ทำบุญเพื่อสงบระงับ ไม่ใช่เรื่องร่าเริงสนุกเฮฮา การทำบุญกุศลก็เพื่อละกิเลส เพื่อสำรอกกิเลส เพื่อละความโลภ ละความโกรธ ละความหลง เพื่อถอนความสกปรก ความไม่ดี ออกจากใจตัวเองต่างหาก มันไม่ใช่เรื่องร่าเริงสนุกเฮฮา เรื่องบุญคือเรื่องของความสงบระงับ บุญกุศลนั้นมันมิได้อยู่ที่หมอน ที่สาด ที่เสื่อ มิได้อยู่ที่ผ้า เพราะคนมีสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังฆ่ากัน ยังลักของกัน ยังด่ากัน ยังเบียดเบียนกันอยู่ พูดง่ายๆ บุญก็คือ... การเอาวัสดุต่างๆ มาให้คนอื่น เพื่อลดละความอยากของตนให้น้อยลง ไม่เบียดเบียน ไม่ลักของคนอื่น ไม่อิจฉา ไม่ริษยา การทำบุญก็เพื่อ บรรเทาความชั่วออกจากใจ มิใช่ว่าของที่จะเอาออกก็เอาออก แต่ของที่ขนเข้าก็ยังขนเข้าไว้ในใจอยู่ มันเหมือนกับการเดินทาง เดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังหนึ่งก้าว มันจะไปถึงไหนกันเล่า มันจะถึงที่หมายกันได้อย่างไร อย่างนี้มันไม่ถึงหรอก
หลวงปู่ชา สุภัทโท
มีผู้ถามหลวงปู่บัวถึงการนั่งภาวนาของท่านที่สามารถนั่งได้ยาวนานนั้น ท่านทำได้อย่างไร หลวงปู่บัวท่านตอบว่า “ทำอย่างยอมตายถวายหัว” และเมื่อมีผู้ถามหลวงปู่บัวว่าสมาธินั้นเป็นอย่างไร ท่านชี้ไปที่เสาของศาลาการเปรียญพร้อมบอกว่า “สมาธิคือการตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ดูเสาศาลานั่นเห็นไหม มันตั้งมั่นอยู่อย่างนั้นไม่เห็นเดือดร้อนอะไรกับใคร”
หลวงปู่บัว สิริปุณโณ วัดป่าหนองแซง จ.อุดรธานี
คำตอบหลวงปู่ชา ข้อที่ 1 ถาม : ผมได้พากเพียรอย่างหนักในการปฏิบัติพระกรรมฐาน แต่ยังไม่มีท่าว่าจะได้ผลคืบหน้าเลย ?
คำตอบหลวงปู่ชา : เรื่องนี้สำคัญมาก อย่าพยายามที่จะเอาอะไรๆ ในการปฏิบัติ ความอยากอย่างแรงกล้าที่จะหลุดพ้นหรือรู้แจ้งนั้นจะเป็นความอยากที่ขวางกั้นท่านจากการหลุดพ้น ท่านจะเพียรพยายามอย่างหนักตามใจท่านก็ได้ จะเร่งความเพียรทั้งกลางคืนและกลางวันก็ได้ แต่ถ้าการฝึกปฏิบัตินั้นยังประกอบด้วยความอยากที่จะบรรลุเห็นแจ้งแล้ว ท่านจะไม่มีทางพบความสงบได้เลย แรงอยากจะเป็นเหตุให้เกิดความสงสัยและกระวนกระวายใจ ไม่ว่าท่านจะฝึกปฏิบัติมานานเท่าใด หรือหนักเพียงใด ปัญญา(ที่แท้)จะไม่เกิดขึ้นจากความอยากนั้น ดังนั้นจงเพียงแต่ละความอยากเสีย จงเฝ้าดูจิตและกายอย่างมีสติ แต่อย่ามุ่งหวังที่จะบรรลุถึงอะไร อย่ายึดมั่นถือมั่นแม้ในเรื่องการฝึกปฏิบัติหรือในการรู้แจ้ง
จากหนังสือ คำตอบหลวงปู่ชา มรดกธรรม เล่มที่ 34 หน้า13
พระพุทธเจ้าของเรานั้นท่านยังไม่ตาย แต่คนมักเข้าใจว่าท่านตายไปแล้ว นิพพานไปแล้ว
ความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นท่านไม่นิพพาน ท่านไม่ตายท่านยังอยู่ ท่านยังช่วยมนุษย์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่ทุกเวลา
พระพุทธเจ้านั้นก็คือธรรมะนั่นเอง
ใครทำดีต้องได้ดีอยู่วันหนึ่ง ใครทำชั่วมันก็ได้ชั่ว นี่เรียกว่าพระธรรม
พระธรรมนั้นแหละเรียกว่า พระพุทธเจ้า และก็ธรรมะนี่แหละที่ทำให้พระพุทธเจ้าของเรา เป็นพระพุทธเจ้า
ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา" แสดงว่าพระพุทธเจ้าก็คือพระธรรม และพระธรรมก็คือพระพุทธเจ้า
