“วิธีที่จะทำใจให้เป็นปรมัง สุญญัง”
ตัวที่ทำให้มันคันก็คือความอยากนี่เอง หยุดความอยากได้แล้วความคันต่างๆ มันก็จะหายไป ไม่ต้องไปเกา ไม่ต้องไปทำอะไรทั้งนั้นสิ่งต่างๆในโลกนี้ เขาก็เป็นอยู่อย่างนี้มาตั้งแต่ก่อนที่เราจะมาเกิดอยู่แล้ว เขาก็เป็นอย่างนี้อยู่ในขณะที่เราอยู่ในขณะนี้ แล้วเขาก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไปหลังจากที่เราตายไปแล้วจากโลกนี้ ไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเขาเป็นอย่างนี้ขึ้นๆ ลงๆ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนี้อยู่เรื่อยๆบางยุคก็เป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองด้วยคนดี บางยุคก็เจริญรุ่งเรืองด้วยคนชั่ว มันเป็นเรื่องของอนิจจัง เรื่องของอนัตตา มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันมีเหตุมันให้เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นอย่างนี้ พอเหตุที่ทำให้มันเป็นอย่างนี้มันเสื่อมไป มันก็จะมีเหตุอย่างอื่นทำให้เป็นอย่างอื่นต่อมา มันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเรื่อยๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยงแท้แน่นอนมันไม่นิ่งเหตุปัจจัยต่างๆมันไม่นิ่ง มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตลอดเวลา ถ้าไปมัวไปปรับไปแก้มัน มันก็จะเหนื่อยแล้วก็จะปวดหัวไปเปล่าๆ ไม่สามารถที่จะมาทำให้ใจของเรามีความสุขมีความสบายได้เลย แต่ถ้าเรามาแก้ที่ใจของเราแก้ที่ตัณหาความอยากของเรานี้เพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัดกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาให้มันหมดไปจากใจได้เท่านั้น เวลาเห็นอะไรก็ไม่เกิดกามตัณหา ไม่เกิดภวตัณหา ไม่เกิดวิภวตัณหาให้สักแต่ว่ารู้ไปอย่างเดียว มันจะดีขนาดไหนก็เรื่องของมัน ต่อให้ได้มันมาเป็นสมบัติมันก็ไม่ได้ทำให้เราดีขึ้นแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ใจของเราต้องทุกข์มากขึ้น เพราะจะเกิดความอยากมากขึ้น ได้อะไรมาถ้ามันดีก็อยากจะให้มันอยู่ไปนานๆ พอมันมีปัญหามันจะไม่อยู่ก็เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมาเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา แต่ถ้าไม่ได้มาเลยก็ไม่มีเรื่องราว ที่จะต้องยุ่งกับมันเลย นี่เรามองไม่เห็นประเด็นนี้กัน เห็นแต่ว่ามันดีได้มาแล้วจะให้ความสุขกับเรา แต่ไม่เห็นประเด็นที่ว่ามันไม่เที่ยงมันเปลี่ยนแปลงได้ ห้ามมันไม่ได้ เวลามันจะเสื่อมห้ามมันไม่ให้เสื่อมไม่ได้ เเต่ยังอยากจะให้มันไม่เสื่อมอยู่ พอความเกิดอยากไม่ให้มันไม่เสื่อมมันก็เกิดความทุกข์เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา นี่แหละเพราะว่าไม่รู้จักทำใจให้ว่าง ไม่รู้จักทำใจให้เป็นปรมัง สุญญัง
