Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

อนิจจัง

ศุกร์ 01 ก.ค. 2016 3:47 pm

..."อนิจจัง".....
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่สามารถจะอยู่ยง
คงทนต่อไปได้ ย่อมดับ ย่อมสลายไปตามกาล
พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่เที่ยงแท้แน่นอนไปได้
....."ทุกขัง".....
เมื่อมีสิ่งที่เกิดขึ้นมา ในโลก แล้วเข้าไป
ยึดถือว่าเป็นตัวตน ของเรา ของเขา
ยามจากไป ยามดับไป สลายสิ้น สิ่งที่รัก
ที่พอใจนั่นแหละ พระพุทธองค์ตรัสว่า
เป็นทุกข์อย่างยิ่ง
....."อนัตตา".....
ความจริงในโลกนี้ มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
ของมันเอง ไม่มีใคร ไปต่อเสริมเติมแต่งได้
ถึงอย่างไรก็ยังเป็น ธรรมชาติ
แม้ร่างกายเรานี้ จะยึดตัวตน ว่า เป็น
ของเราของเขาไม่ได้ เพราะเขาเป็นเพียง
ธาตุๆ หนึ่งที่ประชุม กันเข้าเท่านั้น
(โอวาทธรรม พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ)





ธรรมะก่อนนิทรา : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
คืนที่ ๙๘๐ บารมีและอาสวะ : อาศัยกิเลสบำเพ็ญบารมี

และแม้ว่าเวลาบังเกิดกิเลสขึ้น เช่นเกิดราคะความติดใจยินดี โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะความหลง หรือเกิดความโลภอยากได้ เกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆ ก็ปฏิบัติระงับใจตัวเอง มั่นคงอยู่ในศีลที่จะไม่ประพฤติละเมิดไปตามอำนาจของกิเลส เว้นจากการฆ่าการทำร้ายเขาได้ เว้นจากการลักขโมยเขาได้ เว้นจากประพฤติผิดประเพณีในทางกามได้ เว้นจากพูดเท็จได้ เว้นจากน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานของความประมาทได้เป็นต้น

คือแปลว่าเว้นใจตัวเองได้ เว้นกิเลสในใจของตัวเองได้ มีความอดทนเอาไว้ไม่ปล่อยกิเลสออกไป ให้เป็นกรรมที่เป็นบาปเป็นอกุศล เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ประกอบด้วยใช้สติ ใช้ปัญญา ใช้ความอดทน วางใจลงไปให้เป็นอุเบกขาให้ได้ คือทำตนมัธยัสถ์เป็นกลาง ไม่ยอมให้ฝ่ายยินดีหรือยินร้ายดึงเอาไป

ดั่งนี้ก็เป็นการบำเพ็ญบารมี เวลาโกรธขึ้นมาก็ปฏิบัติดับโกรธให้ได้ ก็เป็นการบำเพ็ญบารมีกันอย่างหนึ่งๆ โลภอะไรขึ้นมาเมื่อเป็นสิ่งที่ไม่สมควรก็ปฏิบัติดับโลภได้ ดับได้ทีหนึ่งก็เป็นการเพิ่มบารมีขึ้นทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงสามารถที่จะบำเพ็ญบารมี หรือความดีได้ในทุกโอกาส ได้ในทุกขณะ ได้ในทุกสถานที่.





"ฐีติจิต" ที่ไม่เดินปัญญาเป็น "มิจฉาสมาธิ"..."ไม่พ้นวัฏฏะสงสาร"
"สัมมาสมาธิ" .ทำ "จิตให้เหนือสุขเหนือทุกข์".....

คือ ความที่จิตเข้าสู่สมาธิเงียบ..หมด...ไม่รู้อะไรเลย "ปราศจากความรู้" นั่งอยู่สองชั่วโมงก็ได้กระทั่งวันก็ได้แต่จิตไม่รู้ว่ามันไปถึงไหนมันเป็นอย่างไร ไม่รู้เรื่องนี่สมาธิอันนี้เป็น "มิจฉาสมาธิ"

ในขั้นนั้นอันนี้เป็น อันตราย "ห้ามปัญญา" ไม่ให้เกิด ปัญญาเกิดไม่ได้เพราะ "ขาดความรู้สึกรับผิดชอบ"....."เป็นความสุข ทุกข์" นี้ "เป็นภพ"... "เป็นชาติ"... "เป็นอุปาทาน" จะ "ไม่พ้นจากวัฏฏะสงสาร".เพราะ "ติดสุขติดทุกข์"

ความสุขจึงไม่ใช่ความสงบ

ส่วน "สัมมาสมาธิ" ที่ถูกต้อง ถึงแม้จะมีความสงบไปถึงแค่ไหนก็มีความรู้อยู่ตลอดเวลาตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์บริบูรณ์..รู้ตลอดกาลนี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ...... เป็นสมาธิที่ไม่ให้หลงไปในทางอื่น

ฉะนั้น...ความสงบที่เกิดจากปัญญานั้นจึง..."ไม่ใช่ความสุข"....แต่เป็น "ความรู้เห็นตามความเป็นจริง".....ของความสุข ความทุกข์....แล้ว "ไม่มีอุปาทานมั่นหมายในสุข ทุกข์"...ที่มันเกิดขึ้นมาทำ "จิตให้เหนือสุขเหนือทุกข์" นั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นเป้าหมายของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

คนที่ไม่รู้จักสุขไม่รู้จักทุกข์นั้น ก็จะเห็นว่าสุขกับทุกข์นั้นมันคนละระดับ มันคนละราคากัน..... ถ้าผู้รู้ทั้งหลายแล้วท่านจะเห็นว่า...สุขเวทนา กับ ทุกขเวทนา...."มันมีราคาเท่าๆ กัน"

หลวงพ่อชา สุภัทโท
ตอบกระทู้