บ่วงของมารได้แก่ อาการของจิต ที่เที่ยวไปตามอารมณ์นั้น
ย่อมมีทั้งอารมณ์ดี และอารมณ์ร้าย จึงต้องมีความสุขบ้างทุกข์บ้างเป็นธรรมดา ตามวิสัยของปุถุชน
จิตที่เที่ยวไปนั้นจะต้องประสบของ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะพะ ซึ่งเรียกว่า กามคุณ ๕ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นบ่วงของมาร
จิตของปุถุชนทั้งหลายเมื่อเที่ยวไปประสบอารมณ์ทั้ง ๕ นั้น หรือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทำให้เกิดความยินดีพอใจก็ดีหรือเกิดความเสียใจเป็นทุกข์ก็ดี
เรียกว่าเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว คำว่า “ติด” ในที่นี้ หมายความว่า สลัดไม่ออก ปล่อยวางไม่ได้ บ่วงของมารผูกหลวม ๆ แต่แก้ไม่ได้ ถ้าดิ้นก็ยิ่งแต่จะรัดแน่นเข้า
จิตที่สำรวมได้แล้วจะพ้นจากบ่วงของมารได้อย่างไร
ปุถุชนเบื้องต้นเมื่อเห็นโทษภัย ในการเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว จึงต้องพึงสำรวมในอายตนะทั้งหลาย มีตา หู เป็นต้น
พระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ใครสำรวมจิตได้แล้ว จักพ้นจากเครื่องผูกของมารดังนี้
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นโคจรที่เที่ยวแสวงหาอารมณ์ของจิต เมื่อเราปิดคือ สำรวมมีสติ ระวังอย่าให้จิตหลงไปในอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นได้แล้ว เป็นอันว่ามารผูกมัดเราด้วยบ่วงไม่ได้
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
ดวงจิตผู้รู้นี้ เป็นของเราเอง เกิดตายๆ มาในโลกนี้นับไม่ถ้วน ก็จิตผู้รู้ดวงนี้แหละ ยังลุ่มหลงอยู่ในรูปรสกลิ่นเสียง
เวลาภาวนาตั้งจิต ท่านจึงให้ตั้งลงไป ณ ที่นี้ จะบริกรรมอุบายใดก็ตาม กำหนดตรวจกายก็ตาม คือเอาจิตดวงนี้กำหนดพิจารณาตรวจไปตามร่างกาย มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เมื่อกำหนดพิจารณาร่างกายทุกอย่าง หรืออย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ให้มารวมจิตใจเข้าไปที่ดวงจิตผู้รู้ที่ว่านี้ ดวงจิตผู้รู้อันนี้ มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้มีอยู่ในอดีต มิได้มีอยู่ในอนาคต สิ่งใดที่เป็นอดีตล่วงมาแล้ว สิ่งนั้นมันก็หมดไปแล้ว สิ่งที่ยังมาไม่ถึง คือข้างหน้าอนาคตกาล สิ่งนั้นก็ยังเป็นเรื่องข้างหน้า จิตใจมิได้อยู่ข้างหน้า เป็นแค่อารมณ์ส่ายไปในเรื่องอดีต ส่ายไปในเรื่องอนาคต แล้วก็มาเป็นอารมณ์สับสนอยู่ภายในจิต ถ้าไม่ชำระแก้ไขในเวลาปัจจุบัน คนเราก็จะหาเวลาทำสมาธิรวมจิตรวมใจให้สงบไม่ได้ เพราะอารมณ์เรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งบาปทั้งบุญมารวมอยู่ในปัจจุบัน
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
แสดงใน "บุญญกิริยาวัตถุ" ว่า การที่จะได้บุญนั้นเราต้องลงทุนเสียก่อน เช่น ชาวนามีข้าวเปลือกอยู่ ๑๐ ถัง ถ้ากินเสียหมด ก็จะได้กินเพียง ๑๐ ถัง แต่ถ้ายอมสละสัก ๓ ถังนำไปปลูก เขาก็อาจจะได้ข้าวอีกตั้ง ๓๐ ถัง พวกเราก็เหมือนกัน
ถ้าเราไม่ยอมสละตัว โอกาสที่จะได้กำไรจากตัวของเราก็หายาก ถ้าเราถวาย "กาย วาจา ใจ" แด่พระพุทธเจ้า เราก็จะได้กำไรทันที
"ก้อนกาย" ของเราเปรียบเหมือนเมล็ดข้าว "วัด" เปรียบเหมือนนา "การฟังเทศน์" เป็นฝนเมล็ดใหญ่
"ถวายกาย" คือ อะไร? คือ รูปร่างกายเรานี่แหละ นับแต่เบื้องต่ำขึ้นมา อย่าไปคิดว่ามันเป็น "ของเรา" นี่เป็นการถวายรูป
"ถวายเวทนา" นั้นก็คือ ความสุขความทุกข์นี่แหละดีมาก เช่น เราเคยได้รับความสุข ในการดู การฟัง การกิน การนอน การยืน การเดิน..เราก็สละเสีย ถวายบูชาพระพุทธเจ้า
"สัญญา" ก็เหมือนกัน สัญญาต่างๆ ทั้งหมด ดีไม่ดีเราปลดเปลื้องไม่นึกถึง
"สังขาร" คือ จิตตสังขาร เราจะไม่นึกไม่คิดอะไรทั้งหมด
ถวาย"วิญญาณ" ก็คือ เราจะทำเฉพาะความรู้สึกในที่ๆ เราอยู่ คัดลอกเนื้อหาจาก หนังสือแนวทางวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน, พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร. โดยชมรมกัลยาณธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๕๒. หน้า ๒๐๑-๒๐๒
|