วิธีที่จะทำใจให้เป็นปรมัง สุญญังก็ต้องปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ต้องพิจารณาทุกอย่างว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วมันก็จะสักแต่ว่ารู้ได้ ถ้ายังไม่สามารถที่จะทำให้สักแต่ว่ารู้ได้ด้วยปัญญา ก็ต้องมาทำให้มันสักแต่ว่ารู้ด้วยการนั่งสมาธิ เจริญสติไปก่อน เวลาเจริญสติ ทำใจให้สงบใจรวมเป็นหนึ่ง เป็นอัปปนาสมาธิขึ้นมา ใจก็จะสักแต่ว่ารู้ได้ อันนี้เป็นวิธีที่ง่ายกว่าแต่เป็นวิธีชั่วคราว จะสักแต่ว่ารู้ได้ในขณะที่ อยู่ในสมาธิเท่านั้น พอออกจากสมาธิมามันก็จะเกิดความคิดปรุงเเต่ง เกิดความอยากตามมาทันที เวลาที่ไปสัมผัสรับรู้อะไรก็ตาม ถึงเวลานั้นก็ต้องสอนใจให้พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาว่าเขาเป็นอนิจจัง เขาเป็นอนัตตา อย่าไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้นะ อย่าไปยุ่งกับเขา ปล่อยวางเขาแล้วจะไม่เสียใจ จะไม่ทุกข์ใจจะไม่วุ่นวายใจจะไม่ต้องมาคอยแก้อยู่เรื่อยๆ ถ้ามีอะไรก็ต้องคอยแก้อยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่มีมันก็ไม่ต้องแก้
คนที่ไม่มีรถยนต์นี้เขาไม่ต้องมาคอยซ่อมรถยนต์ เขาอยู่อย่างสบาย ใจเขาไม่ต้องมาวุ่นวายกับการดูแล รักษารถยนต์ คอยเติมน้ำมันให้กับรถยนต์ คอยเช็ดคอยล้างให้รถยนต์ คอยเอารถยนต์เข้าอู่ คอยเปลี่ยนยาง มีปัญหาสารพัดตามมาเวลาที่มีอะไรเกิดขึ้นมา เวลาที่ได้อะไรมา เพราะมันจะต้องมีการเสื่อมมีการชำรุด ทรุดโทรมก็ต้องมีการแก้ไขกันไป มันก็มีแต่เรื่องให้ทำไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าไม่มีรถได้นี้ยิ่งกลับสบาย เดินไปก็ได้ ขึ้นรถเมล์ไปก็ได้ ขึ้นเเท็กซี่ก็ได้สบายกว่ามีคนขับรถให้ตลอดเวลา นี่แหละปัญหาของมนุษย์ ที่ไม่รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้จักคำว่าสักแต่ว่ารู้ รู้จักแต่ว่าอยากให้มันเป็นอย่างนั้นอยากให้มันเป็นอย่างนี้ อยากได้สิ่งนั้นอยากมีสิ่งนี้ เพราะคิดว่าได้มาแล้ว มีแล้วจะมีความสุขกัน แต่พอได้มาแล้วก็ไม่เคยใช้ปัญญา พิจารณาดูว่ามันดีกว่าตอนที่ไม่ได้หรือเปล่า อันไหนมันดีกว่ากัน อันไหนสบายกว่ากัน มีกับไม่มี อย่างไหนสบายใจกว่า นี่ไม่มองกันตรงนี้ไม่มองกันที่ใจ ใจก็เลยปล่อยให้ใจสร้างปัญหาขึ้นมา มาแก้ไม่รู้จักจบจักสิ้น ปัญหาก็ใจเป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง สร้างแล้วก็ต้องมาแก้ปัญหาของตนเอง และวิธีแก้ปัญหาก็แก้ไม่ถูกวิธี แทนที่จะแก้ให้ปัญหาให้มันหมดไปกลับไปแก้ให้มีปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีก
