Switch to full style
พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

หิริ โอตตัปปะ

พฤหัสฯ. 06 ต.ค. 2016 6:00 am

กินเจ...กินเนื้อ - "กบ" กับ "คางคก"

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

วันหนึ่งมีคนมาถามหลวงพ่อชา
เกี่ยวกับเรื่องการกินเจ
กับการกินอาหารเนื้ออาหารปลาต่างกันอย่างไร
อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด

เพราะปัจจุบัน
มีสำนักปฏิบัติที่ถือข้อวัตรปฏิบัติต่างกันมากมายหลายแห่ง

บางแห่งถือว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นบาปเป็นกรรมร่วม
เพราะเท่ากับเป็นการยุให้เขาฆ่าสัคว์
ที่นั้นจะต้องถือมังสวิรัติ
เว้นการฉันเนื้อฉันปลาอย่างเด็ดขาด

บางแห่งว่าการกินเจเป็นข้อวัตรของเทวทัตที่เคร่งครัดเกินไป
จนพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต
เขาจึงสงสัยว่าอย่างไรจะถูกอย่างไรจะผิด
ในระหว่างข้อวัตรปฏิบัติทั้งสองแบบนี้

ท่านตอบว่า...

“เหมือนกบกับคางคกนั่นแหละ
โยมว่ากบกับคางคกอย่างไหนมันดีกว่ากัน

ความจริงแล้ว

พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ฉันอะไร ไม่ได้เป็นอะไร
ในจิตของท่านไม่มีอะไรเป็นอะไรอีกแล้ว

การบริโภคอาหารเป็นสักแต่ว่า
เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายพอให้คงอยู่ได้
ท่านไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร
ไม่ให้ติดอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง

ให้รู้จักประมาณในการบริโภค
ไม่ให้บริโภคด้วยตัณหา
นี่เรียกว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ฉันอะไร
ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไรแล้ว

ถ้าคนกินเนื้อไปติดอยู่ในรสชาติของเนื้อ นั่นเป็นตัณหา

ถ้าคนไม่กินเนื้อ พอเห็นคนอื่นกินเนื้อ
ก็รังเกียจและโกรธเขา ไปด่าว่านินทาเขา
เอาความชั่วของเขาไปไว้ในใจตัวเอง
นั่นก็เป็นคนโง่กว่าเขา
ทำไปตามอำนาจของตัณหาเหมือนกัน

การที่เราไปโกรธเกลียดเขานั้น
มันก็คือผีที่สิงอยูในใจเรา

เขากินเนื้อเป็นบาปเราโกรธเขา
เราก็เป็นผีเป็นบาปอีกเหมือนกัน

มันยังเป็นสัตว์อยู่ทั้งสองฝ่าย ยังไม่เป็นธรรมะ
อาตมาจึงว่าเหมือนกบกับคางคก”

“แต่ทางที่ถูกนั้น ใครจะกินอะไรก็กินไป แต่ให้มีธรรมะ

คนกินเนื้อ ก็อย่าเห็นแก่ปากปากท้อง
อย่าเห็นแก่ความเอร็ดอร่อยจนเกินไป อย่าถึงกับฆ่าเขากิน

ส่วนคนกินเจก็ให้เชื่อมั่นในข้อวัตรของตัวเอง
เห็นคนอื่นกินเนื้ออย่าไปโกรธเขา รักษาตัวเราไว้
อย่าให้คิดอยูในการกระทำภายนอก

พระเณรในวัดนี้ของอาตมาก็เหมือนกัน
องค์ไหนจะถือข้อวัตรฉันเจก็ถือไป
องค์ไหนจะฉันธรรมดาตามมีตามได้ก็ถือไป
แต่อย่าทะเลาะกัน อย่ามองกันในเง่ร้าย
อาตมาสอนอย่างนี้
ท่านก็อยู่ไปด้วยกันได้ ไม่เห็นมีอะไร

ให้เข้าใจว่า

ธรรมะที่แท้นั้น เราจะเข้าถึงได้ด้วยปัญญา
ทางปฏิบัติที่ถูกก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้าเราสำรวมอินทรีย์
คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไว้ดีแล้ว จิตก็จะสงบ
และปัญญาความรู้เท่าทันสภาพของสังขารทั้งหลาย ก็จะเกิดขึ้น
จิตใจก็เบื่อหน่ายจากสิ่งที่น่ารักน่าใคร่ทั้งหลาย
วิมุตตก็เกิดขึ้นเท่านั้น”






ทุกคืนเราจะนอนก็ไหว้พระ
ไม่ได้อะไรก็ภาวนาไป ไหว้พระ ๓ ที ๑๐ ที
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะที่พึ่งของตน
แล้วก็นั่งสมาธิไป ภาวนาไป พุทโธ พุทโธ
หลับตานั่งนานๆ ไม่นานมากก็ ๕ นาที ๑๐ นาที
ค่อยหัดไปทุกวันๆ ไป ดีกว่านอนเปล่าๆ ไม่มีอะไร
อยากได้คุณงามความดี สิ่งที่ดีที่ชอบก็ต้องประกอบให้เกิดขึ้นในจิตในใจ
การภาวนามันเป็นยอดของทานอันเลิศ
เก็บอยู่ในจิตในใจทุกภพทุกชาติไป
จนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
ก็ต้องอาศัยบำเพ็ญบารมีของตนนี้แหละ
บารมีของตนนี้แหละเป็นเสบียงอาหารไปข้างหน้าอีก
เกิดไปชาติไหนก็เป็นคนที่มีความดีความงามอยู่ในจิตใจ
เพราะเราได้ฝึกหัดดัดแปลงจิตใจของเรา
ให้มันบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ
เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้เสมอไป สมดังภาษิตท่านว่า
“วิริเยน ทุกขมัจเจติ” คนผู้จะล่วงทุกข์ได้ ก็ต้องอาศัยความเพียร

หลวงปู่สาม อกิญจโน
วัดป่าไตรวิเวก บ้านสะเดา ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์







คนที่ไม่มีธรรมะในใจ ไม่มีหิริคือความละอายต่อบาป ไม่มีโอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาป คนเหล่านี้ตกอยู่ในความมืดอันตรายต่อการคบหาเป็นอย่างยิ่ง เพราะความมืดเป็นที่สิงสถิตของผีสางและสิ่งไม่ดี

โอวาทธรรม...หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม
ตอบกระทู้