Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ยินดีในปัจจุบัน

อังคาร 12 เม.ย. 2016 7:30 pm

ยินดีในปัจจุบัน‬ คือ ปฏิบัติถูกทาง

บางท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้าเบื่อชอบแล้ว หน่ายชอบแล้ว พ้นชอบแล้ว ในเรื่องอดีต อนาคตนี้ แต่ทุกวันนี้อาศัยอยู่แต่ในปัจจุบันเท่านั้นดังนี้ก็มี
แต่ข้าพเจ้าผู้เขียนเข้าใจว่า ผู้ยินดีในปัจจุบัน แปลว่าเป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง เดินมรรคภาวนาถูกทาง แต่ยังมิได้หลุดพ้นถึงขั้นอรหันต์ เป็นเพียงเดินมรรคใดมรรคหนึ่งอยู่เท่านั้น และได้รับผลใดผลหนึ่งอยู่ในตัวเท่านั้น ยังมิใช่อรหัตผล เป็นเพียงได้ดื่มปีติความอิ่มใจที่พอใจในสมถะและวิปัสสนาในปัจจุบัน แล้วหลงยึดถือเอาปัจจุบันเป็นพระนิพพาน
ปัจจุบันมิได้เป็นพระนิพพาน เป็นเพียงทางเดินเข้าสู่พระนิพพานเท่านั้นเอง ด้วยอำนาจมรรคสามัคคี มรรคสามัคคีกับศีล สมาธิ ปัญญารวมพลกันในขณะเดียวกันไม่มีอันใดก่อนไม่มีอันใดหลัง ในชั้นติดอยู่ในปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมนี้ มิใช่เดินทางถึงปลายทางแล้ว เป็นเพียงใช้คำว่าเดินถูกทางเฉย ๆ
ท่านผู้ถึงอรหัตผลแล้วมิได้ติดข้องอยู่ในอดีต อนาคตหรือปัจจุบันหรือสูญ ๆ สาญ ๆ หรือไม่สูญไม่สาญหรืออะไร ๆ ใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าติดอยู่เงื่อนใดเงื่อนหนึ่งแห่งปัจจุบันแล้ว วิญญาณปฏิสนธิก็มีเกิดมีตายอยู่ในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมนั้นเอง
ความทะเยอทะยานในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม เป็นสมุทัยและตัณหาอันละเอียดมาก เมื่อเป็นตัณหามันละเอียดก็เป็น อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ฯลฯ อันละเอียดอยู่ในตัวด้วยไม่ต้องจำกล่าวไปใยก็ได้
เหตุไฉนจึงติดอยู่ในปัจจุบัน จนลืมตัว จนสำคัญตนว่าตนพ้นไปแล้วโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุว่า สำคัญตนเป็นปัจจุบัน และ สำคัญปัจจุบันว่าเป็นตน ใน ๒ แง่นี้ แล้วก็แตกแยกออกไปอีกเป็นอีก ๒ แง่รวมเป็น ๔ คือ สำคัญว่า ผู้อื่นเป็นปัจจุบัน สำคัญว่า ปัจจุบันเป็นผู้อื่น
เมื่อสำคัญว่าตนมีอยู่ในปัจจุบัน สำคัญว่าปัจจุบันมีอยู่ในตน แล้วจะไม่หลงไปยึดถืออดีต อนาคตว่าเป็นตัวตนเราเขาสัตว์บุคคลนั้นเป็นไม่มีเลย เป็นเพียงสติปัญญาไม่กล้า แล้วก็เข้าใจผิดฟิตตัวขึ้นว่าละได้แล้วเรื่องอดีตอนาคต ความสำคัญตัวย่อมเป็นรากเหง้าของกิเลสอยู่โดยตรง ๆ แล้ว จะปฏิเสธไปไหนก็ไม่รอดได้เลย
อดีต อนาคต ปัจจุบันก็คล้าย ๆ กับปลาตัวเดียวกัน แต่หัวและหางไม่กิน เพราะไม่อร่อย แต่เป็นยาเสพติด มากินพุงของมันที่ตรงกลางตัวแล้วจะยืนยันว่าเราไม่กินปลาตัวนั้นดอก ดังนี้ก็ไม่พ้นตกอยู่แบบฉลาดแต่แกมโกงซึ่ง ๆ หน้า ท่านผู้ทรงคุณปัญญาคมคายชำแรกกิเลส ย่อมรู้ได้ไม่ต้องดำดินบินบน เหมือนนกและปลาไหล ก็รู้ได้ไม่ค่อยผิด
ปัญญาย่อมเป็นนายหน้าของธรรมทุกประเภท ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ทางโลกีย์หยาบ ๆ ที่เป็นนายหมวด นายพรรคนายพวก นายพัน นายพลเป็นต้น ต้องเอาผู้ฉลาดเป็นหัวหน้า ทางพุทธศาสนาว่าบัณฑิต ปัณฑิตา ปรินายกา บัณฑิตเท่านั้นจึงควรเป็นหัวหน้าของกาย วาจา คือใจที่ประกอบด้วยปัญญา นัตถิพาลา ปรินายกา คนพาลมิควรเป็นหัวหน้า ใจที่เป็นพาลไม่ควรเป็นหัวหน้าของกาย วาจา นี้น้อมเข้ามาในฝ่ายปฏิบัติทางธรรมปรมัตถ์ เพื่อให้รู้ชัดปฏิบัติสะดวกเป็นโอปนยิโกไม่ส่งส่ายหนีหลักเดิม
การนึกคิดทั้งปวงออกไปจากคอกใจ ต้องกลับเข้าคอกใจ ใครเป็นเจ้าของใจ ใจที่มีกิเลสย่อมยึดถือเอาใจเป็นตน ตนเป็นใจ ใจที่ไม่มีกิเลสสิงจะบัญญัติและไม่บัญญัติก็มิได้ติดอยู่ในเงื่อนใด ๆ ทั้งสิ้น นี่ธรรมในพระพุทธศาสนาลึกซึ้งเพียงใดเล่าโลกาเอ๋ย เหตุนั้นพระบรมศาสดาตรัสรู้ใหม่ ๆ จึงใช้กิริยาระอา(ที่)จะสั่งสอนโลก และเป็นธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายต้องใช้กิริยาอย่างนั้นก่อน จึงเป็นเหตุให้พรหมได้อาราธนาตามธรรมเนียม

