พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
จันทร์ 14 มี.ค. 2016 7:01 pm
ทุกข์ก็ทน คำว่าทุกข์มันไม่ใช่ทุกข์เพราะความเพียรเท่านั้น มันทุกข์เพราะการฝืนกับกิเลสเป็นสำคัญ ความขี้เกียจก็คือเรื่องของกิเลส ความอ่อนแอคือเรื่องของกิเลส เราฝืนความอ่อนแอ เราฝืนความเกียจคร้านซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความเอาจริงเอาจังจึงเป็นทุกข์ ความเป็นทุกข์ที่ปรากฏอยู่นี้ไม่ใช่เป็นทุกข์เพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะความต่อสู้กับกิเลส ถ้าเรายังเห็นว่าความต่อสู้กับกิเลสเป็นเรื่องความทุกข์แล้ว ก็ไม่มีทางต่อสู้กับกิเลสได้ และไม่มีวันชนะกิเลสไปได้เลยแม้ตัวเดียว
เราต้องหาวิธีแก้ไขไม่นอนใจ ตราบใดที่กิเลสยังมีอยู่ภายในใจ การทำความเพียรต้องทำอย่างเข้มแข็งอยู่ตราบนั้นถอยไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้กิเลสบดขยี้แหลกเหลวน่ะ การนั่งนานเกิดความเจ็บปวด นั่นมันเป็นธรรมดา เดินนานก็เหนื่อย เราเปลี่ยนได้พลิกได้ แต่สำคัญที่ความทุกข์เพราะการต่อสู้กับกิเลสนี้มันไม่มีเวล่ำเวลา ถ้าเราไม่ต่อสู้มัน มันยิ่งเอาเราหนัก การต่อสู้มันก็เพื่อชัยชนะ จึงไม่ถือว่าเป็นความลำบากลำบนเพราะเราต้องการอยู่เหนือกิเลส เราต้องการชนะกิเลส เรากลัวกิเลสเราจะเอาอะไรไปสู้กับมัน
เหมือนนักมวยเขาขึ้นชกกันบนเวที ถ้ากลัวกันอยู่แล้วก็ไม่ได้ต่อยกัน เพราะต่างคนก็ต่างหวังเอาชนะกันนั้นเอง หวังชนะทุกคน มันพลีชีพด้วยกันในขณะนั้น จะไปขี้เกียจอ่อนแอในขณะชกกันอยู่บนเวทีได้หรือ ขาดกำลังใจนิดหนึ่งก็ต้องแพ้ เผลอนิดเดียวก็ต้องแพ้ถูกหามลงเปลว่าไง ดีแล้วหรืออย่างนั้นน่ะ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
อารมณ์แห่งธรรม คือ ความคิดความปรุงในคำบริกรรมนี้ แม้จะเป็นความปรุงเหมือนกันกับความคิดปรุงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะกิเลสผลักดันให้คิดให้ปรุง แต่ความคิดปรุงประเภทนี้เป็นความคิดปรุงในแง่ธรรมเพื่อความสงบ ผิดกับความคิดปรุงธรรมดาของกิเลสพาให้ปรุงอยู่มาก กิเลสพาให้คิดปรุงนั้น เหมือนเราเอามือหรือเอาไม้ลงกวนน้ำที่มีตะกอนอยู่แล้ว แทนที่มันจะใสแต่กลับขุ่นมากขึ้นฉะนั้น แต่ถ้าเอาสารส้มลงกวนนั้นผิดกัน น้ำกลับใสขึ้นมา
