คำเล่าของ หลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก เกี่ยวกับหลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
อาตมาจะเล่าประสบการณ์เท่าที่หลวงปู่ตื้อท่านเล่าให้ฟัง ก็เพราะ ท่านตอบคำถามของอาตมาเกี่ยวกับ นิมิต ความรู้ความเห็นตลอดถึง การนั่งสมาธิสู้กับผีต่างๆ
หลวงปู่ตื้อท่านว่า นิมิตมีหลายแบบ นิมิตนะดีก็มีมาก นิมิตหลง ก็มีมาก แต่มันจะดีหรือมันจะหลอกนั้น ผู้ภาวนาเป็นมันจะรู้เองหรอก คนที่ถูกนิมิตหลอกก็เพราะภาวนาไม่เป็น มันหลงทางนะ
ก็ถ้านิมิตมันหลอกเอาคนไปกินจริง พระพุทธเจ้า พระสาวกเจ้า ครูอาจารย์ ก็คงเหลือแต่กระดูกเท่านั้นซี
คนฉลาด มีปัญญา นิมิตมาหลอกไม่ได้หรอก คนโง่ นั่งเซ่อไม่ลืมหูลืมตาต่างหาก ที่นิมิตพาไปบ้าบอเสียสตินะ ก็สติมันเสียแต่แรกแล้วนะ คนเช่นนั้นน่ะ
นี่ หลวงปู่ตื้อ จึงพูดว่า คนเราเกิดมามีทุกอย่างในตัว มีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีสติ มีความดี มีความโง่ มีปัญญา อยู่ในนั้นแหละ เว้นแต่ว่าเรายังไม่ได้ฝึก เราก็ยังไม่รู้
เมื่อได้ฝึกอบรม มีองค์พระพุทโธอยู่ในจิตใจแล้ว สมควรแล้ว ก็จะรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น
ที่ว่ารู้ รู้อะไรน่ะ ก็รู้เท่าทันกิเลส คนมีปัญญาต้องรู้อย่างนี้นะ อย่าไปรู้เรื่องอื่นๆ ยิ่งไปกว่ารู้เท่าทันกิเลส
เห็น น่ะเห็นอะไร เห็นหนทางที่จะฆ่าจะดับกิเลส เปิดประตูเข้า พระนิพพานไป อย่าไปเห็นสิ่งที่เขาไม่อยากให้เห็นนะ อย่าไปเห็นว่า เป็นผัว อย่าไปเห็นว่าเป็นเมียเขามาก่อนในอดีตชาติ เป็นต้น
อย่างนี้ หลวงปู่ตื้อ เคยเปรียบเทียบว่า : -
“มันมองเห็นเลย ผ้าซิ่นของเขานี่ มันเป็นปัญหานี่ มันเป็นทุกข์นี่ มันไม่มีปัญญาหลบนี่ มันก็เข้าไหปลาร้าเก่าแหละเว้ย”
นี่แหละ พระพุทธเจ้ารู้ชัดว่า พระองค์จะขนหมู่มนุษย์ไปได้ไม่หมด เอาแต่คุณภาพ คือผู้มีปัญญาไปนิพพานได้เป็นส่วนน้อย เหมือนใบไม้ในป่า พระองค์เอาไปได้แต่กำมือเดียวเท่านั้นรู้ไหม ท่านว่าอย่างนี้
นิมิตที่เกิดจากจิตภายในนั้น เราจะต้องฝึกให้เกิดความเห็นที่ถาวร ทำอย่างไร?
