Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

เกิดแล้วไม่ดับไม่มี

ศุกร์ 19 ก.พ. 2016 7:11 pm

"เกิดแล้วไม่ดับ..ไม่มี"

เศรษฐีก็ตาย คนจนก็ตาย ..เห็นไหม?
มีใครเอาอะไรไปได้บ้างล่ะ
ทำไว้หมดทุกอย่างก็เอาไปไม่ได้
เอาไปได้มีแต่ "บุญ" ของตัวเองเท่านั้น
นั่นล่ะเศรษฐีก็เหมือนกัน คนจนก็เหมือนกัน..
"ตายหมด" นั่นล่ะไม่เหลือสักคน
คนทุกข์คนยากก็ตายเหมือนกัน
ไม่ได้เว้นใคร

ไม่มีใครฝืนธรรมะของพระพุทธเจ้าไปได้
ใช่จริงๆ..คำพูดของท่านที่พูดไว้ ..
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"

แก่แล้วให้พิจารณาความแก่ความตาย
ว่าเรามันแก่แล้ว มันใกล้ตายแล้ว
มันไม่เลือกหรอกว่าหนุ่มว่าแก่.....ตายหมด.....

กวาดใบไม้อยู่ก็ให้พิจารณานะ อย่ากวาดเฉยๆ
ให้พิจารณาไปด้วยว่า ใบร่วง ใบแก่
มันก็ตายแล้ว เราเองก็เหมือนกัน
ไม่นานหรอกก็ตายเหมือนกัน
ไม่รู้หรอกว่า จะตายวันไหน
ให้น้อมเข้ามาหาตัวเรา
ให้มันเห็น "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"

"หลวงปู่เพียร วิริโย"
วัดป่าหนองกอง จ.อุดรธานี





ถ้าภาวนามันก็ดูเข้ามาหากายหาใจของตัวเองจึงจะถูก
พิจารณาอสุภะอสุภังให้มันเบื่อหน่าย คลายกำหนัด
ในความเกิด ความตายของตัวเอง ให้มันรู้มันเห็น

เห็นก็ให้เห็นในตัวของเรา ไม่ได้เห็นที่อื่นนะ
เห็นในอาการ ๓๒ ของเรามันจึงถูก
ดูน้ำเลือด น้ำหนอง เสลด น้ำลาย น้ำขี้ น้ำเยี่ยว
ไส้ใหญ่ ไส้น้อย ตับ ไต ม้าม เอ็น กระดูก
ถ้าดูแต่ลมเฉยๆก็ไม่เห็นอะไร มันก็ไม่เบื่อ

หลวงปู่เพียร วิริโย"
วัดป่าหนองกอง ต.บ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี





มันต้องดูใจตัวเอง คือ ทำความเพียร
เพียรละ เพียรเลิกกิเลสในใจของตัวเองจึงจะถูก
เพียรให้มันเห็น ให้มันใกล้พระนิพพาน

เวลาตัวเองธาตุขันธ์แตกดับ
บุญจากการภาวนาจึงจะติดไปกับตัวเอง
ไปสร้างต่อเอาในภพหน้า ชาติหน้า
การสร้างบารมีต้องสร้างอย่างนั้น

สร้างบารมีในทางความเพียร สร้างให้มันมาก
ไม่ใช่สร้างวัตถุอย่างชาวโลกเขา
เราเป็นพระมันต้องพาสร้างพาทำอย่างนั้น
บารมีจึงแก่กล้าใกล้นิพพาน ใกล้พระพุทธเจ้า
เรื่องสร้างวัตถุนั้นเป็นของโลกเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา

"หลวงปู่เพียร วิริโย"
วัดป่าหนองกอง จ.อุดรธานี





เหตุเกิดขึ้นที่ไหน เนื่องมาจากอะไร
ต้องใช้ปัญญารีบแก้ไขทันที
เช่น ความรักใคร่ ยินดี ใฝ่ฝันในกามคุณ
ผลที่เกิดขึ้นทำให้ชอบใจ-เสียใจ
ก็รีบแก้ไขด้วยปัญญาให้ทันเหตุการณ์

