พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
พฤหัสฯ. 09 มิ.ย. 2016 5:06 am
" ธรรมชาติของธรรมนั้น ปฏิบัติผู้บำเพ็ญ
เท่านั้นจึงจะรู้ได้ ครูบาอาจารย์หลายองค์
ท่านไม่เคยลดละในการปฏิบัติธรรมเพราะ
การปฏิบัติธรรมที่เรากระทำอยู่เรื่อย ๆ เป็น
นิจ โดยไม่หยุดยั้งผลย่อมเกิดขึ้นได้ทุก
ครั้งไปและจะสืบเนื่องกันไม่ขาคระยะ
ตราบเท่าที่เราไม่ทิ้งการปฏิบัติธรรมนั้น
เราเป็นฆราวาส ต้องพยายามทำคุณงาม
ความดี ทำทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาให้
เจริญแล้ว ปัญญาก็ย่อมเกิดตามมาเอง "
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
ร่างกายของคนและสัตว์มันเป็นอนิจจัง
มีสภาพไม่เที่ยง เวลาอยู่ก็เป็นทุกข์ แต่ใน
ที่สุดก็เป็นอนัตตาคือตาย ใครบังคับบัญชาไม่ได้
----------------------------------------
เวลาเผาศพอย่าตั้งหน้าตั้งตาเผาเขา
เวลาเราไปเผาศพก็เผากิเลส ในใจ
ของเราเสียด้วย กิเลสส่วนใด ที่มันสิงอยู่
ที่เรา คิดว่าเราจะไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายน่ะ
เผามันเสียให้หมดไป เราคิดว่าวันนี้
เราเผาเขาไม่ช้าเขาก็เผาเรา
----------------------------------------
คนเกิดมาแล้วตายอย่างนี้เราจะเกิดมันทำไม
ต่อไปข้างหน้าเราไม่เกิดดีกว่า เราไปพระนิพพาน
นั่นละดีที่สุด เรื่องอัตภาพร่างกายสิ่งที่มีชีวิตหรือ
ไม่มีชีวิต ไม่มีอะไรเป็นความหมาย ไม่มีอะไร
เป็นที่พึ่ง ตายแล้วหาสาระหาแก่นสารไม่ได้
หาประโยชน์ไม่ได้ ให้ทุกคนเตรียมพร้อมที่
จะตายได้ ให้ขยันหมั่นเพียร ชำระจิตใจให้สะอาด
มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จงวางภาระว่า
เราของเรา เสียให้สิ้นด้วยไม่มีอะไรเลยเป็นของเรา
แม้แต่ร่างกายก็มีเจ้าของคือ มรณภัยมันมาทวงคืน
ให้คิดว่าเราไม่มีอะไรเป็นของเรา เราไม่ต้องการ
มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก เรามีนิพพานเป็นที่ไป
-หลวงพ่อปาน โสนันโทเถระ-
โลกุตรธรรม
โดย...พระโพธิญาณเถระ
(หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
"...การฝึกในทางโลกุตตระ
คือ ทำให้มันหมดอุปทาน
ปฏิบัติให้หมดอุปทาน
ให้พิจารณาร่างกายนี่แหละ
พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้มันเบื่อ
ให้มันหน่าย จนเกิดนิพพิทา
ซึ่งเกิดได้ยาก มันจึงเป็นของยาก
ถ้าเรายังไม่เห็นก็ยิ่งดูมันยาก
ถ้าเราทำความคิดไว้ในใจให้ได้ดังนี้
เห็นรูปก็ว่า รูปไม่มี
ได้ยินเสียงก็ว่า เสียงไม่มี
ได้กลิ่นก็ว่า กลิ่นไม่มี
ลิ้มรสก็ว่า รสไม่มี มันก็หมด
ที่เป็นรูปนั้น ก็เป็นเพียงความรู้สึก
ได้ยินเสียง ก็สักแต่ว่าความรู้สึก
ที่มีกลิ่น ก็สักแต่ว่ามีกลิ่น
เป็นเพียงความรู้สึก
รสก็เป็นแต่เพียงความรู้สึก แล้วก็หายไป
ตามความเป็นจริง ก็ไม่มี
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธรรมารมณ์ นี้เป็นโลกีย์
