี
ความพอใจก็นำออกเสีย ความไม่พอใจก็นำออกเสีย เวลานี้เราจะพักจิต ทำกายของเรา
ทำใจของเราให้รู้แจ้งในกายในใจของเรานี้ รู้ความเป็นมาวางให้หมดวางอารมณ์วางอดีต
อนาคตทั้งปวง...ที่ใจนี้แหละ

เรื่องสังขารนี้ สังขารปรุง สังขารมันแต่ง มันเกิด มันแก่ มันเจ็บ มันดับ
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วางอยู่นี่แหละ อดีตอนาคตมันก็มานี่แหละ ตัดอดีต
อนาคตลงหมดจิตดิ่งอยู่ในปัจจุบันรู้ในปัจจุบันและในปัจจุบันสางในปัจจุบัน ทำจิต
ทำใจของเราให้สว่าง ให้รู้แจ้งในมรรคในผล ในศีล สมาธิ ปัญญา เอาที่ใจนี้แหละให้
มันสำเร็จขึ้นที่ใจ

เวลาปฏิบัติจริงกิเลสมันมาได้ทุกทิศทุกทาง ใจนี้มันสำคัญ เหตุมันเกิดจากใจนี้
ตั้งสัจจะจริง กายจริง วาจาจริงใจ อย่าหลงไปตามเขาตามอารมณ์ ละทิ้งความที่เกิด
ขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สมบัติของเจ้าพ่อเจ้าแม่ทั้งหมดนี้เป็นที่ตั้งของทาน
เป็นที่ตั้งของมรรค เป็นที่ตั้งของพระนิพพาน จงละและวางให้เป็นพุทโธ ละวางหมด
ก็เป็นสุข ปล่อยวางก็สบาย

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


"ขอเชิญพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน
ร่วมเป็นเจ้าภาพบริจาคปัจจัย
เพื่อปิดยอดสร้างพระพุทธรูป
เปรียบเหมือนองค์แทนพระพุทธเจ้า
จำนวน 4 พระองค์ ได้แก่.

๑.พระตัณหังกรพุทธเจ้า(ผู้กล้าหาญ)
๒.พระเมธังกรพุทธเจ้า(ผู้มียศใหญ่)
๓.พระสรณังกรพุทธเจ้า(ผู้เกื้อกูลแก่ชาวโลก)
๔.พระทีปังกรพุทธเจ้า(ผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญาอันรุ่งเรือง)

รอบมุมพระอุโบสถ อายุ 27 ปี

ณ วัดนิคมประชาสรรค์(วัดวังไทรติ่ง)
ต.อ่าวน้อย อ.เมืองฯ จ.ประจวบคีรีขันธ์
https://www.facebook.com/photo.php?fbid ... 741&type=3
ตอบกระทู้