พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พุธ 11 พ.ค. 2016 5:28 am
"...ตัดกระแสจิตให้แคบเข้ามาในวงกาย เวลาทำสมาธิต้องอยู่กับปัจจุบัน ตัดเรื่องภายนอกออกชั่วคราว ถือว่ามีเราอยู่คนเดียวในโลก จ่อสติอยู่ภายใน ไม่สนใจอะไรนอกจากสติกับจิต ใครบริกรรม พุทโธ ก็อยู่กับพุทโธเท่านั้น กิเลสดึงไปไหน มีสติรู้แล้วดึงกลับมาทันที ให้ฝืนรู้ บังคับรู้ อย่าไปตามรู้ จิตมันพร้อมจะหลงอยู่แล้ว ตามไปตามมา เดี๋ยวก็หลงมายาของจิตเหมือนเดิม ต้องฝืน ต้องบังคับ ให้สงบระงับอยู่ภายใน อย่าตามรู้ไป เดี๋ยวเป็นอรหันต์นกหวีด เป่าปี้ดๆก็บอกบรรลุธรรม
...พอถึงขั้นเดินปัญญา ต้องพิจารณาทั้งเหตุผลต้นปลาย อดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต มันจึงจะเห็นไตรลักษณ์ จิตสงบรวมลงเกิดปัญญา จิตเขาจะวางของเขาเอง
...พิจารณาเรื่องความตาย ,อสุภะ ,กายคตาสติ ดีที่สุด เป็นเครื่องทำลายความหลง ความคะนองด้วยกามราคะ ดูตั้งแต่ตอนเราเป็นเด็ก โตขึ้น จนตอนนี้ ถึงอนาคตแก่ เหี่ยวย่น จนตาย ไม่ใช่ว่าตายแล้วจบ ตายแล้วสภาพศพใหม่ ศพเก่า จนสลายเหลือแต่กระดูก ดูกระดูก เพ่งกระดูกต่อ จนสลายกลายเป็นดินธรรมดาๆ เพ่งดิน น้ำ ลม ไฟ ในธรรมดาธาตุอีก จนเข้าถึงความจริงประจักษ์ใจ
...มัวแต่สงสัย แต่ไม่ลงมือปฏิบัติ แม้จะอ่านมาก ฟังมาก มันก็ความรู้ครูบาอาจารย์ เป็นปัญญาผู้อื่น ยังไม่ใช่ญาณทัศนะของเรา
ปัญญาแท้เกิดกับใคร ผู้นั้นจะวางทุกข์ได้ สัญญาที่ไปขโมยปัญญาผู้อื่นมา นอกจากวางทุกข์ไม่ได้แล้ว ถ้านำไปใช้โต้วาทีกัน กลับยิ่งเพิ่มภาระ เพิ่มทุกข์ทับถมตนให้หนักขึ้น ดังนั้นควรรีบภาวนาให้เกิดปัญญาแท้ไวๆ
ธรรมะไม่ใช่เครื่องมือไปเถียงไปทะเลาะ
ใครเก่งกว่า ใครเหนือกว่า ใครแน่กว่า
ธรรมะแท้ท่านเป็นน้ำดับไฟ
จิตรู้เท่าทันเมื่อไหร่
เมื่อนั้นจิตเขาจะวางของเขาเอง
เราทำเหตุให้ต่อเนื่องก็แล้วกัน..."
โอวาทขณะภาวนา
พระอาจารย์คม อภิวโร
วัดป่าธรรมคึรี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
"...ถ้าความเพียรของเรากล้า มันเผาได้หมดทุกอย่าง
เผากิเลสได้หมด เผาความโลภ ความโกรธ ความหลง
ออกจากหัวใจของสัตว์โลก เผาได้หมดทุกอย่าง
ในร่างกายของเรานี้ อะไรจะมาขวางไม่ได้
จะมาปิดบังไม่ได้..."