ถ้าเป็นโลกุตตระแล้ว รูปไม่มี เสียงไม่มี
กลิ่นไม่มี รสไม่มี โผฏฐัพพะไม่มี
ธรรมารมณ์ไม่มี เป็นแต่ความรู้สึก
เกิดขึ้นเท่านั้น แล้วก็หายไป ไม่มีอะไร
เมื่อไม่มีอะไร ตัวเราก็ไม่มี ตัวเขาก็ไม่มี
เมื่อตัวเราไม่มี ของเราก็ไม่มี
ตัวเขาไม่มี ของเขาก็ไม่มี
ความดับทุกข์นั้นเป็นไปในทำนองนี้
คือไม่มีใครจะไปรับเอาทุกข์
แล้วใครจะเป็นทุกข์
ไม่มีใครไปรับเอาสุข
แล้วใครจะเป็นสุข
นี่พอทุกข์เข้าก็เรียกว่า เราทุกข์
เพราะเราไปเป็นเจ้าของ มันก็ทุกข์
สุขเกิดขึ้นมา เราก็ไปเป็นเจ้าของสุข
มันก็สุข ก็เลยยึดมั่นถือมั่น
อันนั้นแหละเป็นตัว เป็นตน
เป็นเรา เป็นเขา ขึ้นมาเดี๋ยวนั้น
มันก็เลยเป็นเรื่องเป็นราวไปอีกไม่จบ
การที่พวกเราทั้งหลาย
ออกจากบ้านมาสู่ป่า ก็คือ
มาสงบอารมณ์ นี่ออกมาเพื่อสู้
ไม่ใช่หนีมาเพื่อหนี ไม่ใช่เพราะ
เราแพ้เราจึงมา
คนที่อยู่ในป่าแล้วก็ไปติดป่า
คนอยู่ในเมือง แล้วก็ไปติดเมืองนั้น
เรียกว่า คนหลงป่า คนหลงเมือง
พระพุทธเจ้าท่านว่า ออกมาอยู่ป่า
เพื่อกายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวกต่างหาก
ไม่ใช่ให้มาติดป่า มาเพื่อฝึก
เพื่อเพาะปัญญา
มาเพาะให้เชื้อปัญญามันมีขึ้น
อยู่ในที่วุ่นวาย เชื้อปัญญามันเกิดขึ้นยาก
จึงมาเพาะอยู่ในป่า เท่านั้นเอง
เพาะเพื่อจะกลับไปต่อสู้ในเมือง
เราหนีรูป หนีเสียง หนีกลิ่น หนีรส
หนีโผฏฐัพพะ หนีธรรมารมณ์มาอย่างนี้
ไม่ใช่หนีเพื่อจะแพ้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้
หนีมาเพื่อฝึก หรือมาเพาะให้ปัญญาเกิด
แล้วจะกลับไปรบกับมัน
จะกลับไปต่อสู้กับมัน ด้วยปัญญา
ไม่ใช่เข้าไปอยู่ในป่าแล้ว
ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส แล้วก็สบาย
ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องการจะมาฝึก
เพาะเชื้อปัญญาให้เกิดขึ้นในป่า
ในที่สงบ เมื่อสงบแล้วปัญญาจะเกิด
เมื่อใคร่ครวญพิจารณาแล้ว
ก็จะเห็นว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธรรมารมณ์นั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อเรา
ก็เพราะเราโง่ เรายังไม่มีปัญญา
แต่ความเป็นจริงแล้ว
สิ่งเหล่านี้คือครูสอนเราอย่างดี
เมื่ออยู่ในป่าแล้ว อย่าไปยึดป่า
อย่ามีอุปทานในป่า
เรามานี้เพื่อมาทำให้ปัญญาเกิด
ถ้ายังไม่มีปัญญา ก็จะเห็นว่า
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธรรมารมณ์ นั้นเป็นปฏิปักษ์กับเรา
เป็นข้าศึกของเรา
ถ้าปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ธรรมารมณ์ นั้นไม่ใช่ข้าศึก
แต่เป็นสภาวะที่ให้ความรู้ความเห็น
แก่เราอย่างแจ้งชัด
เมื่อสามารถกลับความเห็นอย่างนี้
แสดงว่าปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว
คำว่า “ทิ้ง” หรือ “ปล่อยวาง”
ไม่ใช่ไม่ต้องปฏิบัติ แต่หมายความว่า
ให้ปฏิบัติ “การละ...การปล่อยวาง”
นั่นแหละ..."