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต






โยมถาม.. ศีล ๕ หรือศีลข้ออื่นๆ เกี่ยวข้องกับการทำสมาธิหรือไม่อย่างไร ?

หลวงพ่อพุธ ตอบ “... ศีล ๕ หรือศีลอื่นๆ มีความเกี่ยวพันต่อการปฏิบัติสมาธิอย่างมาก ศีลเป็นการปรับพื้นฐาน ปรับโทษทางกายวาจา ซึ่งเปรียบเสมือนเปลือกไข่ ส่วนใจเปรียบเหมือนไข่แดง การทำสมาธิ เหมือนการนำไข่ไปฟัก จึงต้องรักษาเปลือกไม่ให้มีรอยร้าว รอยแตก เราจึงจำเป็นต้องรักษาศีล ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ จึงจะได้ผลในทางสมาธิ

ทีนี้ถ้าหากจะถามว่าคนที่มีศีล ๕ จะสามารถปฏิบัติให้ถึงมรรคผลนิพพานได้ไหม เป็นข้อที่ควรสงสัย อย่างพระเจ้าสุทโธทนะ นางวิสาขา ก็มีศีล ๕ แล้วปฏิบัติ ก็บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ เพราะฉะนั้นศีล ๕ นั้นก็เป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ เกิดสติปัญญา เกิดมรรค ผล นิพพานได้ ...”

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงพ่อพุธ ฐานิโย




"...การทำสมาธิ จะบริกรรม พุทโธก็ได้
ธัมโม สังโฆ ก็ได้ แล้วแต่เราจะทำ
จนจิตใจของเราสงบ จากความนึกคิดต่างๆ นานา
จิตลงเป็นหนึ่งได้นี่ เรียกสมถะภาวนา ทำใจให้สงบ
เมื่อใจเราสงบแล้ว ก็เอาจิตใจมาภาวนา
พิจารณาให้มันรู้เท่าตามเป็นจริงขึ้นมา
เมื่อรู้เท่าตามเป็นจริงได้ ก็เป็นวิปัสสนา..."
(โอวาทธรรมคำสอน..องค์หลวงพ่อชา สุภัทโท)




ถ้าหากเรามีศีล มีธรรมจริงๆแล้ว
ทั้งกายทั้งจิตของเราแล้ว
เราจะอยู่ที่ไหนมันก็สบาย
มันก็มีความสงบ มันมีความระงับ
(หลวงปู่ชา สุภัทโท)