หลวงปู่ตื้อ ท่านให้ข้อคิดแก่อาตมา ดังนี้
“เรื่องสมาธิ เรื่องนิมิต ถ้าหากได้ภาวนาอยู่เสมอๆ ไม่มีตัวอยาก จนเกินไป อยากรู้อยากเห็นนะ เป็นตัวกิเลสใหญ่ทีเดียวแหละ”
" เมื่อเรามองเห็นจิตใจเราง่ายอย่างนี้
เราก็ควรที่จะดูแลควบคุมจิตใจของตนเองให้ดี
ให้มีความสงบเกิดขึ้นได้ ก็คือมีความตั้งจิตตั้งใจจริง ๆ
มีฉันทะ.. ความพอใจ ที่จะปฎิบัติฝึกหัดอบรมจิตใจของตน
มีวิริยะ.. มีความพากเพียร ไม่ขึ้เกียจขี้คร้าน มีความตั้งใจ
พยายามจะควบคุมดูแลจิตใจของตนเองให้ สงบ
มีจิตตะ.. เอาใจฝักใฝ่ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ทิ้งการทิ้งงาน
ในการประพฤติปฎิบัติฝึกหัดจิตใจของตน เพื่อจะให้จิตใจของเรา
นั้นสงบเป็นสมาธิก็เรียกว่า..ไม่ละ ไม่ปล่อย ไม่วาง ไม่ทิ้ง
มีความเพียรอยู่
มีวิมังสา..คอยพินิจพิจารณาไคร่ครวญไตร่ตรอง
หาเหตุผลเนื่อง ๆ ด้วยปัญญา ตรวจสอบข้อบกพร่อง
ข้อย่อหย่อนในการฝึกหัดอบรมจิตใจตนเอง และหาทาง
แก้ไขปรับปรุงจิตใจ ตนเองให้สงบเป็นสมาธิ "
โอวาทธรรมคำสอน : พ่อแม่ครูอาจารย์
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
วัดอรัญญวิเวก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
เมื่อเข้าไปหาพระอาจารย์ที่ท่านชำนาญในด้านภาวนาพุทโธ
ท่านก็จะสอนให้บริกรรมว่า พุทโธๆๆ
แล้วให้เอาจิตไปตั้งมั่นอยู่ในบริกรรมนั้น จนชำนาญเต็มที่แล้ว
ก็จะสอนให้พิจารณา “พุทโธ” กับ “ผู้ว่าพุทโธ”
เมื่อพิจารณาเห็นเป็นคนละอันกันแล้ว พึงจับเอา “ผู้ว่าพุทโธ”
ส่วน “พุทโธ” นั้นจะหายไป เหลือแต่ “ผู้ว่าพุทโธ” อย่างเดียว
ให้ยึดเอา “ผู้ว่าพุทโธ” นั้นเป็นหลัก..
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
สมาธิ กับ ปัญญา
เราต้องเข้าใจก่อนว่า
การเจริญภาวนา คือ
การพัฒนาจิตเพื่อให้เกิดปัญญา
เราไม่ได้ต้องการฝึกจิตให้สงบ
เพื่อให้ได้ฌาน (สมาธิ) ในระดับต่างๆ
หรือให้มีฤทธิ์เดช มีอภิญญา หูทิพย์ ตาทิพย์
ในสมัยพุทธกาลก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้
นักบวชในสมัยนั้นมีการฝึกสมถะ (ฝึกสมาธิ)
ด้วยวิธีต่างๆ นานแล้ว
อาจารย์ของพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีฌานในระดับสูง
แต่ก็สามารถข่มกิเลสไว้ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
ส่วนการเจริญวิปัสสนาภาวนา
หรือการเจริญสติ (สติปัฏฐาน ๔)
ซึ่งมีอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น
สามารถจะยังผู้ปฏิบัติให้เป็นผู้มีปัญญา
รู้แจ้งในตนเอง ในสังขารทั้งหลายตามความเป็นจริง
ทำให้ละกิเลสได้ ดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง
ฉะนั้น ให้เข้าใจก่อนว่า
