Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

อย่าเพ่งจิตออกนอก

อังคาร 05 ก.ค. 2016 8:05 am

ชีวิตพระป่าถ้าทำให้มันพะรุงพะรังนัก มันหนักตนเอง
“มันถ่วงหัวทุบหาง” ท่านพระอาจารย์มั่นท่านว่าอย่างนี้
หนักปัจจัยสี่ ไปที่ไหนรกรุงรัง ท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนอย่างนี้เสมอ
ลาภสักการะย่อมฆ่าคนโง่ที่หลงงมงายได้
ว่าตัวได้ตัวดีกว่าคนอื่นเขา อันนี้เราจำเอาจนขึ้นใจ
ท่านสอนว่า “ถ่วงหัว ทุบหาง” เหมือนกับเวลาเขาดักสัตว์ในป่า
เขาเอาก้อนหินเทินกันไว้แบบหมิ่นเหม่เอาไม้ค้ำไว้ ใส่เหยื่อเข้าไปวางไว้
กระรอก กระแต ลิง ค่าง อะไรพวกนี้เห็นอาหารนั้นก็รีบวิ่งปรี่เข้าไปเอาเหยื่อด้วยความอยาก
เมื่อเข้าไปกินเหยื่อจะวิ่งชนไม้ที่ค้ำก้อนหินที่วางดักนั้นก้อนหินนั้นก็จะหล่นลงมาทุบหัวตาย
ในที่สุดสัตว์เหล่านั้นก็เป็นอาหารของมนุษย์ผู้ซึ่งฉลาดกว่า
ภาษาทางภาคอีสานเขาเรียกว่า “ดักอีทุบ”
สัตว์ตัวไหนหลงเข้าไปในกลลวงที่เขาหลอก ก็มีแต่ตายอย่างทรมานเท่านั้น
สมณะที่ออกเจริญสมณธรรมตามป่าตามเขาก็เช่นเดียวกัน
ไปเจอเสียงเยินยอสรรเสริญว่าขลังอย่างนั้น ดีอย่างนี้ มีลาภสักการะ
มีคนนับถือมากเข้าแล้วลืมตน ลืมพระธรรมคำสอนของครูบาอาจารย์
จิตใจไพล่ไปยินดีในปัจจัยสี่เหล่านั้น ก็จะถูกสิ่งเหล่านั้นทับหัวใจ
ทุบหัวใจ ให้กลายเป็นผู้ไร้ศีลธรรม ไร้ยางอาย พิจารณาอะไร
นั่งภาวนาอย่างไรก็ยกจิตไม่ขึ้น จิตนั้นถูกกดทับด้วยกิเลสอย่างหยาบ

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท






สอนตัวเอง “บวชมาทำไม”
ด้วยอุปนิสัยของหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านเป็นคนห้าวหาญ เอาจริง ทำจริง
เวลาท่านสอน คำสอนของท่านจึงดุเด็ด
ท่านสอนให้ผู้ที่มาบวชได้คอยตรวจตรองตัวเอง
เราบวชมาเพื่ออะไร เพื่อหวังลาภหรือ? เพื่อล่อลวงคนหรือ?
ที่แท้เรานั้นบวชเพื่อการขูดเกลาจิตใจ ลดทิฏฐิมานะ
เพื่อความสิ้นไปของกิเลส ดังนั้น จึงต้องปฏิบัติ และท่านสอนว่า
“การปฏิบัติ หัวใจก็ต้องมีความเข้มแข็ง ความอุตสาหะ ความพยายาม
ความพากเพียรอย่างนี้ เหมือนไฟที่มันไหม้ติดอยู่กับศีรษะของเราอย่างนี้
เพราะหัวใจอันนั้นไม่เห็นภัย ไม่เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์เดือดร้อน
เหมือนอย่างที่ไฟที่ติดอยู่ในหัวเราอย่างนั้นเหมือนกัน
บางคนก็ทนอยู่อย่างนั้น ไม่รู้จักวิธีแก้ไขดับไฟ ปล่อยให้มันไหม้อยู่ในหัวเรา
ก็มีแต่วันที่จะตายจมลงไปอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้”
“ถ้าเรามาเห็นว่าการใส่ใจในการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่หักไม่ฟาดมันลงไปแล้ว
มีแต่มันจะหมักหมม เผาหัวตัวเองอยู่ตลอดกาล จนกระทั่งตายเปล่า
แบบนี้ใครทนได้ก็ทนไป เราไม่ทน เราจะเผากิเลส ไม่ให้กิเลสมันมาเผาเรา”

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท





ครูบาอาจารย์โปรดเรียก “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง”
ในระหว่างพรรษา ท่านพระอาจารย์มั่นชอบเรียกเราว่า “เฒ่าขาเป๋”
หรือบางทีท่านก็เรียกว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ตามแต่ท่านจะพูดและสอนเพื่อเป็นคติ
ตอนหลังท่านอาจารย์มหาบัวท่านก็เมตตาเรียกเหมือนกัน
อยู่มาวันหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่นได้พูดถึงหลวงปู่ขาว อนาลโย ว่า
“หมู่เอ๊ย!...ให้รู้จักท่านขาวไว้นะ ท่านขาวนี่เธอได้พิจารณาถึงที่สุดแล้ว”
หลังจากท่านกล่าวชมหลวงปู่ขาวแล้ว ท่านก็หันมาพูดเรื่องเราว่า
“เออหมู่เอ๊ย!...มีหมู่มาเล่าเรื่องการภาวนาให้เราฟังที่เชียงใหม่เว้ย...
เธอปฏิบัติของเธอสามสี่ปีเหมือนเราลงที่นครนายก
‘มันลงเหมือนกันเลย’ ท่านย้ำว่าอย่างนั้น
ท่านองค์นี้ภาวนา ๓ ปี เท่ากับเราภาวนา ๒๒ ปี
อันนี้เกี่ยวเนื่องกับนิสัยวาสนาของคนมันต่างกัน”
การที่เรานำสิ่งที่ครูบาอาจารย์ชมมาเล่า ไม่ได้หมายยกตนเทียมท่าน
แต่การที่ฝึกปฏิบัติเร็วช้านี้ แล้วแต่บุญกรรมและความเพียรของใครของมัน
ที่พูดให้ฟังนี้ไม่ได้เทียบกับท่าน แต่นำสิ่งที่ท่านพูดมาพูดให้ฟัง
จะได้รู้ว่าเบื้องหลังเราปฏิบัติมายังไง

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท





อย่าเพ่งจิตออกนอกตัว ให้รู้เห็นอยู่ในตัว

หากรู้จักตัวเองดีแล้ว จึงจะรู้สิ่งอื่นได้ดี

ถ้าส่งจิตออก นอกกาย เป็นมิจฉาทิฏฐิ

ถ้ารู้เห็นอยู่ ในกายกับจิต จัดเป็นสัมมาทิฏฐิ

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ตอบกระทู้