สำรวมใจไว้ให้ดี จิตเป็นศีล สมาธิเป็นปัญญา พระพุทธเจ้าให้น้อมเข้ามา เราต้องการเห็นใจ หนังห่ออยู่เป็นกาย หนังไม่รู้เรื่อง เป็นสมมุติ มันเป็นธรรมชาติ เป็นธาตุไม่รู้ มันอนิจจังตลอดกาล เป็นของเกิดมาตาย ไม่ได้เกิดมาเป็นเรา ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นของเรา ของเกิดมาตายเขาไม่รู้เรื่อง น้อมเข้ามา ธรรมไม่ได้อยู่ข้างนอก กิเลสมันอยู่ข้างใน พระพุทธเจ้าสอนให้เอาจิตเกี่ยวข้องกับธรรม ธรรมก็คือของเกิดมาดับ ธรรมก็คือของเกิดมาตาย รูปหรือนาม ก็เกิดมาตาย เกิดมาตายไม่มีอะไร ไม่มีอะไรเป็นสาระไม่มีอะไรเป็นตัวตนเป็นแก่นสาร มีแต่ของเกิดมาตายทั้งนั้น ถ้าเราเห็นชัดว่ามันเป็นของเกิด จิตมันตื่น มันถอนตัวออกทันที ทำไมจึงตื่น ทำไมจึงถอนตัว เพราะของที่ต้องเกิดนั้นเป็นของที่ต้องดับอยู่แล้ว ดูแลห่วงแหนขนาดไหนก็ช่างเถอะ มันตายไปทุกขณะ ตายแล้วก็เน่าก็เปื่อยก็ทิ้งกันไป มันเกิดมาเน่ามาเปื่อย หาประมาณมิได้
หลวงปู่ แบน ธนากโร. วัดดอยธรรมเจดีย์ ม. 3 ตำบลตองโขบ กิ่งอ.โคกศรีสุพรรณ สกลนคร
ดับที่จิต ดับขณะที่ใจของเรา หยั่งเข้าหาจิต ถึงเมื่อไหร่ดับทันที
ความรู้ก็ไม่ใช่ของตน รู้แล้วให้ปล่อยวาง
นิพพานแปลว่าดับไป ดับทุกสิ่งทุกอย่าง จะเป็นอะไรก็ช่าง ถูกทั้งนั้น ผิดทั้งนั้น
ราคะยังชุ่มอยู่ ราคะเกิดขึ้น หาตัวราคะ ธรรมทั้งหลายเกิดที่จิต หาที่จิต ธรรมทั้งหลายเกิดที่จิต ดับที่จิต ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ ดับที่เหตุ เหตุเกิดจากจิต
ธรรมที่เป็นฝ่ายไหนก็ตาม เกิดจากจิตทั้งนั้น จิตเป็นเหตุของการเกิดธรรมทั้งนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมทั้งนั้น
ธรรม คือ ธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วดับไป
เพ่งเข้าหาจิต ดูเข้าหาจิต หยั่งเข้าหาจิต เข้าหาจุดที่ไฟมันเกิด ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ (เหตุคือจิต) ดับมันทันทีที่มันเกิดมา ธรรมทั้งหลายเกิดจากจิต หยั่งเข้าหาจิต หยั่งเข้าหาจิตขณะใด ธรรมนั้น จะเป็นส่วนใดก็ช่าง ธรรมนั้น ดับทันที
ดับขณะที่ใจของเรา หยั่งเข้าหาจิต ถึงเมื่อไหร่ดับทันที
เป็นหลักที่ต้องยึดเป็นหลักการ อย่าไปลูบคลำ ลูบไปคลำไป ลูบอย่างนั้นลูบอย่างนี้ เหมือนกับเอาเชื้อไฟ ไปใส่มัน ดับไปดับไปตายซ้ำ
ดับไม่ถูกจุด เป็นอย่างนั้น ดับถูกจุด จุดที่ไฟจะดับก็คือสวิสต์ไฟ เพราะไฟมันจะเกิดเกิดตรงนั้น
จิตของเราเป็นจุดที่เกิดของธรรมทั้งหลาย จิตของเราเป็นสถานที่ดับของธรรมทั้งหลาย
ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ ดับเพราะเหตุนั้นดับ พระศาสดาแสดงเหตุแห่งธรรมนั้นดับ
จิต ตัวนั้นแสดงเหตุ เป็นตัวเหตุ เป็นมหาเหตุ
หลวงปู่ แบน ธนากโร. วัดดอยธรรมเจดีย์ ม. 3 ตำบลตองโขบ กิ่งอ.โคกศรีสุพรรณ สกลนคร
พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
...
อันพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ พระองค์ก็ไม่ได้ปรารภถึงเรื่องอื่นใดหรอกความจริงน่ะ... ถึงแม้ว่าพระองค์จะปรารภเรื่องอื่นก็เพื่อเป็นอุทาหรณ์ ให้ผู้ฟังได้มากำหนดรู้แจ้งใน "รูปกับนาม" นี้แหละ
แต่ถ้าหากว่า พระองค์จะแสดงแต่รูปกับนาม หรือว่าขันธ์ห้านี้โดยตรงเรื่อยไปนี่คนฟังมันก็เบื่อ คนผู้มีอินทรีย์ยังอ่อนอยู่นั้นแทบจะไม่รู้จักเลย รูปธรรมเป็นอย่างไร นามธรรมเป็นอย่างไร แทบจะไม่รู้เลย นั่นแหละเมื่อพระองค์ได้อุปไมยอุปมาอะไร มาประกอบเข้าด้วยแล้วก็จึงพอรู้ได้ ..เป็นอย่างนั้น
ก็ความจริงแล้วดวงจิตของคนเราก็มาหลงอยู่กับรูปกับนามนี้ นี่แหละก่อนอื่นทั้งหมดเลยมันหลงอยู่กับรูปกับนามนี้ก่อนอื่น เมื่อมันหลงอยู่กับรูปกับนามนี้แล้วมันก็จึงหลงออกไป ในเรื่องอื่นนอกจากรูปกับนามอันนี้ออกไป เรียกว่า หลงไปทั่วแหละเมื่อมันได้หลงภายในนี้แล้วนะ
แต่ถ้ามันรู้แจ้งนามกับรูปอันนี้ตามเป็นจริงแล้ว มันก็รู้แจ้งไปหมดเลยในวัตถุต่างๆในโลกสันนิวาสอันนี้ เพราะว่ามันมีสภาวะเหมือนกันนะ เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นแหละพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ไม่ควรที่จะเบื่อหน่ายในคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรมาศึกษาสดับตรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้านี้พระองค์สอนให้เราละ "ความหลง ความไม่รู้" นี้นะออกจากจิตใจนี้
ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ "ความพ้นภัยจากรูปนาม"
อุปาทาน โดย หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
ให้พวกเราหมั่นอบรมจิตใจ พระพุทธเจ้าสอนให้อบรมจิตใจให้ดี ให้สงบเสียก่อน เพราะจิตใจที่สงบตั้งมั่นแล้ว เป็นบาทของวิปัสสนา จิตตั้งมั่นแล้ว ปัญญามันเกิดขึ้น มันจึงรู้เท่าสิ่งทั้งปวง บรรดาสิ่งทั้งปวงในโลก มันตกอยู่ในไตรลักษณ์หมดทั้งนั้น รู้เท่าอันนี้ รู้เท่าสิ่งทั้งปวงแล้ว เราจะปล่อยวางอัตตภาพ สิ่งทั้งปวงก็แม่นก้อนธรรมนั่นแหละ ก็เรานั่นแหละไม่ใช่อื่น ก้อนสมมุติหมดทั้งนั้น ว่าผู้หญิง ว่าผู้ชาย ว่าผู้ดี สมมุติหมดทั้งนั้น จริงก็จริงสมมุติ สมมุติไม่พอ พระพุทธเจ้าบัญญัติทับลงอีก เรียกว่าธาตุ ธาตุ ๔ รูปธาตุ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ พระพุทธเจ้าบัญญัติทับลงไปอีกว่าอายตนะ จักขุวิญญาณัง โสตวิญญาณัง ฆานวิญญาณัง ชิวหาวิญญาณัง กายวิญญาณัง มโนวิญญาณัง เรามาหลงสมมุติ จกฺขํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ
เพราะมันหลงสมมติ ว่าผู้หญิง ว่าผู้ชาย ว่าตัว ว่าตน ว่าเรา ว่าเขา แล้วเข้าใจว่า ตาเป็นที่รักใคร่พอใจของตน โสตะ หูก็เป็นที่รักของตนในโลก ฆานะ จมูกเป็นที่รักของตน ชิวหะ ลิ้นเป็นที่รักของตน สัมผัส เย็นร้อนอ่อนแข็งก็ดี เป็นที่รักของตน ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ เกิดขึ้น อดีต อนาคตมารวมอยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ ตัณหาคือสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัวสมุทัยเราไม่รู้เท่ามัน จึงเป็นเหตุให้เกิดกิเลสมารขึ้น ความไม่รู้เท่าสังขาร มันจึงทำให้เกิดกิเลสมาร ครั้นเกิดกิเลสมารเป็นทุกข์ ความทุกข์มาจากไหน มาจากตัณหา ตัณหา ความใคร่ในรูปเสียง เรียกว่า กามตัณหา เป็นสิ่งที่มีวิญญาณก็ตาม ความใคร่ ความพอใจ รักใคร่พอใจ เกิดแล้วก็อยากได้ อยากเป็น อยากมี อยากดี อยากเด่น อยากเป็นนั่นเป็นนี่ เรียกว่า ภวตัณหา ความไม่พอใจ เหมือนผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว ความแก่งอมแห่งชีวิตอินทรีย์ของขันธ์ มีรูป มีนาม เกิดขึ้น ไม่พอใจ เกลียดชัง ไม่ชอบ เรียกว่าวิภวตัณหา ตัณหาทั้งสามนี่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เผามัน
ในเบื้องต้นมันจะเกิดเป็นรูปเป็นนาม ปฏิสนธิ มันก็อาศัยกาม จึงเรียกกามตัณหา ความรักใคร่ ความพอใจ มันเป็นเหตุให้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารจักร์ เพราะความรักใคร่ในกาม จึงเกิดเป็นรูปเป็นนามขึ้นมา แล้วก็ได้รับทุกข์ต่างๆ นานา ความทุกข์เกิดขึ้นในกาย ความไม่ดีเกิดขึ้นในกาย เวทนาไม่ดีเกิดขึ้นทางสัมผัสทางกาย นี่เรียกว่าความทุกข์กาย ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจ ความไม่ดีเกิดขึ้นในใจ เวทนาไม่ดีเกิดขึ้นแต่สัมผัสทางใจ อันนี้เรียกว่าโทมนัส ความเสียใจ เกิดมีแก่สัตว์ทั้งหลาย มันเฉพาะที่ตัณหา ๓ มันเป็นเหตุให้มีความปรุงความแต่ง คือสังขารปรุงแต่งขึ้น
ขึ้นชื่อว่าสังขารแล้ว จะเป็นสิ่งที่มีวิญญาณอยู่ก็ตาม ไม่มีวิญญาณก็ตาม มันจะตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าเรียกว่าขันธ์ ขันธ์ ๕ เป็นรูป เป็นขันธ์ เรียกว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา รูปเป็นอุปาทานขันธ์ ถือว่าเป็นตัวตน จึงเป็นทุกข์ ปัญจุปาทานักขันธา อนัตตา ขันธ์ทั้งหลายไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ท่านให้พิจารณาให้รู้เท่า รู้เท่าอย่างนี้แล้ว เห็นชัดอยู่ที่จิตแล้ว จิตมันจะได้ไม่ยึดถือ มันจะปล่อยวาง มีความคลายกำหนัด ไม่ถือว่าเราว่าเขา ไม่ยึดในอุปาทานขันธ์ ปล่อยวางอุปาทานขันธ์