เราฝึกจิตเพื่อให้มีสติว่องไว
ให้มีปัญญาที่รู้เท่าทันต่อกิเลสต่างหาก
...พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี
การอบรมใจที่ว่ายาก ๆ ก็เพราะกิเลสมันฝืนนั่นเอง แต่โปรดทราบว่ากิเลสมันกลัวธรรม ถ้าคนมีธรรมกิเลสก็พลอยกลัวด้วย ไม่กล้ามาทะลึ่งมากนัก เพราะธรรมมีความคมคายกว่ากิเลสอีกมากมาย พูดถึงรสชาติก็ยิ่งกว่ารสชาติของกิเลส พูดถึงความสูงของธรรมกับความต่ำของกิเลสก็หาที่เทียบไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรเหมือนธรรม นี่ก็พอจะทราบได้ว่าธรรมมีประสิทธิภาพสูงเพียงไร กิเลสต่ำเพียงไร ธรรมมีความเบาเพียงไร กิเลสมีความหนักหน่วงเพียงไร ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงชมเชยและเคารพธรรม แต่ทรงตำหนิกิเลส ทั้ง ๆ ที่ทรงผ่านมาเช่นเดียวกัน
ท่านนักปฏิบัติพอจะนำกิเลสโสมมมาชั่งตวงเทียบกับธรรมได้บ้างไหมว่า ทางไหนจะมีน้ำหนักทางคุณสมบัติเชิดชูใจให้มีความเกษมสำราญ และกดถ่วงจิตใจให้ได้รับความทุกข์ทรมานมากน้อยต่างกันอย่างไรบ้าง เท่าที่ทราบมาในวงปราชญ์ คือบุคคลที่แน่นอน มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ล้วนแต่ชมเชยธรรมว่าเป็นนิยยานิกธรรมทั้งนั้น และทรงตำหนิกิเลสว่าเป็นเครื่องผูกมัดมวลสัตว์ให้อยู่ในวงล้อมแห่งวัฏจักร และถูกทรมานให้ได้รับความทุกข์ชอกช้ำอยู่ตลอดกาล ถ้าทราบชัดว่าธรรมเป็นธรรม กิเลสเป็นกิเลส ทำนองเห็นกงจักรเป็นกงจักร เห็นดอกบัวเป็นดอกบัว โดยเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว ควรเลือกหาทางเดินอย่างมั่นใจได้แล้ว เดี๋ยวจะสายเกินไป โปรดรีบ ๆ แจว รีบ ๆ พาย เดี๋ยวตะวันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่าและขายไม่ออก คือรีบเร่งบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติ สมาธิ ปัญญาให้มีกำลังในเร็ววัน
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๘
วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก
ผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์วินัยมาก มีอุบายมากเป็นปริยายกว้างขวาง ครั้นมาปฏิบัติทางจิต จิตไม่ค่อยจะรวมง่าย ฉะนั้นต้องให้เข้าใจว่า ความรู้ที่ได้ศึกษามาแล้ว ต้องเก็บใส่ตู้ใส่หีบไว้เสียก่อน ต้องมาหัดผู้รู้ คือ จิตนี้ หัดสติให้เป็นมหาสติ หัดปัญญาให้เป็นมหาปัญญา กำหนดรู้เท่ามหาสมมติ-มหานิยม อันเอาออกไปตั้งไว้ว่าอันนั้นเป็นอันนั้น เป็นวันคืนเดือนปี เป็นดินฟ้าอากาศ กลางหาวดาวนักขัตตฤกษ์สารพัดสิ่งทั้งปวง อันเจ้าสังขารคือ การจิตหาออกไปตั้งไว้บัญญัติไว้ว่าเขาเป็นนั้นเป็นนี้ จนรู้เท่าแล้ว