Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

จิตตั้งอยู่

ศุกร์ 23 ก.ย. 2016 5:55 am

วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์จริงหรือ

ครั้งหนึ่ง มีพวกสาธุชนปัญญาชนกลุ่มหนึ่งมาสนทนาธรรมด้วย และถามท่านว่า

"วัตถุมงคลมีความศักดิ์สิทธิ์จริงหรือ หลวงปู่จึงได้สร้าง หรืออนุญาตให้สร้างเหรียญขึ้น?"

หลวงปู่จึงวิสัชชนาว่า

"พวกท่านทั้งหลายแสดงความสนใจในการบำเพ็ญภาวนา ก็พากันบำเพ็ญภาวนาไป ไม่ต้องไปห่วงไปสนใจกับวัตถุมงคลอันเป็นของภายนอกนี้ แต่สำหรับผู้มีจิตใจเพลิดเพลินอยู่ ยังยินดีในการเกิดตายในวัฏฏสงสาร ยังไม่สามารถหันมาสู่การปฏิบัติธรรมได้ ก็ให้อาศัยวัตถุภายนอกเช่นวัตถุมงคลเช่นนี้เป็นที่พึ่งไปก่อน อย่าไปตำหนิติเตียนอะไรเลย

ครั้นเขาเหล่านั้นประสบเหตุเภทภัยมีอันตรายแก่ตน และเกิดแคล้วคลาดด้วยคุณแห่งพระรัตนตรัยก็ดี โดยบังเอิญก็ดี ก็จะเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ในภายหลัง ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้เจริญงอกงามในทางที่ถูกต้องได้เอง

สำหรับผู้ที่มีศรัทธามากแล้วชอบการบำเพ็ญภาวนาจิตใจในธรรมปฏิบัติอันยิ่งๆ ขึ้นไป

ในเรื่องวัตถุมงคลนี้ หลวงปู่จะบอกตามสัจจธรรมว่า "ไม่มีอะไร เป็นเพียงช่วยด้านกำลังใจเท่านั้น"

หลวงปู่มักกล่าวว่า "เอาไปทำไม ของที่เป็นภาระต้องเอาใจใส่ดูแลของที่ต้องทิ้งเสียในภายหลัง"

แล้วท่านก็สอนเป็นปริศนาธรรมว่า

"จงเอาสิ่งที่เอาได้ จงอย่าเอาสิ่งที่เอาไม่ได้"

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล





ธรรมะ : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

อาการที่จิตตั้งอยู่ในสัญญมะคือความสำรวมระวัง หรืออาการที่สัญญมะความสำรวมระวังตั้งอยู่ในจิต โดยมีสติเป็นผู้ชักนำ ดั่งนี้ คือสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิอันแท้จริง และสมาธินี้ก็เรียกได้ว่าเป็นสมาธิทางสมถะ คือสมาธิที่นำให้เกิดความสงบใจจากอารมณ์และกิเลสทั้งหลาย จิตก็สงบตั้งอยู่ในภายใน ไม่ออกไปยึดอารมณ์ภายนอก อาการที่จิตตั้งสงบอยู่ในภายในไม่ยึดอารมณ์ภายนอกนี้เป็นตัวสมถะ คือความสงบ โดยอาศัยสติระมัดระวังสำรวม

และสติที่มีหน้าที่ระมัดระวังสำรวมนี้เองก็ได้ชื่อว่าสัญญมะหรือสังวร ก็คือตัวสตินั้นเอง และจิตที่ตั้งอยู่ในสัญญมะหรือสังวร สังวรหรือสัญญมะที่ตั้งอยู่ในจิตคือตัวสมาธิ ฉะนั้นสมาธิดั่งนี้จึงทำให้จิตสงบตั้งอยู่ในภายใน ไม่ออกไปยึดอารมณ์ภายนอก และตัวสมาธิอันนำให้บังเกิดความสงบซึ่งเป็นสมถะตั้งอยู่ในภายในนี้ ก็รู้ รู้รูปทางตาคือเห็นอะไรๆ รู้เสียงทางหูคือได้ยินอะไรๆ ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทางจมูกทางลิ้นทางกาย และรู้คิดทางมโนคือใจ แต่ว่ารู้ทางมโนคือใจนี้เป็นตัวรู้ที่สงบอยู่ในภายใน แต่ว่าแม้รู้ทางตาทางหูเป็นต้นดังกล่าว จิตก็ไม่วิ่งออกไปจับรูป จับเสียง จับกลิ่น จับรส จับโผฏฐัพพะ จับเรื่องที่ใจคิดใจรู้ จิตไม่วิ่งออกไปจับ มารก็ไม่เข้ามาได้ จึงไม่บังเกิดเป็นราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ ในอารมณ์เหล่านั้น

อารมณ์เหล่านั้นก็ตกอยู่แค่นอกประตูดังกล่าวมาข้างต้นนั้น จิตก็ตั้งสงบอยู่ในภายในไม่วิ่งออกไป.
ตอบกระทู้