เหมือนกับแผลเล็กๆน้อยๆ
ถ้าปล่อยไว้ไม่มีการรักษา
ก็จะกลายเป็นแผลที่เรื้อรังไปได้ฉันใด
อารมณ์ของจิตที่เป็นพิษ
ถึงจะเล็กน้อยก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ฉันนั้น
เราเท่านั้นที่จะแก้ไขตัวเอง
หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
วัดป่าบ้านค้อ ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี




สัทธรรม # คือ
คำสั่งสอน » ของพระพุทธเจ้า
เป็นข้อปฏิบัติ » และ การรู้ตาม
ความเป็นจริง » โดยแจ่มแจ้ง
ของพุทธ » บริษัททั้งหลาย
เรียกว่า » สัทธรรม » มี ๓
๑ ปริยัติสัทธรรม » ได้แก่คำสั่งสอน
๒ ปฏิบัติสัทธรรม » ได้แก่การปฏิบัติ
๓ ปฏิเวธสัทธรรม » ได้แก่ มรรค ผล




หลัก ๓ ประการ ของการดูจิต

เวลาที่เราดูจิตดูใจ ดูนามธรรม อันแรกเลยดูให้เห็นสภาวะจริงๆ สภาวะของสุขทุกข์ที่เกิด สภาวะของดี-ชั่วที่เกิด สภาวะของจิตใจซึ่งเกิดดับไปทางตา หู จมูก ลิ้นกาย ใจ ให้เห็นสภาวะ
วิธีเห็นนะ ก่อนจะเห็นอย่าดักดู ให้สภาวะเกิดก่อนค่อยรู้เอา เนี่ยหลักของการดูจิตนะ

ข้อที่ ๑. ต้องดูให้เห็นปรมัตถธรรม ให้เห็นสภาวะ

ข้อที่ ๒. วิธีเห็นสภาวะ

๒.๑) วิธีจะเห็นสภาวะอันแรกเลย ก่อนจะเห็นอย่าไปรอดู อย่าดักดู ถ้าไปรอดูดักดูจะไม่เห็นอะไรเลย มันจะว่างนะ

๒.๒) ระหว่างที่ดูนะ ดูห่างๆ อย่ากระโจนเข้าไปดู อย่าถลำเข้าไปดู ดูแบบคนวงนอก ดูเหมือนว่าเราเห็นคนอื่น อย่างเราเห็นความโกรธเกิดขึ้นนะ เห็นเหมือนคนอื่นโกรธ เราเป็นแค่คนดู ต้องเป็นแบบนั้น ถ้าใจกับความโกรธไปรวมเข้าด้วยกันนะ มันจะกลายเป็นเราโกรธ พอเราโกรธดูไม่ได้ละ แต่ถ้าจิตมันอยู่ต่างหาก มันเห็นว่าความโกรธผ่านมาเหมือนเห็นคนอื่นโกรธ อันนี้มันจะเห็นเลยว่าความโกรธไม่ใช่เรา จิตนี้ก็จะไม่ใช่เราด้วย ความโกรธก็ไม่เที่ยง ความโกรธก็บังคับไม่ได้ จิตนี้ก็ไม่เที่ยง จิตนี้ก็บังคับไม่ได้ มันจะเห็นของมันนะ งั้นก่อนดูอย่าไปดักดู ระหว่างดูอย่าถลำลงไปดู ดูห่างๆ

๒.๓) ดูแล้วอย่าแทรกแซง เวลาที่จิตเราไปเห็นสภาวะนะ บางสภาวะจิตก็ยินดี บางสภาวะจิตก็ยินร้าย ถ้าจิตยินดีให้รู้ทัน ถ้าจิตยินร้ายให้รู้ทัน อย่าไปห้ามว่า ห้ามยินดียินร้าย บางคนก็สั่งจิตนะ “ไม่ว่าเธอนะ ไม่ว่าเธอต่อแต่นี้นะจะรู้อะไรเห็นอะไร เธอต้องอุเบกขา สักว่ารู้ สักว่าเห็น” หลวงพ่อได้ยินบางคนพูดกรรมฐานนะ สักว่ารู้ สักว่าเห็น ก็หันไปมองหน้า อย่างเธอไม่สักว่ารู้สักว่าเห็นหรอก เธอยังไม่เห็นอะไรเลย

