และข้อปฏิบัติที่ตรัสสอนสำหรับที่จะตั้งจิตให้เป็นสมาธิ เมื่อยกเอาสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เป็นที่ตั้ง จะเป็นกายก็ตาม เป็นเวทนาก็ตาม เป็นจิตก็ตาม เป็นธรรมะก็ตาม ก็ตั้งดูอยู่ที่กายเวทนาจิตธรรมนี้ ให้เห็นกายเวทนาจิตธรรมนี้ที่ตนเอง กายตนเอง เวทนาตนเอง จิตตนเอง ธรรมะในจิตของตนเอง ให้มองเห็น ให้มองเห็นภายใน ให้มองเห็นภายนอก คือทั้งหมด ทั้งหมดที่รวมกันเป็นกายเป็นเวทนาเป็นจิตเป็นธรรม และให้มองเห็นเกิด ให้มองเห็นดับ ก็เป็นอันว่าดูเข้ามาที่ภายใน และก็สงบอยู่ในภายใน ดั่งนี้เป็นสมาธิ
จะเป็นปัญญาก็เช่นเดียวกัน ก็ดูเข้ามาที่นามรูปอันนี้ ก็กายเวทนาจิตธรรมนี่แหละ รวมกันเข้าเป็นนามรูป แยกออกไปก็เป็นกายเวทนาจิตธรรมก็ได้ เป็นขันธ์ ๕ ก็ได้ ก็ก้อนนี้อันนี้นั่นแหละ ไม่ใช่ที่ไหน ให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา อันเป็นสัจจะ คือทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ที่ก้อนกายก้อนใจอันนี้ ไม่ใช่ที่อื่น ดั่งนี้จึงจะเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งจะเป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพานต่อไปได้.
ธรรมะ : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
อำนาจกรรม !!!
เทวดามาเกิดเป็นมนุษย์ได้ มนุษย์ไปเกิดเป็นเทวดาได้ เทวดามาเกิดเป็นสัตว์ได้ สัตว์เกิดเป็นเทวดาได้ มนุษย์เกิดเป็นสัตว์ได้ และสัตว์ก็กลับเกิดเป็นมนุษย์ได้ อำนาจอันยิ่งใหญ่ของกรรมเท่านั้นที่ตกแต่งชีวิตให้เป็นไปได้อย่างไม่น่าเชื่อถึงเพียงนี้ กรรมจึงน่ากลัวจริงๆ น่าหนีให้พ้นอำนาจกรรมจริงๆ ทั้งกรรมในอดีตและกรรมในปัจจุบัน
กรรมอันเป็นเหตุนำให้เกิด คือชนกกรรม เป็นกรรมสุดท้ายก่อนชีวิตจะขาดจากภพภูมินี้กรรมสุดท้ายหรือเรื่องสุดท้ายที่จิตผูกพันคิดถึงอยู่ คือชนกกรรมอันนำไปเกิด นึกถึงความดีที่เป็นบุญเป็นกุศลในขณะก่อนจะดับจิต จิตก็จะไปสู่สุคติ นำกายไปสุคติด้วย นึกถึงความไม่ดีที่เป็นบาปเป็นอกุศลในขณะก่อนจะดับจิต จิตก็จะไปสู่ทุคติ นำกายไปทุคติด้วย
จิตที่ใกล้จะแตกดับนั้นปกติเป็นจิตที่อ่อนมาก ไม่มีกำลังที่จะต้านทานใดๆ ทั้งนั้น คุ้นเคยกับความรู้สึกใดเกี่ยวกับเรื่องใด ความรู้สึกนั้นเกี่ยวกับเรื่องนั้นก็จะเข้าครอบงำจิต มีอำนาจเหนือจิต ทำให้จิตเมื่อใกล้ดับผูกพันอยู่กับความรู้สึกนั้นเกี่ยวกับเรื่องนั้น เมื่อจิตดับคือจากร่างก็จากไปพร้อมกับความรู้สึกนั้นเกี่ยวกับเรื่องนั้น นำไปก่อเกิดกายที่สมควรแก่สภาพจิตทุกประการ