โอวาทธรรม หลวงตาสรวง สิริปุญโญ
อุบายของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนสัตว์โลก เฉพาะอย่างยิ่งนักบวชผู้ปฏิบัติ เช่น ธุดงค์ ๑๓ นี่เป็นความละเอียดลออมากทีเดียว เรายังไม่เห็นความหมายของธุดงค์ ๑๓ เช่นการเยี่ยมป่าช้านี้ละเอียดขนาดไหน เอาตั้งแต่หยาบตั้งแต่ดูอสุภะอสุภังกอง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เกลื่อนกล่นอยู่ในป่าช้าแล้วเอามาเทียบเคียงกับตัวของเรา ตัวของเรานี้ก็คือป่าช้าผีดิบ นี้เป็นแต่เพียงจิตใจยังครองร่างอยู่ ลมหายใจจึงต้องเดินผ่านเข้าออกอยู่เสมอ พอความรู้สึกคือใจนั้นถอนตัวไปเสียเท่านั้นลมหายใจก็หยุดทันทีไม่มีอะไรเหลือ ทีนี้ก็เป็นป่าช้าผีตายละที่นี่ ป่าช้าผีดิบก็มีอะไรอยู่นี้ ภายในตัวของเรานี้มีอะไรอีก ศพเป็ดศพไก่สัตว์ทุกประเภทเต็มอยู่ในนี้หมด พิจารณาให้ชัด นี่เรื่องของปัญญา
ที่ให้พิจารณาไปเยี่ยมป่าช้าก็คือให้พิจารณานั้นเสียก่อน เพื่อเป็นสักขีพยานหรือเป็นหลักฐานได้นั้นเอามาเทียบภายในตัวเอง พอเข้าใจตรงนี้แล้วก็หายกังวลหายสงสัย เรื่องป่าช้าข้างนอกนี้ก็พิจารณาตั้งแต่ป่าช้าข้างใน เอ้าพิจารณาลงไป เมื่อพิจารณารู้เท่ากายทุกสัดทุกส่วนแล้ว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทำไมจะไม่รู้ล่ะ ธุดงค์ข้อนี้มีความละเอียดขนาดนั้นพิจารณาซิ..."
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ทีนี้พูดถึงนามธรรมคือจิตใจ จิตใจของเรานี้มันก็แปรไป ไม่คงอยู่เหมือนเก่า จิตใจที่มันยังอยู่เหมือนเก่ามีไหม
ลูกก็ดี หลานก็ดี วัตถุก็ดี วัตถุสิ่งของบางสิ่งบางอย่าง เราเคยรัก เคยชอบ เคยมีความพอใจ แต่พอใช้ไปๆ ก็กลับไม่รัก ไม่ชอบ ไม่พอใจอีก นี่มันก็เป็นของเราอยู่อย่างนี้ อันนี้มันก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน
เกิดมีขึ้นแล้วก็แปรไป เปลี่ยนไป ไหลไปตามธรรมดา สิ่งที่มันแปรไปเปลี่ยนไปไม่อยู่เหมือนเดิมคือ สังขาร
ที่มันแปรเปลี่ยนท่านเรียกว่าความจริง ฉะนั้นคนที่ไม่ เห็นความจริงก็คือ คนที่เห็นสังขารมันแปรเปลี่ยน แต่ว่าไม่อยากจะให้มันเป็นไปอย่างนั้น
ไปกั้น ไปห้าม ไปยึดมั่นหมายมั่นว่า สังขารเหล่านี้เป็นสิ่งมั่นคงถาวร เป็นสาระแก่นสาร เป็นของของตัวเองแล้ว ก็กลับมาเป็นทุกข์
ถ้าคนหลงสังขารแล้วจะเป็นทุกข์มาก ฆ่ากัน ยิง กัน ทุบตีกัน แข่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน ก็เพราะไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ว่ามันเป็นธรรมะ เลยเกิดฆ่ากัน ตีกัน แย่งชิงกันขึ้น ถึงกับมีอันต้องล้มหายตายจาก เกิดการจองเวรกัน ก็ต้องมีอันเป็นไป ทุกสิ่งทุกอย่างดังนี้ ก็เพราะคนไม่รู้จักธรรมะ ไม่รู้จักธรรมชาติของธรรมะ บ้านเมืองก็เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา ถึงตัวเราเองก็ต้องเดือดร้อน
