การทำจิตให้มีกำลัง
"...คำว่า "จิตสงบ" นั้นไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร มันต้องมี มีความสงบครอบอยู่ การทำจิตให้สงบ คือการวางให้พอดี ตั้งใจเกินไป มากก็เลยไป ปล่อยเกินไป ก็ไม่ถึง เพราะขาดความพอดี
ธรรมดาจิตเป็นของไม่อยู่นิ่ง เป็นของมีกิริยา ไหวตัวอยู่เรื่อย ฉะนั้นจิตใจของเราจึงไม่มีกำลัง การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการทำกายของเราให้มีกำลังมันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังก็คือ การออกกำลัง ทำกายบริหาร มีการกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง
การทำจิตใจให้มีกำลัง ก็คือทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่างๆ ให้มันอยู่ในขอบเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้นไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน..."
เทศนาธรรมคำสอน.. องค์หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี
"...โลกต้องการคนดีมิใช่เพื่อให้มารับรางวัล แต่เพื่อให้มาช่วยทำชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น
ไม่พึงทำดีเพื่อเอาความดีมาเสริมตัวตน แต่พึงสละตนเพื่อเสริมความดี
คนดีอย่างแท้จริง เสียสละแม้กระทั่ง การที่จะให้คนอื่นรู้ว่า ตนได้ทำความดี..."
โอวาทธรรมคำสอน.. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ทานที่เรามีเจตนาอันเลื่อมใส ถ้าให้น้อยให้มาก ก็เป็นบุญเป็นกุศลเช่นเดียวกัน หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป
จงรีบไปทำบุญทำกุศลกันต่อไป เพื่อเป็นการหากำไรของชีวิต เพราะชีวิตเรามันน้อยนักน้อยหนา ที่อยู่ถึงร้อยปีมันก็ยาก
หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป
บุคคลที่ยินดีในการบูชาดอกไม้ธูปเทียน บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ เป็นที่ระลึกเป็นที่พึ่ง ท่านก็เปรียบเหมือน ”เอาเปลือกไม้มาสร้างบ้าน” สร้างเรือนเป็นที่อยู่ ธรรมดาเปลือกไม้นั่นน่ะมันไม่ทนถาวร ปลวกก็กินมอดก็กินทั้งไม่มั่นคง ฉะนั้นผู้อยู่ติดอยู่แค่ “อามิส” จึงช่วยศาสนา บำรุงศาสนาให้ดีให้สืบไปไม่ได้ เปรียบเหมือนเอาเปลือกไม้มาทำบ้าน สร้างบ้านอยู่นั่นน่ะ
ทีนี้ บุคคลที่มารักษาศีล หรือว่าที่ท่านเปรียบเหมือน “เอากระพี้หรือว่ามอก*หรือกระพี้มาสร้างบ้าน” ไม้ที่ไม่มี เป็นกระพี้นั่นน่ะมาสร้างบ้านอยู่ มันก็ไม่ทน ปลวกก็กินได้ ตัวมอดตัวอะไรกินไม่พัง ไม่ทนลมมาก็หักง่ายหักเร็ว แต่ว่า โบราณว่า “เสาไม้มอก ตอกไม้รวก”
อันนี้คนที่มารักษาศีลแล้วภาวนา ปฏิบัติบูชาจนจิตตั้งมั่น แก่นสารมั่นคงก็เปรียบเหมือน "เอาแก่นไม้มาสร้างบ้าน" แก่นนั้นน่ะมันมั่นคงถาวร ปลวกก็ไม่กิน มั่นคง อันนี้ฉะนั้นจึงว่า บางคนสามจำพวกนี้จึงไปไม่เหมือนกัน ถือพุทธเหมือนกันแต่ไปไม่เหมือนกัน ดีไม่เหมือนกัน
ฉะนั้นคติโบราณท่านจึงกล่าวว่า คนสามบ้านกินน้ำบ่อเดียว เพิ่นว่า “คนสามบ้านกินน้ำบ่อเดียวเทียวทางเดียวแต่ไม่เหยียบรอยกัน” คือบางคนก็ได้พุทธแต่เปลือกๆ บางคนก็ได้พุทธแค่กระพี้ บางคนก็ได้พุทธถึงแก่น คือ จิตเป็นสมาธิจนถึงวิมุตติธรรม คำว่า “วิมุตติธรรม” นั่นคือว่า “จิตพ้น”
จิตพ้นจากความยึดความถือในรูปในนามนี้แหละ จิตหลุดพ้น
หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป
|