ผู้ที่หวงสมบัติ กลัวจะมีผู้มานำไป ก่อนจะดับจิตมีใจผูกเฝ้าสมบัติอย่างหวงแหน เมื่อดับจิตก็เคยมีที่ไปเกิดเป็นงูเฝ้าอยู่ที่สมบัตินั้น ผู้ใดเข้าไปใกล้ก็จะแสดงตัวให้เห็นเป็นงูใหญ่เช่นที่เล่ากันถึงเรื่องที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ว่า ข้าราชการผู้หนึ่งมีพระพุทธรูปที่หวงมากอยู่องค์หนึ่ง เมื่อละโลกนี้ไป สหายไปเยี่ยมศพได้ขอดูพระองค์นั้น ขณะกำลังดูอยู่ ก็มีงูตัวหนึ่งมาจากไหนไม่ปรากฏมาแผ่แม่เบี้ยอยู่ใกล้ๆ ผู้มาขอดูไหวทัน เข้าใจทันทีว่าเจ้าของได้เฝ้าพระอยู่ด้วยความหวงแหน จึงพูดกับงูดังๆ ว่าไม่ได้คิดจะนำพระไปไหน เพียงมาขอดูเท่านั้น อย่าเป็นห่วงเพียงเท่านั้นงูก็เลื้อยห่างหายไป นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงเมื่อไม่นานมานี้ ที่เชื่อกันว่าผู้ที่หวงสมบัติมากๆ ตายไปในขณะที่จิตผูกพันเช่นนั้น ต้องไปเกิดเป็นงู ต้องเฝ้าสมบัติไม่ได้ไปเสวยผลของกรรมดีใดๆ ที่ได้กระทำไว้ จนกว่าใจจะปล่อยวาง ละความยึดถือความหวงแหนสมบัตินั้นๆ
ด้วยผู้ใหญ่ผู้มีสัมมาทิฏฐิสัมมาปัญญา แต่ไหนแต่ไรมา ท่านเชื่อในเรื่องอำนาจความยึดมั่นของจิต ท่านจึงสอนลูกหลานไว้ว่า ก่อนจะหลับไปให้ภาวนา "พุทโธ" นึกถึงพระพุทธเจ้า และให้ตั้งใจปรารถนาว่า เมื่อจากโลกนี้ไปเมื่อใดก็ตาม ขอให้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ทันที ให้ได้พบพระพุทธศาสนา ท่านสอนกันให้ตั้งใจเช่นนี้ก่อนจะหลับไป และท่านสอนว่า ถ้าการหลับครั้งนั้นจะไม่ได้กลับตื่นขึ้นมาอีก ก็จะได้ไปดี เป็นไปดังแรงปรารถนา การได้เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานั้นเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต ผู้มีสัมมาทิฐิจึงตั้งจิตปรารถนาอย่างจริงจัง
ผู้อธิษฐานจิตปรารถนากลับมาเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานั้น คือผู้รับรองความสำคัญของชีวิตนี้ที่แม้จะน้อยนักว่า ชีวิตนี้เท่านั้นที่จะนำไปสู่ความสวัสดีมีสุขได้อย่างแท้จริง เพราะชีวิตนี้เท่านั้นที่พร้อมสำหรับการบำเพ็ญบุญกุศลทุกประการ จะทำดีเพียงไรก็ทำได้ในชีวิตนี้ทำดีสูงสุดจนเกิดผลสูงสุด คือการปฏิบัติได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน พ้นทุกข์สิ้นเชิง ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ก็ทำได้ในชีวิตนี้ หรือทำดีเพียงเพื่อได้ถึงสวรรค์ พ้นนรกก็ทำได้ในชีวิตนี้ การตั้งจิตอธิษฐานไม่ให้หลงไปภพภูมิอื่นหลังละโลกนี้ไปแล้ว แต่ให้กลับมาสู่ภพภูมิมนุษย์โดยเร็ว ได้พบพระพุทธศาสนา จึงเป็นความถูกต้อง พึงทำอย่างยิ่ง
แม้ไม่ต้องการมีความทุกข์ในภพชาติข้างหน้า ก็ต้องทำใจให้ไม่มีความทุกข์ตั้งแต่ในภพชาติปัจจุบันนี้ ไม่ปรารถนาเป็นอะไร ไม่ปรารถนาเป็นอย่างไรในชาติหน้า ก็ต้องทำใจ คือ ทำใจไม่ให้เกาะเกี่ยวข้องอยู่กับอะไรนั้นกับอย่างนั้นตั้งแต่ในปัจจุบันชาติ จึงจะสมปรารถนาไม่เช่นนั้นก็จะสมปรารถนาไม่ได้
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
|