สักว่ารู้ว่าเห็น ไม่ใช่เรื่องกระจอกนะ สักว่ารู้ว่าเห็นเป็นจิตซึ่งมีปัญญาแก่กล้ามากๆ แล้วนะ จิตถึง”สังขารุเบกขาญาณ” มีปัญญาจนกระทั่งเป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งปวง ทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งสุข ทั้งทุกข์ เป็นกลางต่อสุขและทุกข์ต่อดีและชั่วถึงขนาดนั้นแล้ว ถึงจะสักว่ารู้สักว่าเห็นได้ ถ้าก่อนหน้านั้นไม่เป็นหรอกนะ มันจะไปเห็นอย่างนี้ก็ยินดี ไปเห็นอย่างนี้ก็ยินร้าย ไปได้ยินอย่างนี้ก็ยินดี ไปได้ยินอย่างนี้ยินร้าย ไปคิดอย่างนี้ก็ยินดี คิดอย่างนี้ก็ยินร้าย ได้รสอย่างนี้ยินดี ได้รสอย่างนี้ยินร้าย เนี่ยมันจะกระทบอารมณ์นะ แล้วเกิดยินดียินร้ายต่ออารมณ์ ไม่ห้าม..นะ ให้รู้ทันความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้น ถ้ารู้ไม่ทันเมื่อไหร่นะ จิตจะเข้าไปแทรกแซงอารมณ์ เช่น เราเห็นความทุกข์เกิดขึ้น เราไม่ชอบ จิตก็จะแทรกแซงด้วยการหาทางทำให้ความทุกข์หายไป ทำยังไงจะดับ ทำยังไงจะดับ เวลาพวกเราภาวนา เคยอึดอัดมั๊ย เคยแน่นๆ เคยอึดอัดบ้างมั้ยภาวนา อยากให้หายมั๊ย เนี่ยมันจะแทรกแซง ให้รู้ทันว่าจิตยินร้าย แค่นี้พอแล้วนะ รู้ทันว่าจิตยินร้าย ทันทีที่รู้ว่าจิตยินร้าย ความยินร้ายจะดับอัตโนมัตินะ จิตจะเป็นกลาง แต่อันนี้กลางเพราะ”สติ ” ไม่ใช่กลางด้วย”สังขารุเบกขาญาณ” เป็นแค่กลางเบื้องต้น กลางด้วยสตินะ หรือมันยินดีขึ้นมา รู้ทันนะ ความยินดีก็ดับ จิตก็เป็นกลางด้วยสติ มีสติไปรู้ทันความยินดียินร้าย ความยินดียินร้ายดับ จิตเป็นกลาง กลางชั่วคราว เดี๋ยวก็ยินดียินร้ายใหม่ เนี่ยคอยรู้ไป พอจิตมันเป็นกลางแล้ว ดูสภาวะทั้งหลายทำงานต่อไป ก็เห็นสภาวะทั้งหลายเกิดขึ้น..ตั้งอยู่..แล้วก็ดับไป

นี่หลักของการดูจิตนะ อันแรก ต้องดูให้เห็นสภาวะจริงๆ ไม่ใช่คิดเอา อันที่สองต้องดูให้ถูก วิธีดูให้ถูก..ก่อนดูอย่าไปดักดู..อย่าไปรอดู..ให้ความรู้สึกเกิดแล้วค่อยดูเอา..ข้อที่สองของการทำให้ถูกคือ ดูห่างๆ ดูแบบคนวงนอก อย่าถลำเข้าไปดูนะ แล้วก็ ดูแล้วเกิดยินดี..ให้รู้ทัน เกิดยินร้ายให้รู้ทัน นี่หลักของการดูจิตให้เกิดปัญญา

