นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 17 ม.ค. 2025 2:01 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


Switch to mobile style


โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ภาวนาไม่ใช่ของหนัก
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 04 ธ.ค. 2016 5:30 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4804
"...การภาวนา ไม่ใช่เป็นของหนักเหมือนแบกไม้หามเสา เป็นของเบาที่สุด นึกภาวนาบทใดข้อใด ก็ให้เข้าถึงจิตถึงใจ จนจิตใจผ่องใสสะอาดตั้งมั่น เที่ยงตรงคงที่อยู่ภายในจิตใจของตน ใจก็สบาย นั่งก็สบาย นอนก็สบาย ยืนไปมาที่ไหนก็สบายทั้งนั้น ในตัวคนเรานี้ เมื่อจิตใจสบาย กายก็พลอยสบายไปด้วย อะไรๆ ทุกอย่างมันก็สบายไป มันแล้วแต่จิตใจ..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร




".. อย่าลืมนะ! หน้าที่ของเรานั้น ทำเหตุให้ดีที่สุดเท่านั้น ส่วนผลที่จะได้รับเป็นเรื่องของเขา

ถ้าเราดำเนินชีวิต โดยมีการปล่อยวางเช่นนี้แล้ว ทุกข์ก็ไม่รุมล้อมเรา ธรรมะอย่างนี้ ใคร ๆ ก็ปฏิบัติได้ ปฏิบัติที่ไหนก็ได้ ปฏิบัติเมื่อไรก็ได้ .."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงพ่อชา สุภัทโท



นึกถึงพุทโธ นึกไว้ให้คุ้นเคย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจ สิ่งใดที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็หมายถึง ความจะไม่อาจแยกจากกันได้เลย ไม่ว่าเวลาใดก็ตาม จะสุขจะทุกข์ จะเป็นจะตาย ใจก็จะมีพุทโธ พุทโธจะมีอยู่ในใจ..
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก



คนที่ทำอะไรไม่เหมือนที่โลกนิยม ก็จะมีคนว่าบ้า โดยคนที่พูด ไม่ได้เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า อย่างไรจึงบ้า อย่างไรจึงดี

ท่านบอกว่า คนเราที่เกิดมานี้ มีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งที่พึงกระทำ คือการทำตนให้พ้นทุกข์ ถ้าไม่ทำก็เท่ากับว่า ไร้ประโยชน์ในการเกิดมา เพราะจะต้องเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นเอง..
ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต(ธมฺมวิตโก ภิกขุ)




ขั้นของสมาธิ..

พระพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าวางหลักคำสอนเอาไว้ อันเป็นหลักใหญ่ๆ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอุบายหรือเป็นหนทางที่พุทธบริษัทจะต้องยึดเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อสร้างคุณธรรมคือความดีให้เกิดมีขึ้นในจิตในใจ จนถึงขนาดที่ ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อมกันเป็นองค์อริยมรรค สามารถเกิดสติสัมปชัญญะขึ้นมาเป็นมหาสติด้วยวิธีการต่างๆ วิธีการที่จะพึงปฏิบัตินั้น เราเรียกๆ กันโดยทั่วไปว่า สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน หนทางที่จะเข้าไปสู่ความรู้จริงเห็นแจ้งในภาวธรรมทั้งปวงนั้น เราจะหนีจากหลักแห่งการปฏิบัติสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานไปไม่ได้ ..ฯลฯ

สำหรับผู้ที่เริ่มใหม่ ซึ่งจิตยังไม่เคยมีสมาธิและไม่เคยเกิดภาวะ “ตัวผู้รู้” ขึ้นมาในจิต ให้อาศัยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกบ้าง หรือกำหนดบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ตนชำนิชำนาญ เช่น พุทโธ เป็นต้น ให้กำหนดจดจ่อลงที่จิต แล้วเอาจิตนึก พุทโธๆ ๆ นึกอยู่อย่างนั้น นึกอยู่เฉยๆ อย่าไปทำความรู้สึกว่า เมื่อไรจิตของเราจะสงบ เมื่อไรจิตจะเกิดสว่าง เมื่อไรจิตจะเกิดความรู้ ความเห็นขึ้นมา

