หลวงปู่ชา ข้องใจพระวินัย (ไม่ใช่วิสัยมนุษย์ทำได้) หลวงปู่มั่น ชี้แจงพระวินัย หลวงพ่อมีความกระตือรือร้น ศึกษาหาความรู้ในเรื่องพระวินัยมาตั้งแต่อยู่วัดบ้าน เมื่อมาปฏิบัติเป็นพระธุดงค์กรรมฐาน ก็มักสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ เกี่ยวกับเรื่องสิกขาบทข้อห้ามต่างๆ
ครั้นได้มีโอกาสไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น หลวงพ่อก็ได้ยกปัญหาทางพระวินัยเป็นคำถามที่สำคัญ คำชี้แจงที่หลวงปู่มั่นเมตตาตอบให้นั้นเป็นสิ่งที่ประทับใจท่านอย่างยิ่ง และได้ถือเป็นหลักประจำใจในการประพฤติปฏิบัติตลอดมา
ท่านได้เล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนั้นให้ลูกศิษย์ฟังอย่างละเอียด ตอนหนึ่งท่านเล่าถึงการศึกษาพระวินัยของท่านว่า
“บางวันผมเอาตั้งแต่ ๖ โมงถึงสว่างนะ องค์ของอาบัติทั้งหมดที่อยู่ในหนังสือบุพพสิกขาผมเก็บเอาไว้ในสมุดพกใส่ย่ามตลอดเวลา ขะมักเขม้นพยายามที่สุด”
“เมื่อพูดถึงเรื่องพระวินัยนี้ ผมเคยฟั่นเฝือมากเหลือเกิน ผมเคยไปกราบเรียนท่านอาจารย์มั่น ในเวลานั้นเรากำลังเริ่มปฏิบัติ แล้วก็อ่านบุพพสิกขาไปบ้างก็เข้าใจพอสมควร ที่นี้ไปอ่าน วิสุทธิมรรค ท่านมาพูดถึง สีลนิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทส ศีรษะผมมันจะแตกเลย อ่านแล้วก็มาพิจารณาว่ามนุษย์ทำไม่ได้ ทำอย่างนั้นไม่ได้ แล้วคิดไปอีกว่า อันที่มนุษย์ทำไม่ได้นั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนหรอก ท่านไม่สอนแล้วท่านก็ไม่บัญญัติ เพราะว่าสิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์ต่อท่าน และก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นด้วย สิ่งอะไรที่ใครทำไม่ได้ท่านไม่สอน สีลนิทเทสนี้ มันละเอียดมาก สมาธินิทเทสก็ยิ่งละเอียด ปัญญานิทเทสก็ยิ่งมากขึ้นอีก เรามานั่งดู ไปไม่ไหวเสียแล้ว ไม่มีทางที่จะไป คล้ายๆ ว่ามันหมดทางเสียแล้ว”
ในคราวนั้นก็กำลังกระเสือกกระสนเรื่องปฏิปทาของตนอยู่ มันก็ติดอยู่อย่างนี้ พอดีมีโอกาสไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ก็เลยเรียนถามท่านว่า
“ผมจะทำอย่างไร เกล้ากระผมปฏิบัติใหม่ แต่ก็ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ความสงสัยมาก ยังไม่ได้หลักในการปฏิบัติเลยครับ”
ท่านว่า “มันยังไร”
“ผมหาทางก็เลยเอาหนังสือวิสุทธิมรรคขึ้นมาอ่าน มีความรู้สึกว่ามันจะไม่ไหวเสียแล้ว เพราะว่าเนื้อความในสีลนิทเส ปัญญานิทเทส นั้น ดูเหมือนไม่ใช่วิสัยมนุษย์เสียแล้ว ผมมองเห็นว่ามนุษย์ทั่งโลกนี้มันจะทำไม่ได้ครับ มันยาก มันลำบาก กำหนดทุกๆ สิกขาบทนี้ มันไปไม่ได้ครับ มันเหลือวิสัยเสียแล้ว”
ท่านก็เลยพูดว่า “ท่าน...ของนี้มันมากก็จริงหรอก แต่มันน้อย ถ้าเราจะกำหนดทุกๆ สิกขาบทในสีลนิทเทสนั้น มันลำบากจริง แต่ความจริงแล้วนะ ที่เรียกว่าสีลนิทเทสนั้น มันเป็นนิเทศอันหนึ่ง ซึ่งบรรยายออกไปจากจิตใจของคนเรานี้ ถ้าหากว่าเราอบรมจิตของเราให้มีความละอาย มีความกลัวต่อความผิดทั้งหมด นั่นแหละก็จะเป็นคนสำรวม จะเป็นคนสังวร จะเป็นคนระวังเพราะความกลัว”
"เมื่อเป็นอย่างนั้นจะเป็นเหตุที่ว่า เราจะเป็นคนมักน้อย จะไม่เป็นคนมักมาก เพราะว่าเรารักษาไม่ไหว ถ้าเป็นเช่นนั้นสติของเรามันจะกล้าขึ้น มันจะตั้งสติขึ้น จะยืน จะเดิน นะนั่ง จะนอน ที่ไหน มันตั้งอกตั้งใจมีสติเต็มเปี่ยมเสมอ ความระวังมันเกิดขึ้นมา อันใดที่มันสงสัยแล้วก็รับฟังไว้อีก และอันใดที่มันสงสัยแล้วก็อย่าพูดมันเลย อย่าทำมันเลย ที่เรายังไม่รู้จะต้องถามครูบาอาจารย์เสียก่อน ถามครูบาอาจารย์แล้วก็ต้องรับฟังไว้อีก ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะว่ามันยังไม่เกิดเฉพาะตัวเอง ถ้าหากเราจะไปกำหนดทุกประการนั้นก็ลำบาก เราจะเห็นว่าจิตของเรายอมรับหรือยังว่า ทำผิดมันผิด ทำถูกมันถูก อย่างนี้ยอมรับหรือเปล่า” คำสอนของท่านอันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ว่าจะไปรักษาสิกขาบททุกๆ ข้อ เรารักษาจิตอันเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว
“อะไรๆ ทั้งหมดนี่ท่านดูไปนะ มันขึ้นต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่อบรมจิตของท่านให้มีความรู้ มีความละอาย ท่านก็จะมีความสงสัยอยู่เรื่อยไป วิจิกิจฉาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นท่านจงรวมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่มันเกิดขึ้นมา แล้วสงสัย เลิกมัน ถ้ายังไม่รู้แจ้งเมื่อใดแล้วอย่าพึงทำมัน อย่าพึงพูดมัน เช่นว่า อันนี้ผิดไหมหนอ หรือไม่ผิด อย่างนี้ คือยังไม่รู้ความเป็นจริงแล้ว อย่าทำมัน อย่าไปพูดมัน อย่าไปละเมิดมัน”
“นี่ผมก็นั่งฟังอยู่ ก็เข้ากับธรรมะที่ว่า
ธรรมะที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความสะสมซึ่งกิเลส ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความกำหนัดย้อมใจ ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความมักมาก ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความมักใหญ่ใฝ่สูง ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะ ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก
ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการนั้น รวมกันลงไปแล้ว อันนี้ สัตถุธรรม เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นอกนั้นไม่ใช่”
|