เมื่อจิตเกาะอยู่กับอารมณ์ภายนอก ก็รู้อารมณ์ภายนอกนั้น เมื่อจิตปล่อยอารมณ์ภายนอก เข้ามาตั้งอยู่ในลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ย่อมรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกได้ นี้เป็นความรู้ขั้นแรก
แล้วก็หัดทำความรู้เพิ่มเติมว่า หายใจเข้าออกยาว หายใจเข้าออกสั้น อันที่จริงยาวหรือสั้นนั้นอยู่ที่ระยะทางของลมหายใจ และระยะทางของลมหายใจนั้น สำหรับในทางปฏิบัติกรรมฐาน ย่อมกำหนดได้ที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน เมื่อลมเข้าก็กระทบที่นี่เมื่อขาเข้า ลมออกก็กระทบที่นี่เมื่อขาออก คราวนี้เมื่อหายใจเข้าลมหายใจเข้านั้นเดินทางไปถึงไหน ตามหลักสรีรวิทยาปัจจุบันนั้น ย่อมไม่อาจกำหนดได้ แต่ว่าอาจกำหนดได้ในอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่ปรากฏอยู่ในขณะที่ทุกคนหายใจ ดังหายใจเข้านาภีก็พอง หายใจออกก็ยุบ.
ธรรมะก่อนนิทรา : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
คนที่ประกอบกรรมชั่วทางกาย วาจา ใจ ส่วนใหญ่ เป็นคนที่ไม่เชื่อในเรื่องกรรม ไม่เชื่อในเรื่องบุญหรือบาป ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด คนพวกนี้เกิดมาจึงมุ่งแสวงหา ทรัพย์และความสุขสบายให้กับตัวโดยไม่คำนึงนึกถึงว่า ทรัพย์สมบัติหรือความสนุกสนานที่ตนได้มาถูกหรือผิด และทำให้คนอื่นได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ สัตว์ทั้ง หลายมีกรรมเป็นของตน ในสมัยพุทธกาลได้มีผู้กราบทูล ถามพระพุทธองค์ว่า อะไรเป็นเหตุให้มนุษย์เป็นไปแตก ต่างกัน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า " มานพเอ๋ย..สัตว์ ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย ให้เลวและประณีต " พระพุทธวัจนะนี้หมายความว่า เมื่อเราทำกรรมใดลงไป กรรมนั้นย่อมเป็นของเรา โดยเฉพาะและเราย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น จะ โยนให้คนอื่นไม่ได้ เช่นเราทำกรรมชั่วอย่างหนึ่งเรา จะต้องรับผลของกรรมชั่วนั้น จะลบล้างหรือโยนให้ ผู้อื่นไม่ได้ แม้ผู้อื่นจะยินดีรับโอนกรรมชั่วของเราหรือ ไม่ก็ตาม
การฆ่าสัตว์บูชายัญด้วยคิดว่าเป็นการโยนบาปที่ทำไปให้ สัตว์ที่ถูกฆ่า จึงเป็นการกระทำที่โง่เขลาไร้เหตุผล และ แทนที่จะเป็นการล้างบาปกลับเป็นการสร้างบาปให้เพิ่มขึ้นอีก สำหรับกรรมดีก็เช่นเดียวกัน ผู้ใดทำกรรมดี กรรมดีย่อมเป็น ของผู้กระทำโดยเฉพาะ จะจ้างวานหรือให้ทำแทนกันหาได้ไม่ เพราะฉะนั้น ที่เรียกว่ากรรมดีกรรมชั่วอยู่ที่ตัวของเราเอง อยู่ที่การกระทำและขอให้โอนกรรมดีหรือกรรมชั่วไปให้คนอื่น ก็ไม่ได้
หากเราต้องการกรรมดีเป็นของเรา เราต้องประกอบ กรรมดีเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนอย่างเช่นการรับประทาน อาหาร ผู้ใดรับประทานอาหารผู้นั้นย่อมอิ่มเอง เราจะเอา เงินไปให้คนอื่นซื้ออาหารรับประทาน แล้วโอนความอิ่มมา ให้แก่เรานั้น ไม่ได้แน่นอน หากเราต้องการความอิ่มเราก็ต้อง รับประทานอาหารด้วยตนเอง
หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี
|