นี่แหละเป็นเพราะว่าไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้จักความสุขที่ได้จากการสักแต่ว่ารู้ ไม่เคยทำจิตให้รวม เป็นอัปปนาสมาธิ ก็เลยไม่เห็นความจริงอันนี้กัน ดังนั้นถ้าอยากจะเห็นความจริง ขั้นต้นก็ต้องเข้าสู่สมาธิ ให้ได้ก่อน เพราะการเข้าสู่สมาธิมันง่ายกว่าการที่จะเข้าด้วยปัญญานั่นเอง ยกเว้นบุคคลที่มีความฉลาด เป็นคนที่มีปัญญาจริต เป็นคนที่คิดไปในทางปัญญาเป็นก็สามารถที่จะดึงใจให้เข้าสู่สมาธิ ให้สักแต่ว่ารู้ได้ ด้วยการใช้ปัญญาพิจารณา แต่ถ้าสำหรับบุคคลทั่วไปนี้ก็ต้องอาศัยการเจริญสติ ให้จิตตั้งอยู่กับอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งตลอดเวลาไม่ให้คิดปรุงเเต่งถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะการคิดปรุงเเต่งนี้จะทำให้เกิดความอยากต่างๆ ขึ้นมานั่นเอง ถ้าเกิดความอยากแล้วใจก็จะไม่มีวันที่จะสงบได้ ถ้าอยากจะให้ใจสงบนี้ต้องไม่มีความอยาก
การที่จะไม่มีความอยากก็ต้องไม่คิดไปในทางที่จะทำให้เกิคดวามอยากขึ้นมา ก็ต้องคิดอยู่กับอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งที่เป็นกลางๆ เช่นพุทโธ หรือดูการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือดูลมหายใจเข้าออก เวลาที่นั่งอยู่เฉยๆ อันนี้จะเป็นตัวที่จะดึงใจให้เข้าสู่ความสงบเข้าสู่สักแต่ว่ารู้ พอรู้แล้วว่าการสักแต่ว่ารู้นี้มันแสนจะสบาย แสนที่จะมีความสุข พอออกจากสมาธิมาก็พยายามรักษาสักแต่ว่ารู้นี้ไว้ ด้วยการใช้ปัญญาคอยสอนใจ ให้มองทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อที่จะได้ไม่ไปสร้างความอยาก ให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา เพื่อตัดความอยากละความอยากป้องกันไม่ให้ความอยากเกิดขึ้นมา ถ้ามีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ตลอดเวลา อยู่ภายในหัวใจแล้ว มันจะไม่อยากได้อะไร ไม่อยากมีอะไร ไม่อยากเป็นอะไร มันก็จะสามารถสักแต่ว่ารู้ได้ มันก็จะมีแต่ปรมัง สุญญัง ปรมัง สุขังไปตลอดเวลา
นี่คือสิ่งที่พวกเรามาสร้างกันในวันนั้นมาสร้างความสุขทางใจ สร้างไปตามกำลังตามฐานะตามขั้นของเรา ถ้าเรายังเข้าสู่ขั้นปัญญาไม่ได้เราก็ต้องเข้าสู่ขั้นสมาธิก่อน เข้าสมาธิยังไม่ได้ก็ต้องฝึกเจริญสติไปก่อน ให้ใจนี้ มีสติอยู่กับอารมณ์เดียวไปตลอด ถ้ายังสร้างสติไม่ได้ก็ต้องเจริญศีลก่อน ปลีกวิเวก รักษาศีล ๘ ให้ได้ก่อน ถ้ายังรักษาศีล ๘ไม่ได้ก็ต้องรักษาศีล ๕ ให้ได้ก่อน ถ้ารักษาศีล ๕ ยังไม่ได้ก็ต้องทำทานก่อน ทำทานเพื่อ ที่จะได้ทำให้ใจนั้นมีความเมตตามีความปรารถนาดี ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น ก็จะทำให้รักษาศีล ๕ ได้ รักษาศีล ๕ได้ก็ขยับขึ้นไปรักษาศีล ๘ รักษาศีล ๘ ได้ก็ไปปลีกวิเวกอยู่วัดได้ อยู่สถานที่สงบสงัดห่างไกลจากสิ่งรบกวนใจ ทั้งหลายก็สามารถเจริญสติอย่างต่อเนื่องได้ เจริญสติได้ก็จะนั่งสมาธิทำใจให้รวมเป็นหนึ่งได้ให้สักแต่ว่ารู้ได้ พอได้สักแต่ว่ารู้แล้วก็ออกจากสมาธิมาก็ใช้ปัญญาคอยรักษาไม่ให้ใจไปวุ่นวายกับสิ่งต่างๆ ที่ได้พบได้เห็น เห็นอะไรก็ให้สักแต่ว่ารู้ไป เพราะทุกอย่างมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปเปลี่ยนมันไม่ได้ ของต่างๆ มันมีของมันอยู่อย่างนี้ มันมีเจริญมันมีเสื่อม มันมีเกิดมันมีดับ มันมีสุขมันมีทุกข์สลับกันไป จะไปทำให้มันมีแต่ความสุขอย่างเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าเกิดความอยากแล้วสักแต่ว่ารู้ก็จะหายไป ความทุกข์ความวุ่นวายใจก็จะเข้ามาแทนที่ แต่ถ้าเห็นว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วปล่อยมันได้ ใจก็จะสักแต่ว่ารู้ไปตลอด ใจก็จะเป็นปรมัง สุญญัง เป็นปรมัง สุขัง เป็นใจของพระพุทธเจ้า และใจของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เป็นอย่างนี้ได้ทุกดวงถ้าปฏิบัติอย่างนี้จะได้เหมือนกันหมด
เริ่มตั้งแต่ทาน ศีล สติ สมาธิ ปัญญา ผลมันก็จะเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดสมัยใด ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าเป็นครูสอนโดยตรงหรือไม่ก็ตาม จะมีพระอรหันต์สอนโดยตรงหรือไม่ก็ตาม ถ้ามีพระธรรมคำสอนมันก็เป็นองค์แทนกันได้ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า เป็นตัวแทนพระอรหันตสาวกได้ ถ้าพูดถึงในกรณีที่ไม่มีจริงๆ ถ้ามีก็ควรจะไปอยู่กับผู้ที่เป็นพระอรหันต์จริงๆ มีชีวิตอยู่จริงๆ เพราะจะได้รับการสั่งสอนที่ใกล้ชิด และตรงต่อเหตุการณ์ทันต่อเหตุการณ์ ถ้าอาศัยหนังสือธรรมะ ซีดี อ่านหรือฟังนี้อาจจะไม่ทันต่อเหตุการณ์เวลาเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา จะมัวไปค้นหาตำรานี้บางทีไม่รู้ว่าอยู่หน้าไหน แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์มีปัญหาไปกราบเรียนท่านปั๊บ ท่านก็จะชี้บอกวิธีแก้ให้ได้เลย
ดังนั้นขอให้พวกเรายึดติดอยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พยายามศึกษาพระธรรมคำสอนอยู่เรื่อยๆ ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆเพื่อที่เราจะได้ไม่หลงไม่ลืมวิธีที่การที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะทำให้จิตใจของเรานั้นมีแต่ความสุขไปตลอดเวลา ปราศจากความทุกข์ ถ้าไม่ศึกษาเราก็จะปฏิบัติแบบไม่ถูก ปฏิบัติไม่ถูกผลก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา แทนที่จะเกิดความสุขกลับจะเกิดความทุกข์เพิ่มมากขึ้นมา