การภาวนาในเบื้องต้นนี้ ไม่ใช่เพื่อจะรู้เพื่อจะเห็นสิ่งอื่น เพื่อให้รู้ให้เห็นสภาพความจริงของจิตของตัวเอง เราจะเริ่มรู้ความเป็นจริงของจิต ตั้งแต่เราเริ่มกำหนดจิตกับบริกรรมภาวนา รู้อย่างไร รู้อยู่ตรงที่ว่าจิตของเรากับบริกรรมภาวนานั้น มีความสัมพันธ์หรืออยู่ด้วยกันหรือไม่ เมื่อจิตของเรากับบริกรรมภาวนาสัมพันธ์กันอยู่ด้วยกัน มันมีโอกาสที่จะเผลอส่งกระแสไปทางอื่นหรือไม่ นี้ให้เรากำหนดดูความจริงของจิตในตอนนี้ ทีนี้ในขณะที่เรานึก พุทโธๆ ๆ อยู่นั้น ความรู้สึกของจิตนั้นมันมีอะไรบ้างเกิดขึ้น จิตอยู่กับพุทโธไหม หรือว่ามันลืมพุทโธเป็นบางครั้ง บางขณะ ในขณะที่ลืมนั้นจิตมันไปอยู่ทางไหน ไปอยู่กับสิ่งภายนอก ซึ่งเป็นอดีตสัญญา หรือว่านิ่ง ว่างอยู่เฉยๆ ให้เราสังเกตดูความจริงในตอนนี้ ทีนี้ถ้าหากจิตของเราลืมพุทโธ แล้วมันไปอยู่ในสัญญาอดีตที่เราเคยนึกคิดและจดจำ ซึ่งเป็นสิ่งอื่นนอกจากพุทโธ แสดงว่า จิตของเราละทิ้งพุทโธ แล้วก็ไปยึดเอาอารมณ์เก่าแก่มาเป็นความรู้สึกนึกคิดตามนิสัยเดิม เป็นอาการของจิตฟุ้งซ่าน

แต่ถ้าหากจิตลืมคำว่า พุทโธ แล้วไปนิ่งอยู่เฉยๆ เมื่อมีอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ผู้ภาวนาอย่าไปนึกถึงพุทโธอีก ให้กำหนดรู้ลงที่จิตเฉยๆ อยู่ แต่ในช่วงนี้ถ้าหากลมหายใจปรากฏขึ้นในความรู้สึก ก็ให้กำหนดรู้ลมหายใจเฉยอยู่ เอาลมหายใจเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ จดจ่อดูอยู่อย่างนั้น อย่าไปสร้างความรู้สึกนึกคิดอะไรขึ้นมา และก็ไม่ต้องไปนึกว่า ลมหายใจสั้น ลมหายใจยาว เป็นแต่เพียงรู้ กำหนดจดจ่ออยู่เฉยๆ เท่านั้น ความสั้น ความยาว ความละเอียด ความหยาบ ของลมหายใจ เป็นสิ่งที่จิตรู้อยู่ จิตย่อมรู้ความสั้น ความยาว ความหยาบ ความละเอียด ของลมหายใจอยู่ในที โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปนึกสำคัญมั่นหมายว่า ลมหายใจหยาบ ลมหายใจละเอียด ลมหายใจสั้น ลมหายใจยาว หรือลมหายใจหายขาดไปแล้ว กำหนดรู้ลงที่จิตตัวรู้จดจ่ออยู่อย่างนั้น

