พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
จันทร์ 16 พ.ค. 2016 4:44 am
ความทุกข์ของมนุษย์ที่เกิดในท้องมารดานั้น ทุกข์มาก คล้าย ๆ ลิงหนีฝนเข้าในโพรงไม้ หันหน้าเข้าทางหลังมารดา อาหารของเก่า ของใหม่โพกหัวเด็กนะ นี่แหละไม่ได้เหยียดขาเหยียดแข้ง คล้าย ๆ กับสัตว์ในโลกันต์นรก ทุกข์มาก เป็นชาติทุกข์ ไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ เดินก็ไม่ได้ ขยายตัวก็ไม่ได้
และอีกประการ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า เด็กที่ออกในท้องมารดานั้น มันใหญ่ในท้องแล้วออกมา ไม่ใช่ใหญ่ข้างนอกแล้วคลานเข้าไป มันเหมือนกับว่านายช้างควาญช้างนะ ไสช้างออกจากเพดานในช่องแคบ มันป่วนปั่นเหลือเกิน มารดาก็สละชีวิต เด็กก็ต้องสละชีวิต เป็นตายอย่างไรทราบไม่ได้นะ อาศัยนางพยาบาลมากที่สุด นางผดุงครรภ์เป็นผู้เอาออก คนไหนเอาออกไม่ได้ทางทวาร มันติดนะ ต้องตัดผ่าออก เพราะเครื่องมือมี แต่ก่อนเครื่องมือไม่มีต้องตายทั้งแม่ทั้งลูกเจียวนะ
นี่แหละ....ชาติทุกข์ แล้วออกมาแล้วนะ นั่นเองแหละเป็นเรือนของโรค เป็นคลังของโรค เวลาเด็กป่วย บิดา มารดาไม่ได้นอน รักลูกมากที่สุดนะ! เดี๋ยวก็เจ็บนั่นเจ็บนี่ เป็นหวัดเป็นไอ...อะไรทุกอย่าง
นี่แหละกว่าเราจะได้ชีวิตมาถึงขนาดนี้ เป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่งที่สุดนะ ให้ระลึกถึงธรรมะนะ มันไม่เที่ยงนะ ชีวิตนั้นไม่เที่ยง มันประกอบด้วยทุกข์นะ สิ่งใดมีทุกข์ สิ่งใดมีไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตนใช่ตัว เราอยู่ทุกวันไม่ว่าพระ ไม่ว่าคฤหัสถ์ต้องตาย ต้องเผา ต้องฝังกันนะ
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
เมื่อเวลาจวนจะตายแล้วมานึกถึงพุทโธแล้ว มานึกไม่ได้
เพราะทุกขเวทนามันครอบงำจิตใจพอแรง นึกไม่ออกซ้ำ
เป็นไร เว้นเสียผู้ที่ได้ภาวนาอยู่แต่ยังมีชีวิตดีอยู่ ภาวนาพุทโธจนติดนิสัย จนใจเข้มแข็งตั้งมั่นอยู่ด้วยดี
ถ้าทำได้อย่างนี้เวลามีชีวิตอยู่ดี ๆ เมื่อเวลาโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเจ็บป่วยลงจะตาย มันก็ระลึกได้ เพราะใจที่ฝึกแต่ยังดี ๆ อยู่อย่าง
นี้มันเข้มแข็ง มันตั้งมั่น
ทั้งพิจารณาเห็นว่า ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้มันไม่พ้นจาก ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันมีอยู่อย่างนี้เป็นธรรมดา
ภาวนาพุทโธแล้วก็พิจารณาถึงความจริงของร่างกายอันนี้ ทุกวันทุกคืนไป มันก็เห็นแจ้งด้วยญาณอันเกิดจากสมาธินัยเห็นว่า ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อันนี้ไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย ไอ้ที่ได้อาศัยมันอยู่นี่มันยังไม่แตกไม่ดับ
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
เอา มรรคที่เกิดขึ้นจากกาย จากใจ น้อมเข้าหาตน น้อมเข้ามาในกาย น้อมเข้ามาในใจ ให้รู้แจ้งเห็นจริงในใจนี่แหละ อย่าไปยึด ไปถือที่อื่น ให้แจ้งอยู่ในกายนี้ ให้แจ้งอยู่ในใจนี้ จะหลงจะเขวไปอย่างไรก็ตามพยายามดึงเข้ามาจุดนี้น้อมเข้ามาหากายนี้ น้อมเข้ามาหาใจนี้ เอาใจนี่แหละนำออก
หลักมีเท่านี้แหละ...ถ้าออกจากกายใจแล้ว เขวไปแล้ว หลงไปแล้ว น้อมเข้ามาสู่กายสู่ใจแล้วก็ได้หลักใจดี ธรรมะก็คือการรักษากาย รักษาใจ น้อมเข้ามาหากาย น้อมเข้ามาหาใจนี่แหละ
ศีล ตั้งอยู่ในกายนี้แหละ
ตั้งอยู่ในวาจานี้แหละ
และตั้งอยู่ในใจนี่แหละ
ให้น้อมเข้ามา จึงรู้และตั้งหลักได้ ถ้าออกไปจากนีมักหลงไป...