จึงขอให้พวกเราจงพยายามศึกษากัน และปฏิบัติกันให้มาก เพราะเวลาของพวกเรานี้มันจะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่รีบขวนขวายเสียแต่บัดนี้ ถ้าเราทำไม่ทันกับเวลามันก็จะเสียโอกาสไปได้ ถ้าเราเกิดต้องตายไปก่อน ที่เราได้ไปถึงขั้นของพระอริยบุคคล เราตายไปเราก็จะไปได้รับผลของระดับโลกียะ แล้วพอธรรมเหล่านั้น เสื่อมลงไปเราก็ต้องกลับมาเกิดใหม่ กลับมาตรงจุดนี้ใหม่ กลับมาเริ่มต้นใหม่ แต่อาจจะเป็นการเริ่มต้น ที่ไม่มีครูไม่มีอาจารย์ ไม่มีพระพุทธศาสนาก็ได้ ถ้ากลับมาคราวหน้าไม่มีพระพุทธศาสนา ไม่มีครูบาอาจารย์มาสอนก็จะไม่รู้จักวิธีนี้กัน ก็จะทำไปตามความอยากเหมือนอย่างที่เคยกระทำมา แล้วก็จะต้องกลับมาไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะกลับมาเกิดมาเจอจุดนี้อีก เจอแบบนี้อีก คือได้มาเจอพระพุทธศาสนา และมีคนคอยสอนให้เจริญวิปัสสนาภาวนา ให้เจริญอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถึงจะสามารถที่จะก้าวขึ้นสู่ธรรมขั้นสูงสุดได้ สามารถที่จะยุติการเวียนว่ายตายเกิดได้
ดังนั้นจุดนี้จุดที่พวกเรายืนอยู่ในขณะนี้นั้นเป็นจุดที่เลิศที่สุดแล้ว เป็นโอกาสที่งามที่สุดแล้ว เพราะเป็นจุดที่เรา สามารถที่จะปฏิบัติใจของเราให้เข้าสู่ขั้นปรมัง สุขังได้ ให้เข้าสู่ปรมัง สุญญังได้ ถ้าเราไม่ทำโอกาสนี้ มันก็จะต้องหมดไปไม่ช้าก็เร็ว เพราะชีวิตของพวกเราทุกคนนั้นมันต้องมีวันดับไปอย่างแน่นอน และจะดับไปเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครไปกำหนดได้ ไม่มีใครไปบอกว่า คนแก่ต้องไปก่อน คนหนุ่มคนสาวไปทีหลัง มันไม่แน่นอน บางทีคนหนุ่มคนสาวไปก่อนคนแก่ก็มี งั้นเราต้องคิดว่าเรากับคนแก่นี้เหมือนกัน อาจจะไปพรุ่งนี้ก็ได้ อาจจะไปก่อนเขาหลังเขาก็ได้ หรืออาจจะไปพร้อมกันก็ได้ ขอให้พวกเราอย่าประมาท อย่าพลัดวันประกันพรุ่ง รีบมาทำกิจอันเลิศอันวิเศษนี้มาสร้างความสุขทางใจ มาสร้างปรมัง สุขัง ปรมัง สุญญัง เสียแต่บัดนี้อย่าไปเสียดายกับสิ่งต่างๆ ในโลกนี้เลย เพราะไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเสียมันอยู่ดี มีอยู่มันก็ไม่สามารถ ที่จะมาสร้างปรมัง สุขัง ปรมัง สุญญังให้แก่เราได้ นอกจากการที่มาปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้านี้เท่านั้น.
ธรรมะบนเขา วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
“สักแต่ว่า”
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
"...สร้างบุญสร้างกุศลก็มีความสุข สมบัติของเราย่อมได้ มนุษย์สมบัติอาศัยความสุขด้วยศีลธรรม ทิพพสัมบัติ นิพพานสมบัติ เราทำเราไม่ต้องสงสัย สงสัยอะไรละ ก็จิตเรามีนี่ อื้อลงในจิตอันเดียวให้รู้จักนะ จิตนี้ขันธ์ห้า มันหุ้มอยู่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน ตัววิญญาณ มันหุ้มจิตอยู่นะ มันก็หุ้มออกมา สัญญามันก็หุ้มจิตอยู่นั่นแหละ สัญญามันรู้รอบทิศ เรามีหูมีตารอบทิศนะ รูป เสียง กลิ่น รส ก็รู้ทิศอยู่ เนี่ยะเข้าใจนะ ความจำก็ออกมา เวทนา สุข ทุกข์ มันก็รอบจิตเราอยู่ คือขันธ์ห้านี่แหละ เข้าใจนะ ..