อันนี้เป็นวิธีการปฏิบัติในเบื้องต้น ในขณะที่ท่านกำหนดจดจ่อดูอยู่ที่ลมหายใจเฉยอยู่ อะไรจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ไม่ต้องไปคำนึงถึงทั้งนั้น ถ้าในช่วงนี้จิตมันเกิดความสว่างขึ้นมา ก็อย่าไปเอะใจ กำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว หากเกิดภาพนิมิตต่างๆ ขึ้นมา ก็อย่าไปเอะใจ กำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว หรือจะมีอะไรเกิดขึ้น เป็นอุทานธรรมะ เป็นภาษิตซึ่งเกิดขึ้น เป็นความรู้ เป็นภาษา ก็อย่าไปสำคัญมั่นหมาย อย่าไปเอะใจ กำหนดรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียว ถ้าหากท่านไปเอะใจ หรือเอาใจใส่กับสิ่งนั้น สภาพจิตมันจะเปลี่ยน เมื่อสภาพจิตเปลี่ยนแล้วสมาธิจะถอน สิ่งที่ท่านกำลังกำหนดรู้อยู่นั้นมันจะหายไปทันที อันนี้ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายพึงระมัดระวัง และในเมื่อท่านจดจ่อเอาจิตรู้อยู่ที่จิต และก็รู้อยู่ที่สิ่งที่จิตรู้ ความตั้งใจกำหนดจดจ่ออยู่อย่างนี้ด้วยเจตนา ท่านเรียกว่า “วิตก” เมื่อจิตกับอารมณ์สิ่งที่กำหนดรู้ มีความสนิทแนบแน่นไม่พรากจากกัน ทรงตัวอยู่อัตโนมัติ โดยที่ท่านไม่ได้ตั้งใจที่จะควบคุม อันนี้เรียกว่า “วิจาร”

เมื่อจิตกับอารมณ์ มีความซึบซาบและมีความซาบซึ้งลงไปในดวงจิต ความดูดดื่มมันก็ย่อมเกิดขึ้น ความดูดดื่มของจิตนั้นเรียกว่า “ปีติ” ปีติเกิดขึ้นทำให้เรารู้สึกกายเบา จิตเบา บางทีทำให้ตัวโยกโคลง บางทีทำให้ตัวขึ้นจะลอย เหมือนกับขึ้นสู่อากาศ บางทีทำให้รู้สึกหนักตัว ซึ่งสุดแล้วแต่อาการของจิต มันจะปรุงจะแต่งขึ้น ให้ท่านกำหนดรู้อยู่ที่จิตอย่างเดียว ตอนนี้ปล่อยให้จิตมันเสวยปีติ ในเมื่อจิตมีปีติเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง จิตไม่ฟุ้งซ่านไม่กระวนกระวาย จิตก็มีแต่ความสุข และก็จะดำเนินสู่สมาธิในขั้นละเอียดต่อไปเป็นลำดับ ซึ่งจุดแรกเราจะปรากฏว่า อุปจารสมาธิเกิดขึ้น มีความรู้สึกนิ่งสว่าง แต่ความรู้สึกในสิ่งภายนอกยังรู้สึกอยู่บ้างนิดๆ หน่อยๆ หรือปรากฏอย่างละเอียด

ในเมื่อจิตผ่านขั้นตอนขั้นนี้ไปแล้ว จิตจะมีความสงบแน่วแน่นิ่งลงไปสู่ความเป็นหนึ่งซึ่งเรียกว่า อัปปนาสมาธิ หรือ “เอกัคคตา” ในตอนนี้จิตของท่านสงบอย่างละเอียด มีแต่สภาวะจิตสงบนิ่งสว่างอยู่อย่างเดียว

สมาธิในขั้นต้นนี้โดยส่วนมาก ในเมื่อจิตสงบลงไปถึงขั้นอัปปนาสมาธิ หรือเอกัคคตาอย่างแท้จริงแล้ว เราจะรู้สึกว่ากายหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวล้วนๆ แล้วในตอนนี้ ผู้ภาวนานั้นไม่มีความสามารถที่จะนึกคิดอะไรอย่างอื่นขึ้นภายในจิตได้ เพราะสมาธิในตอนนี้เป็นสมาธิด้วยความเป็นเองอย่างแท้จริง เป็นสมาธิที่หมดความตั้งใจ ซึ่งเรียกว่าสมาธิจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราหมดความตั้งใจ เป็นสมาธิที่เป็นอัตโนมัติ เป็นสมาธิที่เป็นเอง ผู้ภาวนาจะน้อมจิตไปอย่างไรก็น้อมไม่ได้ จะถอนจิตออกมาก็ถอนไม่ได้ จนกว่าจิตนั้นจะถอนออกมาเอง นี่คือลักษณะจิตที่เข้าไปสู่อัปปนาสมาธิ หรือเอกัคคตาในขั้นต้น

