พระพุทธองค์ทรงกล่าวสรุป ถึงเนื้อหาของการแสดงพระปฐมเทศนาไว้ในสัจจวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ว่า ... ภิกษุทั้งหลาย! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี, เป็นพระธรรมจักรที่สมณะพราหมณ์, เทพ มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก จะต้านทานให้หมุนกลับไม่ได้ (คือความจริงที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้) ข้อนี้คือ การบอก การแสดง การบัญญัติ การแต่งตั้ง การเปิดเผย การจำแนก และการทำให้ง่าย ซึ่งความจริงอันประเสริฐสี่ประการ สี่ประการนั้นได้แก่ ความจริงอันประเสริฐ คือความทุกข์, ความจริงอันประเสริฐ คือเหตุให้เกิดทุกข์, ความจริงอันประเสริฐ คือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, และความจริงอันประเสริฐ คือทางที่ทำให้ผู้ปฏิบัติตามลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์...
— มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สัจจวิภังคสูตร
"คนที่ทำบุญสุนทานอยู่บ่อยๆ แทนที่เขาจะอดอยากยากจน ไปขอเขาอยู่เขากิน ไม่เป็นอย่างนั้น เขาแสวงหาสมบัติพัสถานต่างๆ ก็ได้มาสมบูรณ์พูนสุข คนที่ตระหนี่เหนียวแน่นกอบโกยกันอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยทำบุญสุนทานอะไร แทนที่เขาจะรวยมั่งมี เขาก็ไม่มีเท่าไรถึงได้มากก็เหมือนน้อยด้วยใจที่ไม่รู้จักพอ ส่วนคนที่เขาทำบุญสุนทาน แทนที่เขาจะยากจนเขาก็ไม่ยากจนเท่าไร ยังพอเป็นพอไป แม้นได้น้อยก็เหมือนมากด้วยความพอใจ ด้วยอำนาจผลของทานดลบันดาลมาให้ ย่อมไม่เดือดร้อนทั้งในชาตินี้และชาติต่อๆ ไป"
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร
คนมีปัญญา ย่อมมีทางออก แม้จิตมันจะลุ่มหลงมัวเมา ไปตามอำนาจกิเลส . คนมีปัญญาแล้ว ต้องเอาชนะจิตกิเลสของตนได้ ด้วยปัญญา ด้วยการภาวนา ด้วยการทำความดี . เมื่อความดีพอ ความชั่วมันก็หายไป ความดีขึ้นมาแทนที่ ชื่อว่า " นัตถิ ปัญญาสมา อาภา " แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี . #วาทะธรรมคำสอนหลวงปู่สิม พุทธาจาโร
ธรรมะก่อนนิทรา : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช คืนที่ ๙๙๙ การอบรมปัญญา : สังขาร (๒)
จึงต้องมีความโศก มีความคร่ำครวญรำพัน มีไม่สบายกายไม่สบายใจ มีความคับแค้นใจ ที่เป็นตัวทุกข์ทางใจต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือนี้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป แต่เมื่อจิตใจยังมีความยึดถืออยู่ ก็ย่อมยึดถือไว้ไม่ต้องการจะให้แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
เมื่อพบความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นไปโดยที่ไม่สมปรารถนา จึงต้องเป็นทุกข์ร้อนต่างๆ น้อยหรือมาก ตามแต่ว่าจะยึดถือไว้น้อยหรือมากเพียงไร และความยึดถือนี้เองก็เป็นตัวกิเลส ความทุกข์ต่างๆ ก็เป็นผลของกิเลส และแม้จะยึดถือไว้เพียงไรขันธ์ ๕ นี้ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไปตามธรรมดานั้นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อไปยึดเอาไว้ที่จะไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตาย ก็ต้องเป็นทุกข์
|