Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ผู้เจริญย่อมเป็นผู้ไม่เบียดเบียน

เสาร์ 21 พ.ค. 2016 5:07 am

"ผู้เจริญย่อมไม่เบียดเบียนใคร
ไม่อาฆาตใคร ไม่พยาบาทใคร ให้อภัยแก่คนทุกจำพวก
ไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรกับใครเลย
ต้องพร้อมที่จะให้อภัยอยู่เสมอ อย่างนี้ใจเราสบาย"

โอวาทธรรม หลวงปู่ท่อน ญาณธโร





“ต่อให้ชนะคนอื่นเป็นหมื่นเป็นแสน ก็สู้ชนะใจไม่ได้”
ถาม : จะเห็นตัวรู้หรือผู้รู้ได้อย่างไร
พระอาจารย์ : เวลาจิตรวมเป็นหนึ่งก็จะเห็นตัวรู้ จะรู้ว่าต้องรู้เฉยๆ เป็นอุเบกขา ถ้าเข้าไม่ถึงตัวรู้ก็จะคิดว่าเป็นตัวเรา จะมีปฏิกิริยากับทุกสิ่งทุกอย่างที่ใจไปสัมผัสรับรู้ สิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจก็ต้องกำจัด ถ้าสักแต่ว่ารู้ก็จะเฉยๆ เพราะการรู้เฉยๆจะสบายกว่า การไปต่อสู้ไปตอบโต้จะเหนื่อยไปเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ต่อให้ชนะคนอื่นเป็นหมื่นเป็นแสน ก็สู้ชนะใจไม่ได้ ชนะใจที่อยากจะไปต่อสู้ ให้รู้เฉยๆ ให้ปล่อยวาง จะเห็นตัวรู้ได้จิตต้องรวม.
กัณฑ์ที่ ๔๕๕ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๖ (จุลธรรมนำใจ ๓๓)
“ต้องหยุดความอยาก”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






เป็นผู้มีศีล มีธรรม และรู้เรื่องราวเข้าใจในคำสอนทั้งหลายเหล่านั้น
แต่ทำไม จึงละความยินดียินร้ายในโลกธรรมไม่ได้
เพราะว่า
รู้แต่ชั้นสัญญา ไม่รู้เห็นในชั้นปัญญา
แต่สำคัญตนว่า รู้แล้ว เพราะนึกถึงธรรมเหล่าใด
ที่ได้ทรงจำไว้ ก็ได้ความแจ่มแจ้งในชั้นสัญญา
ไม่ใช่รู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นชั้นปัญญา
เหมือนอย่างพระอริยสาวกที่ท่านได้เห็นความจริง
คือ ไตรลักษณ์ หรือ อริยสัจจ์
และ ได้ทำกิจตามหน้าที่ของอริยสัจจ์สี่ด้วย
จึงละความยินดียินร้ายในโลกธรรมทั้งแปดได้

หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถร





ความหลง "ญาณ" กลับต้อง "เสื่อม" หมดทุกอย่าง
เข้าไม่ถึง "อริยสัจ" แต่กลับตกนรกไปเลย
“ญาณ” คือความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นในระหว่างแห่งความสงบ
เป็นต้นว่าญาณระลึกชาติได้ ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอดีต
ญาณรู้จักเหตุการณ์ในอนาคต
รู้จักวาระจิต ความนึกคิดของบุคคลอื่นเป็นต้น
เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิชาน่าอัศจรรย์ทีเดียว
แต่ถ้าหากว่าหลงและติดอยู่ในญาณเหล่านี้แล้ว
จะทำให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติเพื่อเข้าสู่อริยสัจธรรม
แต่ญาณเหล่านี้ ที่เป็นอุปกรณ์อย่างดีพิเศษ
ในอันที่จะดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจ
ถ้าหากว่าเราไปยินดี หรือ ไปติดอยู่เพียงเท่านี้แล้ว
ก็จะก้าวไปสู่ความไปจากทุกข์ไม่ได้
แม้แต่พระเทวทัตในสมัยครั้งพุทธกาล
ก็สำเร็จญาณถึงห้าประการ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้สมกับความประสงค์
แต่ “หลงอยู่ในญาณ” ของตน เกิด “ทิฐิมานะ”
ว่าตนเก่งตนดี
ถึงกับต้องการจะเป็นพระพุทธเจ้าแทนเอาเลยทีเดียว
แต่ที่ไหนได้ ในที่สุดโดยอาศัยความหลงญาณ
กลับต้องเสื่อมหมดทุกอย่าง
เข้าไม่ถึงอริยสัจ แต่กลับตกนรกไปเลย
พระอาจารย์มั่นท่านเน้นว่า ญาณเหล่านี้มันน่าคิดจริง ๆ
เพราะมันวิเศษแท้ ทั้งเยือกเย็น ทั้งสว่างผ่องใส
ทั้งรู้อะไรที่เป็นอดีต อนาคตตามความประสงค์
ผู้ที่ไม่เข้าใจความจริงที่ไปติด ณ ที่นี้
เราจะสังเกต เห็นได้ตรงที่เกิดทิฐิขึ้นมาอย่างหนึ่ง
คือการถือตัวว่าดีกว่าใคร ๆ
ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น ครูบาอาจารย์ เพื่อนสหธรรมิก หรือ ศิษย์
หาว่าศิษย์สู้เราไม่ได้ ใครก็สู้เราไม่ได้
ทิฐิชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่รู้ตัว
ซึ่งท่านอาจารย์มั่นท่านเปรียบว่า
มีจระเข้ตัวหนึ่งใหญ่เหลือเกิน อยู่ในท้องทะเล
มันไม่รู้ว่าหางของมันอยู่ไหน
เมื่อมันไม่รู้ มันไม่เห็นหางของมัน
มันก็กินหางของมัน กิน ๆ ไปจนเหลือแต่หัว
เลยขม้ำซ้ำหมดเลย

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต






เราต้องการของดี
คนดี ก็จำต้องฝึก ฝึกจนดี
จะพ้นการฝึกไปไม่ได้
งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น
ฝึกงาน ฝึกคน ฝึกสัตว์ ฝึกตน ฝึกใจ
นอกจากตายแล้ว จึงหมดการฝึก
คำว่า ดี จะเป็นสมบัติของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน.
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ตอบกระทู้