สมาธิในขั้นนี้ที่ท่านว่ามันเป็นสมถะ ยังไม่สามารถที่จะให้เกิดความรู้ความเห็นในด้านปัญญาหรือวิปัสสนาขึ้นมาได้ ก็เพราะจิตในขั้นนี้เป็นแต่เพียงว่า จิตดำเนินเข้าไปสู่ความเป็นเดิม สภาพเดิมของจิตที่ยังไม่ได้ประสบกับอารมณ์ใดๆ ย่อมมีลักษณะอย่างนี้ จิตอย่างนี้ ท่านเรียกว่า ปฐมจิต เรียกว่า ปฐมวิญญาณ เรียกว่า มโนธาตุ เป็นเหตุให้ผู้ภาวนาได้รู้สภาพความเป็นจริงของจิตดั้งเดิมของตัวเอง คือจิตที่ไม่มีอะไรนั้น มันมีลักษณะอย่างไร แล้วเราจะรู้ในตอนนี้ และเมื่อจิตถอนออกจากสมาธิในขั้นนี้ เมื่อมารับรู้อารมณ์ คือ เกิดความคิดขึ้นมาก สภาพจิตหลังจากที่เกิดมีสมาธิแล้วออกมารับรู้อารมณ์นี้ มันมีลักษณะแตกต่างจากจิตที่ยังไม่เคยมีสมาธิอย่างไร

อันนี้ผู้ภาวนาเมื่อทำจิตลงไปถึงขั้นนี้แล้วจะรู้ทันที เพราะฉะนั้น การบริกรรมภาวนาหรือกำหนดอารมณ์ เพื่อทำให้จิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธินั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ภาวนานั้นรู้สภาพความเป็นจริงของจิตดั้งเดิมของตัวเอง แม้ว่าภูมิจิตในขั้นนี้จะยังไม่เกิด ปัญญาญาณรู้ เห็นอะไรก็ตาม แต่ก็เป็นพื้นฐานสร้างความมั่งคงของจิต เมื่อจิตผ่านการเป็นสมาธิอย่างนี้บ่อยๆ เข้า สิ่งที่จะได้เป็นผลพึงตามมาก็คือ ความมี สติสัมปชัญญะ จะค่อยปรากฏขึ้นทีละน้อยๆ

ในขั้นแรกจิตสงบเพียงครั้งสองครั้ง เมื่อจิตออกจากสมาธิมาขั้นนี้แล้ว มันก็จะถอยพรวดๆ ๆ ออกมาโดยไม่กำหนดอะไรเลย ออกมาสู่ความเป็นซึ่งที่เคยเป็นมาตั้งแต่ก่อนที่ยังไม่เคยทำสมาธิ แต่ถ้าจิตผ่านสมาธิแบบนี้บ่อยๆ เข้า เมื่อจิตถอนออกมาเกิดความคิด จะเกิดมีตัวสติตามรู้ความคิดขึ้นมาทันที จิตคิดอะไร สติก็จะจ้องตามรู้ ให้ผู้ภาวนารีบฉวยโอกาสในตอนนี้ กำหนดจดจ่อความรู้ ความคิดของตนเองไปเรื่อยๆ จิตคิดอะไรขึ้นมาก็รู้ เพียงสักแต่ว่ารู้อย่างเดียว อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ หรืออย่าไปช่วยมันคิดเพิ่มเติม ปล่อยให้จิตคิดไปเองโดยธรรมชาติของมัน หน้าที่ของผู้ปฏิบัตินี้มีแต่ตั้งใจตามรู้ความคิดนั้นไปเรื่อยๆ

