พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
เสาร์ 03 ก.ย. 2016 9:22 am
สังขาร ความปรุงแต่ง อันเป็นความสมมติว่า โน่นเป็นของของเรา
โน่นเป็นเรา เป็นความไม่เที่ยง อาศัยอุปทานความยึดถือจึงเป็นทุกข์ ก็แลธาตุทั้งหลายเขาหากมี หากเป็นอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดขึ้น เสื่อมไปอยู่อย่างนี้ มาก่อนเราเกิด ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก็เป็นอยู่อย่างนี้ อาศัยอาการของจิต ของขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไปปรุงแต่ง สำคัญมั่นหมายทุกภพทุกชาติ นับเป็นอเนกชาติเหลือประมาณ มาจนถึงปัจจุบันชาติ จึงทำให้จิตหลงอยู่ตามสมมติ..
โอวาทธรรม.... หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต..
ทุกข์เมื่อไหร่ ตกนรกเมื่อนั้น
เมื่อเราสร้างลูกขึ้นมา สร้างทรัพย์สมบัติขึ้นมาแล้วเป็นทุกข์ นั่งร้องไห้
ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เราจะหามาทำไมถ้าหามาแล้วมันเป็นทุกข์ เอาไปทิ้งเสียบ้าง
ถ้ามันมากเกินไปรักษาไม่ไหว ก็แจกขอทานไปเสียบ้าง รวยแล้วเป็นทุกข์คิดซิว่าทุกข์ทำไม
ถ้าหามาเพื่อจะให้เป็นสุขแล้วต้องมานั่งเป็นทุกข์ร้องไห้อยู่นั่นเพราะอะไร
บางคนก็คิดถึงแต่ลูกหลานทรัพย์สินสิ่งของเท่านั้น ให้เข้าใจว่าเมื่อโยมเป็นทุกข์เมื่อไร นั่นแหละตกนรกแล้ว
อย่าให้มันตกนรกซิ
อยากมากหิวกระหายเมื่อไร ก็เป็นเปรตเป็นผีแล้ว เมื่อมันละอาการของคน เมื่อมี โลภ โกรธ หลง ขึ้นมา ความสุขก็ไม่มีแล้ว
การฟังธรรมให้รู้จักโลก อยู่กับโลก โลกอยู่ที่ไหน ไม่ใช่โลกคือแผ่นดิน โลกคือหมู่สัตว์นี้ โลกคืออารมณ์นี้ ที่มันยั่วยวนอยู่นี้เป็นทุกข์อยู่อย่างนี้
มันเป็นทุกข์ก็เพราะความคิดของเรา คิดผิดก็เป็นทุกข์ คิดถูกก็หายทุกข์ นี่เรียกว่าภาวนาทั้งนั้น
หลวงพ่อชา สุภัทโท
จาก ความผิดในความถูกหน้า ๑๕๓
อะไรต่าง ๆ ที่เข้ามา
ก็จะเอามาพิจารณาแล้วก็วางไป ปล่อยไป
คล้าย ๆ กับน้ำในตุ่ม
ถ้าเราเอาขันไปตักออกมาขันหนึ่ง แล้วก็เททิ้ง
ตักออกมาขันที่สองแล้วก็เททิ้ง
ตักแล้วก็เททิ้งอยู่อย่างนั้น
น้ำที่อยู่ในตุ่มมันก็ต้องมีเวลา
มีโอกาสที่จะแห้งหมดไปได้
เพราะมัน(เห็น)เข้าไปถึงจิต
ถ้าหากเราไม่เห็นอย่างนั้น
มันก็เหมือนตักน้ำใส่ตุ่ม แล้วก็ตักออกไป
ตักใส่เข้าในตุ่มหนึ่งขัน แล้วก็ตักออกไปหนึ่งขัน
ตักเข้าไปเพิ่มหนึ่งขัน แล้วตักออกไปหนึ่งขัน
อย่างนี้เรียกว่าบุญ ๆ บาป ๆ
ผิด ๆ ถูก ๆ ดี ๆ ชั่วๆ
เราทุกคนทำอย่างนี้มันถึงเป็นเรื่องยาก
การทำบุญ กับ การละบาปนี้
เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการทำบุญ
แต่คนไม่คอยจะเอาใจใส่
การละบาปคือการตัดราก
การทำบุญ คือการเด็ดยอด
เด็ดยอดไปใช้ เด็ดเอายอดไปกิน
มันก็แตกยอดขึ้นมา แตกใบขึ้นมาอีก
ตราบใดที่รากมันยังอยู่
(ต้นไม้)มันก็ยังได้กินอาหารอยู่
ยังมีอาหารหล่อเลี้ยงอยู่
ยอดมันก็เจริญเติบโตขึ้นมาอีก
ความลำบากทั้งหลายมันมีอยู่นี่
เพราะอะไร ก็เพราะว่ารากมันยังอยู่
คือการกระทำบาปมันยังอยู่
ดังนั้นการละบาปและการบำเพ็ญบุญ
จึงเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
เหมือนกะละมังที่ตั้งหงายอยู่กลางแจ้ง
ถึงแม้ฝนจะตกลงมาใส่ทีละหยด ๆ
มันก็มีโอกาสที่จะเต็มได้
เมื่อเราทำบุญแล้วเรายังไม่ได้ละบาป
ก็เหมือนกับเราเอากะละมังไปครอบคว่ำไว้กลางแจ้ง
ฝนตกลงมาถูกก้นกะละมังเหมือนกัน
แต่ว่ามันถูกข้างนอก เมื่อมันถูกข้างนอก
น้ำก็ไม่มีโอกาสที่จะเต็มในกะละมังนั้นได้
อันนี้เรียกว่า ทำบุญแต่ไม่ละบาป
หลวงพ่อชา สุภัทโท
" .. จะปฏิบัติธรรมอย่างไร คนเราไม่รู้จัก "นึกว่าการเดินจงกรม นึกว่าการฟังธรรม นึกว่าการนั่งสมาธิ เป็นการปฏิบัติ" นั่นเป็นส่วนน้อย ก็จริงอยู่ แต่มันเป็นเปลือกของมัน
"การปฏิบัติจริง ๆ ก็ปฏิบัติเมื่อประสบอารมณ์" นั่นแหละการปฏิบัติ แล้วที่มันประสบอารมณ์กับอยู่นั้น เช่นมีอะไร มีคนมาพูดไม่ถูกใจนะ เราเป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าคนพูดให้ถูกใจเรา เราก็เป็นสุข ตรงนี้แหละตรงที่จะปฏิบัติ เราจะปฏิบัติอย่างไร อันนี้สำคัญ
ถ้าเราไปวิ่งกับสุข ไปวิ่งกับทุกข์ มัวไปวิ่งกับสุข ไปวิ่งกับทุกข์อยู่นั่น จะวิ่งตลอดจนถึงวันตายก็ไม่พบธรรมะนี่ ก็อยู่ไม่ได้ เมื่อรู้จักสุขทุกข์ทั้งสองนี้ขึ้นมาเมื่อไร เราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรโดยธรรมะ "นี่คือการปฏิบัติ" .. "
หลวงพ่อชา สุภัทโท
Powered by phpBB © phpBB Group.
phpBB Mobile / SEO by Artodia.