เอาอยู่ในกายในใจนี้ น้อมเข้ามาสู่อันนี้ นำหลงนำลืมออกไปเสีย เอาให้เป็นปัจจุบัน เอาจิตเอาใจนี้ละ วางถอดถอนออก ทางกายก็น้อมเข้ามาให้รู้แจ้งทางกาย น้อมเข้ามาหาใจของตนนี้ให้แจ่มแจ้ง ถ้าไปยึดถือเอาอย่างอื่น ก็เป็นเพียงสัญญา ความจำ น้อมเข้ามารู้แจ้งในใจของตนนี้ รู้แจ้งในกายของตนนี้ นอกจากนี้เป็นแต่เพียงอาการของธรรม...
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
อุบายตัดกรรมตัดเวร "
“การตัดกรรม” ก็คือ.. หยุดทำความชั่ว ความบาป
“การตัดเวร” ก็คือหยุดการพยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน คือไม่แก้แค้นซึ่งกันและกัน รู้จักคำว่าให้อภัยซึ่งกันและกัน ผู้ทำผิดก็ให้รู้จักคำว่าขอโทษ ผู้ถูกขอโทษก็ควรรู้จักคำว่าให้อภัย ไม่เป็นไรหรอก อันนี้เป็นอุบายตัดกรรมตัดเวร
พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า..
ใครทำกรรมใดไว้ ได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปทำพิธีตัดกรรมก็เป็นการลบล้างคำสอนของพระพุทธเจ้า
กรรมใดใครก่อลงไปแล้ว..
ใจเป็นผู้จงใจคือเจตนาทำลงไป พอทำลงไปแล้วกรรมอันเป็นบาป ภายหลังเรามานึกว่าเราไม่ต้องการผลของบาป มันก็หลีกเลี่ยงปฏิเสธไม่ได้ เพราะ “ใจ” เป็นผู้สั่งให้กาย วาจา ทำลงไป พูดลงไป “ใจ” ตัวนี้ต้องรับผิดชอบโดยความเป็นธรรม โดยหลักของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการที่เราไปทำพิธีตัดกรรมนี่ หมายถึง ตัดผลของบาป มันตัดไม่ได้ อย่าไปเข้าใจผิด
ขอให้ท่านทั้งหลาย..
จงปลูกฝังนิสัยให้เด็กของเราในข้อนี้ เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญที่สุด ถ้าเด็กๆ ของเราไปนี่เข้าใจว่า ทำบาปทำกรรมแล้วไปทำพิธีล้างบาป ทำพิธีตัดกรรมแล้วมันหมดบาป ประเดี๋ยวเด็กๆ มันไปทำบาปแล้วไปหาหลวงพ่อ หลวงพี่ตัดบาปตัดกรรมให้ มันก็ไม่เกิดความกลัวต่อบาป เพราะฉะนั้นอย่าไปเข้าใจผิดว่า ทำกรรมอันเป็นบาป แล้วตัดกรรมให้มันหมดไป มันเป็นไปไม่ได้
...แต่ตัดเวรนี่มีทาง...เวร หมายถึง..
การผูกพยาบาท คอยแก้แค้นกันอยู่ตลอดเวลา เช่น เราฆ่าเขาตาย บางทีนึกถึงบาปกรรมกลัวว่าเขาจะอาฆาตจองเวร เราทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เขา ถ้าหากว่าเขาได้รับส่วนกุศลจากเรา เขาได้รับความสุข เขาเลื่อนฐานะจากภาวะทึ่ทุกข์ทรมานไปสู่ฐานะที่มีความสุข เขานึกถึงคุณงามความดี นึกถึงบุญคุณของเรา เขาก็อโหสิกรรมให้เรา ไม่ตามล้างตามผลาญกันอีกต่อไป อันนี้ตัดเวรนี่ตัดได้
...โดย หลวงพ่อพุธ ฐานิโย...
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.