"กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย.. คือนักปฏิบัติ กินมาก นอนมาก พูดมาก..... คือคนโง่" หลวงพ่อชา สุภทฺโท
เราแบกก้อนหินหนักอยู่ก้อนหนึ่ง แบกไปก็รู้สึกหนัก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมันก็ได้แต่แบกอยู่อย่างนั้นแหละ พอมีใครบอกว่า ให้โยนมันทิ้งเสียซิ ก็มาคิดอีกแหละว่า "เอ... ถ้าเราโยนมันทิ้งไปแล้ว เราก็ไม่มีอะไรเหลือน่ะซิ" ก็เลยแบกอยู่นั่นแหละ ไม่ยอมทิ้ง
ประโยชน์ของการปล่อยวาง ถ้าจะมีใครบอกว่า โยนทิ้งไปเถอะ แล้วจะดีอย่างนั้น เป็นประโยชน์อย่างนี้ ... "เราก็ยังไม่ยอมโยนทิ้งอยู่นั่นแหละ เพราะกลัวแต่ว่าจะไม่มีอะไรเหลือ"
ก็เลยแบกก้อนหินหนักไว้ ... "จนเหนื่อยอ่อนเพลียเต็มที จนแบกไม่ไหวแล้วก็เลยปล่อยมันตกลง ตอนที่ปล่อยมันตกลงนี้แหละก็จะเกิดความรู้เรื่องการปล่อยวางขึ้นมาเลย"
หลวงพ่อชา สุภัทโท
การภาวนา "พุทโธ" นอกจากจะเป็นการสร้างมงคลให้แก่ชีวิตจิตใจ แล้วยังเป็นการห้ามใจ มิให้มีความคิดที่ไม่ควรมี เป็นความคิดที่ก่อให้เกิดกิเลสนานาประการ ทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดได้แต่ความคิดทั้งสิ้น มิได้เกิดแต่อะไรอื่น ไม่คิดให้โลภจะไม่โลภ ไม่คิดให้โกรธจะไม่โกรธ ไม่คิดให้หลงจะไม่หลง คิดให้เป็นบุญก็จะเป็นบุญเกิด คิดให้เป็นบาปก็จะเป็นบาปเกิด ความจริงเป็นเช่นนี้
ท่านสอนให้ภาวนา "พุทโธ" ก็เพื่อให้บุญเกิด เพื่อไม่ให้บาปเกิด
สมเด็จพระญาณสังวรฯ
ธรรมะ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช มรรค ๘ อินทรีย์ ๕ : วัตรปฏิบัติก่อนตรัสรู้
ครั้นเมื่อพระองค์ได้เสด็จออกทรงพระผนวช และได้เสด็จจาริกไปทรงศึกษาในสำนักของสองคณาจารย์เจ้าลัทธิ ก็มีแสดงว่าได้ทรงศึกษาจบ และทรงปฏิบัติได้เท่าเทียมพระอาจารย์ทั้งสองนั้น คือทรงทรงได้สมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ อันเป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นอย่างละเอียด แต่ก็ทรงพิจารณาเห็นว่ามิใช่ทางแห่งโมกขธรรม คือธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น จึงได้เสด็จออกจากสองสำนักพระอาจารย์นั้น และก็ได้ทรงปฏิบัติในทุกรกิริยา ทรมานพระกายให้ลำบากต่างๆ ก็ทรงเห็นว่ามิใช่ทางอีก ก็ทรงหยุดทุกรกิริยา
ก็ทรงระลึกได้ถึงสมาธิจิตที่ทรงได้ในขณะเมื่อเป็นพระราชกุมารน้อยครั้งนั้น จึงได้ทรงเริ่มจับทำสมาธิตามวิธีที่ทรงเคยได้ครั้งนั้น ก็เป็นอันว่าได้ทรงพบทางอันถูกต้อง เพื่อพระปัญญาตรัสรู้ ก็ได้ทรงปฏิบัติไปในทางอันถูกต้องนั้น ซึ่งพระองค์ได้ทรงประกาศไว้ในปฐมเทศนา โดยเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง อันได้แก่มรรคคือทางมีองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ จึงได้ตรัสรู้พระธรรม อันได้แก่อริยสัจจ์ทั้ง ๔ .
|