แต่ว่าวิญญาณนี่ มาทางนี้มันมีความรู้สึกรอบขันธ์ห้าอยู่ ที่นี้ถ้าเราจะรับทาน มันก็อยู่ที่จิต ถ้าเราจะรับศีลมันก็อยู่ที่จิต จิตอันเดียวนะ พุทโธๆ ๆ รู้จิตเรานะ ให้ศึกษาจิต แต่ว่าถ้าจะรับศีลห้านี้เป็นกิริยาคือ ห้าข้อ จิตอันเดียวรับเอา เท่านี้แหละ ถ้าเราอยากจะรู้ว่า ห้าข้อนั้น จิตอันเดียวก็เราตั้ง หลักหนึ่งซะ ข้อหนึ่งคืออะไร ข้อสองคืออะไร ข้อสามคืออะไร ให้ภาวนาเดี๋ยวเกิดปัญญาขึ้นมา เดี๋ยวเกิดสติในหลักนั้นขึ้นมา ก็จิตนั่นหละรู้แจ้งด้วยศีลนั้น ศีลก็อยู่ที่จิตอันเดียว ที่เรารู้ก็มีห้าข้อ แต่เมื่อสงบแล้วก็ลงสู่จิตอันเดียวเป็นพลังนั่นนะ เข้าใจนะ
ถ้าบุญกิริยาสิบ ก็เป็นกิริยา คือเราจะต้องทำในอาการกิริยา ลักษณะนั้นในจิต แต่ว่าจิตนั้นรับเอา ๑๐ อย่าง เราก็นับเอา มันอยู่ในจิตนั่นแหละ นับเอาเถอะ เนี่ยะมันเป็นบ่อเกิดนะ นับเอาหลักมัน นึก ทานคืออะไร นึกศีลคืออะไร ตามลำดับ อนุโลม ปฏิโลม อย่างนี้ว่าหลักการภาวนาทางในๆ อันนี้เป็นจิตตภาวนา แต่ถ้าเราจะเอาคุณธรรมที่นั้น แต่ถ้าเราเอาไว้ในจิต เราจะลดมาดูขันธ์ห้าเรา รูปเวทนา สัญญา ก็ยิ่งใกล้อันนี้
ถ้ามาดูรูปก็ท่านบัญญัติไว้ว่า เกษา โลมา ถ้าจะดูรูปธรรมท่านว่า อาการ ๓๒ รู้ได้ใกล้ๆ นี่ อันนั้นเป็นธรรมนะ ถ้าจะดูบารมีธรรมก็เอ้าดูจิตเราอดอะไรได้บ้างนะ มันก็อยู่ที่ความสามารถของเราจะอด ได้แค่นั้น แต่สร้างขึ้นไปมันก็มากขึ้นๆ เข้าใจบ่ ให้ภาวนาให้รู้จิตนะ ดังนั้น เราจิตมันมาก มันก็มากเป็นกิริยานั่นหละ มันก็ ถ้าศีลห้า
ถ้าคิดตามห้า มันก็ห้าคิดนั่นหละ มันก็จิตอันเดียวนั่นแหละ แต่เราไม่มีสติ เพิ่นก็เลยบัญญัติว่าจิตที่เป็นกุศลห้าดวงซะ คิดไปตามอาการนั้น เข้าใจบ่ น่ะ ถึงร้อยดวงพันดวงก็คิดไป ตามในเรื่องที่เป็นกุศล แต่ที่เป็นอกุศลก็บัญญัติไว้หลายดวง เหมือนกันแต่จิตอันเดียว แต่ไปตามกิริยาทั้งนั้น เท่านั้นแหละ ให้รู้ เมื่อรู้แล้วก็รวมอยู่ที่จิต..."
คติธรรมคำสอน : พระอรหันต์แห่งแม่แตง พระครูภาวนาภิรัต ..หลวงปู่สังข์ สงฺกิจฺโจ วัดป่าอาจารย์ตื้อ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
|