สิ่งทั้งปวงนั่นน่ะ ก็เพราะว่าจิตนั่นแหละไปยึดไปถือเอา ทุกสิ่งทุกอย่าง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันถือเอาเป็นของเราหมดทั้งนั้น ให้รู้เท่าว่าเป็นของอสุภะอสุภัง ของไม่สวยไม่งาม เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด แล้วจิตมันจะมีความเบื่อหน่าย รู้เท่าทัน จิตเบื่อหน่ายแล้ว จิตวางขันธ์ วางก้อนนี้ว่า ไม่ใช่ผู้หญิงผู้ชาย พิจารณาให้มันเห็นลงไป ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา เป็นของกลาง จิตเป็นผู้จัดการ เป็นผู้บัญชาการ เอาอยู่อย่างนั้น เพราะมันเข้าใจว่าเป็นตัวเป็นตน มันบัญชาการว่าเป็นตัวเป็นตน มันอยากได้อยากมี ทะเยอทะยาน เมื่อมันวางแล้ว จิตว่าง จิตว่างจากคนจากสัตว์ จิตว่างจากคน จิตก็ร่าเริงบันเทิง จิตผ่องใส จิตเบา จิตควรแก่การงาน ควรแก่กรรมฐาน พิจารณากรรมฐานให้มันไม่ยึดไม่ถืออะไร แล้วจิตว่าง มันเห็นว่าไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์แล้ว แต่เราทำไปเพราะต้องอาศัยก้อนนี้ ก้อนธรรมอันนี้ทำไป เลี้ยงมันไป ปฏิบัติมันไป พระอริยเจ้าอาศัยสร้างบารมีเท่านั้น ครั้นไม่มีก้อนอันนี้แล้ว มีแต่ดวงจิตเท่านั้น จะไม่สำเร็จอะไรหมดทั้งนั้น เพราะมันมีแต่จิต
รูปอันนี้เหมือนกันกับกระบอกเขาโฆษณา โว้ๆๆ น่ะ เหมือนกันนั่นแหละ มันมีรูปอันนี้ เสียงอันนั้น มันก็ดังออก ผู้นั้นไม่มีอยู่แต่กำลังจิตนั่น พูดไม่ออก ขอยืมเครื่องมาพูดกันหน่อยเถอะ ว่ายังงั้น มันไม่มีรูปแล้วมันก็พูดไม่เป็น จิตนั่นน่ะ ดวงวิญญาณน่ะ มันพูดไม่เป็น พูดไม่ออก ไม่มีเสียง ถ้ามีก้อนอันนี้ มันจึงออกเป็นเสียงดังก้องออกไป ด้องอาศัยมันนั่นแหละ
มนุษย์เป็นชาติอันสูงสุด ได้อัตภาพมาดีแล้ว พวกเราไม่ควรประมาท ไม่ควรนอกใจในความเป็นอยู่ของสังขาร ว่ามันจะมั่นคง คงทนไปอีกเมื่อไร เราไม่รู้ ถ้าปัญญาไม่ฉลาด มัจจุราชคืบคลานเข้ามา พระยามัจจุราชจะมาคว้าคอเราอยู่แล้ว แน่นอนทีเดียว ความตายไม่ต้องสงสัย เป็นแต่ตายก่อนตายหลังกันเท่านั้น ไม่เลือกสักคน ผลที่สุดกลับเป็นดินไปหมด อัตภาพว่าเป็นของเราแล้ว เมื่อสิ้นลมหายใจแล้วก็นอนทับแผ่นดิน เอาไปไม่ได้ด้วยซ้ำ
เพราะจิตมันเป็นบ้า มันหลง หลงร่างกาย พอได้ความนอบน้อมสรรเสริญก็ดีใจ ผู้อื่นเขาติฉินนินทา ก็ยุบลง จิตไม่รุ้เท่าตามความเป็นจริงของสังขาร มันจะได้ความสุขมาจากไหน พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ คนตาบอดยากที่จะบำบัดโรคตาบอดให้มันตาแจ้ง ก็มีอยู่คือปัญจกรรมฐาน กรรมฐาน ๕ พระพุทธเจ้าให้น้อมเข้ามาค้นคว้ากรรมฐาน ๕ นี้ เกศา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตะโจ หนัง ตจ ปริยนฺโต หนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ปุโร นานัปปารัสสะ อสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ นั่น นี่แหละ ลืมตาขึ้นมาให้มันเห็น แล้วตั้งใจทำอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ทำวันเดียว เดือนหนึ่ง หรือปีหนึ่ง ทำเอาตาย เอาชีวิตเป็นแดน เรื่องทำความเพียร ถ้าดีแล้วก็ไม่เหลือวิสัย ความจะพ้นทุกข์มันมีน้อย มีอยู่ในอัตภาพนี้แหละ ไม่ได้อยู่ที่อื่น จิตว่างเท่านั้นแหละ ว่างโม๊ด
ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ตัวตนของตน มันไม่ยึด มันก็พ้นทุกข์ ก็มีสุข จิตอบรมดีแล้ว มันก็บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นจิตเลื่อมประภัสสร จึงเห็นชัดว่าดีแล้ว จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ จิตฝึกดีแล้วนั้นนำเอาความสุขมาให้ไม่มีที่สิ้นสุด นี่เรามันตามืด ตามัว ตาบอด ตาขุ่น ตามัว มันไม่เห็นหนทาง มันก็งมๆ ไป ตกหลุมเสีย งูเห่ามันอยู่ในหลุมนั่น ตกลงไปงูเห่ากัดตาย อยู่อย่างนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เทียวเกิดเทียวตาย
จงตั้งใจพิจารณา ธาตุก้อนอันนี้แหละ พิจารณาเข้า เป็นธาตุหรือ หรือสัตว์ หรือคน ก้อนนี้น่ะ หลอกลวงเรา กัดเรา ไม่มีความสุข เพราะเหตุนั้น หัวใจมันจึงขุ่นมัว เมื่อมันรู้เท่า มันปล่อยวางแล้ว นั่นแหละจิตมันจึงจะลืมตาได้ เห็นความสว่าง เหมือนกับดวงจันทร์ ถ้าถูกเมฆครอบงำแล้ว ก็มืด ไม่เห็นฟ้า เห็นสิ่งทั้งปวง เมื่อก้อนเมฆผ่านไป ลมตีไปแล้ว ไม่มีอะไรปิดบังดวงจันทร์แล้ว ดวงจันทร์ก็แจ่มจ้า สว่างไสว ฉันใด ท่านผู้มีความเพียร ฝึกอยู่จนเป็นนิสัยของตนแล้ว เห็นตามความจริงของสังขารแล้ว ว่ามีความเกิดขึ้นในเบื้องตน มีความแปรปรวนในท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในที่สุด ไม่มีอะไรเป็นสาระแก่นสาร พอจิตว่าง จะมีแต่ความสว่างไสว มันก็มีแต่ความสุข ไม่มีอะไรจะเปรียบ เอาอะไรที่เป็นแก่นสาร ไม่มีอะไรที่จะเป็นแก่นสารแล้ว จิตมันก็ไม่มีตนมีตัว เมื่อมันว่าตนว่างตัวแล้ว ก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ให้ตั้งใจทำความเพียร อย่าไปนอนใจว่าเราจะยืนไปอีกเท่านั้นเท่านี้ ไม่มีรู้ กาลโน้น กาลนี้ เวลาใดไม่มี เวลามันต้องเป็นไปตามกรรม สุดแต่กรรมจะเทไป
>>>>> จบ >>>>> คัดลอกมาจาก :: หนังสืออนาลโยวาท พระธรรมเทศนาของพระอาจารย์ขาว อนาลโย และประวัติความอาพาธ คณะศิษยานุศิษย์จัดพิมพ์ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล
" เขาไม่พลัดพราก เราก็พลัดพราก เขาไม่จาก เราก็จาก เพราะโลกนี้เต็มไปด้วยความจากความพลัดพรากกันอยู่แล้วโดยหลักธรรมชาติ " คติธรรมคำสอน หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
(ภาพ : หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี และ หลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก อ.เมือง จ.สุรินทร์)
|