นี่การนำอารมณ์เข้ามากวนใจ แทนที่ใจจะสงบ แต่กลับไม่สงบและกลับแสดงผลขึ้นมาให้เป็นความทุกข์ร้อนเสียอีก ถ้าเอาพุทโธเป็นต้น เข้าไปบริกรรมหรือแกว่งลงในจิต โดยบริกรรมพุทโธๆ แม้จะเป็นความคิดปรุงเหมือนกันก็ตาม แต่คำว่าบริกรรมนี้ซึ่งเปรียบเหมือนสารส้ม จึงทำให้ใจสงบเย็นลงไป
ท่านผู้สั่งสอนท่านมีเหตุมีผล เพราะท่านได้ดำเนินมาก่อนพวกเรา และรู้มาก่อนแล้วจึงได้นำมาสอนพวกเรา จึงไม่ใช่เป็นทางที่ผิด ความคิดปรุงเช่นนี้เรียกว่าเป็นฝ่ายมรรค เป็นฝ่ายระงับดับทุกข์ทั้งหลาย ความคิดปรุงตามธรรมดาของสามัญชนเราซึ่งไม่มีข้ออรรถข้อธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น เป็นความคิดปรุงที่เป็นสมุทัยอันเป็นแดนผลิตทุกข์ขึ้นมาเรื่อยๆ จนเป็นผลเดือดร้อน
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ถ้าจิตปลงตัวเองไม่ได้แล้ว ไม่มีที่ไหนเป็นที่ควรปลง จะปลงที่ต้นไม้ ภูเขา ดินฟ้าอากาศ ในน้ำ บนบกก็ปลงไม่ลง ถ้าไม่ปลงที่ต้นเหตุซึ่งมันเกิดขึ้น คือ ใจอันเป็นตัวมหาเหตุ
มันเกิดที่ตรงไหนให้พิจารณาลงที่ตรงนั้น มันว้าวุ่นขุ่นมัวที่ตรงไหนให้สนใจดูและพิจารณาที่ตรงนั้น คำว่าตรงนั้นก็คือใจเรานั่นเอง ต้องหาสารส้มมาแกว่งลงไป คำว่าสารส้มก็หมายถึง การบริกรรมภาวนา ในขั้นริเริ่มเป็นอย่างนั้น เช่น กำหนดอานาปานสติหรือกำหนดพุทโธเป็นต้น ตามแต่อัธยาศัยชอบ นำธรรมบทนั้นมาเป็นคำบริกรรม จิตในขณะที่บริกรรมอยู่ด้วยความไม่พลั้งเผลอ ย่อมเป็นเหมือนกับกลั่นกรองอารมณ์ให้เข้าสู่จุดเดียวให้แน่วแน่ลงไป เช่นเดียวกับสารส้มที่แกว่งลงไปในน้ำ ตะกอนก็ต้องนอนก้นลงไป น้ำก็ใสสะอาด แน่ะ เบื้องต้นต้องทำอย่างนี้ก่อน
พอใจมีความสงบอารมณ์ก็ไม่กวน ถ้าเป็นตะกอนก็ลงนอนก้นโอ่ง ขั้นเริ่มแรกต้องทำอย่างนั้น เพียงเท่านี้ก็สบาย แต่ยังไม่ค่อยเกิดความฉลาดหรือเกิดความแยบคายในแง่ต่างๆ เพราะจิตเป็นเพียงความสงบ เมื่อได้ความสงบก็เท่ากับเราได้ความสบาย เพราะความสงบเป็นบาทฐานให้เกิดความสุขความสบาย เรียกว่ามีที่พักของจิต มีหลักมีเกณฑ์พอปลงจิตปลงใจลงได้ นั่งอยู่ก็สบาย นอนอยู่ก็สบาย เพียงขั้นสงบเท่านี้ก็สบาย เห็นผลประจักษ์ใจ
เวลาเจอความสบายจะไม่เจอที่ไหน จะเจอที่จิต เพราะจิตเป็นตัวยุ่งเป็นตัวไม่สบาย เมื่อได้อบรมตนในทางที่ถูกที่ควรตามหลักธรรมแล้ว ก็ปรากฏเป็นจิตสงบเป็นจิตสบายขึ้นมาให้เห็นอย่างเด่นชัดภายในใจ ในอิริยาบถต่างๆ เป็นไปด้วยความสะดวกสบาย อยู่ที่ไหนก็พออยู่คนเราเมื่อจิตมีความสบายเสียอย่างเดียว เรื่องอดเรื่องอิ่ม ขาดตกบกพร่อง มั่งมีศรีสุขอะไรนั้นมันเป็นสิ่งภายนอก ไม่ใช่ของจำเป็นยิ่งกว่าจิตได้หลักยึดได้ธรรมเป็นที่อาศัย ไม่ระเหเร่ร่อนเหมือนแต่ก่อน