เรียกว่ากำหนดรู้ทุกข์ สมุทัย เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก รู้เท่าเอาทันแล้ว จิตก็จะรวมลงได้ เมื่อกำหนดอยู่ก็ชื่อว่าเจริญมรรค หากมรรคพอแล้ว นิโรธก็ไม่ต้องกล่าวถึง หากจะปรากฏชัดแก่ผู้ปฏิบัติเองเพราะศีลก็มีอยู่ สมาธิก็มีอยู่ ปัญญาก็มีอยู่ในกาย วาจา จิตนี้ ที่เรียกว่า อกาลิโก ของมีอยู่ทุกเมื่อ โอปนยิโก เมื่อผู้ปฏิบัติมาพิจารณาของที่มีอยู่ ปจฺจตฺตํ จึงจะรู้เฉพาะตัว คือ มาพิจารณากายอันนี้ให้เป็นของอสุภะ เปื่อยเน่า แตกพังลงไป ตามสภาพความจริงของภูตธาตุ ปุพฺเพสุ ภูเตสุ ธมฺเมสุ ในธรรมอันมีมาแต่เก่าก่อน สวางโร่อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้มาปฏิบัติพิจารณาพึงรู้อุปมารูปเปรียบดังนี้ อันบุคคลผู้ทำนาก็ต้องทำลงไปในแผ่นดิน ลุยตมลุยโคลนตากแดดกรำฝน จึงจะเห็นข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวสุกมาได้ และได้บริโภคอิ่มสบาย ก็ล้วนทำมาจากของมีอยู่ทั้งสิ้นฉันใด ผู้ปฏิบัติก็ฉันนั้น เพราะ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็มีอยู่ใน กาย วาจา จิต ของทุกคน
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ทุกครั้งที่เราสร้างคุณงามความดี
เช่นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ หรือสัตว์ก็ตาม
เราจะรู้สึกเป็นสุข อิ่มอกอิ่มใจ ปลื้มใจ
คิดถึงเมื่อไหร่ ก็มีความสุขเมื่อนั้น
สิ่งนี้แหละ...ที่เรียกว่า "บุญ"
มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งไปหาหลวงพ่อชา
"หลวงพ่อคะช่วยรดน้ำมนต์ให้หน่อยค่ะ"
"รดทำไม? "หลวงพ่อชาถาม "จะได้ร่ำรวยสักที จนมานานแล้วเจ้าค่ะ"
หลวงพ่อชาหัวเราะ "ถ้ารดน้ำมนต์แล้วรวย อาตมาจะไปรดให้โยมทำไม? ฉันก็เอาพระเณรทั้งหมด มารดให้รวยคาวัดไม่ดีกว่าหรือ ศักดิ์สิทธิ์กว่า "
"รดน้ำมนต์ไม่เป็น แล้วเจิมรถเป็นไหม...?"
" ไม่เป็นโยม อาตมาเป็นแต่เจิมหัวคน เจิมรถไม่มีประโยชน์อะไร ทำให้รถเปื้อนเปล่าๆ เจิมหัวคนขับรถจะได้ประโยชน์กว่า โยมเอาคนขับรถมา เดี๋ยวอาตมาจะเจิมหัวมันให้
อาตมาจะเจิมหัวให้คนขับรถ แล้วมีคาถากำกับ คาถานี้ เป็นคาถาวิเศษ ท่องทุกวันศักดิ์สิทธิ์ทุกวัน เนื้อคาถาว่า "ไม่ประมาท ไม่ขับไว ไม่หลับใน ไม่แซงทางโค้ง รักชีวิตเรา เมาไม่ขับ" ให้มันท่องอย่างนี้ทุกครั้งที่ขับรถ รับรองปลอดภัย ไม่ต้องไปเจิมรถให้รถมันเปื้อนหรอก รถใหม่ ๆ สวยๆ เสียดาย เอาไปให้พระทำสกปรกหมด"
....หลวงพ่อชา สุภัทโท...
โลกใบนี้ ไม่เคยให้ความสมหวังกับใคร
มีผู้หญิงคนไหนบ้าง ไม่ร้องไห้ ...
เผ็ดร้อน แสบสัน เจ็บปวด รวดร้าว
แค่ไหนก็เจอมา ผ่านมาหมดแล้ว ...
อย่าไปเสียเวลาอีกเลย ...