วิธีแก้ปวดขาเวลานั่งสมาธิ
หลวงปู่ไดโนเสาร์ ตอบปัญหาธรรม
โยม : ได้ยินว่าหลวงปู่นั่งภาวนากรรมฐานได้นาน นั่งสมาธิครั้งละ 8 ชั่วโมง บางครั้งนานถึง 15 วัน หลวงปู่ปวดขาไหมครับ แล้วหลวงปู่มีวิธีแก้ปวดขาไหมครับ ผมเอาชนะความปวดไม่ได้สักที แล้วจิตก็พะวงกับเรื่องปวด จนไม่เป็นอันทำสมาธิ จิตไม่รวมลงสักที
หลวงปู่ : เอ้า หลวงปู่ก็คนเนาะ เอาเนื้อเอาหนังเอากระดูกทำ หลวงปู่ก็ปวดเหมือนกันกับคุณนั่นล่ะ อดทนสิอดทน คนอดทนทุกคน ล้วนได้ดี อดทนถึงที่ได้ดีทุกคน อดทนไม่ถึงที่ ไม่ได้ดีสักคน
โยม : หลวงปู่ครับ ผมอดแล้ว ทนแล้ว ทั้งอดทั้งทน แต่มันก็ยังปวดอยู่ไม่มีวิธีนั่งที่นั่งแล้วหายปวด โปรดโยมบ้างหรือครับผม
หลวงปู่ : เวลาคุณปวดขี้ ปวดเยี่ยว คุณทำยังไง เวลาคุณฟันผุ ใส่ยาแล้วก็ไม่หาย รักษาแล้วก็ไม่หาย คุณทำยังไง
โยม : ขออภัยหลวงปู่นะครับผม เวลาผมปวดขี้ ปวดเยี่ยว ผมก็ไปห้องน้ำ เวลาผมปวดฟันรักษาไม่หาย ก็ต้องถอนครับ
หลวงปู่ : เออ เมื่อคุณปวดขี้ คุณก็ไปขี้ เวลาคุณปวดเยี่ยว คุณก็ไปเยี่ยว ปวดฟันคุณก็ถอนฟัน ปวดขาอยากให้มันหาย คุณก็ต้องตัดขาออกสิ (ว่าแล้วท่านก็หัวเราะ) ....คุณเอ้ย.....ตราบใดที่คุณมีขา คุณก็ต้องปวดขา
คุณเอ้ย.....ปวดขาเวลานั่งภาวนาน่ะ มันดี ดีกว่านั่งเล่นโป๊ก เล่นไพ่ เล่นไฮโล แล้วลืมปวดลืมเมื่อยปวดขาทำดี ดีกว่าปวดขาทำชั่ว ขณะที่คุณปวดขา ปวดขามันสอนธรรมนะ สอนธรรมอนิจจัง สอนธรรมทุกขัง สอนธรรมอนัตตา ปวดขา ปวดถึงที่สุดมันก็หาย หายถึงที่สุดมันก็ปวด ที่เราไม่รู้ว่ามันปวด เพราะเราขยับนั้นไงอนิจจัง การขยับ การเปลี่ยนอิริยาบถ อาการนั้นล่ะ มันปิดทุกข์ ปวดแล้วมันหาย หายแล้วมันปวด นี่แหละ อนัตตาธรรม
ธรรมมีอยู่ทุกอิริยาบถ มีอยู่ทุกลมหายใจ แล้วแต่ใครจะรู้จักเลือกเอา รู้จักคัดเอา น้อมให้เป็นธรรมนะ เอาไว้สอนตัว สอนตน มันเจอปวดมากๆนั้นแหละมันดี ปวดมันสอนเราว่า มันทุกข์ มันเจ็บ เรามีขา ขามันเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ของชีวิต ของโลก ที่เรายังหลงติดอยู่ในโลก เพราะมันตามใจ มันสุข มันสบาย สุขกับโลกสบายกับโลก ก็ติดกับโลก ให้เห็นทุกข์ ให้เห็นธรรม มันจะได้หน่ายโลก เบื่อโลกทิ้งโลก รักภาวนาอย่ากลัวเจ็บ กลัวปวด เพราะเจ็บ เพราะปวดนั้นแหละ สอนธรรม สอนวิธีหนีโลกทิ้งโลก เข้าใจนะ
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.