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้นเป็นธรรมะที่มีอยู่ประจำโลก ไม่สูญหาย เหมือนกับน้ำที่มีอยู่ในพื้นแผ่นดิน ผู้ขุดบ่อลงไปให้ถึงน้ำก็จะเห็นน้ำ
ไม่ใช่ว่าผู้นั้นไปแต่งไปทำให้น้ำมีขึ้น บุรุษนั้นลงกำลังขุดบ่อเท่านั้น ให้ลึกลงไปให้ถึงน้ำ น้ำก็มีอยู่แล้ว
อันนี้ ฉันใดก็ฉันนั้น พระพุทธเจ้าของเราก็เหมือนกัน ท่านไม่ได้ไปแต่งธรรมะ ท่านไม่ได้บัญญัติธรรมะ บัญญัติก็บัญญัติสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว
ธรรมะคือความจริงที่มีอยู่แล้ว ท่านพิจารณาเห็นธรรมะ ท่านเข้าไปรู้ธรรม คือรู้ความจริงอันนั้น
ฉะนั้นจึงเรียกว่าพระพุทธเจ้าของเราท่านตรัสรู้ธรรม และการตรัสรู้ธรรมนี่เองจึงทำให้ท่านได้รับพระนามว่า พระพุทธเจ้า
เมื่อพระองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ก็ทรงเป็นเพียง "เจ้าชายสิทธัตถะ" ต่อเมื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว จึงได้ทรงเป็น "พระพุทธเจ้า"
บุคคลทั้งหลายก็เหมือนกันผู้ใดสามารถตรัสรู้ธรรมได้ ผู้นั้นก็เป็นพุทธะ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงยังมีอยู่ ยังเมตตากรุณาสัตว์ทั้งหลาย ยังช่วยมนุษย์สัตว์ทั้งหลายอยู่
ถ้ามนุษย์ผู้ใดมีความประพฤติปฏิบัติดี จงรักภักดี พระพุทธเจ้า ต่อพระธรรม ผู้นั้นก็จะมีคุณงามความดีอยู่ตลอดทุกวัน
ฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญา ก็จะเห็นได้ว่า เราไม่ได้อยู่ห่างพระพุทธเจ้าเลย
เดี๋ยวนี้เราก็ยังนั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้า เราเข้าใจธรรมะเมื่อใด เราก็เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น
ผู้ใดที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว ไม่ว่าจะนั่ง ยืน เดิน อยู่ ณ ที่ใด ผู้นั้นย่อมได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา
ในการปฏิบัติธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่ในที่สงบ สำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต นี้เป็นหลักไว้ เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นที่ตรงนี้ ไม่เกิดที่อื่น
ความดีทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ ความชั่วทั้งหลายเกิดขึ้นที่นี่ พระพุทธเจ้าจึงให้สังวรสำรวมให้รู้จักเหตุที่มันเกิดขึ้น
ความจริง พระพุทธเจ้าท่านทรงบอกทรงสอนไว้หมดทุกอย่างแล้ว เรื่องศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดีตลอดจนข้อประพฤติปฏิบัติทุกประการก็ทรงพร่ำสอนไว้หมดทุกอย่าง
เราไม่ต้องไปคิด ไปบัญญัติอะไรอีกแล้ว
เพียงให้ทำตามในสิ่งที่ท่านทรงสอนไว้เท่านั้น นับว่าพวกเราเป็นผู้มีบุญ มีโชคอย่างยิ่ง ที่ได้มาพบหนทางที่ท่านทรงแนะทรงบอกไว้แล้ว
คล้ายกับว่าพระพุทธเจ้าท่านทรงสร้างสวนผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์พร้อมไว้ให้เรา แล้วก็เชิญให้พวกเราทั้งหลายไปกินผลไม้ในสวนนั้น โดยที่เราไม่ต้องออกแรงทำอะไรในสวนนั้นเลย
เช่นเดียวกับคำสอนในทางธรรม ที่พระองค์ทรงสอนหมดแล้ว ยังขาดแต่บุคคลที่จะมีศรัทธาเข้าไปประพฤติปฏิบัติเท่านั้น
