“ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต” เห็นธรรมนี้เห็นอย่างไร ? รู้ธรรมนี้รู้อย่างไร? ก็ดังที่เราปฏิบัติอยู่นี้แหละ ทางจิตตภาวนาเป็นสำคัญ นี่คือการปฏิบัติธรรม การเห็นธรรมก็จะเห็นอะไร ถ้าไม่เห็นสิ่งที่กีดขวางอยู่ภายในตนเองเวลานี้ ซึ่งเราถือว่ามันเป็นข้าศึกต่อเรา ได้แก่ “สัจธรรม สองบทเบื้องต้น คือทุกข์หนึ่ง สมุทัยหนึ่ง” . เราพิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้เข้าใจตามความจริงของมันที่มีอยู่กับทุกคน ทุกตัวสัตว์ไม่มีเว้น เว้นแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่สมุทัยไม่เข้าไปแทรกท่านได้ นอกนั้นต้องมีไม่มากก็น้อย ที่ท่านเรียกว่า “สัจธรรม” . พิจารณาให้เห็นความจริงของสิ่งเหล่านี้แล้วก็ชื่อว่า “เห็นธรรม” ละได้ถอนได้ เกิดเป็นผลความสงบสุขเย็นใจขึ้นมาจากการละการถอน การปล่อยวางสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ได้ เรียกว่า “เห็นธรรม” คือเห็นเป็นขั้นๆ เห็นเป็นระยะๆ จนกระทั่งเห็นองค์ตถาคตโดยสมบูรณ์ . ถ้าเราจะพูดเป็นขั้นเป็นภูมิก็เช่น (๑) ผู้ปฏิบัติได้สำเร็จ พระโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ชื่อว่าได้เห็นพระพุทธเจ้าขั้นหนึ่ง ด้วยใจที่หยั่งลงสู่กระแสธรรม เรียกว่าเริ่มเห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ถ้าเป็นทุ่งนาก็เริ่มเห็นท่านอยู่ทางโน้น เราอยู่ทางนี้ (๒) สกิทาคา ก็เห็นพระพุทธเจ้าใกล้เข้าไป (๓) อนาคา ใกล้เข้าไปอีกโดยลำดับ (๔) ถึงอรหัตผลแล้ว ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ และธรรมที่จะให้สำเร็จมรรคผลนั้นๆ ในทางภาคปฏิบัติก็อยู่กับเราด้วยกันทุกคน . การที่เรายึดถือการประพฤติปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาก็ชื่อว่า “เราเดินตามตถาคต และมองเห็นพระตถาคตด้วยข้อปฏิบัติของเราอีกแง่หนึ่ง เห็นตถาคตโดยทางเหตุคือการปฏิบัติ เห็นโดยทางผลคือสิ่งที่พึงได้รับโดยลำดับ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นทรงได้รับ และทรงผ่านไปโดยลำดับแล้วนั้น” . เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ไม่ได้ห่างเหินจากใจของผู้ปฏิบัติธรรม เพื่อบูชาพระตถาคต หรือบูชาพระธรรม พระสงฆ์นี้เลย นี่เป็นการบูชาแท้ นี่เป็นการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลาด้วยความพากเพียรของเรา
........................................................................
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙
"...กรรมนั้น เมื่อทำแล้ว.. ก็เหมือนดื่มยาพิษร้ายแรงเข้าสู่ร่างกาย
ผู้เบียดเบียนเขา.. แม้จะได้สิ่งที่มุ่งไว้ แต่ผลที่แท้จริงอันจักเกิดจากกรรม คือ การเบียดเบียน
ที่ได้ประกอบกระทำลงไปนั้น เป็นทุกข์เป็นโทษ แก่ผู้กระทำ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กรรมนั้นให้ผลสัตย์ซื่อนัก เหมือนผลของยาพิษร้ายแรง
กรรมนั้นเมื่อทำแล้ว ก็เหมือนดื่มยาพิษร้ายแรงเข้าไปแล้ว
จักไม่เกิดผลร้ายแก่ชีวิต และร่างกายย่อมไม่มี ย่อมเป็นไปไม่ได้
" ถ้าเป็นกรรมดีก็จักให้ผลดี.. ถ้าเป็นกรรมชั่วก็จักให้ผลชั่ว "
เราเป็นพุทธศาสนิกชน นับถือพุทธศาสนา
พึงมีปัญญาเชื่อให้จริงจังถูกต้อง ในเรื่องกรรม และการให้ผลของกรรมเถิด
จักเป็นสิริมงคล เป็นความสวัสดีแก่ตนเอง..."
,,, พระโอวาทธรรม.. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก
หลักสำคัญอยู่ที่อย่าปรุงแต่งให้เกิดอารมณ์
" ผู้ปฏิบัติขั้นต้นนั้น สำคัญที่จิตกับสติ จิตจะดีขึ้นถ้ามีสติคอยควบคุมอยู่ จิตจะสงบ เบิกบานใจ ได้แสงสว่าง ความสุขก็เกิดมีมาเอง ถ้าจิตไม่มีสติควบคุม ปล่อยให้มีอารมณ์ต่าง ๆ แทรกเข้ามาก็สงบไม่ได้ ความสุขก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นหลักสำคัญอยู่ที่อย่าปรุงแต่งให้เกิดอารมณ์ อบรมจิตให้สงบจริงๆ ความสุขก็ตามมาตามลำดับแห่งความสงบ สงบมากก็เกิดความสุขมาก จนเป็นความสุขอัศจรรย์ได้แม้แต่ขั้นสมาธิอันละเอียด "
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
|