หลวงพ่อชา สุภัทโท
ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า อาโลโก อาโลโก มันสว่างอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ธรรมของพระพุทธเจ้า อาการของธรรมทั้งหลายมันเป็นอาการอยู่ สว่างไสวอยู่ตลอดเวลา
แต่บางทีเราก็ทุกข์ใจ บางทีเราก็สุขใจ บางทีเราก็ดีใจ บางทีเราก็เสียใจ ไม่ใช่เป็นเพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น
มันเป็นเพราะความเห็นผิดของเรานี่เอง มันถึงเป็นอย่างนั้น
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงให้ โอปนยิโก ให้น้อมเข้ามา อย่าน้อมออกไป ให้น้อมเข้ามา น้อมเข้ามา มาใส่ตัวของเรานี้ เพื่อจะเห็นชัดๆ มันมีฐาน พยานอยู่ที่ตรงนี้ เมื่อปฏิบัติใหม่ๆ พูดอย่างนี้มันก็ไม่รู้จักหรอก มันไม่รู้จัก
มันจะรู้จักเมื่อไร รู้จักเมื่อเราปฏิบัติไปนั่นแหละ เพราะสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเกิดจากการปฏิบัติ
ที่วันนี้เรียกว่า การพูดกันมันเป็นอย่างหนึ่งการพูด มันได้ยินเสียงมาถึงหูเรา เมื่อไรถึงใจจึงพิจารณาเอาไปพิจารณา ไปปฏิบัติ อย่างนี้มันจะค่อยๆ เกิดขึ้น คนมีปัญญามาก มันก็เกิดขึ้นเร็ว คนมีปัญญาน้อย มันก็เกิดขึ้นช้า ไม่มีปัญญาเลย มันก็ไม่เกิด มันเป็นเสียอย่างนั้น
หลวงพ่อชา สุภัทโท
ถ้าเราทำความคิดไว้ในใจ ให้ได้ดังนี้
เห็นรูปก็ว่า รูปไม่มี
ได้ยินเสียงก็ว่า เสียงไม่มี
ได้กลิ่นก็ว่า กลิ่นไม่มี
ลิ้มรสก็ว่า รสไม่มี
มันก็หมด
ที่เห็นรูปนั้น ก็เป็นเพียงความรู้สึก
ได้ยินเสียง ก็สักแต่ว่าความรู้สึก
ที่มีกลิ่น ก็สักแต่ว่ามีกลิ่น เป็นเพียงความรู้สึก
รสก็เป็นแต่เพียงความรู้สึก แล้วก็หายไปตาม
ความเป็นจริง ก็ไม่มี
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี้เป็นโลกีย์
ถ้าเป็นโลกุตตระแล้ว
รูปไม่มี เสียงไม่มี กลิ่นไม่มี รสไม่มี โผฏฐัพพะไม่มี ธรรมารมณ์ไม่มี เป็นแต่ความรู้สึกเกิดขึ้นเท่านั้น แล้วก็หายไป ไม่มีอะไร เมื่อไม่มีอะไร ตัวเราก็ไม่มี ตัวเขาก็ไม่มี
เมื่อตัวเราไม่มี ของเราก็ไม่มี ตัวเขาไม่มี ของเขาก็ไม่มี ความดับทุกข์นั้นเป็นไปในทำนองนี้
คือไม่มีใครจะไปรับเอาทุกข์ แล้วใครจะเป็นทุกข์ ไม่มีใครไปรับเอาสุข แล้วใครจะเป็นสุข
หลวงพ่อชา สุภัทโท
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.