อุทิศตัวให้เป็นประโยชน์สูงสุด ของการเกิดดีกว่า
หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
คำถามบางข้อของพระนวกะรูปหนึ่ง
ถาม : ท่านอาจารย์ครับ ท่านอาจารย์บอกสอนเทศน์ว่าให้เห็นโทษของรูปกายให้เห็น ปฏิกูล อสุภะ อนิจจัง ทุกข์ของรูปกายนี้ แล้วทำไมจึงต้องพากันบำรุงด้วยข้าวด้วยน้ำอยู่ทำไมต้องรักษารูปนี้อยู่หล่ะครับ ?
ตอบ : เป็นเรื่องของนักบวชนะครับ
เมื่อคุณมาบวช เมื่อผมมาบวชเมื่อใครๆ มาบวชต่างก็เป็นนักบวชเป็นบรรพชิต ก็ต้องมาศึกษามาประพฤติในเรื่องของผู้บวชควรจะทำ คือละความพอใจในร่างกายตน ในรูปร่างอื่น จนที่สุดให้สิ้นกำหนัดกำเหน่า
แต่การที่ต้องบำรุงบำเรอไว้ด้วยปัจจัยทั้ง ๔ ก็ทำไปตามหน้าที่ของผู้ที่มีชีวิตอยู่ หากไม่รักษาชีวิตแล้วจะเอาชีวิตแล้วจะเอาชีวิตที่ไหนมาทำดี เป็นแต่ว่ามิให้มากไปหนักไปตกไปในด้านรักหลงและด้านจงเกลียดจงชัง
ที่ว่าให้เห็นโทษของรูปกายก็เหตุว่า ร่างกายนี้กายตนบ้าง กายผู้อื่นบ้าง เป็นที่ตั้งเป็นที่เกิดของทุกข์ของกิเลส
ทุกข์ต้องปรนนิบัติดูแลรูปร่างนี้ เมื่อทุกข์ก็ต้องบำบัด
และต้องใช้ร่างกายนี้อย่างหนักเพื่อเลี้ยงร่างกายนี้ให้คงอยู่ต่อไป
เมื่อมีร่างกายแล้ว กิเลสตัณหานานาประการก็เกิดขึ้นอีกมาก เช่นความกำหนัดความขัดเคือง ความลุ่มหลง มัวเมา ความอยาก
ยิ่งเฉพาะวัยหนุ่มๆ กำดัด เช่นนี้ ย่อมมีแรงผลักดันจากภายในมาก โหมมากต้องการมาก เพราะเห็นว่าแปลกใหม่ หวั่นไหวต่อสิ่งยั่วยุยั่วยวนได้ไว ถูกดึงไปได้ง่ายและที่สำคัญใจจดจ่อกับความสุขทางอารมณ์ ชอบใจในความสำเร็จด้านความรัก ให้ความสำคัญกับการลุล่วงในกามารมณ์เนื้อหนังเป็นอย่างมาก
แต่ความสุขจากกามก็มีอยู่บ้าง แต่น้อยมาก และฉาบฉวย หากแต่มีโทษมีทุกข์มากเป็นที่สุด แต่ก็อย่างว่า สัตว์โลกทั้งหลายส่วนใหญ่ก็ยังพอใจในสุขของกามอยู่กามเกิดจากวัตถุ กามเกิดจากกิเลส กามเกิดจากใจ
และเมื่อท่านได้สละมาบวชแล้วเช่นนี้
ผมจึงได้แนะนำว่า ปีติสุขอันเกิดจากวิเวกธรรม เกิดจากศีล เกิดจากความสงบ เกิดจากสมาธิ จากปัญญา จากวิมุตติ จึงอยากให้ทดลองปฏิบัติค้นคว้าดูด้วยตน
ให้ดูให้ดีกายนี้ทวารโดยรอบเป็นแผลใหญ่ มีหนังสดห่อหุ้มปกปิด คายของโสโครกออกมาตลอดเวลา ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑ (ช่องคลอดของสตรี) ขี้ตา ขี้หู ขี้ดัง ขี้ปากขี้ฟัน ขี้เหม็น ขี้เยี่ยว ขี้ระดู ทั้งตัวมีขี้ไคล ต้องคอยขัดสี อาบอบ และลูบไล้ด้วยเครื่องฉาบทาต่างๆ อยู่เสมอ จึงพอดูได้ เข้าใกล้กันได้