ไม่ใช่ดูจิตให้นิ่งๆว่างๆ นะ อันนั้นดูให้เกิดสมถะ ส่วนใหญ่ที่เค้าฝึกกัน ที่เค้าบอกดูจิตๆ น่ะ ติดสมถะเกือบทั้งนั้นเลยนะ ที่หลวงพ่อเจอนะมีเขียนหนังสือตำหรับตำราสอนกัน อะไรต่ออะไรเนี่ย ติดสมถะซะเกือบทั้งหมดเลย ไม่ได้เห็นสภาวะเกิดดับจริงๆ หรอก บางทีเห็นแต่เหลือตัวหนึ่งเที่ยง เห็นความรู้สึกสุขทุกข์เกิดดับ เห็นความดีความชั่วเกิดดับ แต่จิตตัวนี้เที่ยง ประคองจิตเอาไว้ เนี่ยประคองตัวรู้เอาไว้ คนที่ประคองตัวรู้หน้าตามันจะไม่เหมือนคนปกติ มันจะเป็นยังงี้ (หลวงพ่อทำหน้าให้ดู) จะประคองตัวนี้เอาไว้นะ แล้วก็เห็นทุกอย่างไม่ใช่เรา ทุกอย่างเกิดดับ..แต่ไอ้ตัวนี้เที่ยง ถ้ายังเหลืออยู่อย่างนี้..ใช้ไม่ได้นะ ตัวรู้ตัวนี้ปลอม ตัวรู้ที่ใช้เดินปัญญาได้จริง..ต้องเกิดดับได้ ไม่สงวนตัวรู้เอาไว้ ท่านถึงสอนไง วิญญาณก็ไม่เที่ยงนะ ตัวจิตน่ะต้องไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์..สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวเรา เนี่ยถ้าตัวรู้เที่ยง..วิญญาณเที่ยง..เป็นพระโสดาไม่ได้หรอก งั้นถ้าใครเห็นจิตเที่ยงนะไม่ใช่โสดา ยังเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ งั้นเราดูนะเห็นสภาวะเค้าเกิดดับ ไม่สงวนตัวใดตัวหนึ่งไว้ เห็นทุกๆตัวที่เกิดนะ ดับทั้งสิ้น งั้นเวลาที่เป็นพระโสดาบัน ถึงสรุปว่า “สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นดับ” ทุกสิ่งที่เกิดนั่นแหละ..ดับทั้งสิ้น ไม่มีสงวนตัวใดตัวหนึ่งไม่ให้ดับ
ข้อที่ ๓. ดูให้มาก ดูให้บ่อย ถ้านานๆ ดูที..ยาก กิเลสเอาไปกินหมด วันๆหนึ่งหลงตลอด หลายๆ วันมาดูจิตทีหนึ่ง โอ้..จิตโกรธได้เอง แล้วก็โกรธต่อไปเลย อย่างนี้ไม่ได้เรื่องหรอกนะ ดูให้ถี่ๆ นะ ตั้งแต่ตื่นนอน..จนนอนหลับ หลับไปแล้วนะ..จิตมันดูอัตโนมัติต่อนะ หลับไปแล้วร่างกายนอนไป จิตลงภวังค์นิดเดียว จิตก็ขึ้นมาอีก จิตนะสว่างไสว เห็นร่างกายนอนกรนครอกๆ เลย จิตรู้ตัวขึ้นมา แล้วก็ความคิดไหลเข้ามา เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดดี เกิดชั่ว อะไรมันรู้ได้หมดแหละ งั้นเราจะฝึกได้นะ ทั้งวันทั้งคืนเลย แต่ถ้าเหนื่อย..ทำความสงบ ถ้าเจริญปัญญามากไป..เหนื่อยนะ พุธโทๆ ไป คิดถึงพระพุทธเจ้าไป คิดถึงสิ่งดีๆ คิดถึงทาน คิดถึงศีล อะไรของเราไป



เวลาไหน!...
ยุคใดๆสังคมสาขาวิชาอาชีพอะไร
ศาสนาไหนเพศอะไรเด็กหรือผู้ใหญ่
อยู่ในดินแดนของประเทศใดก็ตามใครคนไหนทำเหตุไว้เช่นไร
สร้างเหตุไว้ในทางที่ถูกที่ชอบประกอบด้วยธรรมแล้ว
ผลที่ออกมาจากเหตุที่เราก่อไว้นั้นก็ดีชอบถูกต้องตามธรรมเช่นกัน เหมือนดังที่ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า
กัมมุนา วัตตะตี โลโก
สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ดังนี้แล