ในเมื่อตัวสติ ตัวที่ตามรู้ความคิด จิตเอาความคิดอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตเป็นเครื่องรู้ เป็นเครื่องระลึกของสติ สติสัมปชัญญะก็จะค่อยๆ ดีขึ้น แล้วก็เพิ่มพลังขึ้นเป็นสติพละ จนสามารถเป็นสติวินโย สามารถกลายเป็นมหาสติ เมื่อจิตกลายเป็นมหาสติขึ้นมาได้เมื่อไร สติวินโยจะเป็นผู้นำ คือเป็นผู้ตาม ตามรู้อารมณ์คือ ความคิด ซึ่งเกิดขึ้นกับจิต เมื่อจิตมีสติตามรู้อารมณ์ คือ ความคิดทันกันเมื่อไร เมื่อนั้นความคิดซึ่งเราเคยมีอยู่ก่อนนั้น มันก็จะกลายเป็นภูมิปัญญา

โดยลักษณะที่ว่า จิตตัวผู้รู้ ก็จะปรากฏรู้อยู่ส่วนหนึ่งต่างหาก และสิ่งที่ออกไปคิด ค้นคว้าในอารมณ์นั้น ก็จะมีอยู่ส่วนหนึ่งอีกต่างหาก มองๆ ดูแล้วคล้ายกับว่า เราคนเดียวมีจิต 2 จิต มีใจ 2 ใจ แต่แท้ที่จริงมันก็เป็นใจเดียวกันนั้นแหละ แต่ใจหนึ่งจิตหนึ่งมันสงบนิ่งเป็นตัวผู้รู้ เพราะอาศัยพลังของสติ ประคับประคองเอาไว้ให้อยู่ในสภาพปกติ แต่อีกอันหนึ่งนั้น กระแสแห่งผู้รู้มันออกไปรับรู้อารมณ์ ในเมื่อรู้ขึ้นมาแล้ว จิตมีสติ อาศัยสติเป็นพละ เป็นกำลัง จึงไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองปรุงขึ้นมา ในเมื่อจิตปรุงความรู้ขึ้นมาโดยไม่มีความยึดถือ อาการของกิเลสมันก็ไม่มี มีแต่รู้เฉยอยู่ อะไรรู้ขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป รู้ขึ้นมาแล้วก็ผ่านไป

ในเมื่อจิตมันละเอียดลงไป สติอันนี้มันละเอียดลงไปรู้ทันมันอย่างละเอียดลงไป โดยไม่ขาดสาย สายสัมพันธ์แห่งสติมันเชื่อมโยงกันอยู่ตลอดเวลา ความรู้ความคิดที่เกิดขึ้นในจิตนั้น มันจึงกลายเป็นตัวปัญญา ที่ว่ารู้ธรรมเห็นธรรม รู้แจ้งแทงตลอดในธรรม ในขั้น วิปัสสนากรรมฐาน นั้นก็หมายถึง รู้ทันความคิดที่เราเคยคิดอยู่แต่ก่อนที่ยังไม่ภาวนา หรือภาวนาไม่เป็น

เมื่อเราภาวนาเป็นแล้ว มีสติ มีสมาธิดี เรียกว่ามี พละ 5 พร้อมที่จิตมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พร้อมมี ศีล สมาธิ ปัญญา รวมพร้อมกันเป็นหนึ่ง ตัวที่ปรากฏเด่นชัดให้เรามองเห็นก็คือความมีสติ ความรู้เท่าทันอารมณ์นั้นๆ ทีนี้ความคิดที่เคยทำให้เราวุ่นวายเดือดร้อนอยู่นั้นแหละ มันจะกลายมาเป็นเครื่องรู้ของจิต เครื่องระลึกของสติ เมื่อจิตกับสติประกอบพลังเป็นอันเดียว แล้วรู้ทันเหตุการณ์นั้นๆ มันก็กลายเป็นตัวปัญญา เกิดมาเป็นตัววิปัสสนา มาด้วยประการฉะนี้..
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย..


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 234 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO