"..นับอสงไขยไม่ได้ นับล้านอสงไขยไม่ถ้วน เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด มาตั้งแต่ดึกดําบรรพ์ มาตั้งแต่อดีต อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา มันเรื่องของสังขาร รู้เท่าสังขาร รู้เท่าสมมติ วางสังขารหมด วางสมมติหมด ก็โลกวิทูรู้แจ้งโลก รู้แจ้งโลกแล้ว ก็รู้แจ้งธรรม ฉะนั้น ไม่ให้ประมาท ให้ค้นอยู่ในก้อนธัมเมาอันนี้ละ พระธัมเมาก็ว่ามันเมาอยู่กับรูปนี้ ไม่เมารูปนี้ก็รูปอื่นมีทั่วไป ครั้งค้นนี้ให้แจ้ง แล้วก็หลุดออก แล้วมันก็สบาย วางขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เอาละอย่าไปเอามาก มันเป็นธัมเมา..."
โอวาทธรรมคำสอน หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
ธรรมะก่อนนิทรา : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช คืนที่ ๙๙๖ การอบรมปัญญา : วิปัสสนา
การอบรมปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริงนั้น เริ่มแต่กำหนดดูเข้ามาในตนเอง ให้รู้จักขันธ์ ๕ คือกองทั้ง ๕ อันได้แก่
รูปขันธ์ กองรูป คือรูปกายอันนี้ อันประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ เวทนาขันธ์ กองเวทนาคือความรู้สุขรู้ทุกข์ รู้ไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งทางกายทั้งทางใจ สัญญาขันธ์ กองสัญญาคือความจำได้หมายรู้ เช่น จำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และจำเรื่องราวทางใจ สังขารขันธ์ กองสังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิด ถึงเรื่องรูปบ้างเสียงบ้างกลิ่นบ้างรสบ้างโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องบ้าง เรื่องทางใจต่างๆบ้าง ปรุงดีบ้าง ปรุงไม่ดีบ้าง ปรุงเป็นกลางๆบ้าง วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณคือความรู้อันปรากฏเป็นความเห็นรูปความได้ยินเสียง ความทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และความรู้เรื่องราวทางมนะคือใจต่างๆ
รวมเข้าเป็นขันธ์ ๕ ซึ่งทุกๆ คนมีอยู่ และขันธ์ ๕ นี้ย่อลง ก็เป็นรูปเป็นนาม รูปขันธ์ก็เป็นรูป นามขันธ์ก็คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ กำหนดดูให้รู้จักขันธ์ ๕ อันย่อลงเป็นนามรูปที่ตนเอง.
การพักจิตของธรรมทั้งหลาย การค้นกายและจิตด้วยไตรลักษณ์ เป็นกำลังของปัญญาทั้งหลาย การรักษาศีลไม่ให้ด่างพร้อย เป็นกำลังของสมาธิทั้งหลาย รวมความว่า รักษาศีลดีแล้ว หนุนสมาธิ การทำสมาธิดีแล้วหนุนปัญญา ปัญญาดีแล้วหนุนวิโมกข์วิมุตติ. หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
|