ฉะนั้น พวกเราทั้งหลายจึงเป็นผู้ที่มีโชคมีบุญมากเพราะเมื่อมองไปที่สัตว์ทั้งหลายแล้ว จะเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เช่น วัว ควาย หมู หมา เป็นต้น เป็นสัตว์ที่อาภัพมาก เพราะไม่มีโอกาสที่จะเรียนธรรม ไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรม ไม่มีโอกาสที่จะรู้ธรรม
ฉะนั้นก็หมดโอกาสที่จะพ้นทุกข์ จึงเรียกว่าเป็นสัตว์ที่อาภัพ เป็นสัตว์ที่ต้องเสวยกรรมอยู่
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ทั้งหลายจึงไม่ควรทำตัวให้เป็นมนุษย์ที่อาภัพ คือไม่มีข้อประพฤติ ไม่มีข้อปฏิบัติ อย่าให้เป็นคนอาภัพ คือ คนหมดหวังจากมรรค ผลนิพพาน หมดหวังจากคุณงามความดี อย่าไปคิดว่าเราหมดหวังเสียแล้ว ถ้าคิดอย่างนั้น จะเป็นคนอาภัพเหมือนสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย คือไม่อยู่ในข่ายของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้น เมื่อมนุษย์เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีเช่นนี้แล้ว จึงควรที่จะปรับปรุงความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นของตนให้อยู่ในธรรม จะได้รู้ธรรม เห็นธรรม ในชาติกำเนิดที่เป็นมนุษย์นี้ ให้สมกับที่เกิดมาเป็นสัตว์ที่ควรตรัสรู้ธรรมได้
ถ้าหากเราคิดไม่ถูก ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ มันก็จะกลับไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นยักษ์ เป็นผี เป็นสารพัดอย่าง
มันจะเป็นไปได้อย่างไร?
ก็ขอให้มองดูในจิตของเราเอง
เมื่อความโกรธเกิดขึ้น มันเป็นอย่างไร? นั่นแหละ!
เมื่อความหลงเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างไร? นั่นแหละ!
เมื่อความโลภเกิดขึ้นแล้ว มันเป็นอย่างไร? นั่นแหละ!
สภาวะทั้งหลายเหล่านี้แหละ มันเป็นภพ แล้วก็เป็นชาติ เป็นความเกิดที่เป็นไปตามสภาวะแห่งจิตของตน พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทฺโท) กัณฑ์เทศน์ ธรรมะ ธรรมชาติ ๔๘ หน้าที่ ๔๓๕-๔๓๗
“ ขันธ์ทั้งหมดนี้เป็นสมมุติล้วนๆ ธรรมชาตินั้นเป็นวิมุตติ หลุดพ้นจากสิ่งกดขี่ทั้งหลายซึ่งเป็นตัวสมมุติแล้ว แล้วจะเกิดความเดือดร้อนได้อย่างไร เป็นก็เป็น ตายก็ตาย เรื่องของขันธ์สลายลงไปตามสภาพของมันที่ประชุมกันเท่านั้น จิตดวงนี้เป็นอย่างไร ต่อไปนี้จะไปเกิดที่ไหนก็ทราบอย่างชัดเจน จะไปเกิดที่ไหนเมื่อไม่มีเชื้อ ไม่มีเงื่อนต่อทั้งเงื่อนต้นเงื่อนปลาย ทั้งอดีต อนาคต แม้แต่ปัจจุบันก็รู้เท่าทันไม่ได้ยึดได้ถือ “ สัพเพ ธัมมา อนัตตา “ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาไม่ถือมั่นแล้ว เพราะได้รู้ประจักษ์ใจแล้ว เมื่อรู้ประจักษ์ใจและปล่อยวางหมดแล้ว มีธรรมอะไรที่ไม่ใช่อนัตตาไม่ใช่อัตตา คือ วิสุทธิธรรม วิสุทธิจิต จะเรียกวิสุทธิจิตก็ได้ จะเรียกวิสุทธิธรรมก็ได้ จะเรียกนิพพานก็ได้ไม่มีปัญหาอะไรเมื่อถึงตัวจริง ไม่มีกิเลสสมมุติใดๆ เข้ามาขัดขวางแล้ว เรียกไม่เรียกก็ไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้น เพราะจิตหลุดพ้นจากปัญหาความยุ่งเหยิงทั้งมวลไปแล้ว “
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
|