สงัดจากสังคม
เรามันก็เป็นสัตว์สังคม และมีสื่อที่จะต้องเกี่ยวกับสังคม อารมณ์ที่อยู่รอบข้างเราทั้งหลายก็มีกันครบถ้วน
การปฏิบัติพระพุทธองค์จึงให้เรามีการเป็นอยู่อย่างมีการรู้ตัว คือมีสติมีสัมปชัญญะ ขณะที่เรามีการเกี่ยวข้อง มีตาเห็นรูป มีหูฟังเสียง มีจมูกดมกลิ่น มีลิ้นลิ้มรสและก็มีกายสัมผัสตลอดถึงมโนภาพที่มันเกิดขึ้นทางอารมณ์
ความรู้สึกทั้งหลายเหล่านี้ จำเป็นจะต้องกลั่นกรอง จำเป็นจะต้องมีการเกี่ยวข้องอย่างระมัดระวัง คือให้เกิดความรู้สึกเข้าใจถึงความรู้สึกต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น ถ้าเราเห็นสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน มันจะหมดคุณค่าไปในตัว
เหมือนกับเราอยู่กับเด็ก เด็กนั้นมีความเพลิดเพลินในการเล่น จะเป็นของเล่นเด็กก็คงเห็นกันอยู่เป็นสิ่งที่เราถือว่าไร้สาระ เช่น ตุ๊กตา
ถ้าเราดูไปนานๆ เราจะเห็นเป็นกองขยะเห็นเป็นสิ่งที่ไร้คุณค่า เห็นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ในที่สุดเราก็ไม่ให้ความสำคัญ
จะเป็นความโกรธ ความโลภ ความหลง ราคะ โทสะ โมหะ เราจะเห็นเป็นกองขยะ
กองขยะเราก็คงไม่ปรารถนา เมื่อไม่ปรารถนาสิ่งเหล่านั้นก็หมดคุณค่าคลายจากความรู้สึกของเรา
อารมณ์ของความโกรธก็คลาย อารมณ์ของความโลภก็คลาย ก็เลยทำให้เกิดความสงัด มีความสงัดเกี่ยวข้องกับอารมณ์อันเกิดขึ้นจากตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น มันก็เกิดความรู้สึกมีความสงัด
เมื่อมีความสงัดแล้ว ทุกอย่างมันจะอยู่ในสภาพที่ทำให้เรานั้นมีอารมณ์ในลักษณะที่ให้เกิดความรู้สึกมีความสงัดร่มเย็นจึงทำให้เกิดความรู้สึกเป็นลักษณะที่เรียกว่าเหมือนกับว่าเรามีที่พึ่ง เมื่อเรามีที่พึ่งทุกอย่างมันก็พลอยให้เราไม่มีความกังวลเหมือนเราอยู่ในบ้านกันแดด กันฝน กันหนาว กันร้อน เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร
จาก หนังสือไม่กังวล พระราชภาวนาวิกรม (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม) หน้า ๑๘-๑๙
" ความยึดมั่นถือมั่นและความทุกข์ หรือ ความหลงของจิตใจของบุคคล ใครหลงมากก็มีความทุกข์มาก ใครหลงน้อยก็มีความทุกข์น้อย ผู้ที่ท่านไม่หลงเลย ท่านก็ไม่ทุกข์เพราะ ไม่มีอะไรที่จะหลง
การที่เราศึกษาธรรมะก็เพื่อให้เราไม่หลง คือทำให้เราเข้าใจไม่หลงทาง เราทุกคนถ้าทำอะไรที่ไม่หลงแล้วก็ตาม เป็นเรื่องที่มันทำยากเหลือเกิน แต่อย่างไรก็ตาม พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ ทรงกำจัดความโลภ ความโกรธ
ความหลงได้ และให้เดินทางถูกต้องได้ พระสาวกก็เหมือนกัน จนมาถึงพวกเราๆนั้นก็เหมือนกัน ก็จะเป็นผู้สามารถรู้และเข้าใจ ขัดเกลากิเลสออกจากดวงใจได้ด้วยสติปัญญานั่นเอง "
___________________________
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
|