สรุปว่าผู้ที่ยังมีราคะอยู่ ย่อมหลงใหลใฝ่ปอง
แต่ผู้สิ้นราคะแล้ว รูปกายนี้ก็เป็นแต่ที่รวมของซากอสุภะมี ๓๒ อาการมีไฟมีลมมีอากาศ เจือแทรกอยู่เท่านั้น
ไม่เป็นที่เร่าเร้า ไม่เกิดกำหนัดราคะ ขัดเคือง มัวเมา หรือทุกข์ใดๆ ได้อีก เป็นแต่เปรียบกับเรือหรือ รถ คือเป็นพาหนะไปมาข้ามฟากเท่านั้น
ในหนังสือพุทธโอวาทคิริมานนทสูตรขององค์ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ วัดบรมนิวาสที่ผมให้ใส่ใจอ่านศึกษานั้น ก็บอกไว้ว่า พหุทุกฺโข โขอยํกาโย พหุอาทีนโว กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก
รวมความว่ามาบวชเพื่อปฏิบัติธรรมให้ไปสู่ความสิ้นความทุกข์
ขอให้พิจารณาให้ดี ๑. กินแล้วนอน แล้วนึกหากาม
๒. กินแล้วศึกษาพระธรรมวินัยยกใจให้พ้นจากทุกข์ใดๆ จะเอาอย่างใด ก็สุขแท้แต่
ขอเชิญร่วมสร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ถวายเป็นพุทธบูชาบริเวณโบสถ์วัดเนินมหาเชษฐ์ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
ขอเชิญ...ร่วมทำบุญสมทบทุนโรงทาน ก๋วยเตี๋ยวบะหมี่เกี๊ยวตุ้ม
เนื่องในงาน ครบรอบ 50 วัน แห่งการละสังขาร
หลวงปู่พระมหาโส กัสโป วัดป่าคำแคนเหนือ อ.มัญจาคิรี จ.ขอนแก่น
ในวันที่ 5-6 เมษายน 2559
https://www.facebook.com/photo.php?fbid ... 899&type=3ถวายระฆังแขวนบูชารอบองค์พระธาตุ 309 ลูก
รับเจ้าภาพระฆังบูชาพระธาตุ ปีที่ 2 จำนวน 309 ลูก
สอบถามรายละเอียด แจ้งชื่อ ขอรับใบอนุโมทนาบัตร 0841768765
ขอบอกบุญกับสาธุชนทุกท่านได้ร่วมสร้างศาลาหอฉัน
เพื่อใช้สำหรับฉันภัตาหารของพระภิกษุสามเณรวัดป่าขาม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ขอเชิญท่านร่วมเป็นเจ้าภาพ บล็อคก่อก้อนละ 6 บาท ตอนนี้ยังขาดอีกจำนวน 500 ก้อน
ขอเชิญร่วมบุญ
https://www.facebook.com/own.nongnapad/ ... 6097080977ขอเชิญหล่อพระประธาน
https://www.facebook.com/54762388194715 ... 12/?type=3พระมหาบุญช่วย ปัญญาวชโร ศูนย์ปฏิบัติธรรมคลายทุกข์ บ้านหนองปลวก ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี จากรายการธรรมคลายทุกข์ แจ้งข่าวงานบุญในรายการดังนี้
เจ้าภาพทอดผ้าป่า เพื่อสมทบทุนแผ่นหลังคาเมทัลชีท สร้างศาลาปฏิบัติธรรม ณ วัดวิปัสนาดงเย็น บ้านดงเย็น อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
- แผ่นละ 1,800 บาท
โดยจะมีพิธีทอดผ้าป่าในวันที่ 23 - 24 เมษายน 2559 ณ วัดวิปัสนาดงเย็น จ.สุพรรณบุรี
ร่วมบุญกับพระมหาบุญช่วย ปัญญาวชโร
โทร 081-259-0043