***ใจงามเมื่อธรรมงาม..อิสระดุจดอกบัวบาน...
ดอกบัวบานงดงาม...
***ดวงตาแห่งปัญญา...
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้..คือเป็นผู้รู้ผู้เห็นสัจจะ..ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์จากกิเลส..เป็นผู้พ้นจากกองทุกข์ทั้งสิ้น..และได้ทรงมีพระกรุณาแผ่ไปในสัตว์โลกทุกกาล..ทุกสมัย...
ธรรม..คือคำสั่งสอนของพระองค์..เมื่อตั้งใจฟังก็จะได้ประสบพบพระคุณของพระองค์คือ..พระธรรม..พระบริสุทธิ์..และพระกรุณา..ดังกล่าวแล้ว..พระธรรมที่ทรงสั่งสอน..ด้วยความรู้..ด้วยความเห็น..ย่อมประมวลในสัจจะทั้ง 4 ดังที่เรียกว่า..อริยสัจจ์ 4
แต่ผู้ที่จะฟังและพิจารณาให้เข้าถึงสัจจะก็จำจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติในธรรมที่เป็นพื้นฐานขัดเกลากิเลสอย่างอยาบด้วยศีล..และกิเลสอย่างกลางด้วยสมาธิ...
เมื่อมีศีลเป็นภาคพื้น..และมีจิตเป็นสมาธิ..สงบสงัดจากกาม..และอกุศลที่เป็นเครื้องหุ้มห่อ..การพิจารณาสัจจธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจึงจะปรากฏได้ง่าย...
และพระพุทธเจ้าก็จะปรากฎเหมือนอย่างเป็นผู้ชูดวงประทีปในที่มืด..สำหรับผู้มีจักษุคือดวงตาจะได้มองเห็นทาง...เมื่อพระองค์ทรงชูดวงประทีปขึ้นในที่มืด..ทุกๆคนก็จะต้องมีดวงตาและจะลืมตาขึ้นมามอง...
ดั่งนี้..จึงจะเห็นทางที่ทรงส่องให้เห็นด้วยประทีป...ฉะนั้นธรรมที่ทรงแสดงสั่งสอน..จึงเป็นเหมือนอย่างเป็นดวงประทีปที่ทรงชูขึ้นในที่มืด..เมื่อธรรมคือคำสั่งสอนยังดำรงอยู่ยังเป็นไปอยู่..
***ดวงประทีปสำหรับส่องให้มองเห็นสัจจะในโลกนี้ก็ยังมีอยู่***
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช..สกลมหาสังฆปรินายก





หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


ทุ ก สิ่ ง อ ยู่ ที่ ใ จ

ความโกรธ ความหลง อกุศล
ธรรมทั้งหลาย เมื่อเกิดขึ้น เรานั่น
แหละเดือดร้อน เพราะฉะนั้นละให้
หมด ทำใจของตนให้ผ่องใส เอาใจ
ละ เอาใจวาง เอาใจถอน ละออก
วางออก ถอนออกจากจิตจากใจ
ของเรานี้

ใจของเราแต่งเอาได้
แต่งให้เป็นบุญก็แต่งได้
แต่งให้เป็นศีลก็แต่งได้

ให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์
จนตลอดชีวิต ตั้งอยู่ในกรรมบท 10
รักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์
ตั้งอยู่ในสุจริตธรรม ตั้งอยู่ใน
ศีล 5 ทำตนของตนให้เรียบร้อย

เอาใจนี้แหละเป็นผู้รู้
เอาใจนี้แหละเป็นผู้เห็น
เอาใจนี้แหละเป็นผู้ละ
เอาใจนี้เป็นผู้วาง

ให้ปฏิบัติการ วาจา ใจ นี้ให้
แข็งแรง กายก็ออกไปจากใจนี้ แต่ให้ พิจารณากายนี้ให้รู้แจ้ง ใจนี้
ก็รู้แจ้ง ใจนี้เป็นตัวเหตุ เอาใจนี้ละ
เอาใจนี้วาง เอาใจนี้ถอน ถอนทุกสิ่ง
ทุกอย่างนี้แหละ ถอนกิเลสก็เอาใจ
นี้แหละถอน ถอนอยู่ที่ใจนี้แหละละ
อยู่ที่ใจนั้แหละ





อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
+++++++++++++++
#‪#‎อนิจจัง‬ แปลว่า ไม่เที่ยง
มีความหมายว่า
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงประเภทที่เป็นสังขาร
คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งนั้น
มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่มีความคงที่ตายตัว.
#‪#‎ทุกขัง‬ แปลว่า เป็นทุกข์
มีความหมายว่า
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงประเภทสังขาร มีลักษณะที่เป็นทุกข์ มองดูแล้ว น่าสังเวชใจ นำให้เกิดความทุกข์ใจแก่ผู้มีความเห็นแจ่มแจ้งในสิ่งนั้น ๆ .
#‪#‎อนัตตา‬ แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน
มีความหมายว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งประเภทที่เป็นสังขารและมิใช่สังขาร
ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน
ถ้าเราเห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนถูกต้องแล้ว
ความรู้สึกที่ว่าไม่มีตัวไม่มีตน จะเกิดขึ้นมาเองในสิ่งทั้งปวง
แต่ที่เราไปหลงเห็น หรือหลงสำคัญว่าเป็นตัวเป็นตนนั้น
เพราะความไม่รู้ไม่เห็นอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นเอง.
ขอให้ทราบว่าลักษณะ ๓ ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้,
เป็นคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากที่สุด

การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น
ต้องเป็นการเห็นจนรู้สึกว่า
ไม่มีอะไรที่น่ายึดถือ
ไม่มีอะไรที่น่าอยากน่าปรารถนาในทางที่จะเอา จะได้ จะมี จะเป็น
ซึ่งอาตมาจะขอสรุปสั้น ๆ ว่า
“ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไรที่น่าเป็น” นี้
เป็นความหมายที่กะทัดรัดที่สุดของการเห็น

การเห็นธรรม
จึงไม่อาจจะเห็นได้ด้วยการคำนวณตามเหตุผล
แต่ต้องเห็นแจ้งด้วยความรู้สึกในใจแท้จริง
คือเห็นด้วยใจจริง.
ขอยกตัวอย่างเช่นบุคคลที่พิจารณาเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ที่ทำความเจ็บปวดให้แก่ตนผู้เข้าไปหลงรักอย่างสาสมกันแล้ว
ดังนี้เป็นต้น.
นี้เห็นได้ว่าเป็นการเห็นที่ไม่ต้องอาศัยเหตุผล
แต่อาศัยการที่ได้กระทบกันจริง ๆ
และได้เกิดผลเป็นความรู้สึกแก่จิตใจขึ้นมาจริง ๆ
จนเกิดเป็นความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ความสลดสังเวช ขึ้นมาจริง ๆ อย่างนี้ จึงเรียกว่าเห็นธรรม หรือเห็นแจ้ง.
การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมายถึงการเห็นโดยวิธีนั้น.
เพราะฉะนั้นจึงเชื่อว่าคนทุกคนที่มีสติปัญญาตามปรกติ
เมื่อได้ผ่านสิ่งต่าง ๆ ในโลกมาพอสมควรแล้ว
ย่อมจะมีโอกาสใดโอกาสหนึ่งซึ่งได้ผจญกับอารมณ์ต่าง ๆ ในโลก
จนเกิดผลเป็นความรู้จักสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง
ว่าเป็นเพียงมายา เป็นความหลอกลวงดังนี้แล้ว
เกิดความรู้สึกที่ทำให้ถอยหลัง ไม่หลงไหลพัวพัน ในสิ่งนั้นอีกต่อไป. การเห็นแจ้งทำนองนี้อาจเลื่อนสูงขึ้นไปได้ตามลำดับ ๆ
จนกว่าจะถึงอันดับสุดท้าย
ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายหรือเรื่องใหญ่ที่สุดที่ทำให้ปล่อยวางสิ่งทั้งปวงได้. นี้เรียกว่าเป็นการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของบุคคลนั้นอย่างแท้จริง.