สิ่งของปัจจัยเครื่องอาศัยภายนอกก็ไม่เป็นภัย เพราะตัวเองฉลาด มีความรอบคอบต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งมาเกี่ยวข้องกับตน ท่านให้ชื่อว่าสมาธิ ความสงบ เป็นผลเกิดขึ้นจากการอบรมด้วยอารมณ์ของสมถะ คือ บทบริกรรมภาวนา
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
การพิจารณาแก้ไขข้อข้องใจจนปลดเปลื้องตนไปได้ ก็อาศัยปัญญาพิจารณาให้ถูกทางตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้ จนผ่านพ้นไปได้เป็นพักๆ เป็นตอนๆ เรื่อยไปเรียกว่า เรียนความจริง ไม่ใช่เรียนให้เป็นความจำ เรียนเป็นความจำก็อย่างเราเรียนเราท่องตำรับตำราต่างๆ เรียกว่าเรียนเพื่อจำ นี้เรียนเพื่อความจริง คือ ความรู้จริงเห็นจริงตามหลักธรรมชาติที่เป็นจริงซึ่งมีอยู่ทั้งภายนอกภายใน
เรียนเพื่อความจริงย่อมจะไม่มองข้ามสิ่งดีและชั่วที่มีอยู่กับตัว และสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่เสมอ จะเห็นได้ตอนปัญญาเริ่มไหวตัวนั่นแหละ สมาธิมีความสบายมีความสงบ จิตไม่ค่อยวุ่นวาย เป็นความสะดวกสบายภายในใจ คือจิตไม่รบกวนตัวเองด้วยอารมณ์ต่างๆ ที่ได้รับจาก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสที่เคยเกี่ยวข้อง แล้วนำอารมณ์อดีตเข้ามาครุ่นคิด มายุแหย่ก่อกวนจิตใจให้ว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา
เราจะไปตำหนิว่ารูปไม่ดี เสียงไม่ดี กลิ่นไม่ดีก็ไม่ได้ ถ้าหากเราพิจารณาให้เป็นธรรมไม่ลำเอียงไปทางฝ่ายกิเลสก็ทราบได้ชัดว่า จิตใจเราไม่ดีเอง เราโง่เอง ใจคะนองไปรักสิ่งนั้น ไปชังสิ่งนี้ ไปเกลียดสิ่งนั้น ไปโกรธสิ่งนี้ ความรักความชัง ความเกลียดความโกรธ เป็นเรื่องของกิเลส ไม่ใช่เรื่องของธรรม เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงต้องใคร่ครวญด้วยดีเพื่อทราบความคิดปรุงต่างๆ กระเพื่อมขึ้นจากตัวเอง โดยอาศัยสิ่งที่มาสัมผัสนั้นเป็นสาเหตุให้กระเพื่อมขึ้นมา เรียนธรรมะจำต้องเรียนอยู่ที่ตรงนี้
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ขอเชิญร่วมบุญเป็นเจ้าภาพสร้างเจดีย์หลวงศรีนันทจริม (ชเวดากอง) พระธาตุประจำปีเกิดปีมะเมีย ขนาดความกว้าง 17 เมตร สูง 21 เมตร วัดห้วยซ้อ ต.หมอเมือง อ.แม่จริม จ.น่าน
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.