ถ่ายเรื่อยภาพ ไปไหนถ่ายเรื่อย ไม่รู้อะไร ถ่ายทั้งวัน ถ่ายเข้ามาดูความผิดพลาดในตัวเองไม่ค่อยถ่าย ถ่ายเพลินเป็นบ้าไปข้างนอก ถ่ายโน้นดูนั้นดูนี้ ความผิดมันอยู่ที่ใจที่กายที่วาจาของตัวเองนี้ ไม่ค่อยถ่ายฉายเข้ามาดูนี่ มันยังไงลูกศิษย์พระพุทธเจ้าน่ะ อ้าว จริง ๆ นะ พระพุทธเจ้าท่านฉายดูนี้จนหมด จนรู้แจ้งแทงทะลุเป็น โลกวิทู รู้แจ้งทั้งโลกนอกโลกในตลอดทั่วถึง แล้วก็ฉายดูโลก ดูโลกนอก โลกวิทู ดูโลกนอก คือดูโลกในตลอดทั่วถึงหมดเรียบร้อยแล้วก็ดูโลกนอก ทีนี้ก็ประกาศธรรมสั่งสอนโลกเรื่อย ๆ มา
.
พวกเราไปที่ไหนมีแต่ฉายดูนั้นแล้วฉายดูนี้ ไม่ฉายดูตัวเองมันเป็นยังไงบ้าง ไปฉายบ้างซิกล้องมีอยู่ทุกคน กล้องคือสติ กล้องคือปัญญา ฉายดูความผิดถูกชั่วดี จะเกิดขึ้นที่จิตก่อนอื่น คิดชั่วคิดดีจะเกิดขึ้นที่จิต สติปัญญาฉายลงที่จิต จะเห็นทั้งความผิดความถูกที่นั่น พร้อมทั้งอุบายที่จะแก้ไขดัดแปลงตัวเองยังไงบ้างด้วยสติปัญญาเหมือนกัน แล้วจะค่อยกระจ่างแจ้งออกไปจากนี้ เมื่อกระจ่างแจ้งออกไปอย่างนี้ มองไปไหนก็เห็นล่ะซิ เมื่อจิตสว่างแล้วก็เห็น เหมือนตาเราสว่าง ไม่เหมือนคนตาบอด มองไปไหนก็เห็น คนตาบอดมองไปไหนก็ไม่เห็น ต่างกัน ใจบอด ใจไม่ใช้สติไม่ใช้ปัญญา มองไปไหนก็ไม่เห็น
ถ่ายภาพนี่ถ่ายทั้งวันก็เห็นแต่กล้อง ไม่เห็นความผิดความถูกของตัวเอง เพราะไม่ได้มองความผิดความถูกที่ฉายหรือแสดงทั้งวันอยู่ในตัวเองก็ไม่เห็น เพราะฉะนั้นให้นำเอากล้องนี้ไปเป็นตัวอย่าง ใช้สติปัญญาซึ่งเป็นกล้องอันละเอียดยิ่งกว่านี้ ดูความผิดถูกชั่วดีของตัวเองแล้วจะได้เห็น เมื่อเห็นแล้ววิธีการใดที่จะดัดแปลงแก้ไขตัวเอง ซักฟอกตัวเอง เอา แก้กันลงไปตรงนั้นก็ค่อยดีขึ้น ๆ มันมัวหมองที่ตรงไหนพ้นสติปัญญาไปไม่ได้ จะค่อยรู้แจ้งเห็นชัดขึ้นโดยลำดับ นี่ละกล้องพระพุทธเจ้า กล้องแห่งธรรมเป็นอย่างนั้น

หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓(บ่าย)






ขรัวโต สอนพระกรรมฐาน ตอน ๑๐...

"เมื่อดูจิต เพ่งจิต ดูจิต ก็เรียกว่า มรรค
ผลของจิตดูจิต คือ นิโรธ คือตัวดับ"

ให้ลดให้ถึงที่สุด คือ ละนั่นเอง
ต้องหัด ละ วิตก วิจารณ์
เมื่อมี ปิติสุข เกิดขึ้นก็ให้รู้ แล้วก็ปล่อยวาง
อย่าไปติดในสุข อย่าไปติดใน ฌาณ
ให้เหลือเพียงอย่างเดียว คือ เอกัคตารมณ์ ให้ทรงอยู่อย่างนั้น

ไม่ต้องสนใจอย่างอื่น ว่าจิตเราพัฒนาไปถึงใหน
ไม่ต้องต้องการอะไร

เมื่อพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ อย่างนี้แล้วไซร้
อำนาจจิตเกิดแล้ว ก็ไม่ต้องไปถามใครว่าสมาธิเป็นแบบใด
ต้องทำอย่างไร มันจะสอนด้วยตัวของมันเอง

เมื่อถึงเวลาไม่อยากรู้ก็รู้เอง ยิ่งอยากยิ่งไม่ได้
ยิ่งต้องการยิ่งไม่เจอ ยิ่งคิดก็ยิ่งทุกข์

แต่ถ้าเจ้าปล่อยวางแล้วไซร้
มันก็จะเบากาย เบาใจ ทุกข์ก็ระงับ ความสงบก็บังเกิด
เมื่อความสงบบังเกิด ปัญญาก็เกิด เป็นธรรมชาติโดยอัตโนมัติ