(ที่มา : โอวาทธรรมท่านพุทธทาสภิกขุ)




บาลี: ญาตกานญฺจ สงฺคโห (ญาตะกา นัญจะ สังคะโห) การสงเคราะห์ญาติคือ เมื่อยามญาติ อัตคัด เกินขัดข้องควรหาช่อง สงเคราะห์ ไม่เลาะหนี เขาซาบซึ้ง ถึงคุณ อบอุ่นดี หากถึงที เราจน ญาติสนใจ

ลักษณะของญาติที่ควรให้การสงเคราะห์ เมื่ออยู่ในฐานะดังนี้คือ

๑.เมื่อยากจนหาที่พึ่งมิได้

๒.เมื่อขาดทุนทรัพย์ในการค้าขาย

๓.เมื่อขาดยานพาหนะ

๔.เมื่อขาดอุปกรณ์ทำมาหากิน

๕.เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย

๖.เมื่อคราวมีธุระการงาน

๗.เมื่อคราวถูกใส่ความหรือมีคดี

การสงเคราะห์ญาติ ทำได้ทั้งทางธรรมและทางโลก ดังนี้

วิธีสงเคราะห์ญาติทางธรรม ได้แก่
คือชักชวนญาติให้รู้จักประกอบการบุญการกุศล ชักนำให้ได้ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ให้ตั้งอยู่ในศรัทธา สอนธรรมะให้ ชักนำให้บวช ชักนำให้ปฏิบัติธรรม

วิธีสงเคราะห์ญาติในทางโลก ก็ได้แก่

๑.ให้ทาน คือการสงเคราะห์เป็นทรัพย์สิน หรือเงินทองเพื่อให้เขาพ้นจากทุกข์หรือความลำบากตามแต่กำลัง

๒.ใช้ปิยวาจา คือการพูดเจรจาด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน สุภาพ และประกอบไปด้วยความปรารถนาดี

๓.มีอัตถจริยา คือการประพฤติตนให้เป็นประโยชน์กับเขา อาจช่วยเหลือด้วยแรงกาย กำลังใจ หรือด้วยความสามารถที่มี

๔.รู้จักสมานัตตตา คือการวางตัวให้เหมาะสม อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ถือตัว

อานิสงส์การสงเคราะห์ญาติ
๑. เป็นฐานป้องกันภัย ศัตรูหมู่พาลทำอันตรายได้ยาก
๒. เป็นฐานอำนาจ ให้ขยายกิจการงานได้ใหญ่โตขึ้น
๓. เป็นบุญกุศล
๔. เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน
๕. ทำให้สนิทสนมคุ้นเคยกัน
๖. ทำให้เกิดความสามัคคีกัน
๗. ทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อกัน
๘. ทำให้ตะกุลใหญ่โต มั่นคง
๙. ทำให้มีญาติมากทุกภพทุกชาติ
๑๐. เป็นแบบอย่างที่ดีอนุชนรุ่นหลัง
๑๑. เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้น
๑๒. เป็นเหตุให้เกิดสันติสุขไปทั่วโลก

//ต้นไม้ที่เกิดรวมกันเป็นป่าดง
แต่ละต้นย่อมช่วยต้านลมพายุให้แก่กัน จึงยืนต้นอยู่ได้นาน
ผิดจากต้นไม้ที่เกิดอยู่โดดเดี่ยว แม้จะเป็นไม้เจ้าป่าสูงใหญ่ก็ตาม
เมื่อโต้พายุตามลำพัง ย่อมหักโค่นลงโดยง่าย
เช่นกัน คนที่มีญาติอยู่พร้อมหน้า ก็ย่อมมีผู้คอยช่วยเหลือ
ต้านทานมรสุมชีวิตให้ผ่อนหนักเป็นเบา
และเมื่อเราทำดีมีสุข มีทางเจริญก้าวหน้า ก็มีคนให้ความสนับสนุน
ตอบกระทู้