หลักคือต้องมี สติ อันเป็นรากฐานของมรรค ๘ นั่นเอง
ย่นย่อ เป็น ศิล สมาธิ ปัญญา

สติกำกับรู้ ศิลก็คือ กาย วาจา ใจ สงบแล้ว
เมื่อสงบสมาธิก็บังเกิด ธรรมดาปัญญาก็เกิดตามมา นั่นเอง

เรียกว่า มรรค คือทางสายกลาง

ต่อจากนั้นก็พิจารณากาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือ ขันธ์ ๕
หรือพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ต่อไป





เมื่อเวทนาดับไปแล้วอย่างนี้
ตัณหาจะเกิดขึ้นมาแต่ที่ไหน
เพราะไม่มีสื่งที่จะยึดเหนี่ยวเป็นอารมณ์
ตัณหาคือความทะยานอยากก็ดับไป
เมื่อตัณหาคือความทะยานอยากในอารมณ์ต่างๆไม่มี ดับไปแล้วอย่างนี้
อุปทานคือความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์และสิ่งต่างๆ ไม่มี ก็ย่อมดับไปตามๆกัน เมื่อไม่มีอุปทานความยึดมั่นถือมั่นแล้ว
จะไปเกิดได้อย่างไร เพราะเรามารู้ว่าร่างกายของคนเราเกิดขึ้นมา
มีธาตุ4ขันธ์5อยู่ด้วยกัน
เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ย่อมแปรปรวนแตกสลาย
ย่อยยับดับไปเป็นธรรมดาอยู่ในโลกนี้
แม้สังขารทั้งหลายก็ดีเมื่อมีความเกิดขึ้น
ก็ย่อมมีความแปรปรวนแตกสลายย่อยยับดับไปอย่างเดียวกัน
ฉะนั้นเมื่อเรามารู้แจ้งเห็นจริงอย่างนี้แล้ว
เราก็จะสละละปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น
ถ้าเราดับความยึดมั่นถือมั่นได้แล้วอย่างนี้
ภพชาติก็ย่อมดับไปตามๆกัน เมื่อไม่มีภพมีชาติเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้
ก็ไม่มีความแก่ชราและไม่มีความทุกข์ ความโศกเศร้า โศกา อาดูร แล้วก็ย่อม ไม่มีความตาย"

หลวงพ่อเปลี่ยน ปัญญาปทีโป






ถ้าได้ฝึกฝนอบรมสติปัญญาจนมีกำลังแล้ว เพียงจิตกระเพื่อมเท่านั้น ก็เป็นการปลุก “สติปัญญา” ในขณะนั้นพร้อมๆกัน เพื่อรู้สึกในความคิดปรุงนั้น ๆ ปัญญาก็ตามพิจารณากันทันทีไม่อืดอาดเนือยนาย เมื่อเข้าใจแล้วก็ปล่อยวาง
แต่เรื่องจิต ไม่มีเพียงเรื่องเดียว มันหลายเรื่องด้วยกัน
"จิตคิดแง่นี้แล้วก็ปรุงแง่นั้น ร้อยสันพันคม ซึ่งล้วนเป็นกลมายาของกิเลสสมุทัย พาให้จิตคิดปรุง "
สติปัญญาก็ตามพิจารณากันเรื่อย ๆ สุดท้ายจิตก็เข้าใจ เพราะการตามต้อน และพิจารณาด้วยเหตุผล พอใจได้รับเหตุผลที่ถูกต้องแล้ว จิตก็ปล่อยสิ่งนั้น ไม่ไปกังวลยึดถืออีกต่อไป และปล่อยวางกันไปเรื่อย ๆ

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน




ขอเชิญร่วมบุญสร้างสมเด็จองค์ปฐม องค์ที่1.(พระชำระหนี้สงฆ์)หน้าตัก 4 ศอก..และร่วมบุญสร้างอาคารพระชำระหนี้สงฆ์ ข้างล่างจะเป็นห้องเอนกประสงค์ ห้องต่อไปก็เป็นห้องพักผู้มาปฏิบัติธรรม
วัดโพธิ์ทอง บ้านหนองเรือ ต.ไชยวาน อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี





ขอเชิญร่วมบุญเป็นเจ้าภาพหล่อสมเด็จองค์ปฐมทองคำขนาดหน้าตักกว้าง๑.๙นิ้ว(น้ำหนักทอง๑๒บาท)เพื่อประดิษฐานไว้ในบุษบกหนเาพระประธานศาลาปฎิบัติธรรม สำนักสงฆ์บ้านบัว ตำบลลุ่มระวี อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
หล่อวันอาทิตย์ที่๑๙มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา๑๔.๓๙น.
ณ โรงหล่อพรหมรังสี ถนนพุทธมณฑลสาย๔ ซอยกระทุ่มล้ม๑๙ ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
สอบถามรายละเอียดโทร061-9491599
ตอบกระทู้